ระหว่างทางกลับบ้าน โดย อังคาร จันทาทิพย์ คว้าซีไรต์ 62 ดับเบิลกวีซีไรต์คนแรกของไทย
Lite

ระหว่างทางกลับบ้าน โดย อังคาร จันทาทิพย์ คว้าซีไรต์ 62 ดับเบิลกวีซีไรต์คนแรกของไทย

Focus
  • ประกาศผลอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับ รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (S.E.A Write) หรือ ซีไรต์ ครั้งที่ 41 และผลงานกวีนิพนธ์ที่สามารถคว้ารางวัลยอดเยี่ยมไปครอง ได้แก่ ระหว่างทางกลับบ้าน โดย อังคาร จันทาทิพย์
  • อังคาร จันทาทิพย์ เจ้าของผลงานกวีนิพนธ์ “หัวใจห้องที่ห้า” ซึ่งคว้ารางวัลซีไรต์ ประจำปี 2556 มาครอง และทำให้เขาเป็นดับเบิ้ลซีไรต์คนแรกของไทย
  • งานประกาศรางวัลซีไรต์ ครั้งที่ 41 ประจำปี 2562 ประเภทกวีนิพนธ์ จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ในวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ซึ่งนี่ถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดงานแบบออนไลน์

ประกาศผลอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับ รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (S.E.A Write) หรือ ซีไรต์ ครั้งที่ 41 ประจำปี 2562 ประเภทกวีนิพนธ์ และผลงานกวีนิพนธ์ที่สามารถคว้ารางวัลยอดเยี่ยมไปครอง ได้แก่ ระหว่างทางกลับบ้าน โดย อังคาร จันทาทิพย์ เจ้าของผลงานกวีนิพนธ์ “หัวใจห้องที่ห้า” ซึ่งคว้ารางวัลซีไรต์ ประจำปี 2556 มาครอง และนั่นก็ส่งให้ชื่อของ อังคาร จันทาทิพย์ ขึ้นแท่นดับเบิลกวีซีไรต์คนแรกของประเทศไทย

กลอนสุภาพที่ใช้ภาษาเรียบง่ายแต่ทรงพลังคือเอกลักษณ์ของระหว่างทางกลับบ้าน แต่มากกว่านั้น คือการตีความหมายของคำว่า ‘บ้าน’ ในหลากหลายมิติ โดยการตั้งต้นแนวคิดจากบ้านของอังคารเองในแดนอีสาน ต่อเมื่อมีการพัฒนาโครงสร้างของบ้านให้เป็นหนังสือหนึ่งเล่ม จึงได้ขยายมุมมองของบ้านไปสู่สังคมและบ้านของคนในโลกนี้

ระหว่างทางกลับบ้าน

“ผมตั้งต้นหนังสือเล่มนี้จากงาน บ้านไม่มีใครอยู่ ที่เขียนถึงครอบครัวตัวเองหลังพ่อแม่เสียชีวิต และเริ่มขยายโครงสร้างของเรื่องว่าถ้าจะเขียนถึงบ้านของเราในจังหวัดอีสานอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะกวีนิพนธ์น่าจะทำอะไรได้มากกว่านั้น นั่นคือการอธิบายปรากฏการณ์ของสังคมไทย สังคมโลก ผมก็เลยเริ่มหาประเด็นร่วสมัยในสังคมโลกมาขยายต่อ มองแปลนบ้านแต่ละหลังจากสังคมในแต่ละพื้นที่ ว่าเกิดปรากฏการณ์ไรบ้าง บ้านของบางคนอยู่ในโลกเสมือน แต่สำหรับบางคนเขาก็อาจจะไม่มีบ้านให้กลับ งานชิ้นนี้ใช้เวลาเก็บข้อมูลนานถึง 3 ปี เหมือนเป็นการประกอบสร้างบ้าน บางบทเหมือนห้องนั่งเล่น บางบทเหมือนหลังคา บางบทเป็นเหมือนตะปูที่ยิดเหนี่ยวบ้านทั้งหลังบ้าน”

อังคาร จันทาทิพย์ บอกเล่าถึงการออกแบบ้านที่ผู้อ่านจะได้เห็นภาพทั้งบ้านของนักเขียนเอง บ้านของแรงงานข้ามชาติ บ้านของชาวโรฮีนจา บ้านของผู้ลี้ภัย โดยบ้านของผู้คนเหล่านี้มิได้เป็นเพียงที่พักอาศัยเท่านั้นหากทว่าบ้านยังเป็นความรัก ความผูกพัน หรือความทรงจำที่งดงาม อีกทั้งอังคารได้สะท้อนให้เห็นว่าระหว่างทางที่กลับบ้าน เราสามารถมองเห็นประเด็นที่ไม่เพียงได้ทบทวนตนเองอย่างมากมาย แต่ยังเรียนรู้เรื่องราวของผู้อื่นไปพร้อมกัน ทั้งนี้แปลนบ้านแต่ละหลังของแต่ละคนก็มีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ที่ล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตน

ระหว่างทางกลับบ้าน
บรรยากาศสัมภาษณ์สด อังคาร จันทาทิพย์ ผ่านระบบออนไลน์

นอกจากนี้อังคารยังได้นำเสนอมิติใหม่ของคำว่า “บ้าน” และ “ทางกลับบ้าน” ที่ไม่ได้จำกัดในแง่ของพื้นที่ ที่ซุกหัวนอน และใช้คำว่าบ้านวิพากษ์สังคม การเมือง สงคราม ความขัดแย้ง ความเชื่อ ทำได้อย่างนุ่มนวล ไม่เกรี้ยวกราว แต่สะกิดใจ

ไม่ได้เพียงความประณีตในการสร้างบ้านอย่างแข็งแรงแล้ว อังคารยังประณีตในการเลือกใช้ฉันทลักษณ์มาเล่าเรื่องบ้าน เขาเจาะจงเลือกใช้ “กลอนสุภาพ” ทั้งหมด เพราะเขาคิดแล้วว่าฉันทลักษณ์รูปแบบนี้จะเล่าเรื่องบ้านได้อย่างชัดเจน

“จำนวนคำ 6-11 คำของกลอนสุภาพมันเอื้อในการบอกเล่าเรื่องได้มากกว่าฉันทลักษณ์ประเภทอื่น ก่อนทำงานผมต้องคิดให้จบเลยว่านำเสนอเรื่องอะไร อย่างไร และใช้เครื่องมืออย่างไร ฉันทลักษณ์ก็เหมือนจานชามที่เสิร์ฟอาหารให้คนอ่าน ผมต้องเตรียมจานชามให้ดีเพื่อรองรับเนื้อหาหรืออาหารที่ผมกำลังเสิร์ฟ”

และแม้บ้านของแต่ละคนจะมีความหมายแตกต่างกันออกไป แต่บทหนึ่งที่เหมือนกันก็คือการกลับบ้านที่หมายถึงความตาย และสิ่งที่หลายคนสัมผัสได้คือ “บ้านคือที่อยู่ของหัวใจ”

“ชีวิตของคนหนึ่งคือเรื่องราวระหว่างทาง และการกลับบ้าน คือ ความตาย เช่นเดียวกับผมเองที่เดินทางออกจากบ้านของตัวเองไปเผชิญโลก ไปเจอผู้คนที่หลากหลาย ไปเจอบ้านในสถานการณ์อื่นๆ และวันหนึ่งผมก็ต้องกลับบ้านของตัวเองเหมือนกัน”

Fact File

  • การประกวดรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (S.E.A Write) ครั้งที่ 41 ประจำปี 2562 มีผลงานกวีนิพนธ์มากถึง 66 เล่ม และมีแนวไร้ฉันทลักษณ์ส่งจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนในปีก่อนๆ โดยมีแนวฉันทลักษณ์ 30 เล่มแนวไร้ฉันทลักษณ์ 28 เล่มและผสมผสานทั้งสองแนวอีก 8 เล่ม
  • การคัดเลือกแบ่งเป็น 2 รอบ โดยรอบแรก Longlist คัดให้เหลือ 18 เล่ม และรอบสอง คือรอบ Shortlist เป็นรอบสุดท้ายที่จะคัดหนังสือเหลือเพียง 8 เล่ม
  • การประกาศผลรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2562 ในวันที่ 9 มิถุนายน 2563 นี้ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศผลผ่านทางระบบออนไลน์ Live สดจากวังสวนผักกาด

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์