โควิด-19 สอนให้ ซีเอ็ด รู้ว่า คนไทยไม่เคยหยุดอ่านหนังสือ
- ในช่วงที่ร้านหนังสือในเครือ ซีเอ็ด ซึ่งมีสาขาทั้งหมด 312 สาขาทั่วประเทศ ต้องทยอยปิดหน้าร้านลงเพราะการระบาดของโควิด-19 ยอดขายทางฝั่งออนไลน์ของซีเอ็ดกลับเติบโตสวนทางขึ้นมาที่ 200 เปอร์เซ็นต์
- กลยุทธ์หนึ่งของซีเอ็ดในการทำตลาดออนไลน์คือการเพิ่มทุกช่องทางในการเข้าถึงผู้อ่านทุกกลุ่ม ทั้งระบบการเลือกหนังสือ จ่ายเงิน และจัดส่ง ที่สำคัญยังคงไม่ทิ้งประสบการณ์ของร้านหนังสือ
ในวันที่ร้านหนังสือต้องปิดหน้าร้านลงไปเพราะการระบาดของโควิด-19 แน่นอนว่าทั้งนักเขียน นักอ่าน สำนักพิมพ์ และตัวร้านหนังสือเองต่างก็กังวลอยู่ไม่น้อยว่า วงการหนังสือจะอยู่รอด และได้ไปต่อหรือไม่ในสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งก็ไปตรงกับช่วงเวลาทองของเทศกาลงานหนังสือต่างๆ อย่างพอดิบพอดี แต่ระยะเวลา 2 เดือนเศษที่ทุกอย่างดูเหมือนจะหยุดชะงักกลับทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นักอ่านไม่เคยหยุด หนึ่งในข้อพิสูจน์นั้นคือยอดขายหนังสือทางฝั่งออนไลน์ที่ดีดขึ้นถึง 200 เปอร์เซ็นต์ของร้านหนังสือแบรนด์ใหญ่อย่าง ซีเอ็ด ซึ่งมีสาขาทั้งหมด 312 สาขาทั่วประเทศ
โดยในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ซีเอ็ดได้ทยอยปิดหน้าร้านเป็นการชั่วคราวจนเหลือเพียงไม่กี่สิบสาขา พร้อมทั้งก้าวขาเข้าสู่ลู่วิ่งตลาดหนังสือออนไลน์อย่างเต็มตัว
“ก่อนหน้าที่จะมีการปิดหน้าร้าน ช่องทางออนไลน์ทางเว็บไวต์ก็เป็นอีกช่องทางขายของซีเอ็ดอยู่แล้ว ซึ่งเราก็เริ่มเห็นแนวโน้มฝั่งออนไลน์มาก่อนหน้าที่จะมีการระบาดของโควิด-19 และก็ได้มีการเตรียมแผนพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลนี้ไว้และก็เริ่มดำเนินการมาได้สักพักใหญ่ แต่เหมือนโควิด-19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้เราต้องดันแผนที่เราเตรียมไว้มาใช้เร็วขึ้น แต่สิ่งที่ต้องคำนึงของซีเอ็ดคือประสบการณ์ของนักอ่าน เราต้องทำให้ช่องทางดิจิทัลเป็นร้านหนังสือที่เสมือนจริง เสมือนว่าคนอ่านเดินกำลังเข้ามาเลือกหนังสือ หรือกำลังเดินเที่ยวอยู่ในเทศกาลหนังสือ ไม่ได้เป็นแค่แพลตฟอร์มที่มีหนังสือไปวางขายแล้วจบ เพราะเราคิดว่าประสบการณ์การเข้าร้านหนังสือยังเป็นอีกสิ่งที่นักอ่านต้องการ”
สวรรย์ พิภูษณานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดองค์กร ซีเอ็ด เล่าถึงการกระโดดเข้าสู่ตลาดดิจิทัลอย่างเต็มตัวในช่วงที่ผ่านมา แต่การปรับตัวนั้น ซีเอ็ด ยังคงต้องผสมผสานความต้องการ ไลฟ์สไตล์ของนักอ่านทุกวัย อีกทั้งยังต้องเข้าถึงได้ง่ายทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ค ไลน์ ด้านการจ่ายเงินเองก็ต้องทำได้ทุกช่องทาง รวมทั้งการบริการโทรมาสั่งหนังสือที่ร้านสาขา และมีพนักงานนำหนังสือเล่มโปรดไปส่งถึงหน้าบ้าน
“การจะกระโดดเข้าสู่ออนไลน์ไม่ได้แปลว่าเราจะทิ้งกลุ่มคนอ่านกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้ ในระหว่างที่หน้าร้านปิด แต่พนักงานสาขาต่างๆ ก็ยังไม่หยุด เพราะไม่มีใครที่จะให้บริการหรือรู้จักลูกค้า กลุ่มนักอ่านได้ดีเท่าพนักงานในพื้นที่สาขาต่างๆ บางสาขาก็จะมีช่องทางออนไลน์ของเขาเอง มีลูกค้าประจำที่ยังโทรเข้ามา ไปส่งหนังสือเอง เก็บเงินปลายทางก็มี หรืออย่างในเพจส่วนกลางเราก็สร้างบรรยากาศของร้านหนังสือ ทั้งไลฟ์แนะนำหนังสือ เสวนานักเขียน แจกลายเซ็นต์นักเขียน มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอด และผลตอบรับก็คือยอดขายหนังสือทางออนไลน์ที่โตขึ้น 200 เปอร์เซ็นต์ในช่วงที่ผ่านมา
“พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนเลยว่าวาทกรรมที่บอกว่าคนไทยไม่อ่านหนังสือ คนไทยอ่านหนังสือวันละไม่กี่บรรทัดคือไม่จริงเลย คนที่อ่านหนังสือ ต่อให้ไม่มีหน้าร้านเขาก็ยังคงอ่านหนังสือ และภารกิจของซีเอ็ดคือทำให้คนไทยอ่านหนังสือ เราจึงต้องปรับทุกช่องทางเพื่อให้นักอ่านเข้าถึงหนังสือได้ง่ายที่สุด”
นอกจากช่องทางซื้อหนังสือออนไลน์แล้ว ซีเอ็ดยังเพิ่มทางเลือกของหนังสือในรูปแบบของ e-book ซึ่งก็มียอดที่โตขึ้นถึง 150 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือว่ายังไม่มากนักเมื่อเทียบกับหนังสือที่ตีพิมพ์ออกมาเป็เล่ม นอกจากนี้ยังมีโปรเจ็กต์ Large Print ผลิตหนังสือที่ขยายฟอนต์ตัวหนังสือให้ตัวใหญ่ขึ้น เหมาะกับกลุ่มผู้สูงวัยและผู้ที่ต้องการถนอมสายตาระหว่างการอ่าน
และสำหรับหมวดหมู่หนังสือขายดีในช่วงสองเดือนเศษที่ผ่านมา ยังคงเป็นวรรณกรรม นวนิยาย ตามมาด้วยหมวดการลงทุนซึ่งสอดคล้องกับการที่หลายคนเริ่มกังวลกับสภาวะเศรษฐกิจและความไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน และอันดับสามคือ หมวดการพัฒนาตนเอง เพิ่มทักษะการเรียนรู้ทั้งในด้านการงาน การเรียน และทักษะการใช้ชีวิต
“วงการหนังสือยังไม่ตาย คนอ่านหนังสือยังมี ร้านหนังสือยังอยู่ได้แม้จะไม่ทุกหย่อมย่าน แต่เงื่อนไขสำคัญคือการปรับตัว”
ล่าสุดทางซีเอ็ดได้กลับมาเปิดสาขาต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเพิ่มมาตรการด้านสุขอนามัย เช่น การเช็ดทำความสะอาดร้านทุก 1-3 ชั่วโมง จำกัดจำนวนคนเข้าใช้บริการ รวมทั้งเช็ดทำความสะอาดหนังสือทุกเล่มด้วยแอลกอฮอล์ก่อนที่ลูกค้าจะซื้อกลับบ้าน และสำหรับช่องทางการซื้อหนังสือออนไลน์สามารถติดตามได้ที่ www.se-ed.com และ Facebook : SE-ED Book Center