เปลี่ยนศูนย์การค้าเป็นอาร์ตสเปซกับ 9 ไฮไลต์เทศกาลศิลปะ สว่างไสว ศิวิไล
Lite

เปลี่ยนศูนย์การค้าเป็นอาร์ตสเปซกับ 9 ไฮไลต์เทศกาลศิลปะ สว่างไสว ศิวิไล

Focus
  • เทศกาลศิลปะ สว่างไสว ศิวิไล จัดแสดงผลงานศิลปะของ 15 ศิลปิน ผ่านสื่อศิลปะหลายรูปแบบตั้งแต่จิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง งานวิดีโอ และเวิร์กชอป
  • พื้นที่ของศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี และ เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ ได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นอาร์ตสเปซสาธารณะ

ตลอด 25 วันตั้งแต่วันที่ 3-27 มีนาคม พ.ศ. 2565 เซ็นทรัล เอ็มบาสซี ได้ปรับพื้นที่ของศูนย์การค้าให้กลายเป็นอาร์ตสเปซด้วยผลงานของศิลปินชั้นนำและรุ่นใหม่จำนวน 15 คน ที่ผสานงานศิลปะให้เป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ของผู้ชมผ่านสื่อศิลปะหลายรูปแบบตั้งแต่จิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง งานวิดีโอ และเวิร์กชอปในเทศกาลศิลปะ สว่างไสว ศิวิไล (Sawang Sawai Siwilai)

เทศกาลศิลปะ สว่างไสว ศิวิไล เป็นความร่วมมือของภัณฑารักษ์ของ 3 อาร์ตแกลเลอรี คือ Artist+Run,VER และ Bangkok CityCity ในการนำเสนอผลงานศิลปะของ 15 ศิลปิน ได้แก่ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์, มิตร ใจอินทร์, ทัศนัย เศรษฐเสรี, หริธร อัครพัฒน์, จักกาย ศิริบุตร, เอจิ ซูมิ, ส้ม ศุภปริญญา, กรกฤต อรุณานนท์ชัย, ธนัช ตั้งสุวรรณ, หฤษฎ์ ศรีขาว, ณัฐดนัย จิตต์บรรจง, ณัฐพล สวัสดี, สะรุจ ศุภสุทธิเวช และ อลิสา ฉุนเชื้อ

สว่างไสว ศิวิไล
เสื้อยืดซิลก์สกรีนของ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช

“ชื่องาน สว่างไสว ศิวิไล เพื่อสื่อให้เห็นถึงความหวังและแสงสว่าง การออกจากความมืดจากสถานการณ์ที่ยากลำบากในปัจจุบัน เราเลือกงานที่สะท้อนถึงสิ่งนี้ ในงานมีเสื้อยืดซิลก์สกรีนของคุณฤกษ์ฤทธิ์ที่มีข้อความว่า Freedom cannot be simulated (เสรีภาพไม่สามารถจำลองได้) ซึ่งคำนี้ถือเป็นจุดตั้งต้นของงาน เพราะเป็นการตั้งคำถามของการใช้ชีวิต” อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ผู้ก่อตั้ง Artist+Run Gallery และรับหน้าที่ภัณฑารักษ์ร่วมของเทศกาลนี้กล่าว

สว่างไสว ศิวิไล
อลิสา ฉุนเชื้อ นำเสนอเมนูอาหารและเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารสื่อให้เห็นถึงระบบอวัยวะภายในร่างกายมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการกิน

บริเวณพื้นที่ของแบรนด์ Siwilai ได้แก่ ร้านค้า คาเฟ่ ซิตีคลับ และซาวน์คลับ รวมไปถึงภายในและด้านหน้าของเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ศิลปะ โดยมีศิลปินรุ่นใหม่ ได้แก่ อลิสา ฉุนเชื้อ เชิญลิ้มลองคอร์สอาหารในคอนเซ็ปต์ “Muscle & Pharynx” (กล้ามเนื้อและคอหอย) ที่ Siwilai City Club นำเสนอวัตถุดิบอาหารที่สื่อถึงอวัยวะ 7 อย่างและเสิร์ฟในพื้นที่รับประทานอาหารที่เธอออกแบบให้ลวดลายของผ้าหุ้มเบาะรองนั่งและหมอนอิงและรูปทรงของภาชนะอาหารที่สื่อถึงอวัยวะภายในร่างกายของมนุษย์ที่เกี่ยวกับระบบการกินอาหาร ในขณะเดียวกันจอโทรทัศน์บริเวณโซนสปอร์ตบาร์ที่มักฉายแมตช์กีฬาสำคัญได้กลายมาเป็นพื้นที่จัดแสดงงานวิดีโออาร์ตที่สื่อถึงผลกระทบของพลังงานปรมาณูโดยศิลปิน ส้ม ศุภปริญญา

สว่างไสว ศิวิไล
ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ แปลงโฉม Siwilai Café ด้วยผลงานศิลปะสุดชิก

นอกจากนี้ Siwilai Café ได้รับการแปลงโฉมใหม่ด้วยผลงานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้โดย ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ ส่วนบริเวณชั้น 2 ใกล้กับทางเดินเชื่อมไปเซ็นทรัล ชิดลม ผู้ชมสามารถสนุกกับการเล่นเครื่องเล่นรูปทรงเป็นแท่นไม้ทรงกลมซึ่งมีกลไกแบบไม้กระดกและออกแบบโดยศิลปินชาวญี่ปุ่น เอจิ ซูมิ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งพรรคแบ่งพวกในสังคมและการเมืองไทย และผู้ที่เดินผ่านไปมาบริเวณโถงกลางชั้น G ย่อมสะดุดตากับโครงสร้างบ้านไร้ผนังซึ่งจำลองมาจากบ้านที่ ทัศนัย เศรษฐเสรี เคยเช่าอยู่ในชุมชนคนพลัดถิ่นที่เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกาในสเกล 1:1 และปรับให้เป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมสาธารณะตลอดช่วงเทศกาลศิลปะ

สว่างไสว ศิวิไล
ภาพสีน้ำมันของ ธนัช ตั้งสุวรรณ จัดแสดงที่ เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์

การจัดงาน เทศกาลศิลปะ สว่างไสว ศิวิไล ครั้งนี้ยังได้ขยายพื้นที่ไปจุดความสว่างไสวอย่างต่อเนื่องที่ เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ บริเวณปากซอยเจริญกรุง 38 โดยจัดแสดงผลงานสีน้ำมันบนผ้าใบของ ธนัช ตั้งสุวรรณ ซึ่งสะท้อนเรื่องการแข่งขันเพื่อแสดงแสนยานุภาพทางอวกาศของประเทศมหาอำนาจนับตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น และงานวิดีโอจัดวางของ กรกฤต อรุณานนท์ชัย

Sarakadee Lite ขอพาทัวร์ชี้พิกัด 9 งานศิลปะที่จะเปิดประสบการณ์ใหม่นอกเหนือจากการเดินชอปปิงในเซ็นทรัล เอ็มบาสซี

สว่างไสว ศิวิไล

T-shirt Pavilion                 

ศิลปิน: ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช

สถานที่: Siwilai Store

“ถ้าเรามีอิสรภาพหรือมีความเป็นตัวเป็นตน มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว จะมีใครมาจำกัดความมันไม่ได้” ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิชกล่าวถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขานำข้อความว่า Freedom cannot be simulated (เสรีภาพไม่สามารถจำลองได้) มาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะนับตั้งแต่ พ.ศ.2545 เช่น พ่นสเปรย์บนผนังของแกลเลอรีและบนกระดาษหนังสือพิมพ์ภาษาไทย พิมพ์ลงบนธนบัตรเงินสกุลยูโร และสกรีนเป็นลายเสื้อยืด ประโยคนี้แปลมาจากภาษาเยอรมันว่า “Freiheitkann man nichtsimulieren” ซึ่งฤกษ์ฤทธิ์เห็นหนึ่งในผู้ประท้วงชูป้ายด้วยข้อความนี้ท่ามกลางฝูงชนในเหตุการณ์ก่อนที่จะมีการทุบทลายกำแพงเบอร์ลินซึ่งเป็นกำแพงที่สร้างขึ้นช่วงสงครามเย็น เพื่อปิดกั้นพรมแดนระหว่างเยอรมนีตะวันตกกับเยอรมนีตะวันออกเป็นระยะเวลา 28 ปี ก่อนถูกทลายในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2532

สำหรับเทศกาลศิลปะ สว่างไสว ศิวิไล นี้ ฤกษ์ฤทธิ์ได้สร้างพอปอัพสโตร์ที่จำหน่ายเสื้อยืดสีขาวสกรีนลายสีดำจำนวน 3 ลาย ได้แก่ Freedom cannot be simulated, Tomorrow is the Question และ Plague of Corruption ในราคาตัวละ 1,290 บาท โดยในช่วงเสาร์-อาทิตย์แรกของงาน (5-6 มีนาคม 2565) ผู้สนใจสามารถเลือกออกแบบจัดวางลายบนเสื้อยืดได้เองโดยมีเจ้าหน้าที่สกรีนลายให้แบบสด ๆ และรอรับกลับบ้านได้เลย

“เราสามารถใช้เสื้อและข้อความสร้างความขัดแย้งบางอย่างแบบเรียบง่าย คุณอาจจะใส่เสื้อแต่ไม่เข้าใจความหมายมันจริง ๆ แต่ว่าคนอื่นที่เห็นอาจจะสะกิดใจ ที่พาวิลเลียนให้คนมาทำสกรีนเสื้อ แต่สิ่งที่สำคัญคือป้าย No T-shirt เหมือนกับป้ายว่ากำลังเปิดหรือกำลังปิด” ฤกษ์ฤทธิ์กล่าวในวิดีโอเกี่ยวกับแนวคิดในการทำงานของเขา

Make It Like Home… Anywhere?

ศิลปิน: ทัศนัย เศรษฐเสรี

สถานที่: ชั้น G Event Space

ทัศนัย เศรษฐเสรี เป็นศิลปินที่มีความสนใจเรื่องสังคมวิทยาและมนุษยวิทยาและเมื่อครั้งศึกษาปริญญาโทสาขา Visual Arts ที่ The University of Chicago สหรัฐอเมริกาเมื่อพ.ศ.2543 ทัศนัยเช่าบ้านเล็ก ๆ หลังหนึ่งในย่านเปอร์โตริกันทาวน์ ซึ่งเป็นที่อาศัยของคนพลัดถิ่นจำนวนมากเพื่อสัมผัสประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไร้ถิ่นฐานในต่างแดน

ในเทศกาลศิลปะ สว่างไสว ศิวิไล นี้ได้จำลองบ้านหลังนั้นในขนาดสเกล 1:1 เท่าของจริงโดยถอดมาแต่โครงสร้างของบ้านที่ปราศจากผนัง บนพื้นปูเสื่อน้ำมันและมีโต๊ะไม้เตี้ย ๆ1 ตัวและเก้าอี้ที่ดัดแปลงจากลังพลาสติกใส่ผลไม้ ด้านข้างของบ้านจัดแสดงภาพบางส่วนที่อยู่ในกระเป๋าสตางค์ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านนั้นซึ่งศิลปินนำมาทำสำเนาด้วยกระดาษคาร์บอน

“นี่เป็นโปรเจกต์ที่ผมทำมา 20 กว่าปีแล้ว และทำให้ชีวิตของผมเปลี่ยน ผมเคยอาศัยอยู่ในชุมชนคนไร้ถิ่นฐานในชิคาโก ได้เห็นความแตกต่างของมนุษย์ ความหมายของชีวิต ความทุกข์ของคนที่ต้องย้ายถิ่นซึ่งต้องพลัดถิ่นเนื่องจากทั้งสงครามและการเมือง นับตั้งแต่ค.ศ.2002 ที่ผมทำโปรเจกต์นี้ผมก็ไม่เคยนำออกมาแสดงอีกเลย มีคนพยายามทำหลายครั้งแต่ก็ล้มเหลวแต่ครั้งนี้ที่นำมาจัดแสดงเป็นแค่ 1 ใน 10 ส่วน ปัจจุบันนี้ผมย่อมเห็นตัวเองและคนรอบข้างต่างจาก 20 ปีที่แล้วแต่ความทรงจำบางอย่างของผมยังอยู่ในชุมชนที่นั่น ผมคิดถึงพวกเขาจับใจ” ทัศนัยกล่าว

บ้านหลังนี้จะใช้เป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมสาธารณะโดยกลุ่มบุคคลที่สนใจสามารถติดต่อขอจองการใช้พื้นที่ได้ และในช่วงท้ายของงานคือวันที่ 26-27 มีนาคม พ.ศ. 2565 สถานที่นี้จะใช้เป็นที่จัดงาน Homesick House Party เพื่อให้ทุกคนได้รำลึกถึงถิ่นฐานบ้านเกิดที่จากมา

Muscle & Pharynx

ศิลปิน: อลิสา ฉุนเชื้อ

สถานที่: Siwilai City Club

ผลงานศิลปะของอลิสา ฉุนเชื้อไม่ว่าจะเป็นงานประติมากรรม ดรออิ้งและเพอร์ฟอร์แมนซ์ล้วนเกี่ยวกับการสำรวจร่างกายและตัวตน และในครั้งนี้เธอสนใจประเด็นเรื่องกระบวนการเบื้องหลังการกินจึงได้ร่วมทำงานกับเชฟและบาร์เทนเดอร์ของ Siwilai City Club เพื่อรังสรรค์คอร์สอาหารพิเศษในคอนเซ็ปต์ “Muscle & Pharynx” (กล้ามเนื้อและคอหอย) โดยมีอาหารคาวและอาหารหวานจำนวน 7 เมนูเสิร์ฟกับเครื่องดื่ม 3 ชนิด

คอร์สพิเศษนี้จะเสิร์ฟในโซนไพรเวตที่เรียกว่า Cabana โดยอลิสาออกแบบลวดลายของผ้าหุ้มเบาะรองนั่งและหมอนอิงรวมไปถึงลายปักของผ้ารองจานและรูปทรงของภาชนะอาหารซึ่งล้วนสื่อให้เห็นถึงอวัยวะภายในร่างกายของมนุษย์ที่เกี่ยวกับระบบการกินอาหาร เช่น ลิ้น คอหอย และลำไส้ ส่วนอุปกรณ์สำหรับรับประทานอาหาร เช่น ช้อน ส้อม และมีด เป็นการขึ้นรูปด้วยมือโดยช่างฝีมือผู้หญิงในกรุงเทพฯ

“เราเลือกพื้นที่โซน Cabana เพราะเป็นที่ไพรเวตและคนที่มาจะใช้เวลากินและดื่มค่อนข้างนาน สำหรับคอนเซ็ปต์ Muscle เราเน้นเรื่องการสร้างงานด้วยมือ ลวดลายของเบาะรองนั่งเราวาดเองเป็นการสร้างลายจากการศึกษาแผนภาพเกี่ยวกับระบบการย่อยอาหารของมนุษย์ เช่น การทำงานของลำไส้ ลิ้นและคอหอย ขณะรับประทานอาหารและให้ช่างสกรีนลายนี้ด้วยมือ หมอนอิงทำเป็นทรงรูปเมล็ดข้าวส่วนลวดลายเป็นเหมือนเมล็ดข้าวที่เรียงลงไปในกระเพาะอาหาร ด้านช้อนส้อมเป็นงานชุบเงินและทองและขึ้นรูปด้วยมือ” อลิสากล่าว

ส่วนคอนเซ็ปต์ Pharynx เป็นการเสนอภาพการเดินทางของอาหารที่เคลื่อนที่จากปากผ่านลงไปสู่อวัยวะภายในและของเหลวในร่างกายโดยนำมาจำลองให้เป็นเมนูอาหารคาวและอาหารหวาน 7 เมนู ที่สื่อถึงอวัยวะ 7 อย่าง เช่น เมนูลิ้นวัวสโลว์คุกกิ้ง คอไก่กรอบ ตับหมูทอด และลำไส้หมูเคลือบดาร์กช็อกโกแลต และเสิร์ฟมาในภาชนะที่ออกแบบให้เป็นรูปทรงที่สอดคล้องกับอวัยวะแต่ละส่วน ในคอร์สยังเสิร์ฟเครื่องดื่ม 3 ชนิดที่สื่อถึงของเหลวในร่างกาย

คอร์สอาหาร “Muscle & Pharynx” ราคา 1,950 บาท+ ต่อคน ให้บริการที่ Siwilai City Club ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2565 เวลา 18.00-21.00 น.โดยต้องสำรองที่นั่งล่วงหน้า 3 วัน โทรศัพท์ : 02-160-5631

10 Places in Tokyo

ศิลปิน: ส้ม ศุภปริญญา

สถานที่: Siwilai City Club 

จอโทรทัศน์ที่โซนสปอร์ตบาร์ใน Siwilai City Club ที่มักฉายการแข่งขันกีฬาแมตช์สำคัญต่าง ๆได้เปลี่ยนเป็นอาร์ตสเปซเพื่อฉายภาพงานวิดีโอจำนวน 10 จอของส้ม ศุภปริญญา ศิลปินที่สนใจสร้างสรรค์งานเกี่ยวกับเรื่องการสร้างโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่และผลกระทบต่อธรรมชาติและมนุษย์

เมื่อ พ.ศ.2555 ส้มได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินในสถานพำนักที่โตเกียววันเดอร์ไซต์ อาโอยาม่า ณ กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่นเธอได้ศึกษาเกี่ยวกับการใช้พลังงานไฟฟ้าในเมืองโตเกียวโดยได้ทีมงานของโตเกียววันเดอร์ไซต์ช่วยในการค้นหาสถานที่ 10 แห่งในโตเกียวที่มีสถิติการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดจนได้ค้นพบข้อมูลในหนังสือพิมพ์โตเกียว ชิมบุน ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.2010 หนึ่งปีก่อนหน้าที่จะมีเหตุการณ์สึนามิและการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะซึ่งผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ให้เมืองโตเกียว

ส้มจึงบันทึกวิดีโอสภาพแวดล้อมของสถานที่ทั้ง 10 แห่งในรูปแบบขาวดำเพื่อเป็นสัญลักษณ์สื่อให้เห็นถึงการเผาไหม้ที่เกิดจากความร้อนของระเบิดปรมาณู จากนั้นอีดิตให้ภาพที่เป็นสีดำและสีเข้มค่อย ๆ กลายเป็นสีขาวสว่างจ้าตามอย่างรูปแบบการทำลายล้างของระเบิดปรมาณูซึ่งเมื่อระเบิดได้แตกตัวบนท้องฟ้าจะทำให้เกิดแสงสว่างวาบไปทั่วจนในที่สุดทุกสิ่งโดนเผาให้เป็นฝุ่นเล็ก ๆไปทั้งภาพ

สำหรับงานชุดนี้เคยจัดแสดงที่โตเกียววันเดอร์ไซต์ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ.2556 แต่เป็นการฉายวิดีโอความยาวชิ้นละ 6 นาทีต่อเนื่องกัน 10 ชิ้นบนจอเดียว และจัดแสดงในรูปแบบเต็ม 10 จอที่ Gallery VER กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2559

Siam Rainbow Republic

ศิลปิน: มิตร ใจอินทร์

สถานที่: Siwilai City Club 

มิตร ใจอินทร์ ตกแต่งโซนเอาต์ดอร์ของ Siwilai City Club ด้วยการแขวนริ้วผ้าใบสีขาวที่ระบายสีสันสดใสด้วยสีน้ำมันกับโครงเหล็กสีขาวเพื่อให้เป็นผืนผ้าใบบังแดดที่เปลี่ยนสีอยู่ตลอดเวลาตามแสงที่ตกกระทบในแต่ละช่วงเวลาของแต่ละวัน

“มิตรต้องการนำเสนอเรื่องเสรีภาพที่ถูกปิดกั้น ถ้าเรามองจากบนตึกมายังพื้นที่เปิดโล่งที่ตั้งผลงานนี้เราจะมองเห็นว่าด้านนอกของผืนผ้าใบเป็นสีดำ แต่ถ้าเราอยู่ภายใต้ผืนผ้าใบเราจะเห็นสีรุ้งสีสันสดใสซึ่งอาจจะสื่อถึงฟ้าหลังฝนที่มีความหวัง งานชิ้นนี้ตากแดดตากฝนได้ ทนกับสภาพอากาศ” อังกฤษ หนึ่งในภัณฑารักษ์กล่าว

งานชิ้นนี้ของมิตรเป็นลักษณะงานต่อเนื่องที่เขาเคยสร้างสรรค์งานศิลปะจัดวางในเทศกาลศิลปะ Art on Farm ในธีม “ต่ำหูก แต้มผ้า – เล่าอีสาน ผ่านงานทอ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ทัวร์2562ในครั้งนั้นมิตรแขวนริ้วผ้าใบเพนต์สีพาสเทลและสีสะท้อนแสงในแนวตั้งโดยได้แรงบันดาลใจจากผ้าพระเวส หรือ ผ้าผะเหวด ตามสำเนียงภาษาอีสาน โดยลักษณะของผ้าพระเวสนั้นเป็นผ้าผืนยาวเขียนภาพเล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดกเพื่อใช้ในงานบุญผะเหวดซึ่งเป็นงานประเพณีในเดือน4 (ช่วงเดือนมีนาคม) ของชาวอีสานคือการฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดกหรือเทศน์มหาชาติ เพื่อระลึกถึงพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญทานบารมียิ่งใหญ่

Pillars Babel

ศิลปิน: ณัฐดนัย จิตต์บรรจง        

สถานที่: Siwilai City Club 

ตำนานเรื่องหอคอยบาเบลในพระคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าแรกเริ่มเดิมทีนั้นมนุษย์สื่อสารกันด้วยภาษาเดียวและพยายามสร้างสิ่งปลูกสร้างสูงเทียมฟ้าเพื่อไปสู่สวรรค์ของพระเจ้า พระเจ้าจึงทำให้มนุษย์พูดกันคนละภาษาและกระจัดกระจายออกไปทั่วแผ่นดินจนทำให้ความตั้งใจสร้างสิ่งปลูกสร้างนั้นไม่สำเร็จ ณัฐดนัย จิตต์บรรจง ได้แรงบันดาลใจจากตำนานนี้จนนำมาสู่การสร้างสรรค์งานศิลปะจัดวางชื่อ Pillars Babel ซึ่งจัดแสดงบริเวณพื้นที่เอาต์ดอร์ของ Siwilai City Club

เสาปูนปลาสเตอร์หุ้มด้วยสเตนเลสจำนวน 112 ต้นถูกวางเรียงซ้อนกันเป็นรูปทรงหอคอยแทนสัญลักษณ์ความทะเยอทะยานของผู้คนที่ต้องการก้าวสู่เส้นทางความเป็นประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งนี้งานศิลปะของณัฐดนัยมักสะท้อนประเด็นทางสังคมและการเมือง เช่น ในนิทรรศการเดี่ยวของเขาชื่อ Loot (สะดม) ซึ่งจัดแสดงที่ Gallery VER เมื่อ พ.ศ.2562 เขาได้นำกระสุน 11 นัดซึ่งขัดและเคลือบเงาจนแวววาวมาจัดแสดงในกล่องกระจกใสดั่งวัตถุล้ำค่าในพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมหาศาลในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการทหารของประเทศต่าง ๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Here and There

ศิลปิน: เอจิ ซูมิ

สถานที่: ชั้น 2 Balcony

เอจิ ซูมิ ศิลปินชาวญี่ปุ่นที่พำนักในประเทศไทยได้สร้างเครื่องเล่นไม้เป็นรูปทรงวงกลมซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5เมตรและมีกลไกของคานแบบไม้กระดกที่เคลื่อนไหวด้วยน้ำหนักและแรงโน้มถ่วงตามหลักกลศาสตร์ ผู้ชมสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับงานได้โดยเครื่องเล่นแบ่งที่นั่งออกเป็น 2 ฝั่ง ถ้าหากน้ำหนักของทั้ง 2 ฝั่งสมดุลดวงไฟที่ติดอยู่รอบฐานของเครื่องเล่นจะส่องแสงสว่าง

ผลงานชิ้นนี้แม้จะเป็นงานที่สร้างความสนุกสนานให้ผู้เล่นแต่เบื้องหลังแนวคิดนั้นเกิดจากการที่เอจิ ซูมิ เห็นบรรยากาศสังคมและการเมืองของไทยที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย รวมไปถึงปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ในสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันที่เกิดจากความเกลียดชังจนเกิดการแบ่งแยกและแต่ละฝ่ายไม่หันหน้าคุยกันจนเกิดข้อพิพาทไม่จบไม่สิ้น

สว่างไสว ศิวิไล

Phayao a Porter Project

ศิลปิน: จักกาย ศิริบุตร

สถานที่: Siwilai Store

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ช่างงานฝีมือผ้าในจังหวัดพะเยาเป็นหนึ่งในชุมชนที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเนื่องจากขาดการจ้างงาน จักกาย ศิริบุตร ศิลปินผู้มีชื่อเสียงในการทำงานเกี่ยวกับผ้าจึงได้ริเริ่มโครงการชื่อ Phayao a Porter เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2564 ด้วยการจ้างงานกลุ่มช่างฝีมือเหล่านี้ให้ตัดเสื้อแจ็กเก็ตและปักลวดลายตามที่ออกแบบเป็นพิเศษสำหรับเพื่อน ๆ ของจักกาย โดยส่วนใหญ่เป็นภาพสัตว์เลี้ยงที่นิยมปักบริเวณด้านหลังเสื้อทำให้กลายเป็นไอเทมที่ไม่ซ้ำใคร นอกจากค่าจ้างที่เป็นธรรมแล้ว 30 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายเสื้อแต่ละตัวจะกลับคืนสู่ชุมชนเพื่อเป็นทุนการศึกษาและสวัสดิการให้แก่ชุมชน นับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจักกายสามารถระดมทุนได้มากกว่า 50,000 บาทจากการผลิตเสื้อแจ็กเก็ตสั่งทำพิเศษพร้อมลายปักที่ประณีตจำนวน 11 ตัวเพื่อช่วยเหลือ 10 ครอบครัวที่ประสบปัญหา

สว่างไสว ศิวิไล

สำหรับเทศกาลศิลปะครั้งนี้จักกายได้สานต่อโครงการโดยให้ช่างฝีมือตัดเสื้อเชิ้ตจำนวน 16 ตัวโดย 15 ตัวแรกนั้นปักลวดลายที่จักกายออกแบบพิเศษให้แต่ละตัวสะท้อนผลงานศิลปะของศิลปิน 15 คนที่ร่วมในเทศกาลนี้ ส่วนตัวที่ 16 เป็นลวดลายที่สื่อให้เห็นถึงความหมายของชื่อ สว่างไสว ศิวิไล

สว่างไสว ศิวิไล

On Human Nature

ศิลปิน: หริธร อัครพัฒน์

สถานที่: สวนด้านหน้าศูนย์การค้า

“หริธร อัครพัฒน์ เรียนจบทางด้านประติมากรรมแบบประเพณี และมีผลงานปั้นพระพุทธรูป เช่น พระพุทธชินราช เขายังชื่นชอบพระเครื่องที่ปั้นมือแบบพื้นบ้าน แต่ในงานนี้หริธรสร้างประติมากรรมปูนปลาสเตอร์ขนาดใหญ่จำนวน 10 กว่าชิ้นด้วยมือในรูปทรงที่ดูแปลกประหลาดและทาสีสดใสสะท้อนแสง งานประติมากรรมปั้นมือของเขาที่จัดแสดงบริเวณสนามหญ้าด้านหน้าของศูนย์การค้า ให้ความขัดแย้งกับวัสดุอุตสาหกรรมที่เป็นเมทัลลิกของอาคารโดยรอบในใจกลางกรุงเทพฯ” อังกฤษแสดงความเห็น

สว่างไสว ศิวิไล

ประติมากรรมของหริธรแต่ละชิ้นมีรูปทรงแปลกตา บางชิ้นดูคล้ายรูปคนที่บิดเบี้ยวและบางชิ้นมาจากรูปทรงของเครื่องรางของขลัง เช่น ปลัดขิก โดยทาสีสะท้อนแสงด้วยเฉดสีจัดจ้านและเมื่อไฟส่องสว่างในเวลากลางคืนประติมากรรมเหล่านี้ย่อมสร้างบทสนทนากับผู้สัญจรไปมาอย่างแน่นอน

Fact File

  • เทศกาลศิลปะ สว่างไสว ศิวิไล จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 3-27 มีนาคม พ.ศ. 2565 ที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซีและผลงานศิลปะของกรกฤต อรุณานนท์ชัย และ ธนัช ตั้งสุวรรณ จัดแสดงที่เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ บริเวณปากซอยเจริญกรุง 38
  • อัปเดตตารางกิจกรรมต่าง ๆของเทศกาลศิลปะ เช่น พูดคุยกับศิลปิน ชมดนตรี ทัวร์เดินชมงานศิลปะโดยกลุ่ม GroundControlและเวิร์กชอปต่าง ๆได้ที่ www.facebook.com/SawangSawaiSiwilai

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ