ทัวร์ปารีส บนเส้นทางประวัติศาสตร์ ตามรอยอารยธรรม “จักรวรรดิโรมัน”
- ทัวร์ปารีส ประเทศฝรั่งเศส บนร่องรอยอารยธรรมจักรวรรดิโรมันให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์ได้ตามรอยอดีต เช่น ฟอรัม อัฒจันทร์กลางแจ้ง โรงอาบน้ำ และสะพานไม้
- นักประวัติศาสตร์บางส่วนเชื่อว่าเมืองปารีสเดิมคือเมืองลูแตส (Lutèce) ของชาวปาครีซี (Parisii) ซึ่งปรากฏครั้งแรกในบันทึกเรื่องสงครามกับชาวโกลส์ (La guerre des Gaules) ของจูเลียส ซีซาร์ ว่าชาวปาครีซีตั้งบ้านเรือนอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำแซนที่มีลักษณะเป็นป้อมปราการโดยธรรมชาติ
สายประวัติศาสตร์ต้องถูกใจปารีสในมุมนี้กับการ ทัวร์ปารีส ตามรอยอารยธรรม จักรวรรดิโรมัน ที่ยังคงหลงเหลือร่องรอยบางส่วนในเมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศส เช่น ฟอรัม อัฒจันทร์กลางแจ้ง โรงอาบน้ำ และสะพานไม้
แม้ว่าจนถึงขณะนี้นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดียังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าถิ่นกำเนิดของปารีสอยู่ที่ใดกันแน่ระหว่างฝ่ายที่เชื่อว่าชาวปาครีซีมีการตั้งถิ่นฐานบริเวณ เกาะซิเต้ (Île de la Cité) และกินอาณาบริเวณไปยังฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซน แต่ก็มีบางส่วนที่เชื่อว่าน่าจะมีถิ่นฐานจากบริเวณ เมืองนองแตร์ (Nanterre) ที่ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปารีส โดยทั้งสองฝ่ายต่างก็มีหลักฐานสนับสนุนสมมติฐานของตนเอง อย่างไรก็ตามสิ่งที่นักวิชาการทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันคือหลักฐานที่ตั้งของเมืองโบราณที่ชื่อว่าลูแตสแบบโรมันบริเวณเกาะซิเต้และฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซนซึ่งมักเรียกขานว่า “ลูแตสโครแมน” (Lutèce romaine)
ตามบันทึกของ จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ที่เขียนไว้ประมาณ 5 ปีก่อนคริสตกาลเกี่ยวกับการทำสงครามกับชาวโกลส์ (La Guerre des Gaules) ในบันทึกนั้นระบุว่า มีพวกชาวปาครีซีซึ่งเป็นเผ่าเซลติกส์ (Celtes) ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณที่มีลักษณะเป็นป้อมปราการโดยธรรมชาติบนเกาะซิเต้กลางแม่น้ำแซนในชื่อ เมืองลูแตส พลเมืองที่นั่นมีอาชีพเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และเก็บภาษีการค้าทางน้ำ
ต่อมาเมืองถูกโจมตีโดยชาวโรมันและตกอยู่ในอำนาจการปกครองของโรม และช่วงนี้เองที่ชาวโรมันได้สร้างและขยายตัวเมืองขึ้นมายังบริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซนโดยมีผังเมืองเหมือนกับเมืองอื่น ๆ ของชาวโรมันทั้งหลาย กล่าวคือ มีหัวใจหรือจุดศูนย์กลางของเมืองคือ ฟอรัม (Forum) และมี การ์โด มักซิมุส (Cardo maximus) ที่เป็นถนนสายหลักตัดผ่านใจกลางเมืองจากทิศเหนือ (ปัจจุบันคือถนนแซงต์-มาร์แตง: rue Saint-Martin) จดทิศใต้ (ถนนแซงต์-ฌาคส์: rue Saint-Jacques) และมีถนนสายเล็ก ๆ ตัดแยกออกไปจากถนนสายหลักอีกหลายสาย มีโรงอาบน้ำโรมันที่อยู่ไม่ไกลจากการ์โด มักซิมุส มีโรงละคร และที่ขาดไม่ได้ตามแบบของเมืองโรมันคือ อะรีนา หรือ อัฒจันทร์กลางแจ้งที่ฝรั่งเศสเรียกว่า อาแครนส์ (Arènes)
ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 2 เมืองลูแตสถูกรวมเข้ากับเครือข่ายของเมืองโรมันอื่น ๆ ที่รู้จักกันในชื่อ พักซ์ โรมานา (Pax Romana) ซึ่งคล้าย ๆ กับสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างเมืองสำคัญต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรโรมันว่าจะไม่รุกรานหรือทำสงครามซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เมืองลูแตสไม่มีการสร้างกำแพงเมืองล้อมรอบเพื่อเป็นปราการป้องกันศัตรูเหมือนกับเมืองอื่น ๆในอดีต
ล่วงเข้าสู่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 3 ชาวอะลาม็องส์ (Alamans) และชาวฟร็องส์ (Francs) ได้รุกรานและทำสงครามกับชาวลูแตสทำให้สิ่งปลูกสร้างทั้งหลาย เช่น ฟอรัม ถูกทำลายและบางส่วนของอะรีนาได้นำไปสร้างเป็นกำแพงเมือง เมืองลูแตสสูญเสียเนื้อที่ประมาณ 1ใน 3 ของเมืองไป ทว่าตัวเมืองยังคงอยู่ ต่อมาในปี ค.ศ. 313 จักรวรรดิคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) กำหนดให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำจักรวรรดิ เมืองลูแตสจึงกลายเป็นเพียงหัวเมืองที่มีเพียงบาทหลวงปกครองแทนและชื่อของเมืองถูกแทนที่ด้วยชื่อว่า ปารีส (Paris)
ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 5 ราวๆ ปี ค.ศ.481-511 โคลวิส (Clovis) กษัตริย์องค์แรกของฝรั่งเศสได้หันมานับถือศาสนาคริสต์ และรวมดินแดนของพวกกัลโล-โรมัน (Gallo-Romain) เข้ากับดินแดนของ วิซิกอธ (Visigoth) และซาร์ต (Sarthe) และปารีสได้กลายมาเป็นเมืองหลวงของชนเผ่าเซลติกส์แห่งราชอาณาจักรฝรั่งเศส (RoyaumesFrancs) ส่วนในปัจจุบันนี้ แม้ว่าหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุหรือสิ่งก่อสร้างทั้งหลายของลูแตสนั้นแทบจะไม่หลงเหลือให้เห็นเค้าโครงก็ตาม แต่ก็ยังมีสถานที่สำคัญ ๆ ที่พอจะเห็นร่องรอยบางส่วนซึ่งยังคงปรากฏอยู่ให้ผู้ที่สนใจสามารถเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้ภายในเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง เส้นทางประวัติศาสตร์นี้ที่จะเริ่มจากอะรีนาเข้ามาสู่จุดศูนย์กลางเมือง ลงไปยังโรงอาบน้ำ โรงละคร และสิ้นสุดบริเวณสะพานไม้ที่เกาะซิเต้
อะรีนา อัฒจันทร์กลางแจ้ง (Les arènes de Lutèces)
อะรีนาหรืออัฒจันทร์แบบวงรีหรือรูปไข่แห่งนี้มีลักษณะเหมือนกับโคลอสเซียมที่กรุงโรม ตั้งอยู่บริเวณภายนอกเมืองและสร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 1 เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างการเป็นสถานที่แสดงการต่อสู้ของพวกกลาดิเอเตอร์ (Gladiator) และการต่อสู้ระหว่างคนกับสัตว์ร้ายต่าง ๆร่วมกับการเป็นโรงละครกลางแจ้ง
สถานที่แห่งนี้สามารถจุผู้คนได้ราว ๆ 15,000-17,000 คน (ลูแตสในขณะนั้นมีประชากรทั้งหมดโดยประมาณ 10,000 คน)โดยมีความกว้างประมาณ 100 เมตร แต่ยาวถึง 13,040 เมตร ผู้ชมสามารถนั่งตามชั้นที่นั่งที่สร้างขึ้นลดหลั่นกันเป็นระดับที่ยังคงมีให้เห็นบางส่วน ที่นี่เป็นหนึ่งในสองโบราณสถานชิ้นสำคัญของสมัยลูแตสที่ถือได้ว่ามีสภาพที่ค่อนข้างสมบรูณ์ซึ่งยังคงหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบันนอกเหนือไปจากโรงอาบน้ำแบบโรมัน
ตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 3 เป็นต้นมา อะรีนาแห่งนี้ถูกทอดทิ้งและมีการขุดเพื่อนำเอาก้อนหินที่อยู่ในบริเวณนี้ไปใช้ในการก่อสร้างอื่นๆเช่น กำแพงเมืองปารีสในสมัยของกษัตริย์ฟิลิป ออกุส (Philippe Auguste, 1165-1223) และมีการใช้เป็นที่ฝังศพในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ด้วยโดยมีการขุดพบหลุมศพที่เป็นหลักฐานว่าสถานที่แห่งนี้ถูกใช้ในวัตถุประสงค์ดังกล่าว
ในปี ค.ศ.1869 บริษัท อมนิบุส เดอ ปาครี (La Compagnie des omnibus de Paris) ที่เป็นบริษัทให้บริการเดินรถสาธารณะปารีส ได้มีการปรับปรุงพื้นที่เพื่อทำเป็นลานจอดรถของบริษัท และในระหว่างการก่อสร้างได้ขุดพบหลักฐานที่สำคัญ ๆ ของอะรีนาแห่งนี้ เช่น ชั้นที่นั่งที่ลดหลั่นกัน โครงกระดูก และเครื่องปั้นดินเผา แม้ว่าหลายๆหน่วยงานจะตระหนักถึงความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีการบูรณะหรืออนุรักษ์ไว้แต่อย่างใดจนกระทั่งปี ค.ศ. 1883 บุคคลสำคัญที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์สถานที่แห่งนี้ให้คงอยู่คือ วิคตอร์ ฮูโก (Victor Hugo)ซึ่งเขาได้เขียนจดหมายเพื่อคัดค้านการทำลายอะรีนา โดยมีใจความบางส่วนว่า
“ปารีส วันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1883,
เรียนท่านประธานที่ปรึกษาแห่งนครปารีส,
…มันเป็นไปไม่ได้เลยที่ปารีสเมืองแห่งอนาคตจะละทิ้งหลักฐานแห่งชีวิตในอดีตของมัน อดีตกาลนั้นนำไปสู่อนาคต อะรีนาแห่งนี้เป็นเครื่องหมายแห่งอดีตของเมืองที่ยิ่งใหญ่ อะรีนาเป็นอนุสรณ์สถานที่มีเอกลักษณ์ หากสภาที่ปรึกษาผู้ใดต้องการทำลายล้างก็เท่ากับว่าที่ปรึกษาผู้นั้นได้ทำลายรากเหง้าแห่งตัวเองไปด้วย…”
ต่อมาในตอนปลายของสมัยจักรวรรดิที่ 2 (สมัยพระเจ้านโปเลียนที่ 3) ทางสภาที่ปรึกษาแห่งนครปารีสจึงได้มีมติให้เมืองปารีสดำเนินการซื้อที่ดินจากบริษัทเอกชนมาดูแลเอง และห้ามมิให้มีการขุดเจาะถนนผ่านบริเวณโบราณสถานหรืออะรีนาแห่งนี้ ปัจจุบันสิ่งที่ยังหลงเหลือมาตั้งแต่อดีตมีแค่ส่วนฐานรากของลานเวทีบางส่วนและทางเดินเข้าเวทีบางส่วนเท่านั้น โครงสร้างสำคัญๆ ส่วนอื่นๆ เช่นที่นั่งแบบลดหลั่นกันลงมาได้ถูกทำลายหายไปด้วยกาลเวลาหมดแล้ว ที่เห็นในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ถูกทำเลียนแบบขึ้นมาใหม่ในปีค.ศ. 1918 ภายใต้การออกแบบควบคุมของสถาปนิกด้านโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ นามว่า จูลส์ ฟอร์มิเฌ่ (Jules Formigé)
พิกัด: 49 rue Monge / 4 rue des Arènes
การเดินทาง: Métro 7: Place Monge หรือ Métro 10: Cardinal Lemoine
ฟอรัม ศูนย์กลางอเนกประสงค์ประจำเมือง (Le Forum)
ฟอรัม เป็นสถานที่ที่เรียกได้ว่า ทรี อิน วัน นั่นคือเป็นทั้งศูนย์กลางทางการค้า ศาสนาและการเมืองในที่เดียวกัน ใครที่ต้องการจะมาจับจ่ายซื้อสินค้า ต้องการมาบูชาหรือขอความช่วยเหลือจากเทพเจ้าต่าง ๆ หรือแม้แต่จะทำกิจกรรมทางการเมืองการปกครองก็ต้องมาที่ฟอรัมแห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่สูงที่สุดของลูแตสในขณะนั้น คือ บริเวณเนินเขาที่เรียกว่า ลา มงตาญ เดอ แซงต์ เฌิญวิแยฟ (la Montagne de Saint Geneviève)
แผนผังของฟอรัมเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามแบบมาตรฐานของเมืองโรมันอื่นๆโดยใจกลางของพื้นที่เป็นศาสนสถานที่มีความกว้าง 88 เมตร และยาว 177.6 เมตร มีเสาหินแบบโรมันเป็นสัญลักษณ์และมีวิหาร (basilique หรือ บาซิลิกในภาษาฝรั่งเศส) ที่ยกสูงขึ้นมาจากพื้นและมีประตูเข้าออกเพียงด้านเดียว บริเวณรอบนอกศาสนสถานเป็นที่ตั้งของร้านค้าที่ทอดตัวติดต่อกันเป็นแนวยาวโดยรอบถึง 75 ร้านเลยทีเดียว ที่นี่เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนทางด้านเศรษฐกิจและการค้าคล้าย ๆ กับตลาดหลักทรัพย์ในปัจจุบัน และเป็นศูนย์กลางด้านกฎหมายเหมือนศาลประจำเมือง ฟอรัมจึงไม่ใช่แค่สถานที่ทางศาสนาตามความหมายของวิหารทั่วไปเท่านั้น
เนื่องจากตัวฟอรัมถูกทำลายไปจนแทบไม่เหลือเค้าโครงแล้ว วิธีสังเกตคืออาณาเขตจะเริ่มจากบริเวณ มหาวิหารปองเตอง (Pathéon) ลงไปจนถึงจุดตัดกับ บูลเลอวาร์ด เดอ แซงต์ มิเชล (Boulevard de Saint-Michel) ตรงกันข้ามกับ สวนลุกซ็องบูร์ (Jardin du Luxembourg) สิ่งเดียวที่ยังพอจะเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน คือ ผนังบางส่วนของตัวบูทีคหรือร้านค้าที่เรียงรายอยู่รอบนอกของฟอรัมที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้บริเวณลานจอดรถใต้ดินด้านหน้าของอาคารเลขที่ 61 Boulevard Saint-Michel เท่านั้น
นอกจากนี้บริเวณถนนซุฟโฟลต์ (rue Soufflot) ซึ่งเป็นจุดตัดระหว่าง บูลเลอวาร์ด เดอ แซงต์ มิเชล (boulevard de Saint-Michel) กับถนนแซงต์-ฌาคส์ (rue Saint-Jacque) ถือเป็นหลักกิโลเมตรที่ศููนย์ของเมืองในสมัยนั้น
การเดินทาง: RER B : Luxembourg
โรงละครในอดีต (Le théartre)
แม้ปัจจุบันนี้ไม่เหลือร่องรอยของโรงละครในอดีตให้เห็นแล้ว แต่ ดิดิเยร์ บุสซง (Didier Busson) นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี ได้กล่าวไว้ในหนังสือแผนที่ปารีสสมัยโบราณเล่มล่าสุดของเขาว่า โรงละครในสมัยลูแตสนั้นน่าจะตั้งอยู่ระหว่างจุดตัดของถนนคราซีน (rue Racine) กับบูลเลอวาร์ด เดอ แซงต์ มิเชล (Boulevard de Saint-Michel) ซึ่งปัจจุบันคือ โรงเรียนแซงต์หลุยส์ (Lycée Saint-Louis)
ส่วนผู้ที่ค้นพบหลักฐานชิ้นแรก ๆ เกี่ยวกับตำแหน่งของโรงละคร คือ เตโอดอร์ วาคแกร์ (Théodore Vacquer) ในขณะที่ทำการปรับปรุงโรงเรียนในปี ค.ศ.1861 หลังจากนั้น 2-3 ปีต่อมาในระหว่างที่มีการขุดปรับปรุงท่อระบายน้ำเสียของโรงเรียนได้มีการขุดพบหลักฐานเพิ่มเติมที่เป็นลานกว้างรูปครึ่งวงกลมที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 70 เมตร จึงสันนิษฐานว่าโรงละครในอดีตสามารถจุผู้ชมได้ประมาณ 4,000 หรือ 5,000 คนเลยทีเดียว
พิกัด: 44 Boulevard Saint-Michel
การเดินทาง: RERB: Saint-Michel Notre Dame, Métro 4: Odéon หรือ Métro10 : Cluny La Sorbonne
โรงอาบน้ำโรมันด้านเหนือ (Les thermes du Nord ou les thermes de Cluny)
โรงอาบน้ำโรมันแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของฟอรัมโดยมีโครงสร้างเป็นสี่เหลี่ยมและมีพื้นที่ประมาณ 100 เมตร X 65 เมตร แผนผังภายในตัวโรงอาบน้ำจะเริ่มจากห้องอาบน้ำร้อนหรือห้องซาวน่าที่เรียกว่า แคลดาเรียม (Caldarium: กัลดาเครียมในภาษาฝรั่งเศส ) ซึ่งอยู่บริเวณถนนซอมเมอร์คราด์ (Rue du Sommerard) ถัดมาเป็นห้องอาบน้ำอุ่นที่เรียกว่า เทปิเดเรียม (Tepidarium: เตปิดาเครียมในภาษาฝรั่งเศส) ที่ทอดยาวไปบริเวณถนนแซงต์มิเชล (Boulevard de Saint-Michel) และด้านในเป็นห้องอาบน้ำห้องสุดท้ายคือ ห้องอาบน้ำเย็น ที่เรียกว่า ฟิจิดาเรียม (Frigidarium: ฟริจิดาเครียมในภาษาฝรั่งเศส) อยู่บริเวณถนนแซงต์แฌร์แม็ง (Boulevard Saint-Germain)
เนื่องจากโรงอาบน้ำนั้นผู้คนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้ามาใช้บริการได้ฟรี ทำให้กลายเป็นสถานที่ที่พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือข่าวสารกันในระหว่างผู้คนทุก ๆ ชนชั้น ไม่ว่าจะเป็นพวกเจ้าขุนมูลนาย พ่อค้าแม่ขาย ช่างฝีมือ ชาวบ้านธรรมดา หรือแม้แต่พวกทาส ก็จะมาอาบน้ำรวมกันที่นี่ แต่โรงอาบน้ำมีการแบ่งแยกเพศของผู้มาใช้บริการ โดยช่วงเช้าจะสงวนไว้สำหรับผู้หญิงเท่านั้น ส่วนผู้ชายนั้นจะมาใช้บริการได้ในช่วงบ่าย เนื่องจากทุกคนต้องเปลือยกายอาบน้ำเหมือนกันหมด ไม่มีข้อยกเว้น
ส่วนพวกเครื่องหอม อุปกรณ์อาบน้ำทั้งหลาย เช่น สบู่ น้ำมันขัดตัว น้ำอบน้ำหอม ก็สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าที่ตั้งเรียงรายอยู่บริเวณไม่ไกลจากโรงอาบน้ำ ซึ่งรวมไปถึงร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม จึงเรียกได้ว่าที่นี่เป็นสถานที่แฮงก์เอาต์สำหรับชาวลูแตสโดยแท้ โรงอาบน้ำทิศเหนือนี้เป็นเพียงโรงอาบน้ำแห่งเดียวของโรมันที่ยังหลงเหลือมาให้เห็นในปัจจุบันจากโรงอาบน้ำทั้งสามแห่งของเมือง อีกสองแห่งที่ไม่เหลือร่องรอยให้เห็นแล้วคือโรงอาบน้ำบริเวณถนนแก-ลูว์ซัก (Rue Gay-Lussac) และโรงอาบน้ำทิศตะวันออกหรือที่เรียกกันว่าโรงอาบน้ำคอลแลจ เดอ ฟร็องซ์ (Collège de France)
โรงอาบน้ำทางทิศเหนือหรือที่เรียกกันติดปากว่า โรงอาบน้ำคลูนี (Thermes de Cluny) ถือได้ว่าเป็นโบราณสถานในสมัยลูแตสโรมันที่ยังคงอนุรักษ์และบำรุงรักษาตัวสถานที่ได้ดีที่สุดในบรรดาหลักฐานหรือโบราณสถานชิ้นอื่น เมื่อเดินผ่านบริเวณหัวมุมถนนแซงต์มิเชล และถนนแซงต์แฌร์แม็ง (Boulevard Saint-Germain) เราจะมองเห็นภายนอกของห้องอาบน้ำอุ่นที่เรียกว่า แคลดาเรียม ได้อย่างชัดเจน
แม้ว่าจะไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าโรงอาบน้ำสร้างขึ้นเมื่อปีใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นประมาณช่วงปลายของคริสต์ศตวรรษที่ 2 ถึงประมาณต้นคริสต์ศตวรรษที่ 3 จากการศึกษาความเกี่ยวข้องและความคล้ายคลึงกันกับหลักฐานอื่น ๆ ที่นักธรณีวิทยาค้นพบ เช่น เหรียญตราที่ใช้ในสมัยจักรพรรดิอองตวน เลอ ปิเยอร์ (Antoine le Pieux, ค.ศ. 138-161) นอกจากนี้ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าโรงอาบแห่งนี้ปิดตัวลงเมื่อใด แต่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นช่วงประมาณต้นคริสต์ศตวรรษที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่โรมกำลังถูกคุกคามและถูกโจมตีจากเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนอยู่เกือบทุกๆด้าน รวมถึงกำลังประสบกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ยิ่งโรงอาบน้ำถือได้ว่าเป็นสถานที่ที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ชนชั้นอีลิทหรือคนชั้นสูงในสังคมโรมันจึงไม่สามารถให้การสนับสนุนทางด้านการเงินในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้อีกต่อไป
พิกัด: 28 rue de Sommerard
การเดินทาง: Métro 10: Cluny la Sorbonne, Métro 4: Saint-Michel หรือ RER B/RER C: Saint-Michel Notre Dame
สะพานไม้เชื่อมแม่น้ำแซนกับเกาะซิเต้ (Le Petit Pont)
ทัวร์ปารีส ตามรอย จักรวรรดิโรมัน จะไม่สมบูรณ์หากขาดแม่น้ำแซน เพราะตั้งแต่สมัยลูแตสมาแล้วที่แม่น้ำแซนถือเป็นหัวใจของเมืองในด้านการค้าเพราะชาวลูแตสทำหน้าที่เก็บภาษีจากเรือสินค้าที่เดินทางผ่านเข้ามาในแม่น้ำสายนี้แต่ในขณะเดียวกันก็นับเป็นจุดอ่อนที่ข้าศึกใช้เป็นช่องทางในการโจมตีเมืองลูแตสด้วยเช่นกัน อย่างเช่นที่แม่ทัพชาวโรมชื่อ ติตุส ลาบินุส (Titus Labienus) ใช้เป็นเส้นทางยกทัพเข้ามาโจมตี รวมถึงพวกไวกิงในสมัยต่อ ๆ มาด้วย
แรกเริ่มตัวสะพานสร้างด้วยไม้และเป็นสะพานแห่งเดียวที่เชื่อมฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซน กับ เกาะซิเต้ ซึ่งเป็นส่วนเชื่อมขยายไปทางฝั่งขวาแม่น้ำแซนของการ์โด มักซิมุสหรือถนนเส้นหลักสะพานแห่งนี้มักจะถูกน้ำท่วมตลอดในหน้าน้ำหลากและถูกไฟไหม้หลาย ๆ ครั้งจากสงคราม ชาวเมืองมักจะหลบหนีไปอยู่บริเวณเกาะซิเต้ในกรณีที่ถูกโจมตีและจะเผาสะพานแห่งนี้เสียเพื่อไม่ให้ข้าศึกข้ามมาได้ ปัจจุบัน เลอ เปอติด ปงต์ยังคงอยู่แต่ไม่ได้เป็นสะพานไม้แล้ว
พิกัด: rue Petit Pont-Cardinal Lustiger และ rue de la Cité (บริเวณด้านหน้ามหาวิหารน็อทร์-ดาม)
การเดินทาง: RER B/RER C: Saint-Michel Notre Dame หรือ Métro4: Saint-Michel
Fact File
- ผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ทัวร์ปารีส เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และเรื่องราวของ ปารีส สามารถเข้าชมและสืบค้นเพิ่มเติมได้จาก Le Musée Carnavalet (http://www.carnavalet.paris.fr) ซึ่งเป็นพิพิธภัณท์ที่จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของปารีสตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และ Cryptearchéologique de l’île de la Cité (https://www.crypte.paris.fr/) มีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้โบราณวัตถุต่าง ๆ และหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบในปารีสในช่วงประมาณปี ค.ศ.1965-1972 รวมถึงประวัติของมหาวิหารน็อทร์-ดาม (Notre-Dame)
- Dassault Systèmes ได้ทำคลิปเกี่ยวกับ Paris 3D Through the Ages ชมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=-64kHmCJGMAโดยช่วงเริ่มต้นไปจนถึงนาทีที่ 4:13 เป็นเรื่องราวของปารีสในช่วงก่อนประวัติศาสตร์และช่วงสมัยเมืองลูแตส
อ้างอิง
- https://www.esprit-de-france.com/fr/article/paris-insolite-des-arenes-paris
- https://www.lesmaconsparisiens.fr/batiment/de-paris-a-lutece-la-ville-gallo-romaine/
- https://archeologie.culture.fr/paris/fr/amphitheatre
- https://youtu.be/ODSe4CqVxNU
- https://youtu.be/6CuGBBpnO4U
- Le Parisien. Histoires de Paris No.1: Le Paris du MoyenÂge, sur les pas de Lorànt Deutsch. Aubin, France. 2017.
- Le Parisien. Histoires de Paris No.10: Lutèce, le Paris antique. Aubin, Ligugé.2020.
- Editions Jean-Paul Gisserot.ThierrySarmant. Histoire de Paris.France.2010.
- PM Prisma Media. GEOHISTOIRE Hors-Série: Paris. Luçon 2020.
- Parigramme. Ruth Fiori. Paris Vestiges,Tours, Frontons, Portails…La Mémoire Des Pierres. 2014.