
เบื้องหลังปฏิบัติการกู้ซากและบูรณะ มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส การรวมที่สุดผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์ทั่วฝรั่งเศส
- มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส เกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 2019 สร้างความเสียหายหนักให้กับหลังคาและยอดมหาวิหาร
- การบูรณะซ่อมแซมใช้เวลากว่า 5 ปี จากการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญจากสหวิชาชีพจำนวน 8 ทีม และด้วยงบประมาณกว่า 700 ล้านยูโร (ประมาณ 2.54 หมื่นล้านบาท)
- พิธีเปิดอย่างเป็นทางการมีขึ้นในวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 2024 และเปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้ตามปกติตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 2024 เป็นต้นไป
มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส (Cathédrale Notre-Dame de Paris) ศาสนสถานสำคัญอายุกว่า 850 ปี ของประเทศฝรั่งเศส ที่เสียหายหนักจากเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อ ค.ศ. 2019 จะกลับมาเปิดอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยพิธีเปิดอย่างเป็นทางการจะจัดขึ้นในวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 2024 ภายหลังการบูรณะซ่อมแซมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจากการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญจากสหวิชาชีพจำนวน 8 ทีมและด้วยงบประมาณกว่า 700 ล้านยูโร หรือประมาณ 2.54 หมื่นล้านบาท

(ภาพก่อนเหตุการณ์ไฟไหม้ใน ค.ศ. 2019)

ในช่วงเย็นของวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 2024 (ตามเวลาท้องถิ่น) ประธานาธิบดี เอ็มมานูแอล มาครง (Emmanuel Macron) จะกล่าวสุนทรพจน์บริเวณลานด้านหน้าของมหาวิหาร และ มงแซนเยอร์ โลร็อง อุลริช (Monseigneur Laurent Ulrich) อาร์ชบิชอปของปารีสจะทำพิธีเปิดประตูของมหาวิหาร ตามด้วยเสียงเพลงบรรเลงจากออร์แกนใหญ่กับเสียงร้องของคณะนักร้องประสานเสียงของมหาวิหารและพิธีเจิมออร์แกน หลังจากนั้นจนถึงวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 2024 จะมีพิธีสวดมิสซาและเปิดให้เข้าชมภายในได้เฉพาะในช่วงเย็น

(ภาพก่อนเหตุการณ์ไฟไหม้ใน ค.ศ. 2019)
ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 2024 เป็นต้นไป มหาวิหารนอเทรอดาม ผลงานที่โดดเด่นที่สุดในสถาปัตยกรรมแบบกอทิก ที่แสดงถึงประวัติศาสตร์และศิลปะของยุคกลางในยุโรปและใช้เวลาในการสร้างกว่า 100 ปี จะเปิดให้สาธารณชนได้เข้าชมฟรีเช่นเดิมตามเวลาปกติตั้งแต่ 7.45-19.00 น. และคาดว่าจะมีผู้เข้าชมราว 14-15 ล้านคนต่อปี
อย่างไรก็ตามงานบูรณะบางส่วนยังต้องดำเนินต่อ เช่น การบูรณะห้องเก็บเครื่องพิธีอันศักดิ์สิทธิ์และห้องสำหรับเตรียมพิธีการทางคริสต์ศาสนาที่คาดว่าจะแล้วเสร็จใน ค.ศ. 2025 การติดตั้งกระจกสีทั้งหมดใน ค.ศ. 2026 และโครงการพัฒนาและปรับภูมิสถาปัตย์บริเวณพื้นที่โดยรอบของมหาวิหารและลานด้านหน้าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวใน ค.ศ. 2027

ปฏิบัติการกอบกู้ซากโบราณสถานอย่างเร่งด่วน
ย้อนกลับไปในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 2019 ภายหลังพายุเพลิงที่โหมกระหน่ำร่วม 15 ชั่วโมงได้สงบลง การปฏิบัติการเพื่อกอบกู้ ซากของโบราณสถาน (Les vestiges) ได้เริ่มต้นขึ้นทันทีโดยกระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ด้านการวิจัยแห่งชาติ (Centre national de la Recherche Scientifique หรือ CNRS) ได้ร่วมกันจัดตั้ง หน่วยงานของรัฐด้านการอนุรักษ์และบูรณะ มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส (L’établissement public chargé de la conservation et de la restauration de la cathédrale Notre-Dame de Paris หรือ EPRNDP)

(ภาพ : Friends of Notre-Dame de Paris)
การบูรณะซ่อมแซมแบ่งออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกเรียกว่า การรักษาความปลอดภัยและสร้างความมั่นคงแข็งแรงของมหาวิหาร (Les travaux de sécurisation et de consolidation) เป็นการรื้อถอนเศษซากปรักหักพังที่เหลือจากกองเพลิงและโครงสร้างที่อาจพังลงมา ทำความสะอาดฝุ่น ควัน หรือสารเคมีที่ตกค้างที่อาจเป็นอันตราย และเสริมสร้างโครงสร้างชั่วคราวและนั่งร้านเพื่อยึดและเสริมความแข็งแรงหรือเสถียรภาพของตัวอาคารเพื่อมิให้พังลงมาเพื่อความปลอดภัยต่อผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่ ช่างฝีมือ และผู้ปฏิบัติงาน การปฏิบัติงานในเฟสนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันรุ่งขึ้นหลังจากเกิดเหตุไฟไหม้และใช้ระยะเวลากว่า 2 ปี


โจทย์ที่ยากที่สุดคือเฟสสอง การบูรณะซ่อมแซม (Les travaux de restauration) ที่เริ่มดำเนินการในช่วงต้น ค.ศ. 2021 เพื่อซ่อมแซมและสร้างขึ้นใหม่บางส่วนในรูปแบบและสไตล์ที่ใกล้เคียงกับของเดิมให้มากที่สุด โดยเฉพาะวัสดุและรูปแบบการก่อสร้าง เช่น ในส่วนของหลังคาให้ใช้แผ่นตะกั่ว ยอดแหลมและเพดานโค้งต้องสร้างจากไม้โอ๊ก บริเวณโถงขวาง ตัวโบสถ์เล็กๆ หรือคูหาสวดมนต์ และโถงกลางให้คงตามรูปแบบเดิมของสมัยกลางให้ได้มากที่สุดเช่นกัน

รวมที่สุดของผู้เชี่ยวชาญเพื่อบูรณะมหาวิหารและฟื้นฟูจิตใจผู้คน
มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส ก้าวผ่านข้ามกาลเวลามาได้อย่างคงทนและสวยงามมากว่า 850 ปี ดังนั้นการบูรณะซ่อมแซมให้กลับมาใกล้เคียงกับรูปแบบเดิมให้ได้มากที่สุดมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการค้นคว้าวิจัย ตรวจสอบ วิเคราะห์และประเมิน ทั้งในเรื่องของวัสดุที่ใช้และวิธีการก่อสร้าง เพื่อให้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพปัจจุบันและสภาพในอดีตของตัวอาคาร ดังนั้นในช่วงระหว่างการบูรณะจึงได้มีการปรับพื้นที่ด้านหน้าของมหาวิหารให้เป็นไซต์งานทางวิทยาศาสตร์เพื่อการบูรณะซ่อมแซมที่เรียกว่า Le chantier scientifique (เลอ ช็องติเย่ร์ ซิยงซิฟิก) เพื่อเป็นสถานที่ทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญจากสหวิชาชีพทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนทั่วประเทศฝรั่งเศส รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศในสาขาต่างๆ เช่น นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะ นักมานุษยวิทยา นักฟิสิกซ์ นักเคมี วิศวกร สถาปนิก นักคอมพิวเตอร์ รวมถึงช่างฝีมือ เช่น ช่างไม้ ช่างปูน ช่างกระจก เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ก้าวหน้า เช่น แบบจำลองสามมิติ เลเซอร์ สแกนเนอร์ เรดาร์เจาะพื้น (Ground Penetrating Radar) เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และประมวลผลโครงสร้างและส่วนประกอบต่างๆ ของตัวอาคาร เพื่อให้ได้ขนาด สัดส่วน และลักษณะที่แม่นยำตามสภาพที่ปรากฏในอดีตหรือก่อนไฟไหม้

ผู้เชี่ยวชาญจากสหวิชาชีพได้แบ่งการทำงานออกเป็น 8 ทีม เช่น ทีมที่ดูแลเรื่องการซ่อมแซมโครงสร้าง ทีมงานวิเคราะห์เรื่องหินและปูน โครงสร้างไม้ โลหะ และกระจก ทีมสร้างระบบฐานข้อมูลดิจิทัล รวมไปถึงทีมที่ให้ความสำคัญกับอารมณ์และความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อมหาวิหารศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ทีมงานมีการประชุมร่วมกันทุกๆ 2 เดือน เพื่อวิเคราะห์และติดตามผลการดำเนินงาน การวิเคราะห์ วิจัย งบประมาณ และความก้าวหน้าของแต่ละด้าน ซึ่งข้อมูลที่ได้จะช่วยเพิ่มพูนฐานข้อมูลและการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของโบราณสถานแห่งนี้

ทีม 1 : ทีมงานโครงสร้าง
โครงสร้างของ มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส ที่ได้รับความเสียหายหนักจากเหตุไฟไหม้ครั้งนี้ คือ ส่วนของยอดแหลมที่พังลงมาใส่หลังคาบริเวณที่เรียกว่าส่วนขวางหรือจุดตัดที่ติดกับบริเวณตอนกลางของโบสถ์และบริเวณโถงกลาง ทำให้หลังคาทั้งสามส่วนนี้พังถล่มลงมา รวมไปถึงเพดานโค้งและเพดานไม้ที่ซ่อนอยู่เหนือเพดานโค้ง ในขณะที่บริเวณหลังคาส่วนอื่นๆ ที่ใกล้เคียงยังคงตั้งอยู่ได้

(ภาพ : Friends of Notre-Dame de Paris)

ทีมงานโครงสร้าง (Les structures)จะทำหน้าที่ประเมินส่วนประกอบพื้นฐานทุกส่วนที่เป็นเหมือนกระดูกหรือโครงของตัวมหาวิหาร ไม่ว่าจะเป็นกำแพงปูน หลังคา คานไม้ เพดานโค้ง หอระฆัง เป็นต้น ว่าได้รับความเสียหายมากน้อยอย่างไร และการบูรณะซ่อมแซมขึ้นมาใหม่นั้นจะต้องทำอย่างไรและทำส่วนไหนก่อน เพื่อสร้างความแข็งแรงและความมั่นคง อีกทั้งจะต้องซ่อมแซมให้มีความยืดหยุ่นเข้ากับสภาพแวดล้อมเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตจากแรงลมและไฟ
ทีมงานต้องอาศัยสิ่งก่อสร้างร่วมสมัยเดียวกับ มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส เป็นข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลอ้างอิง เช่น ศึกษา วิเคราะห์ และอ้างอิงจากมหาวิหารเมืองนอยง (Cathédrale de Noyon) และมหาวิหารเมืองซองส์ (Cathédrale Saint-Etienne de Sens) และค้นพบว่าหลังคาโค้งของนอเทรอดามนั้นมีความสูงมากกว่า แต่มีขนาดบางกว่าหลังคาของมหาวิหารทั้งสองเมือง

(ภาพก่อนเหตุการณ์ไฟไหม้ในปี 2019)
ทีม 2 : ทีมงานหิน ปูน และงานประดับตกแต่ง
ทีมงานหิน ปูน และงานประดับตกแต่งของมหาวิหาร (La pierre et le mortier, décor monumental) ต้องทำงานขับเคลื่อนไปพร้อมกับทีมงานโครงสร้าง เพราะหินและปูนเป็นวัสดุหลักของกำแพงและเสา และมีการใช้ปูนเชื่อมในการก่อสร้างส่วนของหลังคาโค้งซึ่งได้รับความเสียหายทั้งจากความร้อนของเปลวเพลิงและจากน้ำที่ใช้ดับเพลิงที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงแข็งแรงของมหาวิหาร จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์และตรวจสอบสมบัติทางเคมีเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญด้านหินและปูนร่วมกัน
หลังจากเหตุไฟไหม้ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบได้พบว่ามีชิ้นส่วนของเพดานโค้งที่เป็นหินก้อนใหญ่และเล็ก ขนาดแตกต่างกันออกไปประมาณ 70 ก้อนที่ตกลงมา และได้นำไปตรวจสอบรวมถึงวิเคราะห์สมบัติทางเคมี จนสามารถระบุแหล่งที่มาของหินที่จะนำมาใช้ในการบูรณะซ่อมแซมนั้นว่าต้องนำมาจากเหมืองหินที่เมืองเวแซ็ง (La carrière de Vexin) ในแคว้นอีล เดอ ฟร็องส์ (Ile de France) ส่วนเทคนิคที่ใช้เป็นตัวเชื่อมก้อนหินแต่ละก้อนให้ติดและวางเรียงซ้อนกันได้นั้นจะใช้ปูนที่เป็นส่วนผสมของปูนขาวกับทรายมาเป็นตัวเชื่อมซึ่งเป็นเทคนิคและวิธีการเดียวกันที่ใช้สร้างมหาวิหารแห่งนี้ในสมัยกลาง ส่วนก้อนหินของหลังคาโค้งที่ตกลงมาจำนวนประมาณ 70 ก้อนนั้น สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เพียง 15 ก้อนเท่านั้น

(ภาพก่อนเหตุการณ์ไฟไหม้ใน ค.ศ. 2019)
ด้วยเหตุที่ไม่มีแบบหรือแปลนของมหาวิหารในอดีตเลย ทางทีมงานต้องพบกับปัญหาใหญ่ นั่นก็คือจะเริ่มสร้างตัวเพดานโค้งตรงบริเวณไหน และบล็อกหินที่หายไปจะสร้างเพิ่มเติมอย่างไร ดังนั้นจึงได้ขอความร่วมมือและการสนับสนุนจากทีมงานดิจิทัลเพื่อมาช่วยในการวิเคราะห์และสร้างโครงร่างเสมือนจริงเพื่อกำหนดจุดเริ่มต้นของเพดานโค้ง และรูปแบบของเพดานโค้งให้กลับมามีสภาพเหมือนเดิมให้ได้มากที่สุด รวมถึงหินส่วนอื่นๆ ที่ใช้ตกแต่งประดับประดา เช่น รูปปั้น รูปแกะสลัก และเสาหิน ได้รับการตกแต่งให้กลับมามีลวดลายสวยงามดังเดิมจากบรรดาช่างฝีมือทั่วประเทศฝรั่งเศส

(ภาพ: Notre-Dame de Paris)
ทีม 3 : ทีมงานไม้และหลังคาไม้เหนือเพดานโค้ง
พื้นที่ที่ถูกไฟไหม้และได้รับความเสียหายมากที่สุดของ มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส คือโครงสร้างหลังคาไม้ที่ซ่อนอยู่เหนือเพดานโค้ง ด้วยจำนวนของไม้ที่นำมาสร้างมีจำนวนมากนับพันๆ ต้น ราวกับว่าเป็นการยกต้นไม้ทั้งป่ามาไว้ที่นี่ทำให้โครงสร้างส่วนนี้มีชื่อเรียกว่า ป่าแห่งนอเทรอดาม (La forêt de Notre-Dame) ทีมงานไม้และหลังคาไม้เหนือเพดานโค้ง (Le bois et la charpente)ทำหน้าที่วิเคราะห์และตรวจสอบความเสียหายของโครงสร้างหรือส่วนประกอบทั้งหมดที่เกี่ยวกับไม้ที่ได้รับความเสียหาย พร้อมทั้งเสนอวิธีและแนวทางในการบูรณะซ่อมแซม


นับเป็นโชคดีที่ราว 2-3 ปีก่อนเกิดไฟไหม้ มีนักศึกษาด้านสถาปัตยกรรมของ Ecole de Chaillot ได้ศึกษาและคัดลอกแบบแปลนของโครงสร้างป่าแห่งนี้ไว้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ทีมงานและผู้เชี่ยวชาญด้านนี้สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และกำหนดแผนการซ่อมแซมได้อย่างถูกต้องและใกล้เคียงกับต้นฉบับได้ค่อนข้างสมบูรณ์ เช่น ไม้ที่นำมาบูรณะใช้ไม้ประเภทเดียวกับของดั้งเดิมคือไม้โอ๊กจากป่าธรรมชาติและสวนป่าทั้งของภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศฝรั่งเศสกว่า 2,000 ต้น รวมถึงส่วนยอดหรือปลายแหลมของมหาวิหารก็ใช้ไม้โอ๊กเช่นเดียวกัน

(ภาพก่อนเหตุการณ์ไฟไหม้ใน ค.ศ. 2019)
ทีม 4 : ทีมงานโลหะ
ทีมงานโลหะ (Le métal)รับผิดชอบในการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการนำวัสดุที่เป็นโลหะมาใช้ในการก่อสร้างโดยเฉพาะในส่วนของหลังคา จากผลการศึกษาพบว่ามีการนำแผ่นตะกั่วมาใช้ในการมุงหลังคาและใช้เหล็กมาทำเป็นเดือยหรือขอเกี่ยวก้อนหินในส่วนเพดานโค้ง กำแพง เสา รวมถึงบริเวณหลังคาไม้เหนือเพดานโค้งเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบอีกว่าโลหะหรือเหล็กที่ใช้ทำเป็นเดือยนั้นมีส่วนผสมของเหล็กที่ได้ผ่านการหลอมมาแล้วหลายครั้งซึ่งเป็นการรีไซเคิลของเก่า และแหล่งที่มาของเหล็กพวกนี้มาจากเคว้นอีล เดอ ฟร็องส์ (Ile de France)

ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมต้องใช้เหล็กรีไซเคิลนั้นยังคงเป็นคำถามที่ผู้เชี่ยวชาญยังหาคำตอบไม่ได้ ทำได้เพียงตั้งข้อสันนิษฐานว่าอาจจะด้วยข้อจำกัดด้านการขนส่งเนื่องจากพาหนะที่ใช้ในขณะนั้นอาจมีขนาดเล็กทำให้ไม่สามารถบรรทุกน้ำหนักของเหล็กได้คราวละมากๆ หรือเป็นเรื่องของเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจจึงมีความจำเป็นต้องใช้เหล็กเก่าเท่าที่หาได้นำมาหลอมรวมกันเพื่อนำมาใช้ใหม่ ซึ่งคำตอบที่แน่ชัดยังคงต้องมีการค้นคว้าต่อไป

(ภาพก่อนเหตุการณ์ไฟไหม้ใน ค.ศ. 2019)
ทีม 5 : ทีมงานกระจก
มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส มีพื้นที่ที่เป็นส่วนกระจกมากกว่า 120 บาน ซึ่งนับว่าเป็นความโชคดีที่ตัวเพดานโค้งเป็นเหมือนเกราะป้องกันมิให้เปลวไฟลามมาถึงตัวกระจกสีได้ และในขณะเดียวกันบานกระจกสีไม่ได้รับความเสียหายจากน้ำดับเพลิง ทีมงานกระจก (Le verre) ได้ย้ายส่วนของกระจกสีของนอเทรอดามทั้งหมดลงมาจากตำแหน่งเดิมเพื่อวิเคราะห์ ทำความสะอาด และซ่อมแซมให้มีสภาพสมบูรณ์ รวมถึงเพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับความเสียหายในระหว่างที่มีการซ่อมแซมส่วนอื่นๆ

(ภาพก่อนเหตุการณ์ไฟไหม้ใน ค.ศ. 2019)

อย่างไรก็ตามมีหน้าต่างลายกุหลาบ 3 บานที่ไม่สามารถย้ายลงมาได้ เพราะมีความเปราะบางและเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายหากมีการโยกย้าย โดยเฉพาะหน้าต่างกุหลาบบานที่เก่าที่สุดและเปราะบางที่สุดซึ่งติดตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก (ด้านหน้าบริเวณประตูทางเข้าหลัก) ที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจากภายนอก ส่วนภายในนั้นถูกบดบังด้วยออร์แกนตัวใหญ่ จึงต้องใช้นั่งร้านเหล็กที่สร้างขึ้นมาไว้ภายในมหาวิหารเพื่อสำรวจและทำความสะอาดทั้ง 3 บานและพบว่าไม่ได้รับความเสียหาย มีเพียงฝุ่นสะสมและคราบตะกั่วที่เป็นผลพวงมาจากเหตุไฟไหม้ ทีมงานได้ทำความสะอาดด้วยการใช้เทคนิคแบบง่ายๆ ด้วยการใช้พู่กัน แปรง หรือเครื่องดุดฝุ่น และทาสีซ่อมแซมส่วนที่จางหายไปเพื่อคืนความงดงามให้กับกระจกสี

ทีม 6 : ทีมงานดิจิทัล
ทีมงานดิจิทัล (Le numérique)ทำหน้าที่เก็บและรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่จากนั้นนำมาสร้างเป็นระบบฐานข้อมูลดิจิทัลเพื่อใช้ในการสนับสนุนทีมงานด้านอื่นๆ และเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบูรณะมหาวิหารในอนาคต โดยเฉพาะในการกำหนดแบบแปลนและลักษณะของส่วนประกอบแต่ละส่วน เช่น เพดานโค้ง หลังคา หรือแม้แต่ลวดลายทางสถาปัตยกรรมที่หายไปว่ามีลักษณะอย่างไร เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ นำไปสร้างและประกอบขึ้นมาใหม่ได้อย่างใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด

(ภาพก่อนเหตุการณ์ไฟไหม้ใน ค.ศ. 2019)
ทีม 7 : ทีมงานเสียง
เสียงของนอเทรอดามมิได้หมายถึงแค่เสียงโน้ตดนตรีหรือเสียงระฆัง แต่รวมถึงสภาพแวดล้อมของเสียงที่ประกอบขึ้นเป็นมหาวิหาร เช่น เสียงการเคลื่อนไหวของผู้คนที่อยู่ด้านใน เสียงสวดมนต์ เสียงของเมืองที่อยู่ด้านนอกของมหาวิหาร แต่หลังจากไฟไหม้ เสียงเหล่านี้ก็ได้หายไปเหลือทิ้งไว้แต่เสียงของเครื่องจักรที่กำลังทำงาน และเสียงของเครื่องไม้เครื่องมือในการก่อสร้างและซ่อมแซมแทน

เพื่อให้นอเทรอดามกลับมาเปล่งเสียงอีกครั้ง ทีมงานเสียง (L’acoustique) ได้บันทึกเสียงของกิจกรรมและเสียงของอุปกรณ์ต่างๆ ภายในมหาวิหาร และเสียงจากภายนอก เช่น เสียงของระฆังที่มหาวิหารแซ็งต์ เอเตียน เดอ ซ็องส์ (Cathédrale Saint-Etienne de Sens) และเสียงที่เกิดจากเครื่องมือในการก่อสร้างในยุคกลาง เช่น การตัดไม้ การตัดหิน และการเชื่อมโลหะจากศูนย์ศึกษาวิจัยทางโบราณคดียุคกลางที่ Chantier Médiéval de Montcornelles ในเมืองอาร์นัก (Aranc) จากนั้นนำมาศึกษาและบันทึกในสตูดิโอเพื่อให้มีความใกล้เคียงกับสภาพและบรรยากาศของเสียงที่เกิดขึ้นในอดีตให้ได้มากที่สุด รวมถึงใช้เป็นฐานข้อมูลและความทรงจำด้านเสียงของนอเทรอดามเพื่อส่งต่อให้คนยุคต่อไป

ทีม 8 : ทีมงานด้านอารมณ์และความรู้สึก
มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีสไม่ได้เป็นแค่โบราณสถาน แต่ยังเป็นศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์และเป็นศูนย์รวมจิตใจของศาสนิกชน เหตุการณ์ไฟไหม้จึงไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายทางด้านวัตถุให้กับตัวมหาวิหารเท่านั้น แต่ยังสะเทือนจิตใจผู้คนทั่วโลก ด้วยเหตุนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการบูรณะซ่อมแซมจึงได้ตั้ง ทีมงานด้านอารมณ์และความรู้สึก (Emotions et mobilisations) ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา เพื่อสังเกตและติดตามว่าการบูรณะซ่อมแซมในแต่ละขั้นตอนนั้นมีผลกระทบอย่างไรต่ออารมณ์และความรู้สึกของสาธารณชน รวมถึงศึกษาและวิเคราะห์ว่ามหาวิหารแห่งนี้มีคุณค่าทางด้านวัตถุและความศักดิ์สิทธิ์ต่อสังคมและผู้คนอย่างไรบ้าง ทีมงานนี้จึงทำหน้าที่เสมือนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างมหาวิหารกับสาธารณชนในกรณีที่มีเหตุการณ์ที่อาจเป็นข้อขัดแย้งหรือความเห็นไม่ตรงกันระหว่างสองฝ่าย โดยเฉพาะในระหว่างที่มีการบูรณะซ่อมแซมและในอนาคต
Fact File
- ค.ศ. 1160 : มอคริส เดอ ซูว์ลี (Maurice de Sully) อาร์ชบิชอปแห่งปารีส ได้ริเริ่มให้มีการสร้างนอเทรอดาม บริเวณเกาะซีเต ใจกลางกรุงปารีส และเป็นผู้วางหินก้อนแรก ค.ศ. 1163 (บางตำรากล่าวว่าสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 3 ผู้ซึ่งอยู่ร่วมในพิธีด้วย)
- ค.ศ. 1239 : พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 นำมงกุฎหนามศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูมาประดิษฐานไว้ที่นอเทรอดาม
- ค.ศ. 1272 : กว่า 1 ศตวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มวางหินก้อนแรก การสร้างนอเทรอดามก็เสร็จสิ้นลง ภายใต้การควบคุมดูแลของบรมครูด้านการก่อสร้างอย่างอาร์ชบิชอปซูว์ลี ปีแยร์ เดอ เนอมูร์ (Pierre de Nemours) และ กิโยม เดอ ซินเญอร์เลย์ (Guillaume de Seignelay) และกลายมาเป็นผลงานมาสเตอร์พีซของสถาปัตยกรรมแบบกอทิก การก่อสร้างที่กินระยะเวลาอย่างยาวนานนี้เองทำให้เกิดสุภาษิตว่า “attendre 107 ans” (รอคอยถึง 107 ปี) เพื่อสื่อถึงกรณีที่รอคอยสิ่งใดก็ตามที่อาจจะเป็นไปไม่ได้ หรือการรอคอยเป็นเวลาแสนยาวนาน
- ค.ศ. 1793 : เปลี่ยนสถานะจากมหาวิหาร (Cathédrale) เป็นเพียงแค่วิหารแห่งเมืองปารีส ภายใต้ชื่อว่า “วิหารแห่งเหตุผล” (Temple de la Raison) ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่ได้ทำลายหลายๆ ส่วนของมหาวิหาร เช่น ยอดแหลม รูปปั้นของกษัตริย์ฝรั่งเศสที่ประดับบริเวณทางเข้าหลัก และนำทรัพย์สินมีค่าไปหลอมเป็นโลหะต่างๆ
- ค.ศ. 1804 : พิธีสถาปนา นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoléon Bonaparte) เป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ณ มหาวิหารนอเทรอดาม
- ค.ศ. 1859 : ยอดแหลมภายใต้การออกแบบและควบคุมการก่อสร้างของ วีโอเล เลอ ดุก (Viollet-le-Duc) ในช่วงที่มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ได้ถูกนำกลับมาติดตั้งบนหลังคาของมหาวิหาร
- ค.ศ. 1991 : ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมร่วมกับสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่อยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำแซน ในชื่อว่า “ปารีส ริมฝั่งแม่น้ำแซน” (Paris, Rives de la Seine)
- ค.ศ. 2019 : เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้มหาวิหารครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 2019
อ้างอิง
- https://notre-dame-de-paris.culture.gouv.fr/fr/les-groupes-de-travail
- https://youtu.be/-65DDWYtbwQ?si=9kDENX7POany7TQ-
- https://youtu.be/9I8jB9_GCPE?si=gQDoZZXi505hsrQm
- https://youtu.be/9I8jB9_GCPE?si=fHspThY_w50fk3Gi
- https://www.la-croix.com/religion/reouverture-cathedrale-notre-dame-date-messe-programme-complet-20241115
- https://www.rcf.fr/articles/actualite/notredame-de-paris-lhistoire-incroyable-de-la-cathedrale-en-10-dates-cles
