ดื่มด่ำ โอเปร่า ที่รัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตร ในวาระ 120 ปี สยามสมาคม
- 1907: Rama V European Operatic Journey โอเปร่าขนาดกระทัดรัดในวาระ 120 ปี สยามสมาคม ที่ได้แรงบันดาลใจจากพระราชนิพนธ์ ไกลบ้าน
- โอเปร่าเรื่องนี้ได้รวบรวมฉากการแสดงย่อยของ 7 เรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทอดพระเนตรระหว่างเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2450
การชม โอเปร่า สักเรื่องนับเป็นวาระที่ไม่ง่ายนักสำหรับคนไทย แต่ สยามสมาคม จัดมาให้ชมกันถึง 7 เรื่อง ในช่วงสัปดาห์วาระที่ทางสยามสมาคมฉลองครบรอบ 120 ปี ด้วยการแสดงที่ชื่อว่า 1907: Rama V European Operatic Journey รายการนี้แม้จะเป็นการแสดงแบบกะทัดรัดและเบ็ดเตล็ดจากการคัดฉากย่อยสำคัญของโอเปร่าผสมบัลเล่ต์ 7 เรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทอดพระเนตรระหว่างเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2450 แต่ก็นับเป็นโปรดักชันสุดพิเศษ ด้วยจัดแสดงขึ้นภายในอาคารหอประชุมประวัติศาสตร์ของสมาคมเอง และการทำบทให้เชื่อมโยงเนื้อหาโอเปร่าให้เข้ากับบริบทการเสด็จประพาศ ผ่านหลักฐานชิ้นสำคัญอย่างบทพระราชนิพนธ์ ไกลบ้าน
ท่ามกลางประเด็นเนื้อหาอันหลากหลาย อันปรากฏใน “ไกลบ้าน” ที่รวบรวมพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงส่งมาพระราชทานแก่พระราชธิดา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ขณะเสด็จเยือนประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปเมื่อ พ.ศ. 2450 ประสบการณ์การได้ทอดพระเนตรการแสดงของโลกตะวันตกต่างๆ นับเป็นสิ่งที่น่าสนใจและศึกษาค้นคว้าต่อ ซึ่งทางทีมงานของทางสยามสมาคมและทีมจัดการแสดง 1907: Rama V European Operatic Journey ได้เตรียมการด้านข้อมูลประวัติศาสตร์กันมานับแรมปีก่อนหน้า และเดินทางไปค้นคว้าไกลถึงประเทศยุโรป ผ่านการค้นคว้าเอกสารและหลักฐานร่วมสมัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงที่ทอดพระเนตร อาทิ หนังสือพิมพ์และนิตยสารบันเทิงภาษาฝรั่งเศส อิตาเลียนและอังกฤษ โดยทำอย่างละเอียดถึงขึ้นได้ข้อมูลลงลึกอย่าง รายนามนักแสดง บทวิจารณ์การแสดงของสื่อมวลชน บันทึกเสียงของนักแสดง ตลอดจนภาพร่างฉากการแสดงและเสื้อผ้า ซึ่งได้นำมาเป็นวัตถุดิบพื้นฐานที่นำมาใช้ทั้งในด้านบทและการออกแบบองค์ประกอบต่างๆ เช่น พื้นเวทีที่นำเอกสารสูจิบัตร บนวิจารณ์ต่างๆ ที่ค้นคว้ามา มาขยายเป็นตัวหนังสือจางๆ เพื่อสร้างบริบททางสายตา
โอเปร่าครั้งนี้นับว่าเป็นการแสดงขนาดกระทัดรัด ออกแบบเวทีหลักที่สร้างชั่วคราวให้มีทรงยาวขนานไปกับตัวอาคารหอประชุม เปิดพื้นที่ให้ผู้ชมได้นั่งโอบล้อมสามด้าน บนเวทีมีเพียงกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ ตุ๊กตาเด็ก และเก้าอี้ม้านั่ง ที่ทำหน้าที่เชื่อมบทพระราชนิพนธ์ไกลบ้านให้เข้ากับเรื่องราวของ โอเปร่า ทั้ง 7 เรื่องที่รัชกาลที่ 5 เคยทอดพระเนตร
และเพื่อให้เกิดอรรถรสทางด้านดนตรีอย่างสมบูรณ์แบบ วงออเคสตร้าขนาดกะทัดรัดแต่ครบมิติได้นั่งบรรเลงบนฝั่งเวทีปกติของหอประชุม สอดประสานกับเสียงร้องสด เสริมด้วยระบบอคูสติกของอาคารเก่าได้เป็นเอย่างดี
นอกเหนือไปจากโอเปร่าที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดีอย่าง La Traviata, Madame Butterfly และ The Merry Widow แล้ว ผู้ชมยังจะมีโอกาสได้รับฟังการแสดงในรูปแบบเพลงบรรเลงประกอบบัลเล่ต์ โดยไฮไลต์อยู่ที่ Fortunio โอเปร่าภาษาฝรั่งเศสที่รัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตรเมื่อ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2450 ณ กรุงปารีส จัดว่าเป็นโอเปร่าที่เกือบสาบสูญไม่มีใครนำมาแสดงนานกว่า 100 ปี ทว่าทางทีมงานได้ไปค้นคว้าทำนองเนื้อร้องจากหอจดหมายเหตุมารื้อฟื้นเพื่อวาระนี้โดยเฉพาะ
อรรถรสทางด้านการบรรเลงด้วยวงดนตรีคลาสสิกอย่างตะวันตกในการแสดงครั้งนี้ มาจากฝีมือปลายไม้วาทยากรของ วรปรัชญ์ วงศ์สถาพรพัฒน์ ที่คว้าดีกรีด้านดนตรีจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเจ้าของรางวัล Grand Prize จากรายการประกวด SCG Young Thai Artist Award in Composition 2020 ที่ตำแหน่งการควบคุมวงของเขาโดดเด่นไม่แพ้นักแสดง
แม้ว่าศิลปินนักร้องนักเต้นและนักดนตรี ของ 1907: Rama V European Operatic Journey กว่า 50 ชีวิต จะประกอบไปด้วยคนไทยเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็กล่าวได้ว่าเป็นทีมงานนานาชาติอย่างแท้จริง ด้วยแขกรับเชิญในตำแหน่งสำคัญอย่าง Martin Ng นักร้องเสียงบาริโทนชาวสิงคโปร์ ที่เป็นที่รู้จักในแวดวงดนตรีคลาสสิกของอาเซียน Mu Yu นักร้องเสียงโซปราโนชาวจีน ผู้กำลังศึกษาปริญญาเอกด้าน voice performance มหาวิทยาลัยมหิดล และแดเรน รอยส์ตัน นักออกแบบท่าเต้นชาวอังกฤษที่มารับบทเป็นผู้บรรยายร้อยเรียงเรื่องราวส่วนภาคการเสด็จประพาสให้เข้ากับภาคโอเปร่าด้วย
แต่ช่อดอกไม้กอใหญ่คงไม่พ้นตกอยู่ในมือของ ธาริน ปริญญาคณิต ผู้กำกับ หนุ่มไทยจากรั้วจุฬาลงกรณ์ และ Verona Accademia per l’Opera Italiana ประเทศอิตาลี ผู้เคยผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศในการชิงรางวัล European Opera-directing Prize (EOP) ครั้งที่ 11 เมื่อปี 2019 ที่ประเทศเยอรมนี
ตั๋วการแสดงทั้งห้ารอบของ 1907: Rama V European Operatic Journey ได้จำหน่ายหมดไปแล้ว แต่ภาพแห่งความประทับใจยังพอมีให้เห็นตามสื่อต่างๆ และที่สำคัญสมาชิกที่นับได้ว่าเป็นเลือดใหม่ของวงการ โอเปร่าและการแสดงบนเวทีของไทยยังคงมีเส้นทางอีกยาวไกลในการสำแดงฝีมือให้คนในบ้านเมืองไทยได้มีโอกาสชมสุนทรียะของโลกตะวันตก หลังจากที่หลายคนได้มีโอกาสไปร่ำเรียน ณ แดนไกลบ้านมาแล้ว
Fact Faile
- 1907: Rama V European Operatic Journey จัดแสดง ณ หอประชุมสยามสมาคมฯ ถนนอโศกมนตรี (สุขุมวิท 21) ในวันที่ 26, 28, 30 พฤศจิกายน 2567 และวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม
- ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สยามสมาคม