ประท้วง! หนังสือที่พร้อมจะอธิบายว่า ทำไมการประท้วงถึงชอบธรรม
- ประท้วง! หนังสือเล่าเรื่องประวัติศาสตร์การประท้วง แปลจาก Protest! ของ อลิซ และ เอมิลี ฮาเวิร์ท-บูท ภาษาไทยโดย อริยา ไพฑูรย์ อดีตบรรณาธิการผู้เชี่ยวชาญและช่ำชองในวงการหนังสือเด็ก จัดพิมพ์โดย SandClock Books
- หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับเด็กอายุ 7 ขวบขึ้นไป ย้อนไทม์ไลน์การประท้วงไปตั้งแต่ 1170 ปีก่อนคริสตศักราชที่อียิปต์สู่การประท้วงในแต่ละภูมิภาคทั่วโลกทั้งใหญ่และเล็กมาจนถึงปัจจุบัน
ประท้วง! หนังสือเล่าเรื่องประวัติศาสตร์การประท้วง แปลจาก Protest! ของ อลิซ และ เอมิลี ฮาเวิร์ท-บูท (Alice & Emily Haworth-Booth) ซึ่งหลายคนเคยผ่านตางานของ เอมิลี ฮาเวิร์ท-บูท มาแล้วกับนิทานที่ใช้เพียงสีเหลือง ดำ เทา เรื่อง พระราชาผู้สั่งห้ามความมืด (The King who Banned the Dark) และสำหรับ ประท้วง! ฉบับภาษาไทยแปลโดย อริยา ไพฑูรย์ อดีตบรรณาธิการผู้เชี่ยวชาญและช่ำชองในวงการหนังสือเด็ก ผลงานจากสำนักพิมพ์ SandClock Books
ครั้งนี้ SandClock Books ไม่ได้เปิดเคล็ดลับแม่มือใหม่หัดเลี้ยงลูก ทว่านำเสนอหนังสือเสริมทักษะชีวิต ความคิด การเรียนรู้ เจาะไปที่ทักษะร่วมสมัยอย่าง การประท้วง ทักษะที่ในสังคมไทยยุคสมัยหนึ่งให้ความหมายเทียบเท่ากับคำว่า การก่อความไม่สงบ ทว่าหนังสือ ประท้วง! เล่มนี้พร้อมที่จะอธิบายว่า ทำไมการประท้วงถึงชอบธรรมและคู่ควรเป็นกริยาสามัญประจำสำนึกของประชาชนในโลกที่ยังมีการกดขี่เกิดขึ้นทุกหนแห่ง
การประท้วงในเล่มถูกผ่านการเล่าเรื่องทั้งเชิงประวัติศาสตร์ มีการยกตัวอย่างกรณีศึกษาการประท้วงในซีกโลกต่างๆ กลยุทธ์การประท้วงที่แตกต่าง พร้อมทั้งภาพประกอบที่สามารถสร้างความเพลิดเพลินให้กับทุกช่วงวัยได้ดื่มด่ำไปกับองค์ความรู้แห่งการประท้วงที่เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่เราคิด และแม้เนื้อหาจะเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การประท้วง การเมือง สังคม แต่ด้วยวิธีการนำเสนอที่เน้นเล่าเรื่องผ่านภาพ ย่อยข้อมูลให้อ่านง่าย หนังสือประวัติการประท้วงเล่มนี้จึงเหมาะสำหรับเด็กตั้งแต่ 7 ขวบและประชาชนผู้ใหญ่ทั่วไป ที่สำคัญเนื้อหาในหนังสือได้ขยายภาพให้เห็นภาพชัดว่า การที่ผู้คนมารวมตัวกันมันสามารถเปลี่ยนโลกนี้ได้อย่างไร
“นิยามของคำว่า อิสระ คือการที่ประชาชนตระหนักว่า พวกเขาคือผู้นำของตนเอง”
ประโยควรรคทองของ ไดแอน แนซ (Diane Nash) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมือง เป็นจุดเริ่มต้นของการให้คำนิยามพื้นฐาน การประท้วงและนำไปสู่ความรู้ของการลุกขึ้นประท้วงมากมาย โดยการประท้วงมากมายจากอดีตถึงปัจจุบันมีจุดมุ่งหมายเดียวกันนั้นคือ การเสริมอิสระให้กับผู้ประท้วง หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึง การที่ผู้คนขาดอิสระจนไม่สามารถอดทนได้อีกต่อไป ซึ่งจุดเริ่มต้นการประท้วงที่หนังสือเล่มนี้เสนอไว้คือการย้อนกลับไปหารากทางประวัติศาสตร์การประท้วงในยุคอียิปต์โบราณราว 1170 ปีก่อนคริต์ศักราช ครั้งนั้นการประท้วงได้เริ่มต้นขึ้นโดยแรงงานทาสที่ถูกกดขี่ระหว่างสร้างพีระมิดตามคำสั่งของฟาโรห์รามเสสที่ 3 เหล่าแรงงานใช้วิธีการนั่งลงและหยุดการก่อสร้างเพื่อเรียกร้องอาหาร ซึ่งอาจดูเป็นการประท้วงที่มีขนาดเล็กและข้อเสนอไม่ก้าวหน้านักหากมองด้วยบริบทปัจจุบัน แต่จุดเล็กๆ นี้กลับเป็นประวัติศาสตร์ชุดสำคัญของการประท้วง เพราะเพียงการนั่งลงเพื่อหยุดงานของกรรมกรกลุ่มเล็กๆ กลับสามารถเขย่าขวัญผู้ปกครอง ไม่มีครั้งไหนในอียิปต์ที่อำนาจสูงสุดของผู้ปกครองอย่างฟาโรห์ถูกต่อรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการต่อรองจากกลุ่มที่เรียกได้ว่าต่ำเตี้ยไร้อำนาจมากที่สุดในระบบสังคมยุคนั้น
การประท้วงขแงกลุ่มแรงงานทาสส่งผลสะเทือนอย่างชัดเจนว่า แม้ผู้ปกครองมีอำนาจดุจสมมติเทพอย่างฟาโรห์ก็ไม่สามารถสร้างบ้านเรือนหรือพีระมิดใดๆ ได้หากไม่พึ่งแรงงานกรรมกร นั่นจึงทำให้ผลของการต่อรองนี้สำเร็จ แรงงานกรรมกรได้รับอาหาร แน่นอนแม้ว่าพวกเขายังคงเป็นผู้ถูกกดขี่ เป็นแรงงานทาส แต่ผลคือการเขย่าความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ย้ำเตือนให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว ฟาโรห์ก็คือคนธรรมดา ไม่มีสถานะเทพเทวาที่จะเสกปั้นพีระมิดได้เองแต่อย่างใด
จากอียิปต์โบราณ หนังสือได้เล่าถึงการประท้วงสำคัญทั้งเล็กใหญ่ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกจากอีตถึงปัจจุบัน ขยายให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นว่าทำไมการประท้วงจึงเป็น กริยาสามัญ ที่ทุกคนสามารถกระทำได้เมื่อเห็นความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น และหลายครั้งที่การประท้วงก็เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเกินกว่าเราจะคาดคิด เช่นกรณีประท้วง สหายคอตเทจชีส ค.ศ.2011 ในประเทศอิสราเอล ครั้งนั้น คอตเทจชีส (Cottage Cheese) หรือ ชีสสด ซึ่งเป็นหนึ่งในชีสพื้นฐานมีราคาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า การประท้วงจึงเกิดโดยใช้วิธีหยุดซื้อและปล่อยให้คอตเทจชีสเน่าเสียบนชั้นขายสินค้า พร้อมกับการยื่นข้อเสนอว่าประชาชนจะกลับมาซื้อชีสต่อเมื่อราคาลดลง การประท้วงดังกล่าวไม่เพียงสะเทือนวงการอาหาร ร้านอาหาร อุตสาหกรรมอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่ยังนำไปสู่การพูดคุยภาคประชาชนจนสามารถเคลื่อนไหวต่อเนื่องไปสู่ประเด็นที่ใหญ่กว่านั่นคือการประท้วงประเด็นลดค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งใครจะคิดว่าจะเกิดจากปัญหาเพียงราคาชีสในก้นครัว และจากคอตเทจชีสถึงการลดค่าครองชีพแสดงให้เห็นการรวมตัวกันประท้วงของประชาชน ที่สามารถลากชักอำนาจจากกลุ่มทุนผู้ผลิตสู่การหาฉันทามติทางออกภาคประชาชนที่ลุกลาม รวดเร็ว ราวกับไฟไหม้ฟาง
การประท้วงจึงเป็นปฏิกริยาสามัญแห่งประชาชนที่ต้องการส่งสัญญาณ เขย่าเตือน ไปจนถึงเพื่อปรับฐานอำนาจระหว่างผู้ปกครองและผู้กดขี่ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง รัฐต่อประชาชน นายทุนกับแรงงาน โดยรูปแบบการประท้วงมีหลากหลายไม่ว่าจะประท้วงผ่านศิลปะ กีฬา แรงงาน ความนิ่งเงียบ วิถีชีวิตทั่วไป ทั้งหมดทั้งมวลนั้นคือการกระทำเพื่อจุดหมายเดียวกันคือ อิสรภาพทางชีวิตและความเท่าเทียมของประชาชนทุกคนในสังคม การประท้วงจึงไม่ใช่ภาพของแง่ลบดังที่เคยถูกนิยามไว้ว่าเป็นการทำลายความสงบ แต่ประเด็นหลักของการประท้วง คือ การเรียกร้องสิ่งที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะอยู่ภายใต้คำว่าก่อความไม่ความสงบหรือไม่ เพราะบ่อยครั้งที่พรมแห่งความสงบผืนนั้นได้ซุกซ่อนอำนาจฉ้อฉลกดขี่ไว้
หากการลุกขึ้นเรียกร้องสิ่งใดเป็นประโยชน์กับภาคประชาชน ก็สมควรแล้วไม่ใช่หรือที่การประท้วงจะเกิดขึ้น และกลายเป็นกิริยาสามัญของมนุษย์ เป็นกิริยาสามัญที่มีมาแต่อดีตถึงปัจจุบันที่เราเรียกว่า ประท้วง!
Fact File
ประท้วง!
เรื่องและภาพ : อลิซ และ เอมิลี ฮาเวิร์ท-บูท
แปล : อริยา ไพฑูรย์
สำนักพิมพ์ : SandClock Books
ราคา : 420 บาท