Poor Things : โลกนี้ช่างน่าเศร้า แต่ข้าพเจ้าขอรับความโหดร้ายด้วยหัวใจไร้เดียงสา
Lite

Poor Things : โลกนี้ช่างน่าเศร้า แต่ข้าพเจ้าขอรับความโหดร้ายด้วยหัวใจไร้เดียงสา

Focus
  • Poor Things ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของผู้กำกับระดับหัวกะทิ ยอร์กอส ลันทิมอส (Yorgos Lanthimos) ซึ่งเคยสร้างผลงานระดับปรากฏการณ์อย่าง The Lobster และ The Favourite
  • Poor Things เล่าเกี่ยวกับการผจญภัยเปิดโลกของ เบลล่า ที่ได้รับการชุบชีวิตด้วยการนำสมองของลูกตนที่อยู่ในครรภ์มาใส่แทนสมองที่ตายไปแล้วทำให้เธอเป็นเหมือนกับเด็กในร่างผู้ใหญ่ ผลงานการชุบชีวิตโดย ดร. ก็อดวิน

Poor Things ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของผู้กำกับระดับหัวกะทิ ยอร์กอส ลันทิมอส (Yorgos Lanthimos) ซึ่งเคยสร้างผลงานระดับปรากฏการณ์อย่าง The Lobster (2015) และ The Favourite (2018) รวมทั้งภาพยนตร์ระดับตำนาน Dogtooth (2009) ยอร์กอสจึงเป็นอีกชื่อที่ผู้ชมภาพยนตร์ขวัญใจภาพยนตร์เทศกาลต่างๆ คุ้นหน้าคุ้นตา เพราะเขาเข้าชิงและชนะรางวัลมาแล้วมากมายจนถือเป็นขาประจำเทศกาลภาพยนตร์ใหญ่ๆ ไม่ว่าจะรางวัลออสการ์ ปาล์มทอง หรือจะสิงโตทอง ก็มักปรากฎชื่อ ยอร์กอส อยู่ในรายชื่อเข้าชิงมาแล้วทั้งนั้น

Poor Things

ด้วยจุดเด่นที่ความปราดเปรื่อง จินตนาการ และคำถามที่วนเวียนอยู่กับปัญหาปรัชญาใหญ่อย่าง อะไรคือความรัก อะไรคือความสำคัญของการร่วมเพศในเผ่าพันธุ์มนุษย์ อะไรคือการกำเนิด อะไรคือความทารุณ อะไรคือชนชั้น และอีกมากมายผ่านการสร้างภาพยนตร์เชิงจินตนาการ (fantasy movie) ที่ครั้งนี้เขายังคงกลับมาวกวนครุ่นคิดเกี่ยวกับปัญหาปรัชญาเป็นกระบะเช่นเคยผ่านการสร้างภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมชื่อยาวเหยียด Poor Things : Episodes from the Early Life of Archibald McCandless M.D., Scottish Public Health Officer ของ อลัสแดร์ เกรย์ (Alasdair Gray) นักเขียนนวนิยายสไตล์โพสต์โมเดิร์นที่ผสานทั้งความสมจริง เรื่องแต่งวิทยาศาสตร์ และนวนิยายเชิงจินตนาการเข้าด้วยกัน อีกทั้งยังเป็นผู้รณรงค์สนับสนุนกลุ่มแนวคิดสังคมนิยมและขบวนการเอกราชสกอต (Scottish independence) และเขายังชนะรางวัล Whitbread Book Awards และ Guardian Fiction Prize จากนวนิยายเล่มนี้ และนั่นทำให้ Poor things เป็นเล่มดังของเขาและยังมีสไตล์เอกลักษณ์แบบฉบับ อลัสแดร์ เกรย์ เต็มเปี่ยมทั้งโลกประหลาด การเมือง รัฐชาติ และอุดมการณ์สังคมนิยมซึ่งเป็นหลักการที่ อลัสแดร์ เกรย์ สนับสนุน เมื่อผลงานวรรณกรรมของนักเขียนนักคิดผู้วิพากษ์สังคมมาประกอบเข้ากับการกำกับและตีความของผู้กำกับที่มักขับเน้นประเด็นปรัชญาให้มาฉายสว่างบนจอเงินอย่าง ยอร์กอส ก็ทำให้ Poor Things น่าสนใจและชวนผู้ชมครุ่นคิดกับหลายประเด็นได้อีกเป็นวันๆ หรือบางทีอาจคือปัญหาที่ต้องใช้เวลาทบทวนตลอดการมีอยู่ของชีวิตเลยก็เป็นไปได้

Poor Things
เบลล่า

โดยย่อภาพยนตร์ Poor Things เกี่ยวกับการผจญภัยเปิดโลกของ เบลล่า ที่ได้รับการชุบชีวิตด้วยการนำสมองของลูกตนที่อยู่ในครรภ์มาใส่แทนสมองที่ตายไปแล้วทำให้เธอเป็นเหมือนกับเด็กในร่างผู้ใหญ่ ผลงานการชุบชีวิตโดย ดร. ก็อดวิน (Dr. Godwin) หรือในนามที่ถูกเรียกขานว่า “ก็อด” (GOD) นักวิทยาศาสตร์และแพทย์มากฝีมือที่เปรียบได้ดั่ง “พระผู้สร้าง” เสกสรรค์ได้ทุกสิ่งบันดาลตัดต่อร่างกายของสิ่งมีชีวิตได้อย่างช่ำชอง โดยการผจญภัยเริ่มขึ้นหลังจากการที่ก็อดให้เบลล่ามั่นหมายกับ แม็กซ์ หนุ่มผู้ช่วยด้านการแพทย์ของก็อด แต่แล้วบุรุษผิวขาวเจ้าสำราญ ดันแคน ดันชิงตัวเบลล่าไปผจญภัยเปิดโลกก่อนที่จะต้องกลับมาอยู่กับแม็กซ์คู่หมั้น การเปิดโลกของเบลล่าจึงนำเธอสู่การเดินทางทำความเข้าใจโลกทั้งใบในสายตาที่ไร้เดียงสาจนเธอได้รู้ว่าโลกใบนี้แท้จริงมันเป็นอย่างไร

Poor Things

อนิจจาโลกนี้ช่างน่าเศร้า : ว่าด้วยปัญหาของโลกทัศน์ทางเพศ เสรีภาพ และพระผู้สร้าง

เราเหี้ยมโหดกับผู้อื่น ดั่งที่เรากระทำโหดเหี้ยมกับสรรพสัตว์

ประโยคดังกล่าวของ . กฤษณมูรติ น่าจะสามารถสะท้อนความคิดในภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวกับความรุนแรงได้ดี ในประเทศไทยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการจัดเรตที่ 20+ หมายความว่าผู้ชมต้องแสดงบัตรประชาชนเพื่อยืนยันอายุว่าเกิน 20 ปีเพื่อเข้าชม และพอชมแล้วก็จะตระหนักได้ว่าภาพยนตร์มีความรุนแรง กลับมาที่ประโยคดังกล่าวว่าถ้าเราโหดกับสัตว์เราก็เป็นไปได้ที่จะโหดกับคนอื่น แสดงให้เห็นแนวคิดของมุมมองว่ามีความสำคัญต่อการกระทำ ยกตัวอย่างในประวัติศาสตร์เช่นการที่คนผิวขาวตะวันตกมองคนถิ่นและชาวผิวสีว่าเป็นสิ่งมีชีวิตคนละชั้นและอ้างความเป็นอารยะในการจัดการทั้งคนและสัตว์ที่ไม่เหมือนตนโดยบรรทัดฐานจากพวกผิวขาวทำให้เกิดแนวคิดอาณานิคมเพื่อชักพาโลกไปสู่อนาคตแบบที่พวกคนผิวขาวหมายปองไว้ Poor Things มีความยึดโยงกับแนวคิดดังกล่าวตั้งแต่การวางตัวละคร เสื้อผ้า ฉาก และการกระทำ

Poor Things
แม็กซ์

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นแนวเชิงจินตนาการที่มีฉากแบบ วิกตอเรียน สตีมพังก์ (Victorian Steampunk) คือการใช้ภาพอนาคตที่จำลองโดยอดีตยุคเครื่องจักรเทคโนโลยีแบบโบราณขึ้นมาใหม่ทั้งฉาก เครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์ประกอบจะมีการผสมผสานรูปแบบของยุควิกตอเรียเข้ากับความเป็นเรื่องแต่งวิทยาศาสตร์ sci-fi ทำให้ขับเน้นประเด็นเรื่อง “อนาคต” อันเป็นคำสำคัญของมายาคติความก้าวหน้าที่มาพร้อมกับพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์

Poor Things
ดันแคน

เมื่อวิทยาศาสตร์นำความรู้ใหม่สู่มนุษย์ มนุษย์จึงเป็น “เจ้าโลก” ได้ทันทีเนื่องจากวิทยาศาสตร์นำความ “จริง” ที่มั่นคงมาลบล้างความเชื่อเดิมที่ไม่มั่นคง ในภาพยนตร์แสดงให้เห็นถึงบทบาทของ ก็อด ในฐานะพระผู้สร้าง (The Creator) ที่เขาช่ำชองการผ่าตัดและวิทยาศาสตร์ไฟฟ้าจักรกลจนทดลองสร้างสัตว์เลี้ยงพันธุ์ใหม่ในจินตนาการขึ้นมาเลี้ยงได้สำเร็จ อาทิ หมาขาเป็ด หัวเป็นหมาลำตัวและขาเป็นเป็ด และเป็ดหัวแพะ นั่นจึงไม่แปลกที่แทบทั้งเรื่องจะไม่มีใครเรียกเขาด้วยชื่อ ดร. ก็อดวิน แต่ทุกคนนิยมเรียกเขาว่า ก็อด เพราะเขาเก่งกาจในการสร้างสรรค์สรรพสิ่งเยี่ยงพระเจ้าและแน่นอนว่าเบลล่าก็คือหนึ่งในผลงานของเขาที่สำเร็จ การชุบชีวิตคนตายเพื่อศึกษาชีวิตก็อดสร้างเธอขึ้นมาเพื่อเฝ้ามองและใช้เธอเป็นแบบทดสอบให้เห็นถึงการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ วิทยาศาสตร์ที่เหลือเชื่อจึงถูกนำมาสู้พระเจ้าในแบบใหม่

Poor Things
ดร. ก็อดวิน

ในมุมหนึ่งแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ที่ผ่านยุครุ่งเรืองในวิทยาศาสตร์จึงมีความมั่นใจในสายพันธุ์ของตนว่าสามารถเข้าถึง “ความจริง” ได้และมีอำนาจเหนือสัตว์ทั้งปวง สิงสาราสัตว์จึงมีอยู่ในฐานะสิ่งที่ต่ำกว่าตนเนื่องจากพวกมันไร้ปัญญาและเข้าไม่ถึงความจริงเท่ามนุษย์ที่สามารถทดสอบสิ่งต่างๆ จนกระจ่างแจ้งได้ ซึ่งแน่นอนว่าความมั่นใจว่ามนุษย์คือเจ้าโลกเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของการวิบัติในปัจจุบันอย่างสถานการณ์ภาวะโลกร้อน ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็จะแสดงให้เห็นว่าเหล่านักวิทยาศาสตร์ในเรื่องไม่มีความตระหนักต่อสัตว์สายพันธุ์อื่น หรือธรรมชาติอื่นๆ ทุกคนต่างหมกมุ่นอยู่ในงานของตนเองเท่านั้นจนโลกในภาพยนตร์เรื่องนี้เหลือเพียงไม่กี่เมืองเล็กๆ ที่เหลือพื้นที่กว้างเต็มไปด้วยน้ำและเกาะที่เป็นซากปรักหักพัง

นอกจากการมองสัตว์ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่ด้อยกว่า มนุษย์บางคนยังใช้กรอบทัศน์นี้กับมนุษย์ด้วยกันเช่นการที่คนผิวขาวมองคนผิวสีและผิวเหลืองมีศักดิ์ต่างกันออกไปด้วยมาตรฐานของความเป็น อารยะ ที่สร้างโดยคนขาว เรื่องราวนี้แสดงผ่านตัวละครดันแคน หนุ่มนักพนันเจ้าสำราญที่พาเบลล่าออกไปผจญภัยด้วยการชักชวนให้ออกจากบ้านก็อดด้วยเหตุผลของการใช้เสรีภาพเพื่อไปเดินทางอย่างอิสระ แต่แล้วชายผิวขาวอย่างดันแคนก็พบว่าเมื่อหญิงสาวเบลล่าออกไปผจญโลกเขาก็รับไม่ได้กับเสรีภาพที่เธอมีอย่างรุนแรง เช่น การที่เบลล่าไปมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ดันแคนก็โมโหอย่างมากทั้งที่เบลล่าไม่เข้าใจว่าทำไมเธอทำไม่ได้ก็ในเมื่อมันเป็นเสรีภาพของเธอ หรือการที่ดันแคนตำหนิการกระทำอันตรงไปตรงมาของเบลล่าบนโต๊ะอาหารที่มีผู้อื่นร่วมรับประทานอยู่ด้วย เบลล่าก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเราทำอะไรตรงไปตรงมาไม่ได้และ “เสรีภาพ”ในนิยามของดันแคนมันอยู่ตรงไหนเพราะดันแคนจงใจจะบีบบังคับเบลล่าให้ใช้ “เสรีภาพ” แบบที่เขาคิดอยู่ตลอดเวลา หรือไม่ก็โมโหเมื่อเธอไม่เป็นดั่งมารยาทที่เขายึดถือ เบลล่าจึงเสมือนคน “ไร้อารยะ” สำหรับดันแคน

Poor Things

สะท้อนโลก “ชายเป็นใหญ่” อีกขั้นให้ชัดขึ้นผ่านฉากหนึ่งที่ดันแคนคาดหวังให้เบลล่ามีเพศสัมพันธ์กับตน แต่เธอกำลังสนใจในการอ่านหนังสืออย่างจริงจังอยู่ เขาจึงโมโหอย่างดุร้าย เพราะในสายตาของดันแคนเบลล่าควรปฏิบัติตามบทบาทที่ดันแคนคิดไว้ซึ่งหนึ่งในบทบาทนั้นคือการที่เบลล่าเป็นเสมือนวัตถุทางเพศที่ต้องสนองกับอวัยวะเพศของ ดันแคน

ในฉากหนึ่งที่เบลล่าเริ่มสนใจการอ่านหนังสือ เธอได้คุยกับบุรุษผิวสีที่เสนอว่าการอ่านปรัชญานั้นเป็นเพียงความพยายามที่มนุษย์จะหนีจากความเป็นสัตว์ หลังจากฉากนี้เขาก็พาเบลล่าไปพบชุมชนสลัมอดอยากบนเกาะและย้ำเตือนว่าหากลงไปในชุมชนนั้นอาจเกิดอันตราย เพราะพวกเขาหิวโหย และเขาพูดต่อว่าถ้าพวกเรา (หมายถึงเบลล่าและชนชั้นสูงและเหล่าผู้มั่งคั่งกำลังพักในโรงแรมหรู) ไปอยู่ตรงนั้นเราก็จะเป็นเช่นนั้น (หมายถึงหิวโหยและอาจก่ออันตรายกับชนชั้นสูงและเหล่าผู้มั่งคั่ง) บุรุษผิวสีจึงเป็นตัวละครที่เน้นย้ำของมนุษย์ในฐานะผลผลิตทางสังคมที่ล้มเหลวทั้งเชิงความเหลื่อมล้ำที่มิอาจแก้ไขและการพยายามเบี่ยงเบนความน่าเศร้าของสังคมล่มสลายไปสู่การตั้งหน้าตั้งตาคิดทฤษฎีที่ไม่ได้ถูกใช้จริง เช่น หากมีปรัชญาใดที่สามารถแก้ไขความเหลื่อมล้ำได้มันจะเป็นเพียงความคิดที่มนุษย์คิดได้ แต่หากไม่มีการต่อสู้ หรือการนำไปใช้หลักปรัชญาไหนๆ ก็เป็นเพียงแนวคิดที่ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ทว่าทำให้ผู้คิดรู้สึกว่าตนสำเร็จความคิด

Poor Things
ผู้กำกับระดับหัวกะทิ ยอร์กอส ลันทิมอส (ซ้าย)

แนวคิดของบุรุษผิวสีจึงมีลักษณาการ ต่อต้านปรัชญา (antiphilosophy) ซึ่งความย้อนแย้งเชิงปรัชญาก็คือสิ่งที่เขาเสนอจะกลายเป็นหนึ่งในมุมมองทางปรัชญา ในสถานการณ์ของเรื่องดังกล่าวจึงเป็นการพาผู้ชมไปครุ่นคิดถึงความสำคัญของ “ความคิด” อันเป็นจุดโฆษณาดังปั้งของมนุษย์ว่าสิ่งนี้ทำให้มนุษย์มีอารยะ แต่ความคิดในโลกปัจจุบันมันมีผลต่อสังคมขนาดไหน ซึ่งในโลกภาพยนตร์ Poor Things แสดงให้เห็นถึงการอ่อนกำลังของความคิดทฤษฎีว่ามันไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ ผ่านตัวละครเบลล่าที่ตอนแรกเธอคิดจะเปลี่ยนโลก แต่แล้วการผจญภัยทั้งหมดก็บอกกับเธอว่า เธอทำไม่ได้หรอก และเธอก็ยอมรับมัน ต่างจากตัวละครเพื่อนโสเภณีของเธอที่ไม่มีทางเลือก เธอไม่สามารถกลับไปไหนได้อีก ไม่มีมรดกมั่งคั่งแบบที่เบลล่าได้จากก็อด โสเภณีเพื่อนของเบลล่าจึงต้องพึ่งพาและเข้าร่วมกับขบวนการสังคมนิยมเพื่อต่อสู้ทางสังคมต่อไป

สีของฉากในเรื่องผสมผสานรูปแบบของยุควิกตอเรียเข้ากับความเป็นเรื่องแต่งวิทยาศาสตร์ sci-fi

การใช้สองตัวละครมาเล่าเรื่องการต่อสู้และการยอมรับที่เดินขนานกันทำให้เห็นถึงมิติของการต่อสู้ในแง่ของความคิดและอุดมการณ์ว่ามันอาจไม่พอ แต่การต่อสู้อาจจะเริ่มจากการที่มีคนบางคนหลังชนฝาจนต้องสู้เพื่อโลกใหม่แบบเดียวกับตัวละครโสเภณีที่ไม่มีอะไรจะเสีย เพราะเธอทำงานในซ่องและไม่มีสมบัติใดๆ เธอจึงต้องหมั่นศึกษาเรียนรู้และร่วมขบวนการผลักดันทางการเมือง ต่างจากเบลล่าที่อาจจะรู้ทุกอย่างแบบเธอ หรือมากกว่าด้วยกำลังทรัพย์และโอกาส แต่พลังในการต่อสู้ไม่อาจเท่าเทียมกับเพื่อนของเธอ

ใน Poor Things จึงมีคำถามมากมายฝากไว้กับทุกการกระทำของตัวละครสำคัญที่ชวนครุ่นคิด ไม่ว่าจะอำนาจและมายาคติที่มาพร้อมกับเพศเช่นดันแคนที่เขาต้องพยายามทำตัวเป็นสุภาพบุรุษตลอดเวลา เขาต้องปลอมท่านั่งของตัวเองด้วยซ้ำต่อหน้าเบลล่าเขาเองก็ถูกทำให้ต้องมีมารยาทในโลกที่จำกัดคับแคบอันเป็นผลพวงของโลกชายเป็นใหญ่ที่จัดวางอำนาจทางเพศและอุดมคติทางเพศเอาไว้ อุดมการณ์แบบนี้มันทำร้ายทุกคนรวมทั้งดันแคนเองที่ต้องเหนื่อยเสแสร้งและจนถึงในท้ายที่สุดเขาก็ปฏิบัติตนดุร้ายเยี่ยงสัตว์เถื่อนกับเบลล่า

เสรีภาพ ในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอีกคำสำคัญทั้งเป็นคำโฆษณาของดันแคนจนถึงท้ายที่สุดเบลล่าค้นพบว่าเสรีภาพมันไม่ใช่เพียงสิทธิ แต่ด้วยฐานะที่มาจากมรดกของก็อดมันตั้งคำถามกับอภิสิทธิ์ขึ้นมาอีกชั้น เช่น หากกล่าวว่าทุกคนมีเสรีภาพเท่ากัน แต่บางคนต้องขายตัวในซ่องทั้งวันทั้งคืน กลับกันที่อีกคนมีบ้านใหญ่โตไม่ต้องทำงานทำการนั่งเล่นสนามหลังบ้านได้ทั้งวัน เสรีภาพ นั้นแปรไปตามเศรษฐกิจด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นมันจึงไม่ใช่คำสวยหรูที่มีคุณสมบัติในตัวมนุษย์เองตราบที่มนุษย์ยังถูกควบคุมด้วยระบบใดๆ นี่คือคำถามใหญ่ที่ชวนคิดในตอนท้ายเรื่อง คำถามที่ว่า หรือพวกเราไร้เสรีภาพกันทั้งสิ้นจากระบบต่างๆ ทั้งจารีตชายเป็นใหญ่ เศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ และทุนนิยมที่จัดวางจำกัดกรอบให้มนุษย์แต่ละคนมีสิทธิทางเสรีภาพไม่เท่ากันจากระบบนั้นๆ เป็นผู้จัดสรรอย่างแนบเนียน

พระผู้สร้างอย่างก็อดได้สร้างเบลล่าและเหล่าสัตว์สายพันธุ์แปลกใหม่ขึ้นมาโดยที่ตัวเองได้มรณกรรมไปก่อน เป็นอีกหนึ่งฉากสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าเสรีภาพในการรับผิดชอบชีวิตเกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าได้ทอดทิ้งไปแล้ว ชะตากรรมที่เหล่าตัวละครประสบเป็นผลพวงของการตัดสินใจของตนเองหาใช่ลิขิตฟ้าพระเจ้าประทาน ในมุมนี้ยังคงวิพากษ์แนวคิดเรื่องเสรีภาพที่หมายถึงการตัดขาดของตนกับสรรพสิ่งโดยเฉพาะผู้ให้กำเนิด เมื่อเบลล่าไม่ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของก็อดอีก เมื่อนั้นเบลล่าปราศจากพรของก็อดด้วยเช่นกัน เช่น ก็อดชอบห้ามไม่ให้เบลล่าออกจากบ้าน เมื่อก็อดเสียชีวิต เบลล่าออกได้สบาย แต่ก็สูญเสียผลประโยชน์จากความสามารถทางวิทยาศาสตร์ของก็อดด้วยเช่นกัน เช่น การรักษาโรคและเทคโนโลยีในบ้านที่ล้ำยุค การปลดแอกจากผู้คุ้มครองนำไปสู่การดูแลตนเอง แต่ก็ยังมีปมคือสังคมที่จำกัดกรอบใหม่ขึ้นมาอีกที นี่คือความซับซ้อนของโลกที่เบลล่า และแน่นอนว่าผู้ชมนอกจอก็กำลังประสบทั้งความเวิ้งว้างของชีวิตและความรู้สึกว่าโดนจำกัดสิทธิโดยสังคมบางประการ กฎของพระผู้เป็นเจ้าจางไป กฎหมายจากรัฐก็สถาปนาอำนาจแทน ท้ายที่ภาพยนตร์จึงตั้งคำถามกับเสรีภาพในทุกวันนี้ว่า ขอบเขตที่พวกเรามีมันน่าพอใจแล้วหรือ?

แต่ข้าพเจ้าขอรับความโหดร้ายนานาด้วยหัวใจไร้เดียงสา

วิทยาศาสตร์สอนไว้ว่าทุกสิ่งหักล้างได้ด้วยองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ทดลองเป็นประจักษ์ กับภาพยนตร์เรื่องนี้ที่มีแกนในการพูดถึงวิทยาศาสตร์ก็พูดถึง “ความรู้” เช่นกัน ด้วยเบลล่าสตรีสมองเด็กในร่างผู้ใหญ่ต้องเผชิญโลกอย่างไร้เดียงสาเธอจึงเต็มไปด้วยความไม่รู้และซักถามให้ผู้ชมเห็นว่าสายตาไร้เดียงสาอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการหาความรู้ใหม่

ฉากที่เบลล่าทำงานในซ่องโสเภณีเธอถามคำถามสุดพื้นตื้นๆ อย่างทำไมแขกเป็นผู้เลือกโสเภณี ทำไมโสเภณีไม่มีสิทธิ์เลือกแขก แม่เล้าจึงอธิบายว่ามันเป็นการ “ทำงาน” เพื่อปากท้องจึงต้องทนทำไปเพื่อเอาเงินไปใช้จ่ายกับความจำเป็นอื่นๆ ในฉากนี้แม้เบลล่าจะไม่ต่อความยาวสาวความยืด แต่ความเป็นภาพยนตร์เสมือนกระจกทางปัญญาได้สะท้อนให้เห็นปัญหาของการยอมรับความอยุติธรรมที่มาในรูปแบบการค้าเสรี ความอยุติธรรมไม่ใช่เรื่องของการขายตัวไปมีเพศสัมพันธ์ แต่คือการที่มันลดทอนสิทธิเสรีภาพของแรงงานลงจนคำถามดังกล่าวเงียบไปด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่บางมุมอาจไม่สมเหตุสมผล

การกดขี่ผ่านระบบมีความแนบเนียนและอาศัยความเข้าใจในการสมยอม เหมือนเรื่องความรุนแรงที่ถ่ายทอดมาจากการกระทำกับสัตว์ไปสู่การกระทำแบบเดียวกันกับมนุษย์ (ที่ถูกมองว่าอยู่คนละระดับกับมนุษย์ที่กระทำ) มุมมองของมนุษย์จึงสำคัญและยืนยันทั้งการมีอยู่ของตนและความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ การยอมรับระบบจึงนำไปสู่การครอบงำชีวิตอันเป็นเรื่องใหญ่ขึ้น การสมยอมต่อการกดขี่อาจเกิดขึ้นเพราะเพียงเรายอมรับเหตุผลเล็กๆ น้อยๆ ว่ามัน เข้าใจได้

ในสถานการณ์ดังกล่าวภาพยนตร์จะทำให้เห็นถึงเจตนาลุกขึ้นถกเถียงจนเงียบไปของเบลล่าและท้ายที่สุดเธอก็ยอมรับอยู่ในระบบที่เธอคิดว่าอยุติธรรมได้ เพราะเธอยอมแพ้ในการที่จะสู้อย่างสิ้นหวัง เบลล่ามีความสุขดีจากกองมรดกและยังคงสายตาไร้เดียงสาในบางครั้ง เช่นเธอไม่รู้สึกว่าการดัดแปลงมนุษย์ให้มีพฤติกรรมเยี่ยงสัตว์เป็นเรื่องผิดทั้งที่การกระทำนี้ก็เป็นการกระทำโดยที่มนุษย์ที่ถูกดัดแปลงไม่สมยอม แต่การวิเคราะห์ใดๆ จบสิ้นลงพร้อมกับอุดมการณ์เปลี่ยนแปลงสังคมที่เบลล่าไม่ได้ยึดถืออีกต่อไป แต่เธอมีความสุขดีที่แม้จะไม่ได้คิดทุกเรื่อง ความสุขของเธอเป็นความไร้ความรับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่ ถ้าใช่เราต้องเรียกร้องให้เธอทุกข์พร้อมสังคมใช่หรือไม่ ถ้าไม่ใช่เราจะปล่อยให้อภิสิทธิ์ชนเยี่ยงเธอลอยหน้าลอยตาต่อไปเป็นเยี่ยงอย่างความเมินเฉยจะดีหรือ บทสรุปนี้จึงท้าทายศีลธรรมของผู้ชมในโลกที่ “ตื่น” (woke) ทางการเมืองและทุกอย่างถูกทำให้เป็นการรณรงค์ ปัญหาการเมืองได้รับความสำคัญมากขึ้นจนการเมืองอยู่ทุกที่ ฉากจบนี้จึงท้าทายแนวคิดของยุคสมัยให้ถกเถียงทั้งในมุมการมีอยู่ของฉากจบนี้และในมุมหน้าที่ของสื่อว่าต้องรับใช้การเมือง หรือแสดงภาพความจริง หรือเป็นเพียงเรื่องส่วนตัวของผู้สร้าง หรือการจัดฉายคือการต้องรับผิดชอบต่อการเมือง ความเห็นเหล่านี้เป็นไปได้ไม่รู้จบ รู้เพียงภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดฉากหลายอย่างให้เราเถียงกับมันและคิดต่อไปได้อีกมากมายหลายแนวทาง

Poor Things จึงไต่ถามผู้ชมเสมอผ่านทั้งการฮึกเหิมต่อสู้ของตัวละคร และการยอมโอนอ่อนแพ้พ่ายว่า ท้ายที่สุดโลกของเรายังมีความหวังอยู่ไหม หรือความหวังใดๆ ไม่เหลือแล้ว และหากเป็นเช่นนั้น เราจะใช้ชีวิตอย่างไรต่อไป ดันแคน ที่เป็นบ้าจากความผิดหวังของอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ของตน เพื่อนสาวโสเภณีที่ต้องการผลักดันแนวทางสังคมนิยมให้ได้เพื่อชีวิตของเธอและผู้อื่น เบลล่าที่กำลังสุขสบายจากกองมรดกก็อด หรือนายทหารที่ได้รับการผ่าตัดสมองกับสัตว์จนไม่ต้องคิดอะไรแบบมนุษย์ ใช้ชีวิตแบบสัตว์ต่อไปอย่างไร้เดียงสา ไม่ต้องรู้กับระบบสังคม

เราไม่อาจสรุปว่าเขาหรือเธอจะสุขหรือทุกข์อย่างไรต่อไป เพราะมันเกินจะคาดเดาอนาคต แต่คำถามที่ทิ้งไว้ คือ สุดท้ายโลกเราเหลืออะไร และเราเองเหลือความหวังอะไรบ้างในชีวิต เราจะอยู่อย่างไร้เดียงสา หรือหาแนวทางต่อสู้เพื่ออนาคต แบบไหนที่เราจะเป็น และอนาคตที่แท้จริงมันคือแบบไหนกัน โดยที่ท้ายที่สุดมนุษย์เป็นได้ทั้งอารยชนและสัตว์ไร้เดียงสา…หากความสุขเบื้องหน้ากับความสุขจากความหวังระยะไกลมันท้าทายทางเลือกของเรา จะตัดสินใจใช้ชีวิตอย่างไรบนทางแพร่งแห่งการเมืองเรื่องชีวิตนี้ ความซับซ้อนนี้ย้ำเตือนทั้งความว่างเปล่าและความซับซ้อนของโลกมนุษย์ดุจเขาวงกตของสัตว์หลงทางอันน่าเวทนา        

ภาพประกอบ : SEARCHLIGHT PICTURES                     


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน