แท่นรับรางวัลโอลิมปิกปารีส : แรงบันดาลใจจากเหล็กดัดหอไอเฟล หลังคาสังกะสีปารีส
Lite

แท่นรับรางวัลโอลิมปิกปารีส : แรงบันดาลใจจากเหล็กดัดหอไอเฟล หลังคาสังกะสีปารีส

Focus
  • แท่นรับรางวัลของกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก Paris 2024 ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปทรงเหล็กดัดของหอไอเฟล
  • พื้นผิวสีเทาของแท่นรับรางวัลยังสื่อถึงหลังคาสังกะสี (Les toits de Paris) อันเป็นเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมของกรุงปารีส
  • หอไอเฟลถือเป็นหัวใจหลักในการออกแบบของทั้งแท่นรับรางวัลและเหรียญรางวัลซึ่งเศษชิ้นส่วนเหล็กของหอไอเฟลเป็นองค์ประกอบหลักประดับอยู่ตรงกลางด้านหลังของทุกเหรียญรางวัล

การก้าวขึ้นสู่ แท่นรับรางวัล (podium) สำหรับนักกีฬานั้นคือความภาคภูมิใจอย่างสูงสุดหลังจากการฝึกฝนและขับเคี่ยวมาอย่างเข้มข้น และสำหรับ แท่นรับรางวัลโอลิมปิกปารีส และพาราลิมปิกนั้นออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจมาจาก “รูปทรงเหล็กดัดของหอไอเฟล” เพื่อเป็นการยกย่องและระลึกถึงวิศวกรและสถาปนิกชาวฝรั่งเศส กุสตาฟว์ ไอเฟล (Gustave Eiffel) ผู้ออกแบบหอไอเฟลและสะพานหลายแห่งด้วยการใช้ลวดลายเหล็กดัดที่เป็นเอกลักษณ์จนกลายเป็นไอโคนิกของปารีสและฝรั่งเศส

แท่นรับรางวัลโอลิมปิกปารีส
แท่นรับรางวัลโอลิมปิกปารีส
รูปทรงเหล็กดัดของหอไอเฟลคือหัวใจหลักในการออกแบบแท่นรับรางวัล

นอกจากแลนด์มาร์กของปารีสแห่งนี้จะเป็นแรงบันดาลใจหลักในการออกแบบแท่นรับรางวัลแล้ว “เศษชิ้นส่วนเหล็กของหอไอเฟล” ยังเป็นองค์ประกอบหลักประดับอยู่ “ตรงกลางด้านหลังของทุกเหรียญรางวัล” ดังนั้นการออกแบบเหรียญรางวัลและ แท่นรับรางวัลโอลิมปิกปารีส จึงมีความสอดคล้องกัน

เศษชิ้นส่วนเหล็กของหอไอเฟลประดับอยู่ตรงกลางด้านหลังของทุกเหรียญรางวัล

“การยืนอยู่บนแท่นรับรางวัลเป็นช่วงเวลาของความภาคภูมิใจและความยิ่งใหญ่พร้อมกับเหรียญรางวัลที่สวมรอบคอ นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ความฝันกลายเป็นความจริงเมื่อพวกเขาก้าวเข้าสู่ประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของเกมการแข่งขัน การออกแบบแท่นรับรางวัลจึงมีความต่อเนื่องกับการออกแบบเหรียญรางวัลที่มีชิ้นส่วนเหล็กของหอไอเฟลประดับอยู่โดยได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานของสถาปนิกชาวฝรั่งเศสผู้ยิ่งใหญ่ กุสตาฟว์ ไอเฟล ผู้ออกแบบเส้นตรงและเส้นโค้งอย่างมีเอกลักษณ์จนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก” โตนี แอสต็องเก (Tony Estanguet) ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน Paris 2024 กล่าวถึงแนวคิดในการออกแบบ แท่นรับรางวัลโอลิมปิกปารีส

แท่นรับรางวัลโอลิมปิกปารีส
โครงสร้างเหล็กของหอไอเฟล

หอไอเฟลสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1887 โดยสถาปนิกและวิศวกรชาวฝรั่งเศส กุสตาฟ ไอเฟล และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1889 เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของงานเวิลด์เอกซ์โป 1889 ณ กรุงปารีส ด้วยโครงสร้างเป็นเหล็กจึงได้ชื่อว่า ลา ดาม เดอ แฟร์ (La dame de fer) หรือสตรีเหล็ก และได้รับการยกย่องให้เป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1964 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโกใน ค.ศ. 1991

แท่นรับรางวัลโอลิมปิกปารีส

พื้นผิวของ แท่นรับรางวัลโอลิมปิกปารีส เป็น “สีเทา” สื่อถึง “หลังคาสังกะสี” ที่เรียกว่า เล ตัวส์ เดอ ปาครี (Les toits de Paris) อันเป็นเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมของปารีสที่เริ่มขึ้นเมื่อประมาณกลางศตวรรษที่ 19 ในสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (Napoléon III) ผู้ต้องการสร้างปารีสให้เป็นเมืองที่สวยที่สุดในยุโรปจึงได้ให้ บารง โอสมาน (Baron Haussmann) เป็นผู้รับผิดชอบในการวางผังเมืองและสร้างเมืองใหม่ เช่น มีการสร้างและขยายถนน ปรับตัวเมืองให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพิ่มเติมพื้นที่สีเขียวให้ปารีส และช่วงนี้นี่เองที่มีอาคารที่เรียกว่า สไตล์โอสมาน ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดทั่วเมือง

แท่นรับรางวัลโอลิมปิกปารีส
หลังคาอาคารต่างๆ ในกรุงปารีส

สำหรับหลังคาของอาคารหรือตึกส่วนใหญ่ โอสมานเลือกใช้แผ่นสังกะสีเป็นวัสดุหลัก เพราะมีน้ำหนักเบาและสะดวกต่อการติดตั้งและปรับปรุง แผ่นสังกะสียังเป็นวัสดุที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นจึงใช้เป็นสัญลักษณ์แทน “ปารีสสมัยใหม่” ด้วยคุณสมบัติของสังกะสีที่มีน้ำหนักเบาช่วยให้สถาปนิกไม่จำเป็นต้องสร้างคานจำนวนมากเพื่อรองรับหลังคาทำให้เกิดพื้นที่ใช้สอยของอาคารมากขึ้น นี่จึงเป็นที่มาของการสร้างห้องเล็กๆ ใต้หลังคาที่ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า ช็อมป์เดอ บอน (chambres de bonnes) ส่วนสีที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของหลังคาแห่งปารีสคือ “สีเทา” ซึ่งเป็นการผสมผสานของสีเทาสว่างของสังกะสีกับสีเทาเข้มของกระดานชนวน

วัสดุที่ใช้คือไม้ในประเทศฝรั่งเศสและพลาสติกรีไซเคิลจำนวนกว่า 40 ตัน
แท่นรับรางวัลเป็นแบบโมดูลสามารถประกอบกันได้ถึง 23 รูปแบบ

แท่นรับรางวัลโอลิมปิกปารีส ถูกออกแบบให้เป็นลักษณะแบบ โมดูล (module) โดยแต่ละชิ้นส่วนสามารถนำมาประกอบเข้าด้วยกันและปรับขนาดได้ตามต้องการสำหรับการรับเหรียญรางวัลของการแข่งขันแบบต่างๆ ทั้งแบบเดี่ยว แบบคู่ หรือแบบทีม โมดูลมีจำนวนทั้งสิ้น 685 ชิ้น 23 รูปแบบ และหนักชิ้นละ 45 กิโลกรัม วัสดุที่ใช้คือไม้ในประเทศฝรั่งเศสและพลาสติกรีไซเคิลจำนวนกว่า 40 ตันเพื่อโปรโมตว่า “100% Made in France”

อ้างอิง

https://olympics.com/en/news/paris-2024-olympic-paralympic-podiums-revealed-eiffel-tower-inspired


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ