รหัสลับพันธุกรรมฆาตกร : Privacy or Security จริงหรือที่รัฐบาลคือเจ้าของข้อมูลประชาชน
Lite

รหัสลับพันธุกรรมฆาตกร : Privacy or Security จริงหรือที่รัฐบาลคือเจ้าของข้อมูลประชาชน

Focus
  • รหัสลับพันธุกรรมฆาตกร นิยาย ผลงานของ ฮิงาชิโนะ เคโงะ นักเขียนนิยายสืบสวนชื่อดังของญี่ปุ่น
  • ฮิงาชิโนะ เคโงะ เป็นที่รู้จักจากนิยายเรื่อง “ความลับ” “กลลวงซ่อนตาย” และ “ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ” โดยนิยายของเคโงะมีจุดเด่นคือการเล่าเรื่องที่ไม่น่าเบื่อ เล่นกับความรู้สึกของผู้อ่าน และมักยกเรื่องราวอันดำมืดในจิตใจของมนุษย์ออกมาตีแผ่ 

เป็นเรื่องดีหากตำรวจสามารถจับกุมอาชญากรได้ทันท่วงทีและป้องกันการเกิดอาชญากรรมได้ แต่หากเรื่องดีนั้นต้องแลกมาด้วยการให้ข้อมูลส่วนตัวที่จะทำให้รัฐบาลสามารถติดตามชีวิตของประชาชนได้ทุกฝีก้าว คุณคิดว่ามันจะยังเป็นเรื่องดีอยู่ไหม

รหัสลับพันธุกรรมฆาตกร นวนิยายสืบสวนสอบสวนญี่ปุ่น ผลงานของ ฮิงาชิโนะ เคโงะ ซึ่งจะพานักอ่านไปร่วมไขคดีฆาตกรรมปริศนาที่แม้แต่เทคโนโลยีล้ำสมัยของรัฐบาลญี่ปุ่นก็ไม่อาจหาตัวคนคนร้ายได้ พร้อมกับการตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐในการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชน และในฐานะประชาชนที่ต้องให้ข้อมูลส่วนตัวแก่รัฐบาล เราจะมั่นใจได้แค่ไหนว่ารัฐกำลังนำข้อมูลของเราไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างที่รัฐพร่ำบอก สุดท้ายแล้วความเป็นส่วนตัว (Privacy) ของประชาชน หรือ ความปลอดภัย (Security) ของรัฐกันแน่ที่สำคัญที่สุด 

รหัสลับพันธุกรรมฆาตกร

ร่างกฎหมายระบบสืบค้นดีเอ็นเอ

“ประชาชนจะทำอะไรได้ ต่อให้เดินขบวนหรือปราศรัยคัดค้าน ถึงยังไงนักการเมืองก็เดินหน้าผลักดันร่างกฎหมายที่อยากให้ผ่านอยู่ดี ที่ผ่านมามันก็แบบนี้…ประชาชนก็โกรธเกรี้ยวกันในช่วงแรก ๆ แล้วไม่นานก็ยอมรับสภาพ…”

รหัสลับพันธุกรรมฆาตกร เริ่มต้นเล่าถึงในอนาคตอันใกล้ ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังอยู่ในกระบวนการร่างกฎหมายให้ “สถาบันวิเคราะห์พิเศษ” หน่วยงานภายใต้การกำกับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้ “ระบบสืบค้นดีเอ็นเอ” สืบหาตัวคนร้ายในคดีต่าง ๆ โดยปกติการตรวจดีเอ็นเอเป็นกระบวนการที่ใช้เพื่อเทียบดีเอ็นเอที่พบกับดีเอ็นเอของผู้ต้องสงสัย  หมายความว่าเจ้าหน้าที่ต้องสืบจนพบผู้ต้องสงสัยก่อน แล้วจึงเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอมาเปรียบเทียบเพื่อยืนยันตัวตน แต่ระบบสืบค้นที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพัฒนาอยู่พิเศษกว่านั้น ขอเพียงแค่มีหลักฐานดีเอ็นเอในที่เกิดเหตุ และข้อมูลดีเอ็นเอของประชาชนในประเทศ หรือข้อมูลของบุคคลที่มีสายเลือดเดียวกันไม่เกินสามรุ่นก็สามารถหาตัวคนร้ายได้

นโยบายการเก็บรวบรวมข้อมูลดีเอ็นเอของประชาชนและเทคโนโลยีสืบค้นดีเอ็นเอดูเหมือนจะเป็นแผนที่มีประสิทธิภาพ ช่วยลดการเกิดอาชญากรรมในประเทศได้จริง เพราะใคร ๆ ก็คงไม่อยากให้สมาชิกในครอบครัว หรือคนใกล้ชิดเข้าไปพัวพันในคดีอาชญากรรมไม่ว่าจะในฐานะเหยื่อหรือผู้กระทำ ดังนั้นขอเพียงแค่คุณลงทะเบียนดีเอ็นเอ คนใกล้ชิดที่มีแนวโน้มจะก่ออาชญากรรมก็อาจจะหยุดการกระทำนั้นด้วยเกรงกลัวต่อเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพที่สามารถตามตัวพวกเขามาลงโทษได้ทันที และแน่นอนว่า “เพื่อความสงบสุขของประเทศชาติ” รัฐบาลก็ไม่รีรอที่จะเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อที่ประชุมสภา 

ร่างกฎหมายดังกล่าวเอื้อให้หน่วยงานสืบสวนใช้ประโยชน์จากข้อมูลดีเอ็นเอจากเจ้าของได้ตามความจำเป็น โดยอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังของรัฐ แต่ ส.ส.ฝ่ายค้านได้ตั้งคำถามว่านี่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือเป็นนโยบายที่จะทำให้ข้อมูลของประชาชนรั่วไหลหรือไม่ พร้อมทั้งยังแสดงท่าทีต่อต้านร่างกฎหมายฉบับนี้เต็มที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนที่เลือกพวกเขาเข้าไปนั่งในสภา 

มีการถกเถียงเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้อย่างกว้างขวางทั้งทางโทรทัศน์และทางหนังสือพิมพ์ ประชาชนเกินครึ่งไม่เห็นด้วยดังที่ส.ส.ฝ่ายค้านคาดการณ์ไว้พร้อมให้เหตุผลว่า “เป็นเรื่องน่าขนลุกหากรัฐจะกุมข้อมูลดีเอ็นเอของตน” แต่หลังจากนั้นไม่นาน พรรคฝ่ายค้านที่เคยต่อต้านกลับมีท่าทีค่อย ๆ อ่อนลง สุดท้ายร่างกฎหมายจึงได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงข้างมากเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ 

รหัสลับพันธุกรรมฆาตกร

NF13 กับคดีฆาตกรรมสองพี่น้อง ทาเทชินะ

หลังจากที่ร่างกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้อย่างเป็นทางการ รัฐบาลก็เดินหน้าใช้ระบบสืบค้นดีเอ็นเอในการหาตัวคนร้าย พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อดีของระบบสืบค้นนี้ว่าทำให้อัตราการจับกุมพุ่งสูงขึ้น จำนวนการเกิดอาชญากรรมน้อยลง ประชาชนจึงเริ่มให้ความร่วมมือลงทะเบียนดีเอ็นเอของตนเองมากขึ้น 

แต่เรื่องราวกลับไม่ได้ราบรื่นอย่างที่ คากุระ ริวเฮ หนึ่งในทีมพัฒนาระบบสืบค้นดีเอ็นเอได้คาดการณ์ไว้ เพราะหลังจากรัฐบาลประกาศใช้ระบบสืบค้นดีเอ็นเอไม่นาน ก็เกิดเหตุฆาตกรรมสองพี่น้อง ทาเทชินะ ผู้คิดค้นระบบสืบค้นดีเอ็นเอที่ห้องวีไอพีของโรงพยาบาลซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของทั้งคู่ 

อาซามะ เรจิ ตำรวจจากแผนกสืบสวนพบจุดเชื่อมโยงบางอย่าง ระหว่างคดีของสองพี่น้องทาเทชินะกับ คดี NF13 ชื่อเรียกของคดีฆ่าข่มขืนหญิงสาวหลายรายที่เกิดขึ้นก่อนหน้าแต่ยังหาตัวคนร้ายไม่ได้ ซึ่งจุดเชื่อมโยงคือสองพี่น้องทาเทชินะและเหยื่อ NF13 ถูกยิงด้วยปืนชนิดเดียวกัน แต่ที่น่าแปลกคือเขาไม่พบร่องรอยการถูกข่มขืนบนตัวของพี่น้องคู่นี้เหมือนกับเหยื่อรายอื่น ๆ 

ตำรวจเก็บเส้นผมในที่เกิดเหตุได้ คากุระจึงได้รับมอบหมายให้นำเส้นผมเส้นนี้ไปวิเคราะห์เพื่อสืบหาคนร้าย จากการคาดการณ์ของอาซามะและตำรวจคนอื่น ๆ ฆาตกรที่ฆ่าสองพี่น้องทาเทชินะคือ NF13 แต่ก็ยังมีคำถามที่ว่า แล้วฆาตกรฆ่าสองพี่น้องไปเพื่ออะไร และเข้ามาที่ห้องวีไอพีแห่งนี้ได้อย่างไร เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าห้องวีไอพี และผู้ที่อยู่ในห้องนี้เปรียบเสมือนกับมันสมองของระบบสืบค้นดีเอ็นเอแล้ว ย่อมมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ยอดเยี่ยม รวมถึงยังมี รปภ. คอยสังเกตการณ์อยู่ตลอด 24 ชั่วโมง

คากุระเร่งทำการตรวจสอบหลักฐานแต่ผลที่ปรากฏกลับทำให้เขาไม่อยากเชื่อในสิ่งที่เห็น เพราะผลวิเคราะห์ดีเอ็นเอที่เก็บได้บ่งชี้ว่า คากุระ ริวเฮ คือฆาตกรที่ฆ่าสองพี่น้องทาเทชินะ คากุระเลือกที่จะหนีเพื่อหาหลักฐานมายืนยันความบริสุทธิ์และสืบหาข้อเท็จจริง เพราะเขาเองก็ไม่แน่ใจเช่นกันว่าตัวเขาเองหรือเปล่าที่เป็นคนก่อเหตุ ในเมื่อตัวของคากุระตอนนี้ มีตัวเขาอีกคนอาศัยอยู่ และช่วงเวลาที่เกิดเหตุ ตัวเขาอีกคนก็อยู่ที่โรงพยาบาลที่เกิดเหตุอีกด้วย

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานตรวจพบร่องรอยการสร้างโปรแกรมใหม่บางอย่างบนคอมพิวเตอร์ของทาเทชินะแต่ถูกลบออกไป เมื่อคากุระทราบข่าวนี้ เขาเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมและระบบสืบค้นที่เขาเชื่อมั่นในผลลัพธ์มาโดยตลอด เขาตัดสินใจสืบหาข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรมที่สองพี่น้องทาเทชินะสร้างขึ้น ซึ่งนั่นทำให้เขารู้ว่านอกจากโปรแกรมสืบค้นดีเอ็นเอแล้ว ยังมีอีกหนึ่งอย่างที่เขาไม่เคยรู้มาก่อนคือ “Platina Data”

Platina Data ช่องโหว่ของระบบที่สมบูรณ์แบบ

“นายพยายามสร้างระบบสืบค้นด้วยดีเอ็นเออันสมบูรณ์แบบ แต่ถ้ามันสมบูรณ์แบบเกินไป คนบางพวกก็เดือดร้อนนะ”

คากุระเข้าใจว่าสาเหตุที่หาฆาตกรในคดี NF13 นี้ไม่พบ เนื่องจากประชาชนยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสืบค้นนี้น้อยเกินไป ทำให้ข้อมูลในระบบมีไม่เพียงพอ แต่หลังจากที่เขาค้นพบการมีอยู่ของ Platina Data ทำให้เขารู้ตัวว่าเขาคิดผิด ถึงแม้ประชาชนบนโลกทุกคนจะลงทะเบียนดีเอ็นเอครบ คนร้ายในคดีนี้ก็จะยังคงเปรียบเสมือนมนุษย์ล่องหน ที่ต่อให้เขาพลิกแผ่นดินหา ก็ไม่มีทางที่เขาจะหาตัวฆาตกรเจอ

เพราะ Platina Data คือข้อมูลดีเอ็นเอของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง เมื่อพวกเขาหรือญาติพี่น้องกระทำความผิดและใช้ระบบสืบค้นดีเอ็นเอในการหาตัวคนร้าย ดีเอ็นเอของพวกเขาจะไม่ถูกระบบดักจับ จึงไม่แปลกใจที่ในตอนแรกส.ส.ฝ่ายค้านจะคัดค้านกฎหมายนี้แล้วเปลี่ยนใจในตอนหลัง เพราะรายชื่อของพวกเขาทั้งหมดถูกใส่ไว้ใน Platina Data ที่ไม่ว่าจะทำผิดร้ายแรงหรือทิ้งร่องรอยดีเอ็นเอไว้มากแค่ไหน หลักฐานทั้งหมดที่เจ้าหน้าที่เจอ ก็ไม่สามารถตรวจสอบและบ่งชี้ได้ว่าดีเอ็นเอเหล่านั้นเป็นของใคร

Facial Recognition ระบบสแกนหน้าเพื่อความปลอดภัย “ของประชาชน” ที่มีอยู่จริง

ไม่ใช่แค่จินตนาการในนิยาย แต่ระบบการจัดเก็บข้อมูลของประชาชนเกิดขึ้นจริงในประเทศจีน โดยรัฐบาลจะเก็บข้อมูลของประชาชนผ่านการสแกนใบหน้า หรือ Facial Recognition ทำให้รัฐบาลสามารถติดตามประชาชนผ่านกล้องตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ทั่วประเทศได้

จากการรายงานของสำนักข่าว CNBC ระบุว่า รัฐบาลจีนมีนโยบายใช้กล้องจดจำใบหน้าจำนวน 200 ล้านตัวมาตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 2018 และวางแผนจะเพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านตัว ภายในปี ค.ศ. 2021 นี้ ทั้งนี้เมื่อปี ค.ศ.2019 จีนประกาศให้ประชาชนสแกนใบหน้าและลงทะเบียนเบอร์โทรศัพท์เพื่อยืนยันตัวตนเมื่อใช้งานแอปพลิเคชันในประเทศ ซึ่งผู้ใช้งานทุกคนได้ผูกบัตรประชาชนไว้กับเบอร์โทรศัพท์ก่อนเข้าใช้งานแอปพลิเคชันอยู่แล้ว นั่นหมายความว่ารัฐบาลจีนสามารถตรวจสอบทุก ๆ กิจกรรมบนโลกออนไลน์ของประชาชน และสามารถติดตามประชาชนของเขาผ่านกล้องที่ติดตั้ง ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมประชาชนได้ทันทีเมื่อพบการกระทำที่ผิดกฎหมาย 

กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (MIIT) ของจีนได้กล่าวไว้ว่าเทคโนโลยีจดจำใบหน้านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชน และช่วยให้ตำรวจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นในรถไฟใต้ดินบางเมืองของจีนใช้ระบบการสแกนใบหน้าแทนการใช้บัตรโดยสาร ไม่ต้องวางของเพื่อหยิบบัตรจากกระเป๋า ลดการสัมผัส และมีประโยชน์มาก ๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากระบบนี้มีข้อมูลทุกอย่างของประชาชน สามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าคนไหนมีอุณหภูมิสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด หรือบอกได้แม้กระทั่งใครที่ยังต้องอยู่ในช่วงกักตัว

ในปักกิ่ง มีเจ้าหน้าที่ประจำรถไฟในสถานีที่ใส่แว่นตาเพื่อตรวจสอบข้อมูลอาชญากรรมผ่านระบบตรวจจับใบหน้าของคนที่เดินผ่าน นอกจากนี้ในเมืองต่าง ๆ ของประเทศจีนยังมีกล้องที่ใช้ตรวจจับคนที่ฝ่าฝืนกฎจราจร เช่น ไม่ข้ามถนนตรงทางม้าลาย หรือไม่รอสัญญาณไฟจราจรเวลาข้ามถนน เมื่อตรวจพบ กล้องเหล่านั้นจะนำรูปภาพและประวัติส่วนตัวมาแสดงที่จอตามสถานที่สาธารณะ เพื่อประณามคนที่ทำผิดกฎหมาย และป้องกันไม่ให้คนทำผิดเพราะรัฐบาลเชื่อว่า “คนที่อยู่ท่ามกลางสปอตไลต์มักจะระวังตัวเองมากขึ้น”

ประชาชนจีนบางส่วนเห็นด้วยกับการใช้ระบบ Facial Recognition เพราะส่งผลให้การเกิดอาชญากรรมลดลงอย่างชัดเจน ตำรวจสามารถจับคนร้ายได้รวดเร็วขึ้น ประชาชนก็รู้สึกปลอดภัย แต่ก็มีอีกหลายคนที่มองว่าระบบนี้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน เพราะรัฐบาลจีนกำลังใช้ความกลัวของประชาชน และอำนาจที่มีเพื่อเข้าถึงข้อมูล และตรวจสอบทุกฝีก้าวของพวกเขา ถ้าพวกเขาทำผิดกฎหมาย หรือทำอะไรที่ไม่ถูกใจรัฐบาล ประชาชนเช่นพวกเขาก็ไม่อาจหลีกหนีการจับกุมจากรัฐบาลได้

สำนักข่าว The Economist ระบุว่าไว้ในสารคดีข่าวที่ฉายเมื่อปี 2018 ว่าในมณฑลซินเจียงซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมชาวอุยกูร์ รัฐบาลจีนใช้ระบบ Facial Recognition ในการควบคุมชาวอุยกูร์ให้อยู่ในพื้นที่ โดยในตลาดจะมีเจ้าหน้าที่ใส่แว่นตาสแกนใบหน้าของชาวอุยกูร์ รวมทั้งยังมีระบบแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ ทันทีที่ชาวอุยกูร์ออกจากที่พักของตัวเองเกินกว่า 300 เมตรอีกด้วย

การประชาชนจีนหลายคนกังวลเกี่ยวกับระบบนี้ เพราะนอกจากพวกเขาจะรู้สึกถูกควบคุมและถูกจับตามองตลอดเวลาแล้วพวกเขายังไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่ารัฐบาลกำลังนำข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาไปใช้ประโยชน์ในทางไหนบ้าง แล้วคำถามที่ตามมาก็คือ ประชาชนจะสามารถไว้ใจระบบการจัดเก็บข้อมูลของรัฐบาลได้อย่างไร แล้วใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของข้อมูลนั้น ประชาชน หรือ รัฐบาล?

Privacy ของคนไทยที่ขึ้นอยู่กับการตีความ

สำหรับในประเทศไทยมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและขอบเขตการใช้อำนาจของรัฐบาลในการเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น แต่กฎหมายนั้นก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงว่าเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของประชาชน หรือเป็นกฎหมายที่สร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลเข้าถึงข้อมูลของประชาชนกันแน่

พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ได้นิยามความหมายของข้อมูลส่วนบุคคลไว้ว่า “ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคล ซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม”

มาตรา 19 ของพ.ร.บ. ฉบับดังกล่าววางหลักการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลไว้ว่า ผู้ที่จะเก็บรวบรวมข้อมูล หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน เพื่อเป็นการปกป้องผู้ให้ข้อมูล นอกจากนี้ผู้ให้ข้อมูลยังสามารถร้องเรียนและทวงถามได้ อีกทั้งผู้ให้ข้อมูลสามารถขอลบข้อมูลได้ตลอดเวลา แต่ในพ.ร.บ. ฉบับนี้ก็มีข้อยกเว้นใน มาตรา 4 ที่เป็นข้อยกเว้น ไม่บังคับใช้แก่ “หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รักษาความมั่นคง” ของรัฐ การคลัง หรือความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงใน มาตรา 24 ที่วางหลักข้อยกเว้นไว้ว่า ห้ามจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล เว้นแต่ทำเพื่อ “ประโยชน์สาธารณะ”

ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังมีพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 18 ที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจสอบหรือเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ อาจใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือเพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดก็ได้

เมื่อพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนตัวของประชาชน และอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นแล้ว อาจบอกได้ว่าการปกป้อง Privacy ของประชาชนชาวไทยยังคงเป็นเรื่องที่คลุมเครือ เพราะสุดท้ายความเป็นส่วนตัวของประชาชน ก็ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายอยู่ดี ว่าสิ่งที่เขามองว่าสำคัญที่สุด ณ ขณะนั้น คือ Privacy ของประชาชน หรือ Security ของรัฐกันแน่

Fact File

  • รหัสลับพันธุกรรมฆาตกร หรือ Platina Data ผลงานของฮิงาชิโนะเคโงะนิยายแปลของสำนักพิมพ์ Bibli แปลไทยโดยหนึ่งฤทัย ปราดเปรียว ราคา 369 บาท

อ้างอิง

Privacy in Thailand

  • โควิด-19 : เว็บไซต์ไทยชนะ เส้นบาง ๆ ระหว่างการป้องกันโรคกับการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล, (https://www.bbc.com/thai/thailand-52734104)
  • พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลฯ ใหม่ วางหลักสวยหรู แต่ไม่คุ้มครองประชาชนจากรัฐ/ทหาร, ilaw, (https://ilaw.or.th/node/5330)

DNA

  • DNA FINGERPRINT IN COURT IN CRIMINAL CASES, ดร.ไพจิตร สวัสดิสาร

Facial Recognition


Author

วิวิศนา อับดุลราฮิม
Introvert ผู้เสพติดการอ่านนิยายดราม่า ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตไปกับการติ่ง k-pop และ c-pop