ทรงวาด : รอยวาดจากอดีตสู่เสน่ห์จีน แขก ไทย และฮิปในปัจจุบัน
Lite

ทรงวาด : รอยวาดจากอดีตสู่เสน่ห์จีน แขก ไทย และฮิปในปัจจุบัน

Focus
  • ทรงวาด ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หลังมีพระราชดำริให้ตัดถนนใหม่เพื่อจัดระเบียบบริเวณสำเพ็งด้วยเหตุอัคคีภัยบ่อยครั้ง
  • พื้นที่ริมน้ำของทรงวาดมักใช้เป็นท่าขึ้นสินค้าผสมเป็นโกดัง ที่แต่ละกลุ่มอาคารตามแต่ละตรอกจะมีท่าเป็นของตัวเอง ส่วนอีกฝั่งมักจะเป็นโกดังบ้าง สำนักงานบ้าง หรือร้านขายส่ง

ใครที่โตพอทันเกมกล่อง ‘เกมเศรษฐี’ ฉบับคลาสสิก จะคุ้นกับบัตรโฉนดที่มีชื่อชวนฉงนอย่าง ทรงวาด แม้อาจไม่รู้พิกัดชัดว่าอยู่เชื่อมระหว่างถนนราชวงศ์กับถนนเจริญกรุงโซนวงเวียนโอเดียนด้วยโตมาในยุคที่ห้างสรรพสินค้าเฟื่องฟูมากกว่าการไปเดินเบียดเสียดไร้แอร์ในย่านค้าขายเก่าแก่ บางคนอาจจะเคยโฉบผ่านไปบ้างหลังเหมาของโหลที่สำเพ็งยามตามชิมร้านห่านพะโล้ดังหรือก่อนขึ้นเรือด่วนที่ท่าน้ำราชวงศ์

ทรงวาด
ทรงวาด

แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาศัยความเป็นทางรอยต่อจากย่านตลาดน้อยที่นิยมในหมู่ขาทัวร์เดินเท้าและคอกิจกรรมชุมชนเมือง ผสมกับความงดงามของสถาปัตยกรรมที่ดึงดูดดาราหน้ากล้องอาศัยเป็นฉากหลัง ถนนเส้นสั้น ๆ ที่ขนานกับสายน้ำเจ้าพระยาแบบเกือบแนบสนิทเส้นนี้ได้เพิ่มหน้าที่จากการเป็นแหล่งค้าส่งเมล็ดพันธุ์สมุนไพร อุปกรณ์ประมง และผลิตภัณฑ์ยาง ที่เริ่มจะซบเซา กลายมาส่อแววเป็นถนนสายวัฒนธรรมที่เงียบแต่หรูยามดึกและคึกคักยามกลางวัน

Sarakadee Lite ชวนมาทอดน่องในย่านเก่าแก่ของพระนครที่ไม่เพียงแต่งามคลาสสิก แถมอาจได้ของใช้สอยติดมือ และยังอุดมไปด้วยซอกเล็กมุมน้อยของประวัติศาสตร์การพาณิชย์ยุครัตนโกสินทร์ ที่ว่ากันว่าเป็นจุดแรกเหยียบแผ่นดินสยามของเศรษฐีจีนอพยพกันหลายต่อหลายคนตามตำนานเสื่อผืนหมอนใบ และกำลังแต่งหน้าทาปากปรับโฉมไม่แพ้ย่านอื่น ๆ

ทรงวาด

รอยวาดจากอดีตถึงนาม…ทรงวาด

คงเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องเอ่ยถึงที่มาของชื่อถนน ที่ทราบกันดีในหมู่นักประวัติเมืองและชุมชนว่าคำว่า ทรงวาด ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หลังมีพระราชดำริให้ตัดถนนใหม่เพื่อจัดระเบียบบริเวณสำเพ็งด้วยเหตุอัคคีภัยบ่อยครั้ง ว่ากันว่าท่านได้ทรงวาดแนวถนนใหม่นี้ให้เชื่อมกับถนนเส้นสำคัญต่าง ๆ ที่มีอยู่ก่อนด้วยนามอันไพเราะอย่าง เจริญกรุง ราชวงศ์ ทรงสวัสดิ์ โดยในอดีตแต่ครั้งต้นกรุงพื้นที่นี้เคยเป็นทั้งสวนและท่าเทียบเรือนานาชนิดของลำน้ำเจ้าพระยามาก่อนยิ่งได้ถนนสายใหม่ขนานเลียบไปกับแม่น้ำก็ยิ่งทำให้การขนส่งและค้าขายคึกคักขึ้นจากแต่เดิมที่ใช้เป็นเพียงบริเวณขนถ่ายสินค้าเป็นหลัก

ทรงวาด
โกดังเก่าแก่ในทรงวาด

เดิมทีอาคารบนทรงวาดทั้งสองฟากมีความต่างในระดับหนึ่ง ฟากริมน้ำมักใช้เป็นท่าขึ้นสินค้าผสมเป็นโกดัง ที่แต่ละกลุ่มอาคารตามแต่ละตรอกจะมีท่าเป็นของตัวเอง ส่วนอีกฝั่งมักจะเป็นโกดังบ้าง สำนักงานบ้าง หรือร้านขายส่งของบรรดาสินค้าที่ขึ้นจากฝั่งตรงข้ามนั่นเอง ต่างล้วนตั้งเรียงรายไปตามตรอกเล็กซอยน้อยที่เชื่อมไปสู่โซนชั้นในอย่างสำเพ็ง เยาวราช และเจริญกรุงแต่ลักษณะที่อาคารทั้งสองฟากส่วนมากมีร่วมกันคือมักเป็นอาคารเดี่ยวเฉพาะตัว ไม่ติดยาวกันเป็นพืด (คล้ายกันกับที่ตัวเมืองเก่าสงขลา) มีหน้ากว้างเพื่อสะดวกต่อการขนสินค้าเข้าออก หลายอาคารมีเสาและลวดลายปูนปั้นประดับอย่างวิจิตรสไตล์ตะวันตก บางหลังมีเครื่องไม้ที่ฉลุลายและประดับกระจกสี ที่เด่นที่สุดหลังหนึ่งก็คือตึกที่มีปูนปั้นลวดลายผลไม้แบบศิลปะบาโรกจนเรียกติดปากกันว่า ตึกผลไม้ ที่อยู่ช่วงกลางถนน

ทรงวาด
ตึกผลไม้

น่าเสียดายว่าจากผลกระทบหลายระลอก เหล่าตึกทรงวาดค่อย ๆ ลดความสำคัญในทางพาณิชย์ลง เริ่มจากการออกกฎไม่ให้รถบรรทุกใหญ่เข้าได้เพราะส่งผลต่อการจราจรโดยรอบ นโยบายการจัดระเบียบสิ่งก่อสร้างริมเจ้าพระยาและการคมนาคมทางเรือที่ลดปริมาณลงด้วยมีถนนมาแทนที่ ทำให้เหล่าท่าเรือเล็กท่าเรือน้อยของ ทรงวาด ค่อย ๆ ปิดตัวหรือหมดหน้าที่จนแทบไม่เหลือนับแต่ช่วงทศวรรษ 2550

ร้านซุ้ยล้ง

ปัจจุบัน หลายร้านขายส่งในทรงวาดก็ปรับตัวมาแบ่งขายปลีก ทั้งเครื่องเทศสมุนไพร เมล็ดพันธุ์ธัญพืช รองเท้า ของเล่นพลาสติก รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประมง อย่างเชือก อวนแห และถัง ส่วนหนึ่งเพราะยังคงได้ฐานลูกค้าเก่ามาหล่อเลี้ยงกิจการ ร้านหนึ่งที่เป็นแลนด์มาร์กประจำย่านคือก็คือ ร้านซุ้ยล้ง ที่ใครต่อใครต่างพากันหลงใหลในถังไม้นานาขนาดที่เรียงรายราวกับเป็นถาวรวัตถุจากอดีตกาล ดึงดูดให้คนมาชักภาพเก็บกลับใส่ความทรงจำยุคดิจิทัล ส่วนอาคารหลายหลังที่ลูกหลานไม่สืบสานต่อแต่ยังคงรักษาความเก่าไว้ได้ดีก็ประกาศให้เช่าถ่ายหนังบ้าง หรือปล่อยขายให้เซ้งบ้าง ซึ่งเป็นเหตุของโฉมใหม่ของทรงวาดในทศวรรษ 2560

ทรงวาด
ตึกแขก

ทรงวาด กับอาคารทรงเสน่ห์

ในบรรดาอาคารงามในดงทรงวาด อันที่ถือได้ว่าเป็นทั้งสัญลักษณ์และเอกลักษณ์ประจำย่านคงมิพ้นตึกโบราณหัวมุมต้นถนนที่มีหน้าจั่วแปลกตา ตึกแขก คือชื่อเล่นที่ใช้เรียกอาคารพาณิชย์เก่าแก่ที่ระเบียงไม้สีเขียวบนชั้น 3 มีการฉลุลายอย่างประณีตภาพปรากฏที่สำแดงความผุพังที่เริ่มเกาะกินงานสถาปัตยกรรมพ่อค้าวาณิชชิ้นยอดแห่งนี้ ผสมกับสายสื่อสารที่ระโยงระยางรกรุงรังด้านหน้า กลับสร้างเสน่ห์ดึงดูดให้เหล่าตากล้องและจิตรกรทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นมากมายมาเก็บรูปก่อนที่จะถูกบูรณะหรือรื้อถอนไปเสียก่อน ซึ่งชื่อตึกแขก หรือชื่อเต็มคือ ตึกแขกบริษัทมัสกาตี มีมูลเหตุจากการที่เคยเป็นห้างขายผ้านำเข้าจากอินเดียของพ่อค้าแขกรายหนึ่ง โดยใครคือเจ้าของกิจการต้นกำเนิดที่แท้จริงยังเป็นที่ถกเถียงอย่างไรก็ตาม ชื่อเล่นนี้ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นเป็นอย่างดีว่าถิ่นไชน่าทาวน์ประจำพระนคร ไม่ได้มีแต่คนไทยเชื้อสายจีนที่ช่วยก่อร่างสร้างตำนาน แต่ยังรวมถึงพ่อค้าอินเดียมุสลิมนิกายชีอะห์กลุ่มหนึ่งที่เรียกว่ากลุ่มดาวูดีโบห์ราซึ่งยังคงเกาะกลุ่มทำมาค้าขายเพชรพลอยในต้นสำเพ็ง ซอยวานิช 1 หลังทรงวาดอีกมุมหนึ่ง (กระซิบว่าหลายร้านยังคงรักษาอุปกรณ์ในการจัดวางสินค้าเก่าแก่ราวกับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ยังมีชีวิต)

ทรงวาด
โรงเรียนเผยอิง
ทรงวาด

แน่นอนว่าชนกลุ่มใหญ่ของทรงวาดคือชาวจีน โดยเฉพาะจีนแต้จิ๋ว สิ่งก่อสร้างหลังใหญ่อย่าง โรงเรียนเผยอิง ที่อยู่ช่วงกลางถนนเป็นสิ่งยืนยันถึงความสำคัญของชาวจีนกลุ่มใหญ่ที่สุดในสยามกลุ่มนี้ ที่นอกจากจะใช้เป็นสถานที่สอนภาษาจีนถิ่นแต้จิ๋วมากว่าร้อยปี หลังถือกำเนิดในปี พ.ศ.2463 ยังใช้เป็นที่ทำการสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทยซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคนนับว่าเป็นคนไทยเชื้อสายแต้จิ๋วชั้นนำของรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งนำโดย “ยี่กอฮง” (พระอนุวัติราชนิยม หรือ นายฮงเตชะวณิช) และบรรดาศิษย์เก่าดัง ๆ ร่วมสมัยหลายท่าน อย่าง เทียม โชควัฒนา อุเทน เตชะไพบูลย์ และเจริญ สิริวัฒนภักดี จนถึงกับได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนผลิตเจ้าสัวเศรษฐีไทย

ในแง่ของที่ตั้ง น่าสนใจว่าอยู่ด้านหลังศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากงที่เคารพนับถือสูงสุดศาลหนึ่งของชาวแต้จิ๋วอพยพ อีกทั้งมี ถนน ซอย และ(อดีต) คลองอย่างละสองล้อมรอบ ไม่นับการออกแบบทางสถาปัตยกรรมสไตล์ตะวันตกตามแบบคนจีนโพ้นทะเล นอกจากส่วนการแต่งสกัดปูนให้คล้ายหินและเครื่องเสาด้านหน้าแล้ว โรงเรียนที่สามารถเห็นเจ้าแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ได้ยังมีบริเวณคอร์ตโล่งด้านใน บ่งบอกถึงความกว้างขวางของอาคารที่สูงใหญ่กว่า 3 ชั้นแห่งนี้ด้วย ในปัจจุบันโรงเรียนได้พัฒนาหลักสูตรให้กลายเป็นโรงเรียน 3 ภาษาจีน-ไทย-อังกฤษ ถือได้ว่าเป็นโรงเรียนจีนที่ฝ่าฟันวิกฤตกระแสสังคมการเมืองที่รัฐสั่งห้ามสอนภาษาจีนมาได้หลายยุคสมัย

นอกเหนือจากอาคารแนวโคโลเนียลแสนอ่อนช้อยแล้ว ทรงวาด ยังมีอาคารแนวโมเดิร์น โดยเฉพาะจากยุคสมัยรัชกาลที่7 ที่ตัดทอนรายละเอียด เน้นหน้าที่ใช้สอยรูปลักษณ์เรียบง่าย แต่ทนทานตามแบบอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หนึ่งในนั้นคือ อาคารเจียไต๋ ที่อยู่ในกลุ่มผู้เช่าดั้งเดิมของตึกแถวของวัดเกาะ (วัดสัมพันธวงศ์) โดยที่ยังอนุรักษ์จุดกำเนิดของบริษัทไว้ แม้ว่ากิจการพี่น้องตระกูลเจี่ยจะเติบใหญ่จากธุรกิจเมล็ดพืชไปมีกิจการใหญ่โตระดับประเทศในรุ่นลูกหลานในย่านธุรกิจอื่น ๆ ทำให้ยังเห็นอาคารออฟฟิศคล้ายแถวถนนราชดำเนินแต่ขนาดเล็กลงมาทั้งนี้จุดที่ทำให้เจียไต๋พิเศษกว่าอาคารอื่นในแถบเดียวกันไม่ได้อยู่เพียงแต่จำนวนคูหามากกว่า 20 ห้องที่ครอบครองติดกัน แต่คือการมีดาดฟ้าเป็นของตนเอง นัยว่าเพื่อใช้ในการตากเมล็ดพันธุ์ในอดีต

ทรงวาด
ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง

จีนแขกไทย… ใช่อื่นไกล

ในเหล่าศาลเจ้าจีนหลายสิบจุด ทั่วทรงวาดและบริเวณใกล้เคียง อาจจะถือได้ว่ามี ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง เป็นจุดศูนย์กลาง ด้วยขนาดและทิศที่หันรับแม่น้ำ ที่บอกเล่าความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์การเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลของบรรพบุรุษแต่นอกจากบรรดาสิ่งก่อสร้างที่แสดงความผูกพันด้านจิตวิญญาณของชนเชื้อสายจีนแล้ว ถนนเส้นสั้น ๆ แห่งนี้ยังมีศาสนสถานของอีก 2 ความเชื่อสำคัญด้วย ได้แก่มัสยิดและวัดพุทธ สะท้อนให้ถึงมิติความเป็นพหุวัฒนธรรมที่มีคนต่างเชื้อชาติต่างศาสนามาอยู่ร่วมชุมชนแต่กาลนาน

ทรงวาด
มัสยิดหลวงโกชาอิศ

ทุกบ่ายวันศุกร์และในวันอื่น ๆ ช่วงกลางถนนไม่ใกล้นักจากตรอกสะพานญวน จะมีอิสลามิกชนในชุดประจำกลุ่มบ้างชุดสมัยใหม่บ้างเดินทยอยเข้าตรอกตรอกหนึ่ง ที่หากไม่สังเกตให้ดีก็จะไม่ทราบว่ามีมัสยิดขนาดร่วม2ไร่อยู่ด้านใน โดยเฉพาะหากปราศจากตัวช่วยอย่างป้ายชื่อและป้ายบอกประวัติความเป็นมาที่อยู่ด้านหน้าของ มัสยิดหลวงโกชาอิศ หากเหตุหนึ่งอาจด้วยเพราะสถาปัตยกรรมอันงดงามออกไปในทางแนวตะวันตกมากกว่าแนวตะวันออกกลาง ดูเผิน ๆ คล้ายบ้านขุนนางคหบดีสยามใหม่ทั่ว ๆ ไปทั้งนี้อาจมาจากแบบสไตล์โคโลเนียลที่ หลวงโกชาอิศหาก (เกิด บินอับดุลลาห์) ผู้ก่อตั้งเลือกสร้างให้มัสยิดเพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในย่านชุมชนจีนแถบนี้ แต่ครั้นเมื่อได้เข้ามาด้านใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณกุโบร์ (สุสาน) ด้านหลังที่มีการถมจนเป็นสวนสูงหนีน้ำท่วมก็จะยิ่งสัมผัสถึงความร่มรื่น และชวนให้นึกถึงครั้งแถบนี้ยังเป็นสวนผลไม้มาก่อน

มัสยิดหลวงโกชาอิศ

หากได้ศึกษาประวัติสักนิดจะยิ่งทึ่งถึงบทบาทของหลวงโกชาฯขุนนางเชื้อสายมลายู ท่านเติบโตในหน้าที่การงานจากการเป็นล่ามมลายูของกรมท่าขวาหน้าที่หนึ่งของท่านคือการประสานงานการพาณิชย์กับบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐและพ่อค้าจากทั้งฝั่งเมืองขึ้นมลายูและอื่น ๆ พอได้รับคำขอร้องจากแขกต่างประเทศชาวมุสลิมที่เดินทางเข้ามาทำธุระในสยามให้จัดสร้างมัสยิดเพื่อประกอบศาสนกิจที่ไม่ไกลนักจากบริเวณที่ขึ้นเรือ จึงตัดสินใจสร้างมัสยิดแห่งนี้ขึ้น โดยปัจจุบันก็ยังอยู่ภายใต้การดูแลของลูกหลานในตระกูล สมันตรัฐ ที่สืบเชื้อสายจากฝั่ง พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตุ๋ย บิลอับดุลลาห์) บุตรของหลวงโกชาฯ ผู้ที่เติบโตในงานราชการภาคใต้จนถึงกับเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลมาแล้ว

ตึกพุ่มเทียนประสิทธิ์

ชื่อเรียกอีกชื่อของมัสยิดหลวงโกชาฯ คือ มัสยิดวัดเกาะ ด้วยเหตุที่อยู่ใกล้กับวัดเกาะ วัดเก่าแก่สมัยอยุธยาที่เคยถูกล้อมรอบด้วยลำคลอง ที่ได้รับการบูรณะแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 4 ที่ทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร และปรับเป็นวัดธรรมยุติกนิกายตามพระราชประสงค์ ในอดีตสิ่งที่ทำให้วัดเกาะมีชื่อเสียงมีด้วยกัน 2 ประการ อย่างแรกคือโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญที่อยู่ใกล้กันที่มีชื่อติดปากว่าโรงพิมพ์วัดเกาะ แหล่งผลิตหนังสือที่นำนิทานพื้นบ้านและแนวจักร ๆ วงศ์ ๆ มาปรับให้อ่านง่ายขึ้นและขายในราคาถูก นับเป็นวรรณกรรมยอดนิยม (Popular Literature) รุ่นแรก ๆ ของพระนครและอย่างที่ 2 คือ อาคารพระอุโบสถ ครอบด้วยมณฑปยอดปราสาทสูงถึง 3 ชั้นที่เพิ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2506 ถือว่าทันสมัยมากในช่วงนั้นด้วยมีลิฟต์บริการจัดเป็นจุดชมวิวเยาวราชที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักจุดหนึ่ง แถมบรรยากาศภายในตัวโบสถ์และระเบียงโดยรอบกลับมีความสงบวิเวกอย่างประหลาด ทั้งที่ตั้งอยู่ท่ามกลางแหล่งธุรกิจและอาหารการกินที่อึกทึกมากที่สุดจุดหนึ่งของกรุงเทพฯ

แต่ในปัจจุบัน วัดสัมพันธวงศ์ ได้มีจุดดึงดูดเพิ่มขึ้นมา ได้แก่ พิพิธภัณฑ์เรือนไม้ 2 ชั้นที่เก็บรักษาสิ่งของ และศาสนวัตถุต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณแม่บุญเรือนโตงบุญเติมสมัยยังมีชีวิตอยู่ โดยมีรูปหล่อเท่าตัวจริงของท่านตั้งอยู่ให้สายมูรุ่นใหม่มาคารวะด้วยความศรัทธา ส่วนอีกไฮไลต์ใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการบูรณะคือ ตึกพุ่มเทียนประสิทธิ์ อาคารทรงตะวันตกหลังใหญ่ที่ทางกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว ซึ่งสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2469 ตามชื่อผู้ที่มอบปัจจัยถวายวัดในการสร้างตึกใหญ่หลังงามให้เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมนับเป็นข่าวดีของเหล่าผู้ที่ชื่นชอบการชมอาคารเก่าหลังเห็นตึกนี้อยู่ในสภาพทรุดโทรมมานาน

วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร

อีกจุดที่มีอาคารแบบตะวันตกคือกุฏิใน วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร (วัดสำเพ็ง) ที่อยู่ไม่ไกลกันจากวัดเกาะ และตั้งอยู่ในจุดเชื่อมต่อระหว่างทรงวาดกับตลาดน้อย แม้ว่า 2 ใน 6 กุฏิถูกไฟไหม้ไปแล้ว ลายปูนปั้นชำรุดหลายจุด แต่ยอดจั่วเชิงชาย สลักเสลา แบบเรือนขนมปังขิงของหมู่กุฏิสไตล์วิกตอเรียนอายุกว่า 100 ปี เหล่านี้ ก็ยังมิคลายความงามยามเมื่อได้อยู่เรียงรายกันอีกทั้งทางวัดเองก็กำลังลงทุนปรับปรุงพื้นที่โดยรอบให้เกลี้ยงตาและซ่อมแซมตัวเรือนให้สวยสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยเวลาและปัจจัยในการบูรณะ

แต่สำหรับคอประวัติศาสตร์แล้ว สิ่งสำคัญในอารามที่มาแต่ครั้งกรุงเก่าอย่างวัดปทุมคงคาฯคือที่แท่นที่หม่อมไกรสร (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ) ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์เมื่อ พ.ศ. 2391 ด้วยฐานข้อหาโทษที่เขียนกันอยู่ตามหน้าหนังสือประวัติศาสตร์กระซิบหลายต่อหลายเล่ม นับเป็นการสำเร็จโทษด้วยวิธีนี้ครั้งสุดท้ายกับสมาชิกราชวงศ์ ส่วนสำหรับคอพุทธศิลป์แล้ว วัดแห่งนี้ยังมี พระพุทธมหาชนก พระประธานองค์งามปางมารวิชัยทรงเครื่องแบบกษัตริย์ ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังยุคต้นรัตนโกสินทร์วิหารที่เก็บรักษาพระพุทธรูปศิลปะสมัยอยุธยาไว้ รวมถึงที่บรรจุอัฐิของดร.ป่วย อึ๊งภากรณ์ ใต้ฐานพระในระเบียงคด แสดงความผูกพันระหว่างท่านและตระกูลของท่านกับวัดแห่งนี้ในฐานะเป็นคนชุมชนตลาดน้อย

ทรงวาด ที่ขอวาดใหม่

คล้ายกับย่านเก่าแต่เก๋อื่น ๆ ทรงวาดกำลังรอให้ใครต่อใครมาวาดโฉมใหม่ หลังจากงาน BUKRUK Urban Arts Festival เมื่อ 6 ปีก่อนที่บรรจุฝาผนังตึกของทรงวาดเป็นพื้นที่หนึ่งของงานสตรีตอาร์ตฝีมือศิลปินระดับโลก (ที่ยังพอเหลือให้ชม) คนรุ่นใหม่ก็เริ่มสัญจรเข้ามาในย่านนี้เพิ่มขึ้นเพื่อชมภาพวาดผนังตึกขนาดใหญ่ส่งผลให้ตึกแถวทรงเสน่ห์ที่หน้าตาไม่ซ้ำกันได้ดึงดูดให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาจับจอง เปิดร้านรวง คาเฟ่และที่พักดีไซน์ร่วมสมัย ให้คู่ขนานไปกับวัฒนธรรมการค้าขายส่งและร่องรอยวิถีชีวิตจากโลกจีนสยามเก่าที่ยังพอหลงเหลือ

PLAY Art House

นอกจากร้านคาเฟ่และร้านอาหารแนวใหม่กิจการเลือดใหม่ของทรงวาดยังประกอบไปด้วยศิลปสถานและสตูดิโองานคราฟต์ซึ่งมีทั้งจากทายาทคนในพื้นที่และคนภายนอกที่ย้ายเข้ามา ชาวไทยและชาวต่างชาติ แกลเลอรีอย่าง PLAY Art House จัดอยู่ในกลุ่มแรก เกียรติวัฒน์ ศรีจันทร์วันเพ็ญ เจ้าของเป็นทายาทธุรกิจรองเท้าที่มีความหลงใหลในงานศิลปะ ที่นอกจากจะรีแบรนด์รองเท้าแตะเป็นของตนเอง ยังจัดสรรพื้นที่ตึกแถวของครอบครัวที่เป็นอดีตโกดังให้กลายเป็นแกลเลอรีสีน้ำเงินเข้มเด่นกระตุกสายตาแสดงงานศิลป์จากทั่วมุมโลกในราคาจับต้องได้ มีมุมเท่วางชั้นรองเท้าเพื่อบ่งบอกถึงที่มาของพื้นที่ และพอเป็นที่รู้จักมากขึ้นก็ขยับบทบาทมาสู่การเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) รองรับกิจกรรมการแสดงตามสาขาที่เจ้าของได้เคยร่ำเรียนมา รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นต่าง ๆ

เกียรติวัฒน์ ศรีจันทร์วันเพ็ญ เจ้าของเป็นทายาทธุรกิจรองเท้าที่มีความหลงใหลในงานศิลปะ

หลังจากที่กิจการได้รับเสียงตอบรับที่ดี Pieces Café & Bed แห่งตรอกสะพานญวน หนึ่งในแนวหน้ากล้าพลิกโฉมทรงวาด ก็ล้มลุกคลุกคลานจากการทดลองธุรกิจร้านอาหารเล็ก ๆ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา แต่เจ้าของสองสหายสาวอย่างเหมียวและพิมก็ไม่ยอมแพ้ ลุยต่อด้วยโปรเจกต์ใหม่ A Thing that is Pieces Studio ที่อ้าแขนรับออร์เดอร์ออกแบบและผลิตงานตกแต่ง งานผลิตภัณฑ์ หรือของสะสมส่วนตัว ฯลฯ ตามแต่จะว่าจ้างด้วยคำรับประกันว่าจะเป็นชิ้นที่มีหนึ่งเดียวในโลก โดยอาศัยอุปกรณ์รีไซเคิลพลาสติกที่สะสมไว้และรอวันเพิ่มเครื่องมืออื่น ๆ เข้ามา พร้อม ๆ กับสั่งสมความรู้ที่ไปขอเก็บเกี่ยวสารพัดทักษะจากพี่ ๆ ช่างรอบสำเพ็งไปด้วย

Pieces Café & Bed

นอกจากสองแห่งที่นำเสนอ ทรงวาด ยังมีโฮสเทลฝั่งริมน้ำขนาดกะทัดรัดอย่าง Urby และฝั่งข้างตรอกที่เรียบเก๋อย่าง บ้านทรงวาด กับ MESA 312 Cultural Lab สตูดิโองานกราฟิกของครูสอนภาษาชาวเสปน ไม่นับที่เปิดไปแล้วและรอทยอยเปิดอีกหลายเจ้า น่ายินดีว่าเกือบทั้งหมดกำลังจับมือกันสร้างการจัดการธุรกิจแบบคลัสเตอร์(Business Cluster) ชื่อกลุ่ม Made in Song Wat ที่ได้พูดคุยกันมากว่า 2 ปีก่อนหน้า โดยตั้งความหวังไว้ว่านอกจากถนนทรงวาดจะสวยขึ้นด้วยการเอาสายสื่อสารลงดินแล้ว ยังจะได้รับทุนสนับสนุนกิจกรรมในอนาคตของย่านสร้างสรรค์แห่งเก่าแต่ไฟแรงแห่งนี้ด้วย

Fact File

  • ทรงวาดไปง่ายด้วย รถเมล์สาย 204 จอดบริเวณท่าน้ำราชวงศ์หัวถนนทรงวาดพอดีหรือสายอื่นที่ผ่านด้านถนนเยาวราช ลงแล้วเดินต่อเข้าถนนราชวงศ์หรือซอยอื่นที่ขนานกันหรือเข้าทางอีกฝั่งด้านวัดสัมพันธวงศ์ผ่านเส้นถนนทรงสวัสดิ์จากแยกเฉลิมบุรี
  • จากสถานีMRTวัดมังกร วิธีง่ายสุดคือเดินเข้าเส้นถนนมังกรผ่านยาวทะลุเยาวราชและสำเพ็งมาตลอดเส้นถนนจนค่อย ๆ แคบขนาดเท่าตรอกจะเจอถนนทรงวาดตรงปลายตรอกซอยมังกร
  • ทางแม่น้ำเจ้าพระยาท่าน้ำราชวงศ์เป็นจุดจอดของทั้งเรือข้ามฟากจากท่าดินแดงและเรือด่วนเจ้าพระยาของเรือทุกสีธง
  • รถส่วนตัวจอดรถได้ในวัดสัมพันธวงศ์ หรือลานจอดรถเอกชนริมน้ำที่เรียกว่าลานตู้เหลืองซึ่งมีภาพกราฟิตีขนาดใหญ่รูปช้างไต่อยู่บนผนังตึกที่จอดรถติดถนนของศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง และโรงเรียนเผยอิงมีที่ค่อนข้างจำกัด

Author

ภัทร ด่านอุตรา
อดีตผู้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และหลังกระดานดำ (ของจริง) ที่ผันตัวมาอยู่ในแวดวงการจัดการศิลปวัฒนธรรมแบบผลุบๆ โผล่ๆ ชอบบะจ่างกวางตุ้งบางรัก และ The Poetics ของ Aristotle เป็นชีวิตจิดใจ

Photographer

วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ฝั่งธนฯ เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ต่อระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ทำงานเป็นผู้ช่วยดีเจคลื่นกรีนเวฟพักหนึ่ง ก่อนมาเป็นนักเขียนและช่างภาพที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพสำนักพิมพ์สารคดีปี 2539 โดยถ่ายภาพในหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ต่อมาถ่ายภาพลงนิตยสาร สารคดี มีผลงานเช่นเรื่อง หมอเทีย ปอเนาะ เป่าแก้ว กะหล่ำปลี โรคหัวใจ โทรเลข ยางพารา ฯลฯ