จริงหรือที่ พนมเทียน คือ รพินทร์ ไพรวัลย์ ไขเบื้องหลัง เพชรพระอุมา
Lite

จริงหรือที่ พนมเทียน คือ รพินทร์ ไพรวัลย์ ไขเบื้องหลัง เพชรพระอุมา

Focus
  • ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ นักเขียนชื่อดังเจ้าของนามปากกา พนมเทียน และผู้ประพันธ์นวนิยายผจญภัยสุดคลาสสิคเรื่อง เพชรพระอุมา เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ในวัย 89 ปี
  • หลายคนสงสัยว่า พนมเทียน ได้เขียนชีวิตตัวเองลงไปในบทบาทของ รพินทร์ ไพรวัลย์ ตัวเอกของเรื่องจริงหรือ และมีอีกหลายข้อสงสัยที่พนมเทียนมักจะเขียนและให้เราเชื่อว่าสถานนี้ ตัวละครนี้ ต้องมีอยู่จริง
  • นวนิยายผจญภัยเรื่อง เพชรพระอุมา เป็นนิยายที่ยาวนานที่สุดที่เคยตีพิมพ์ในประเทศไทย และฉัตรชัยใช้เวลาเขียนถึง 25 ปี 7 เดือน 2 วัน หรือตั้งแต่อายุ 33 จนถึง 59 ปี

ในผลงานทั้งหมดของ พนมเทียน หรือ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ (พ.ศ. 2474-2563) หนังสือ เพชรพระอุมา ถือได้ว่าเป็นนวนิยายสร้างชื่อ เป็นผลงานสุดคลาสสิกหมวดท่องไพร การผจญภัย และเป็นเหมือนลายเซ็นเมื่อเอ่ยถึงนามปากกา พนมเทียน

คำกล่าวที่ว่า เพชรพระอุมา คือ พนมเทียน นั้นไม่ได้เป็นคำกล่าวที่เกินจริงเลย เพราะอมตะนิยายผจญภัยเรื่อง เพชรพระอุมา นั้นได้รวบรวมประสบการณ์ชีวิต ความเชื่อ ความรู้ต่างๆ ของฉัตรชัยตั้งแต่วัยเยาว์ ทั้งเรื่องการเดินป่า การดำรงชีพในป่า การล่าสัตว์ ธรรมชาตินิสัยของสัตว์ป่า ไสยศาสตร์ เวทมนตร์ และกฎแห่งกรรม ขมวดมาอยู่ในเรื่องนี้ทั้งหมด

ฉัตรชัย ผู้ซึ่งจากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ในวัย 89 ปี ด้วยโรคประจำตัวคือโรคหัวใจ เคยเขียนไว้ในหนังสือ “อินไซด์เพชรพระอุมา ภาค 1” ว่า

“ผมเคยเจ็บหนักเกือบตายเพราะโรคหัวใจระหว่างเขียนเรื่องนี้มาได้ครึ่งๆ กลางๆ ก็ได้ภาวนาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายว่าจะเลิกทำบาปกรรม เลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และขอให้อยู่ต่อไปเพียงเพื่อให้เขียนเรื่องนี้ได้จบสิ้นสมบูรณ์ แล้วจะตายก็ไม่ว่า แต่ขออย่าให้ตายระหว่างที่ยังเขียนเรื่องค้างเติ่งอยู่เลย”

เพชรพระอุมา

เขาใช้เวลาเขียนเรื่อง เพชรพระอุมา เป็นเวลาเกือบ 26 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2507 จนถึง พ.ศ.2533 นับได้ว่า เพชรพระอุมา เป็นนวนิยายที่ยาวที่สุดเท่าที่เคยตีพิมพ์ในประเทศไทย คือ รวมเล่มเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คทั้งหมดถึง 48 เล่มจนจบบริบูรณ์

เนื้อเรื่องเพชรพระอุมาเกี่ยวกับการเดินทางและการผจญภัยของพรานป่า “รพินทร์ ไพรวัลย์” ที่รับจ้างวานนำทางคณะของ ม.ร.ว. เชษฐา วราฤทธิ์ ในการออกติดตามค้นหาน้องชายคือ ม.ร.ว.อนุชา (พรานชด ประชากร) ผู้สูญหายยังดินแดนลึกลับและเต็มไปด้วยอาถรรพณ์แห่งป่า พร้อมกับเรื่องราวการตามหาขุมทรัพย์เพชรพระอุมาในตำนาน

แม้หลายคนจะอ่าน เพชรพระอุมา ครบทุกภาคทุกตอน ตอนละหลายๆ รอบ ทว่าด้วยความสมจริงของทั้งฉาก บทบรรยายถึงพงไพรก็ทำให้ผู้อ่านมีข้อสงสัย ตั้งสมมติฐานในใจเกี่ยวกับเพชรพระอุมามากมาย Sarakadee Lite ขอชวนแฟนนักอ่านมาคลายข้อสงสัยเหล่านี้

รพินทร์ ไพรวัลย์ คือ พนมเทียน

ฉัตรชัยหรือพนมเทียนนิยมการท่องเที่ยวผจญภัยในป่าตั้งแต่เด็กและมีความเชี่ยวชาญเรื่องปืนอย่างมากเช่นเดียวกับพรานรพินทร์ ตัวละครเอกของเขา ฉัตรชัยยังเป็นคอลัมนิสต์ให้นิตยสารเกี่ยวกับอาวุธปืนและเขียนตำราเรื่องปืนโดยใช้ชื่อและนามสกุลจริง

ถึงแม้จะเป็นพรานที่เก่งกาจ แต่จุดอ่อนของรพินทร์คือโรคไข้จับสั่นหรือมาลาเรีย เมื่อใดที่อาการกำเริบ เมื่อนั้นรพินทร์หมดสภาพที่จะปกป้องใครได้ และในภาค 2 ของ เพชรพระอุมา เขามีอาการโรคหัวใจเข้ามาแทรกซ้อนอีกซึ่งทั้ง 2 โรคและอาการที่รพินทร์เป็นในเรื่องล้วนเป็นโรคที่ฉัตรชัยเผชิญในชีวิตจริง ถึงแม้ผู้เขียนจะหายจากโรคมาลาเรียซึ่งทำให้เขาเกือบตายในป่าหลายครั้งแต่โรคหัวใจต้องรักษาจนวาระสุดท้ายของชีวิต และเพราะโรคหัวใจนี่เองทำให้ฉัตรชัยเลิกการล่าสัตว์อย่างเด็ดขาดด้วยตระหนักถึงเรื่องบาปบุญคุณโทษและกฎแห่งกรรม

เพชรพระอุมา

หมู่บ้านหนองน้ำแห้ง ที่รพินทร์ ไพรวัลย์ บุกเบิกและสร้างปางพักมีจริงหรือไม่

ฉัตรชัยเคยกล่าวไว้ว่า หมู่บ้านหนองน้ำแห้งมีอยู่จริง แต่ชื่อจริงๆ คือ “หมู่บ้านหนองแห้ง” และเขาเติมคำว่า “น้ำ” ลงไปในนวนิยาย หมู่บ้านหนองแห้งเป็นหมู่บ้านกลางป่าลึกในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นที่อยู่ของพรานใหญ่พื้นเมืองนาม “หนานไพร” และฉัตรชัยก็ได้นำชื่อครูพรานคนนี้ซึ่งมีตัวตนอยู่จริงมาใส่ในนิยายให้เป็นครูพรานของรพินทร์ ตัวเอกของเรื่อง

ที่มาของชื่อ รพินทร์ ไพรวัลย์

ฉัตรชัยต้องการชื่อตัวเอกที่ฟังแล้วไม่เหี้ยมหาญดุดันเกินไป แถมยังต้องแฝงความอ่อนโยน ซึ่งค่อนข้างขัดกับบุคลิกภายนอกที่ห้าวหาญ และเฉียบขาด ดังนั้นชื่อของท่าน รพินทรนาถ ฐากูร นักปราชญ์ชาวอินเดีย จึงเป็นชื่อที่เขาคิดว่าอ่อนโยนเสนาะหู จึงนำคำว่า รพินทร์ (มาจาก ระพี แปลว่า พระอาทิตย์) มาเป็นชื่อตัวเอก เพราะชื่อเมื่อออกเสียงไม่แข็งกร้าว ทั้งความหมายยังแฝงด้วยความแข็งแกร่ง ส่วนนามสกุล ไพรวัลย์ เพื่อสื่อให้เห็นถึงอาชีพพรานและป่าดงพงไพรซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการผจญภัยครั้งนี้

เพชรพระอุมา

ลายแทงขุมทรัพย์ เพชรพระอุมา มีที่มาอย่างไร

ในเรื่อง เพชรพระอุมา ฉัตรชัยเขียนถึงลายแทงขุมสมบัติที่ มังมหานรธา แม่ทัพพม่าเมื่อ 400 กว่าปีเขียนไว้และได้ตกไปอยู่ในมือของ รพินทร์ ไพรวัลย์ และ รพินทร์ ก็ได้ใช้ลายแทงนี้เป็นเครื่องมือนำทางรับจ้างคณะของ ม.ร.ว. เชษฐา และ ม.ร.ว ดาริน วราฤทธิ์ ในการออกติดตามหา ม.ร.ว.อนุชา (พรานชด ประชากร) ที่หายสาบสูญ โดยกำหนดให้เนินพระจันทร์เป็นตำแหน่งสุดท้ายที่จะนำไปสู่เทือกเขาพระศิวะซึ่งเป็นที่เก็บสมบัติ

การจะเข้าถึงตำแหน่งตามลายแทงกำหนดว่าต้องรอให้ถึงเวลาขึ้น 5 ค่ำ เดือน 12 และจะต้องเห็น “ปิ่นพระศิวะฉายแสงเรืองรองขึ้น” อันจะทำให้เกิดปรากฎการณ์สะท้อนให้เห็นเต้าพระถันทั้งสองข้างของพระอุมาเทวี และหากไต่เขาไปตามร่องถันโดยแยกไปทางถันซีกซ้ายจะทำให้บรรลุถึงถนนของพระศิวะนำไปสู่มหาปราสาทของพระอุมาเทวีที่เก็บมหาสมบัติอันตั้งอยู่ใน”อาณาจักรมรกตนคร”

คำกล่าวที่ว่า เพชรพระอุมา คือ พนมเทียน นั้นไม่ได้เป็นคำยกยอที่เกินจริงเลย เพราะอมตะนิยายผจญภัยเรื่อง เพชรพระอุมา นั้นได้รวบรวมประสบการณ์ชีวิต ความเชื่อ ความรู้ต่างๆ ของฉัตรชัยตั้งแต่วัยเยาวว์ ทั้งเรื่องการเดินป่า การดำรงชีพในป่า การล่าสัตว์ ธรรมชาตินิสัยของสัตว์ป่า ไสยศาสตร์ เวทมนตร์ และกฎแห่งกรรม ขมวดมาอยู่ในเรื่องนี้ทั้งหมด

ถึงแม้ฉัตรชัยไม่ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจเรื่องดินแดนลี้ลับมรกตนคร แต่ในนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนธันวาคม 2547 ในบทความเรื่อง “ตามรอยลายแทงเพชรพระอุมา เพมาโค ดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งทิเบต” โดย สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ได้เขียนถึงเพมาโค (แปลว่า สถานที่แห่งดอกบัว หรือ สถานที่แห่งพุทธะ) ที่ล้อมรอบด้วยเทือกเขาหิมะสลับซับซ้อนและหุบเขาแม่น้ำแซงโป ซึ่งตามลายแทงมองเห็นเป็นร่างของนางวัชรโยคีนี (พระแม่เจ้าสามตาแห่งปัญญาของพุทธนิกายวัชรยานของทิเบต หรือ พระแม่อุมาของศาสนาฮินดู) ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับลายแทงมรกตนครในเรื่อง เพชรพระอุมา

ตำนานเพมาโคเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชนชาวทิเบต ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-14 ว่ากันว่าโยคีสายตันตระผู้บรรลุธรรมจากแคว้นสวัสดิ์ หรือ ปากีสถาน ในปัจจุบัน เป็นพระพุทธเจ้าที่รู้จักกันในนาม ปัทมาสัมภาวะ ได้เดินทางไปทั่วทิเบตและค้นพบหุบเขาศักดิ์สิทธิ์จำนวนมากเหมาะแก่การลี้ภัยและปฏิบัติธรรมเรียกว่า เบยุล หรือ แดนลับแล พร้อมกับเขียนลายแทงกำกับไว้ก่อนนำไปซ่อน จนในพุทธศตวรรษที่ 20 ริคซิน โกเดม ได้ค้นพบลายแทงส่วนหนึ่งในถ้ำ

ลายแทงจะระบุทางเข้าแดนลับแลจากทั้ง 4 ทิศ โดยกำหนดเวลาตายตัวที่จะทางเข้าจะเปิดได้ และบอกสัญญาณไว้ให้สังเกต จึงยังมีแดนลับแลอยู่อีกในทิเบตที่ยังไม่ถึงเวลาเปิด สำหรับลายแทงสู่เพมาโคนั้นว่ากันว่าถูกค้นพบโดย ดอเจทองเม ผู้เปิดหุบเขานี้ในพุทธศตวรรษที่ 23 และเฮียน เบเกอร์ นักสำรวจชาวอเมริกัน ได้รับลายแทงจากลามะองค์หนึ่งและได้เริ่มสำรวจกับ ฮามิด ซัดดาร์ เพื่อนชาวอิหร่าน เพมาโคนอกจากจะเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในเทือกเขาหิมาลัยที่นักแสวงบุญปรารถนาไปเยือน สำหรับนักภูมิศาสตร์แล้วสถานที่ลี้ลับนี้ยังเป็นแหล่งรวมพันธุ์ไม้ที่หลากหลายอย่างน่าอัศจรรย์

อ้างอิง

  • หนังสือ “อินไซด์เพชรพระอุมา ภาค 1” โดย พนมเทียน สำนักพิมพ์ คเณศบุรี
  • นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 238 เดือนธันวาคม 2547
  • ภาพ: จากปกหนังสือโดย สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ