ท่องไปในวิวัฒนาการโลกภาพยนตร์ นิทรรศการภาพค้างติดตา : Persistence of Vision
Lite

ท่องไปในวิวัฒนาการโลกภาพยนตร์ นิทรรศการภาพค้างติดตา : Persistence of Vision

Focus
  • นิทรรศการภาพค้างติดตา : Persistence of Vision พื้นที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ที่ทางหอภาพยนตร์ออกแบบมาให้เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ผ่านกิจกรรมในแต่ละโซน เพื่อทำความเข้าใจว่าภาพยนตร์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
  • นิทรรศการจัดแสดงตามยุคสมัยที่มนุษย์เริ่มมีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวในลักษณะต่าง ๆ ตั้งแต่ยุคหินจนกระทั่งถึงยุคที่เริ่มคิดค้นสิ่งประดิษฐ์อันเป็นบ่อเกิดของการบันทึกภาพยนตร์ในปัจจุบัน

ภาพยนตร์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? ทุกครั้งที่เด็ก ๆ เกิดความสงสัยในคำถามข้อนี้ซึ่งคำตอบนั้นต้องย้อนกลับไปทั้งในแง่มุมทางประวัติศาสตร์และอ้างอิงถึงความรู้เชิงวิทยาศาสตร์อย่าง ทฤษฎีการเห็นภาพติดตา (Persistence of Vision) ของนักทฤษฎีและแพทย์ชาวอังกฤษ ดร.จอห์น แอร์ตัน ปารีส (Dr.John Ayrton Paris) นั้น จะให้อธิบายและท่องจำทั้งหมดก็ดูจะน่าเบื่อเกินไป จุดนี้เลยเป็นโจทย์สำคัญที่ หอภาพยนตร์ ซึ่งมุ่งสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์อยู่เสมอต้องคิดหาวิธีว่าจะอธิบายความซับซ้อนนี้ให้สามารถเข้าใจง่ายได้อย่างไร

นิทรรศการภาพค้างติดตา : Persistence of Vision จึงเกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์นั้น ในการเป็นสื่อกลางการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ได้มาเล่นสนุก หยิบจับทดลองไปพร้อมกับการนำเสนอเกร็ดความรู้ด้านภาพยนตร์ในฉบับที่ย่อยง่ายและครอบคลุมสอดแทรกลงไประหว่างทาง ซึ่งแม้จุดประสงค์ของตัวนิทรรศการจะสร้างสรรค์มาให้เหมาะกับเด็กอายุ 6-12 ปี แต่เชื่อเลยว่าสีสันสดใสที่ให้บรรยากาศเหมือนสนามเด็กเล่นขนาดย่อมนี้สามารถดึงดูดคนทุกเพศทุกวัยให้สามารถเพลิดเพลินไปพร้อมกับนิทรรศการนี้ได้ ที่สำคัญคือไม่ต้องกลัวว่าจะเหงา เพราะระหว่างที่เดินชม เขามีมาสคอตประจำนิทรรศการอย่าง ติ๊ดต้า, มามอง และ ดูดู คอยส่งเสียงนำชมไปด้วยตลอดทาง

นิทรรศการภาพค้างติดตา
นิทรรศการภาพค้างติดตา

ภายในนิทรรศการแบ่งย่อยออกเป็น 4 ห้องหลักตามยุคและพัฒนาการของการสร้างภาพเคลื่อนไหว โดยห้องแรกชื่อว่า “มองถ้ำ” จำลองถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มนุษย์เริ่มบันทึกเหตุการณ์ลงบนผนังถ้ำ เกิดเป็นภาพเขียนสีที่ถูกค้นพบในเวลาต่อมา หนึ่งในภาพที่สะท้อนได้ชัดว่ามนุษย์ริเริ่มการบันทึกเหตุการณ์เคลื่อนไหวมาตั้งแต่ยุคนั้นคือภาพหมูป่าหลายขากำลังถูกไล่ล่า สื่อได้ถึงความไวในการวิ่งหนีที่มนุษย์ยุคนั้นพบเห็นและบันทึกไว้ หนึ่งไฮไลต์ของห้องนี้คือการจำลองให้เห็นว่าหากภาพเหล่านั้นขยับได้จริงจะเห็นการเคลื่อนไหวเป็นอย่างไร

ขยับมาสู่ห้องที่สอง “เล่นเงา” การละเล่นทำท่าทางขยับมือเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ให้ปรากฏเป็นเงาบนผนังคือยุคต่อมาของการคิดสร้างสรรค์สิ่งเคลื่อนไหว ซึ่งในปัจจุบันเห็นได้ว่ายังคงมีการพัฒนาการเล่าเรื่องในลักษณะนี้ออกมาให้เห็น เช่นมหรสพอย่างหนังตะลุงหรือหนังใหญ่ ที่มีการประดิษฐ์วัตถุเป็นรูปร่างต่าง ๆ เพื่อประกอบเรื่องราวให้สวยงามขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่สวยงามซึ่งต่อยอดมาจากความคิดสร้างสรรค์ของคนในยุคนั้น

นิทรรศการภาพค้างติดตา

ห้องที่สาม “นักประดิษฐ์” สมกับชื่อคือห้องนี้ได้รวบรวมสิ่งประดิษฐ์มากมายที่อาศัยหลักทฤษฎีภาพติดตาในการสร้างสรรค์ขึ้น หรือที่เรียกได้ว่า “ของเล่นลวงตา” ที่หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ลองเล่นมาแล้วบ้าง ถือได้ว่าเป็นการนำเสนอยุคของการสร้างแอนิเมชันด้วยมือแบบที่ยังไม่ได้อาศัยเทคโนโลยีล้ำยุคใด ๆ เช่น ฟลิปบุ๊ก (Flipbook) หนังสือภาพที่มักเรียกกันว่า สมุดดีด ซึ่งเป็นการสร้างภาพเคลื่อนไหวโดยการวาดภาพลงบนกระดาษให้ขยับทีละน้อยในแต่ละหน้า เมื่อนำมาเย็บติดแล้วเปิดต่อกันอย่างรวดเร็วจะสามารถทำให้เห็นเป็นภาพที่กำลังขยับได้ หรืออีกชิ้นคือ แพรกซิโนสโคป (Praxinoscope) สิ่งประดิษฐ์ที่อาศัยหลักการสะท้อนและการหมุนในการสร้างภาพเคลื่อนไหว ซึ่งของเล่นเล็ก ๆ ทั้งหลายเหล่านี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดค้นและพัฒนาจนนำมาสู่การบันทึกภาพเคลื่อนไหวภาพแรกของโลกที่มีชื่อว่า “The Horse in Motion” โดย เอ็ดเวิร์ด มายบริดจ์ (Eadweard Muybridge) 

มาถึงห้องสุดท้ายที่เรียกได้ว่าเป็นไฮไลต์ของนิทรรศการนี้เลย ห้องนี้มีชื่อว่า “ลองเล่น” ที่เมื่อเข้าไปด้านในจะเห็นเรือขนาดยักษ์สีสันสดใสตั้งอยู่กลางห้อง รอบ ๆ รายล้อมไปด้วยตู้เกมที่ให้บรรยากาศเหมือนเข้าไปใน Game Center ให้ผู้ชมได้ลองเล่นสร้างภาพเคลื่อนไหวด้วยตัวเองกันสนุก ๆ โดยจุดสุดท้ายนี้จะมีการฉายภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดสั้นให้ชมด้วย คล้ายเป็นการสรุปทุกเรื่องราวที่เราเดินผ่านมาว่าการทำให้เกิดภาพเคลื่อนไหวในโลกภาพยนตร์นั้นมีวิวัฒนาการอย่างไร นิทรรศการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้แบบ Active Learning ที่สามารถพาน้อง ๆ หนู ๆ ไปใช้เวลาวันหยุดเล่นสนุกได้อย่างคุ้มค่า แต่นอกจากนิทรรศการนี้แล้วทางหอภาพยนตร์ยังมีพื้นที่อื่น ๆ ให้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ในแง่มุมต่าง ๆ อีกเพียบเลย

Fact File

  • นิทรรศการภาพค้างติดตา: Persistence of Vision จัดแสดงแบบถาวร (เข้าชมฟรี) ณ พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย ถนนพุทธมณฑล สาย 5 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เปิดทุกวันอังคาร-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น.
  • รายละเอียดเพิ่มเติม : www.facebook.com/ThaiFilmArchivePage

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว