Passion Perfect  : เรื่องรักและปรารถนาฉบับ อุรุดา โควินท์
Lite

Passion Perfect : เรื่องรักและปรารถนาฉบับ อุรุดา โควินท์

Focus
  • ใครที่ยังอินกับ หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา ตอนนี้ อุรุดา โควินท์กลับมาพร้อมผลงานนวนิยายขนาดสั้น Passion Perfect เป็นหนึ่ง ดั่งใจ และมากกว่า ครั้งนี้ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์วัยรุ่นสุดแนว P.S.Publishing
  • อุรุดายังคงกลับมาพร้อมกับงานเขียนน้ำเสียงโรแมนติก ทว่าแฝงเรื่องราวชีวิตที่ดึงมาจากเสี้ยวหนึ่งของเรื่องส่วนตัวของเธอซึ่งนั่นทำให้งานของอุรุดามีเสน่ห์เฉพาะ

Passion Perfect เป็นหนึ่ง ดั่งใจ และมากกว่า ผลงานนวนิยายขนาดสั้นเล่มล่าสุดของ อุรุดา โควินท์ นักเขียนหญิงผู้รักษาวินัยในการทำงานและผลิตงานเขียนออกมาให้แฟนๆ อ่านอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็นเรื่องแต่งหรือบทความ ด้วยอารมณ์ของงานเขียนที่มีน้ำเสียงโรแมนติกแฝงเรื่องชีวิต สังคม ผสานเรื่องส่วนตัวของเธอเองในบางจังหวะ ทั้งหมดประกอบกันเป็นเสน่ห์เฉพาะของอุรุดาและสำหรับนวนิยายขนาดสั้นเล่มล่าสุด Passion Perfect เป็นหนึ่ง ดั่งใจ และมากกว่า อุรุดาถ่ายทอดทั้งเรื่องรักความเสน่หาของหญิงสาวคาวปลา และความบ้าบิ่น

เป็นหนึ่งกับปรารถนา

หนังสือ Passion Perfect เป็นหนึ่ง ดั่งใจ และมากกว่า เล่าเรื่องของ วารดา สาวแบงค์ (อุรุดาเองก็เคยทำงานธนาคารเช่นกัน) ที่ไม่เป็นที่รักของเพื่อนพนักงานเท่าไร ความทะเยอทะยานในหน้าที่ของวารดาทำให้เธอถูกมองว่าทำงานเอาหน้า ในแง่มุมของความรัก วารดากำลังจะแต่งงานกับแฟนที่คบหากันมา แต่อีกความรู้สึกก็บอกว่าเธอรู้สึกถวิลหา อยากมีความสัมพันธ์กับหนุ่มแรงงานที่ทำงานในตลาดปลาใต้ดิน การต่อสู้ของสุ้มเสียงภายในตัวเองระหว่างความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่กับการทำตามแรงขับของแรงปรารถนาข้างใน ทำให้หนังสือเล่มนี้ชวนติดตาม ดังคำโปรยในหน้าแรกของหนังสือที่ทิ้งปมไว้ว่า

“เหตุผลคือการลากจูง เหตุผลคือความพอใจ เหตุผลคือความเห็นแก่ได้ เหตุผลเป็นทุกอย่างนั้นละ ยกเว้นความสุขและอิสรภาพ”

“เหตุผล” คำนี้เพียงคำเดียวสั้นๆ ที่ทำให้เกิดเรื่องยุ่งยากในใจตามมา อะไรคือเหตุของการตัดสินใจ อะไรคือผลของการกระทำ ตลอดทั้งเรื่องผู้อ่านจะได้เห็นวารดาตกอยู่ในกับดักของ “เหตุผล” อยู่ตลอดเวลา เธอคำนึงถึงชีวิตปัจจุบันของเธอที่ช่างขนานไปกับภาพอุดมคติที่เธอวาดฝัน ความรักและเซ็กซ์ที่กระซิบบอกกันไม่ได้ ความต้องการทางเพศที่ว่าที่สามีไม่เคยเข้าใจ คำถามต่อมาที่เกิดขึ้นตามมาคือ “กล้าไหม” ที่จะเป็นหนึ่งกับความปรารถนา “กล้าไหม” ที่จะปลดปล่อยความต้องการของตัวเองอย่างไม่กังวลสายตาใครโดยมีเหตุผลเพียงสองคำสั้นๆ คือ “ความสุขและอิสรภาพ”

ดั่งใจที่เก็บไว้ใต้สำนึก

หากนำเรื่องความปรารถนาของวารดามานาบเข้ากับจิตวิเคราะห์แบบ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ดูเหมือนว่าปัญหาใหญ่ของวารดาคือการต่อสู้ระหว่าง จิตสำนึก (Conscious) และจิตใต้สำนึก (Subconscious) ซึ่งเป็นความปรารถนาที่ถูกเก็บไว้ลึกๆ มานานวารดามีสำนึกของการเป็นคนรักและว่าที่เจ้าสาวที่กำลังจะแต่งงาน นั่นทำให้เธอเกิดความรู้สึกกระอักกระอ่วนที่จะไปมีสัมพันธ์กับหนุ่มแรงงาน ซึ่งความถวิลหาและความปรารถนาลึกๆ เหล่านี้อาจจะไม่ใช่เพิ่งมี แต่อาจจะเป็นความรู้สึกลึกๆ ที่ถูกเก็บงำมาตลอดในก้นลึกของจิตใจ รอเพียงสิ่งเร้าที่จะเข้ามาบอกว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่หญิงสาวต้องการคืออะไร

ในฉากที่วารดาค่อยๆ เดินลงสู่ “ตลาดปลาใต้ดิน” เพื่อตามหาแรงปรารถนาที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ทำให้เราเห็นภาพภูเขาน้ำแข็งแห่งจิตที่ชัดเจนมาก แม้ภูเขาน้ำแข็งจะมียอดที่โผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำเพียงเล็กน้อยซึ่งเปรียบเหมือนจิตสำนักที่รับรู้สิ่งต่างๆ นั่นก็ใช่ว่าใต้ยอดภูเขาน้ำแข็งจะว่างเปล่า ทว่ากลับมีจิตใต้สำนึก และจิตไร้สำนึก (Unconscious) เป็นฐานขนาดใหญ่อันถูกซ่อนไว้จากสำนึกความดี เลว และกฏเกณฑ์ต่างๆ ของสังคม

ในนวนิยายวารดาต้องเดินลงสู่ชั้นใต้ดินที่มืดอับคลุ้งกลิ่นคาวปลา เธอปลดปล่อยทั้งเสื้อผ้าและความปรารถนาออกร่วมเพศกับหนุ่มแรงงานที่ถูกซ่อนเอาไว้จากตัวของวารดาและโลก “บนดิน” แต่ท้ายที่สุดวารดายืนยันในเสรีภาพของเธอและปล่อยให้ “จิต” และแรงปรารถนาข้างใน ทำงานล้ำหน้าบรรทัดฐานและเหตุผลต่างๆรอบตัว

“บางครั้งฉันรู้สึก ว่าถูกขังอยู่ข้างใน ในความเป็นพนักงานธนาคาร แต่ก็นั้นละ เราจะทำและพูดทุกอย่างได้จริงหรือเราถูกเหยียบไว้ใต้ตีน ถูกกระทืบซ้ำ ถูกกดทับอีกชั้นและอีกชั้น”

มากกว่าชีวิตที่เคยเป็น

การปลดปล่อยความรู้สึกของวารดาที่มีกับหนุ่มแรงงานใต้ดินอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเพราะแรงปรารถนาที่ซ่อนอยู่เพียงนั้น อีกมุมหนึ่งก็ทำให้มองได้ว่าเธอเรียนรู้จะจำสร้างตัวเองให้เป็น “มากกว่า” คนที่ว่าที่สามีหรือเพื่อนที่ทำงานซึ่งชังเธอทุกวันอยากจะให้เธอเป็น นั่นทำให้เธอละทิ้งคุณค่าแบบเดิมของขนบผัวเดียวเมียเดียว ซึ่งหมายถึงมีเซ็กซ์กับคนเดียวพ่วงมา เธอละทิ้งการพิพากษาจากที่ทำงานที่เตือนไม่ให้เธอลงไปในตลาดปลาใต้ดิน การละทิ้งผ่านการเรียนรู้ตัวเองการเพิ่มอำนาจการตัดสินใจให้มากกว่าที่เคยมีผ่านการเล่าถึงชีวิตพนักงานธนาคารของวารดา

“ความเป็นหนึ่งเดียว และค่อยๆ เปลี่ยน เมื่อเราทำซ้ำทุกวัน ทำบ่อย ทำกระทั่งมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา สิ่งที่ทำย่อมส่งผลกับตัวเรา … คงไม่ทันสังเกตว่าเราเปลี่ยนไปขนาดไหนหลังทำงานธนาคารมาหกปี”

ประโยคของวารดาย้ำถึงการที่เธอเองรู้สึกถึงการเปลี่ยนไปทีละเล็กละน้อยเปลี่ยนจากการเป็นตัวของตัวเอง เป็นวารดาในแบบที่ระบบการทำงานสร้างขึ้นมา วารดาติดนิสัยยินยอมอย่างเงียบๆ เหมือนพนักงานธนาคารที่ต้องตามใจลูกค้า แม้กระทั่งอยู่บนเตียงเธอก็ไม่กล้าบอกคนรักถึงเซ็กซ์อย่างที่เธอปรารถนา

“มีสองวิธีที่จะอยู่ร่วมกับคนบางประเภท ยอมอยู่ใต้ฝ่าเท้าหรือไม่ก็ต้องมีอำนาจเหนือ เมื่อก่อนฉันไม่มีสักอย่างแต่ตอนนี้ฉันมีอย่างหลัง”

คำนี้เป็นเหมือนการประกาศอิสรภาพของวารดาที่แม้อาจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องเพียงเล็กน้อย แต่การเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยนี่แหละที่จะกลายเป็นความกล้าหาญที่ยิ่งใหญ่ และชวนให้เราคิดว่าทุกวันนี้จิตใต้สำนึกของเราถูกกดจากอะไรอยู่หรือเปล่า

FACT FILE

  • Passion Perfect เป็นหนึ่ง ดั่งใจ และมากกว่า : อุรุดา โควินท์ เขียน สำนักพิมพ์: P.S. Publishing
    ราคา 200 บาท
  • ซื้อหนังสือออนไลน์ได้ที่ www.facebook.com/P.S.Publish

Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน