
หอไอเฟลใส่ขาเทียม ย้อมปารีสด้วยสีม่วง จากโตเกียวสู่ พาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024
- พาราลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 17 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม- 8 กันยายน ค.ศ.2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
- แม้ปารีสเคยเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนมาแล้วถึง 2 ครั้งคือเมื่อ ค.ศ.1900 และ ค.ศ.1924 แต่ พาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 คือครั้งแรกที่ฝรั่งเศสจะได้เป็นเจ้าภาพจัด พาราลิมปิกเกมส์
เมื่อค่ำคืนวันที่ 5 กันยายน 2564 อาคารสำคัญหลายแห่งในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส อาทิ Hotel de Ville และ Elysee Palace ถูกย้อมด้วยแสงไฟสีม่วงหลังจากที่ อาน อิดาลโก้ (Anne Hidalgo) นายกเทศมนตรีกรุงปารีส รับมอบธงพาราลิมปิกต่อจาก ยูริโกะ โคอิเกะ (Yuriko Koike) ผู้ว่าการกรุงโตเกียวในพิธีปิดการแข่งขัน พาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 อันเป็นสัญญาณการเริ่มต้นเป็นเจ้าภาพกีฬาพาราลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 17 พาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 อย่างเป็นทางการซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม- 8 กันยายน ค.ศ. 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

แลนด์มาร์กอีกกว่า 100 แห่งทั่วโลก เช่น Tokyo’s Sky Tree, Rainbow Bridge ในกรุงโตเกียว Ostankino ในกรุงมอสโก Coliseum ในกรุงโรม และ London Eye ในกรุงลอนดอนพร้อมใจกันฉาบด้วยแสงไฟสีม่วงอันเป็นสีสากลของผู้พิการและเป็นการโปรโมทแคมเปญ WeThe15 เพื่อเป็นกระบอกเสียงเพื่อกลุ่มผู้พิการ 1.2 พันล้านคนจากทั่วโลกซึ่งนับเป็นร้อยละ 15 ของจำนวนประชากรโลกทั้งหมด

ก่อนการเริ่มต้นพาราลิมปิก 2020 ที่โตเกียว คณะกรรมการพาราลิมปิกสากล (International Paralympic Committee) ได้มีการเปิดตัวแคมเปญ WeThe15 เพื่อยุติการเลือกปฏิบัติ แบ่งแยกคนพิการและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตของประชากรกลุ่มนี้อย่างยั่งยืน โดยคณะกรรมการพาราลิมปิกและภาคีเครือข่ายได้กำหนดเป้าหมายการทำงานให้บรรลุผลสำเร็จภายใน 10 ปี

นอกจากการย้อมแลนด์มาร์กต่างๆ เป็นแสงไฟสีม่วง ในพิธีรับมอบการเป็นเจ้าภาพพาราลิมปิกเกมส์ต่อจากโตเกียว ทางปารีสได้นำเสนอทีเซอร์ พาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 เพื่อแสดงความพร้อมในการจัดงานและการเล็งเห็นความเท่าเที่ยมของผู้พิการเริ่มจากการบรรเลงเพลงชาติฝรั่งเศส La Marseillaise และขับร้องด้วยภาษามือและท่าทางต่างๆ โดย นักดนตรีและครูสอนภาษามือ เบ็ตตี้ มูตูมาลายา (Betty Moutoumalaya) ณ บริเวณบันได ดาครู (Escalier Daru) ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ซึ่งติดตั้งประติมากรรมชิ้นเอก La Victoire de Samothrace


ต่อจากนั้น ซาเด็ก เบคราบา (Sadeck Berrabah) นักออกแบบท่าเต้นที่เป็นที่รู้จักในนาม Sadeck Waff ได้เต้นสอดประสานมือกับ อ๊อกซร็องด์ (Oxandre) เด็กหนุ่มวัย 15 ปี ซึ่งพิการแขนข้างซ้ายตั้งแต่กำเนิด แต่เมื่อ ค.ศ.2019 เขาเป็นชาวฝรั่งเศสคนแรกที่ได้รับแขนกลแบบไบโอนิค (Bionic Arm) ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3D ที่สามารถสั่งการจากสมองไปยังกล้ามเนื้อแขนเพื่อสามารถหยิบจับสิ่งของได้เหมือนการใช้มือปกติ ซาเด็ก เบคราบา ยังร่วมแสดงกับแดนเซอร์จำนวน 126 คน โดย 15% เป็นผู้พิการเพื่อให้เข้ากับแคมเปญ WeThe15 ในการเต้นที่ใช้มือเป็นหลักโดยได้แรงบันดาลใจมาจากการโบยบินของนก

ตามด้วยการแสดงการมิกซ์เสียงดนตรีที่เกิดจากใช้การเคลื่อนไหวดวงตาในการสั่งงานคอมพิวเตอร์ โดย โปน (Pone) ผู้นำฮิปฮอปในยุค 1980 แต่ปัจจุบันเขาป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) และสื่อสารได้ทางสายตาเท่านั้น

ปิดท้ายด้วยภาพ หอไอเฟลใส่ขาเทียมหนึ่งข้างพร้อมธงผืนใหญ่สีม่วงโบกสะบัดด้านบนโดยธงประทับตราสัญลักษณ์ พาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่การแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกจะใช้ตราสัญลักษณ์เดียวกันโดยไม่แบ่งแยก และในการแข่งขันพาราลิมปิก 2024 สวนสาธารณะบริเวณฐานของหอไอเฟลจะใช้เป็นสถานที่สำหรับการแข่งขันฟุตบอลผู้พิการทางสายตา พาราลิมปิกยูโด และวีลแชร์รักบี้
แม้ปารีสเคยเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนมาแล้วถึง 2 ครั้งคือเมื่อ ค.ศ.1900 และ ค.ศ.1924 แต่นี่นับเป็นครั้งแรกที่เมืองหลวงของฝรั่งเศสจะได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันพาราลิมปิกฤดูร้อนซึ่งมีการจัดการแข่งขันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อ ค.ศ.1960 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี

การแข่งขันกีฬานับเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สามารถแสดงศักยภาพของผู้พิการได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม และในปารีส พาราลิมปิก 2024 จะมีนักกีฬาผู้พิการเข้าร่วมจำนวน 4,350 คน จาก 182 ประเทศโดยมีการแข่งขันทั้งสิ้น 22 ชนิดกีฬา
ส่วนหมู่บ้านนักกีฬาซึ่งตั้งอยู่บริเวณ แซน-แซ็ง-เดอนี (Seine-Saint-Denis) ได้รับการออกแบบให้เป็นอารยสถาปัตย์ 100% โดยการปรับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ อาคารสถานที่ รวมถึงการคมนาคมขนส่ง สารสนเทศและการสื่อสาร และบริการต่าง ๆ ให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป โดยหวังให้โครงการนี้เป็นตัวอย่างการดีไซน์แบบอารยสถาปัตย์ครบวงจรให้แก่โครงการอื่น ๆ ในฝรั่งเศส
เครดิตภาพ : ©Paris 2024
อ้างอิง
