ค้นหาความปรารถนาที่หายไปใน ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว
- ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว หนังสือรวมบทความสารคดี 13 ชิ้นสะท้อนเรื่องราวของสามัญชนในสังคมที่แตกต่างหลากหลายวิถีชีวิตผลงานของ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย บรรณาธิการของเว็บไซต์ The101.world
- ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว โดดเด่นด้วยเนื้อหาที่มีการเชื่อมโยงถึงประเด็นความหวังผ่านการเล่าเรื่องจากการลงพื้นที่จริงโดยใช้วิธีการเขียนสารคดี
ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว ผลงานหนังสือรวมบทความสารคดี 13 ชิ้นสะท้อนเรื่องราวของสามัญชนในสังคมที่แตกต่างหลากหลายวิถีชีวิต แตกต่างถิ่นที่อยู่ แต่ยังมีสายใยเชื่อมโยงถึงกัน สิ่งนั้นคือความหวัง ทั้งหมดนี้ถ่ายทอดผ่านการเล่าเรื่องจากการลงพื้นที่ของ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย บรรณาธิการของเว็บไซต์ที่โดดเด่นด้านการเสนอเนื้อหาเชิงสังคมอย่าง The101.world
เมื่อราษฎรต้องลำเค็ญบนทาง “ราชดำเนิน”
บทความสารคดีชุดนี้ได้บอกเล่าภาพรวมของยุคสมัยปัจจุบันโดยสำรวจจากจุดย่อยของสังคมเพื่อส่องสะท้อนเรื่องราวต่าง ๆ ประกอบสร้างความเข้าใจภาพใหญ่ที่เรากำลังเผชิญอยู่ทั้งในมิติสังคม วิถีชีวิต การเมือง ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้จึงอยู่ที่แกนหลักอันเชื่อมร้อยประเด็นไว้อย่าง “ความหวัง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ระหว่างอ่านเราจะได้เห็นการค่อย ๆ ประกอบปากคำของผู้คนในสังคมต่าง ๆ ที่มีคำเดียวกันแต่ฝันถึงในประเด็นที่ต่างกัน ยกตัวอย่างการเริ่มต้นเล่มด้วยเรื่อง ราษฎร์ลำเค็ญบนราชดำเนิน เล่าเรื่องประเทศไทยระหว่างวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้วิถีชีวิตของแต่ละคนผิดไปจากปกติก่อนหน้านั้นแบบพลิกฝ่ามือ ปาณิสพาคนอ่านไปสู่การเริ่มต้นสำรวจคำบอกเล่าของประชาชนบริเวณถนนราชดำเนินซึ่งถือเป็นเขตใจกลางกรุงเทพมหานครอีกหนึ่งแห่ง ผ่านการแสดงเรื่องราวของผู้ที่ขายของในพื้นที่และการสังเกตถึงกลุ่มคนไร้บ้านที่ได้รับความเดือดร้อนเพิ่มมากขึ้น โดยจากการพูดคุยกับผู้ที่ทำการค้าบริเวณนี้ได้เล่าว่าขายของได้ลดลงแต่รายจ่ายยังคงเท่าเดิมเช่น สมหมาย(นามสมมติ) ได้กล่าวว่า
“ค่าห้องนี่เขาไม่ให้เลื่อนนะ จ่ายรายวัน…”
สมหมายผู้นี้มีอาชีพทำงานก่อสร้างที่ถูกเลิกจ้างทำให้ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าหออาศัยต่อจึงมาอาศัยนอนอยู่บริเวณราชดำเนินและยังชีพด้วยข้าวกล่องแจกจากผู้ที่มาแจกจ่ายอาหารแถวนั้น เขาไม่มีเงินแม้แต่บาทเดียวรวมทั้งไม่สามารถเข้าถึงเงินเยียวยาของรัฐบาลได้แม้จะขอยืมโทรศัพท์จากผู้อื่นสมัครหลายต่อหลายครั้งก็ขัดข้องไม่สามารถลงทะเบียนได้
ปาณิสยังคงเล่าประกอบภาพสังคมต่อจากบุคคลแรงงานไปที่เจ้าของกิจการร้านอาหารและเครื่องดื่มบริเวณนั้นซึ่งพบว่าซบเซาจากการปิดร้านมากว่าสองเดือนโดยผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวว่า “ตั้งแต่เปิดร้านเหล้ามา 20 ปี ครั้งนี้ปิดร้านนานที่สุด”
เรื่องราวความลำบากของ “ราษฎร์” บน “ราชดำเนิน” ที่ปาณิสเล่าไม่เพียงเป็นการให้ข้อมูลว่าชาวบ้านชาวเมืองลำบากอย่างไรแต่ยังชวนให้ผู้อ่านคิดไตร่ตรองไปถึงวิธีคิดของผู้คนต่อด้วยการเล่าให้เห็นภาพเชื่อมโยงกันระหว่างเรื่องราว ปาณิสเล่าถึงเจ้าของร้านเหล้าต่อว่าเขาใช้ปรัชญาการดำเนินชีวิตเช่นเดิมว่า “ชีวิตเหมือนสายน้ำ จงดื่มและล่องไหล” ซึ่งคำนี้ชวนคิดได้ถึงสังคมที่รัฐไม่ทำงานและโครงสร้างไม่โอบอุ้มประชาชนได้เป็นอย่างดีจากเรื่องราวของแรงงานที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบของรัฐจนไม่มีแม้กระทั่งที่พักอาศัยและความมั่นคงของปัจจัย4มาถึงเรื่องการคิดของเจ้าของร้านอาหารที่เปรียบชีวิตดั่งสายน้ำ หากฟังเป็นคำคมคงโรแมนติกกำลังดีแต่สำหรับชีวิตจริงคำนี้มีนัยถึงการไม่เป็นเจ้าของแม้กระทั่งชะตาของตนและทำได้เพียงยอมรับความ “ล่องไหล” ที่ตนไม่สามารถบังคับทิศทางอะไรของการไหลนี้ได้
แม้เพียงบทแรกปาณิสก็สามารถเล่าให้เห็นถึงคลื่นยักษ์ปัญหาใหญ่ที่กำลังซัดสังคมไทยได้อย่างเฉียบคมรวมทั้งทิ้งคำถามระหว่างอ่านว่าเมื่อไรและอย่างไรราษฎร์ถึงจะมีชีวิตที่ดำเนินอย่างไม่ล่องไหล และเลือกที่จะล่องชีวิตของตนได้เสียที
คนที่กลายเป็นผี กับ ความหวังของทุกคน
ในบท เปิดตา ‘ตีหม้อ’ สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด ปาณิสพาเดินสำรวจชีวิตและถิ่นที่ของธุรกิจขายบริการทางเพศที่เสนอมุมมองในฐานะอาชีพบริการที่สะท้อนมุมมองของรัฐ โดยทั้งการสำรวจและสัมภาษณ์ในชิ้นงานสารคดีนี้ ปาณิสได้พาเดินเข้าไปพูดคุยกับผู้ที่ประกอบอาชีพขายบริการทางเพศ และมุมมองที่มีต่ออาชีพบริการทางเพศเหล่านี้ว่าเริ่มต้นอย่างไร เช่นการเริ่มจากการขายคนรู้จักก่อน ไปจนถึงเวลาที่ต้องการใช้เงินก็มาขายเชิงพาณิชย์เต็มตัว แม้รัฐจะไม่ให้การสนับสนุนหรือไม่ให้แม้แต่ความรู้ในงานบริการด้านเพศ ที่มีคำว่าศีลธรรมอันดีของรัฐมาคั่นกลาง แต่คนทำงานในแวดวงนี้กลับสนใจการป้องกันตนเองอย่างมืออาชีพอย่างการใช้ถุงยางอนามัยและตรวจร่างกายอยู่เสมอ (หากมีโอกาส)
การแสดงภาพของ “มืออาชีพ” ในบทสารคดีนี้ทำให้เกิดมุมมองและทัศนะได้ว่าอาชีพนี้รัฐที่มักอ้างเรื่องศีลธรรมกลับทำให้พวกเขามีสถานะเป็น “ผี” ที่ไม่ถูกมองเห็น แต่การที่ปาณิส “เปิดตา” ผู้อ่านและพาเดินชมย่านธุรกิจให้เห็นปัจจัยต่าง ๆ รวมทั้งคำถามระหว่างอ่านที่ว่าทำไมพวกเขาถึงถูกทำให้มองไม่เห็นเสมือนเป็นผีสำหรับรัฐ ทำไมรัฐถึงยอมรับไม่ได้เสียทีรัฐไม่เห็นหรือยังไม่เปิดตาและการปิดตาของรัฐเองก็ไม่เพียงปิดอาชีพค้าบริการแต่เท่ากับปิดตาไม่มองประชาชน จากคำสัมภาษณ์ของ จ๋า (นามสมมติ) ที่เล่าได้เฉียบขาดในประโยคสั้น ๆ ว่าเราปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งนี้มีอยู่ แต่จะอยู่ร่วมกันอย่างไรต่างหาก จ๋าได้กล่าวต่อว่า
“เรามีภาพฝันของสวัสดิการที่ทั่วถึงเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับเท่ากัน”
แน่นอนว่าคำกล่าวข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการไม่นับการค้าบริการเป็นอาชีพหนึ่งและเสมือนว่าพวกเขาหรือพวกเธอหายไปจากเมืองใหญ่นี้และมีตัวตนเฉพาะคนและเวลาเท่านั้น ปัญหาของอาชีพขายบริการที่ไม่มีสวัสดิการจึงไม่เพียงเป็นเรื่องของกลุ่มอาชีพนี้แต่สะท้อนให้เห็นถึงกรอบการปฏิเสธของรัฐที่ละเลยจะมองประชาชนพร้อมทั้งชอบอ้างศีลธรรมที่เป็นเหมือนมือปิดตาไม่ให้เห็นไม่ให้การยอมรับกับสิ่งที่มี
ยังมีตัวอย่างและกรณีอีกมากมายในหนังสือเล่มนี้ที่ทำให้เห็นถึงสภาพสังคมอันน่าหมดหวังไม่ว่าจะเรื่องย่อยไปจนถึงเรื่องใหญ่เล่าตั้งแต่คนเดินถนนถึงการชุมนุมในฮ่องกงที่ดุเดือดและการเรียกร้องครั้งใหญ่ในไทยเมื่อปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมาที่แสดงให้เห็นถึง “ความหวัง” ของประเทศที่เชื่อมโยงเราไว้ทั้งหมด จากการที่ประชาชนลุกขึ้นส่งเสียงเรียกรัฐให้เปิดตามองและประชาชนไม่ใช่ผีล่องหนอีกต่อไป ปาณิสเล่าเรื่องเชื่อมโยงให้เห็นถึงขบวนการประชาธิปไตยในฮ่องกงและไทยโดยมุ่งสำรวจไปที่การต่อสู้ของประชาชนที่มีความหวังในการเปลี่ยนแปลงประเทศและลุกขึ้นมาเพื่อความหวังนั้นร่วมกัน
หนังสือเล่มนี้บอกเราประมาณหนึ่งจากชื่อว่า ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว เชื่อมโยงกับเรื่องราวมากมายที่ผสานกันตั้งแต่ต้นจนจบจนฉุกคิดได้ว่าสุดท้ายแล้วนิยาม “ความหวัง” คือสิ่งใดกันภาพสะท้อนต่าง ๆ ให้คำตอบหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงความหวังในฐานะมวลรวมไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังที่แท้จริงเหมือนความหวังเป็นศูนย์ของจินตนาการที่คิดไปถึงความปรารถนาต่าง ๆ ที่เรารอคอย
ดังที่จะเห็นได้ตลอดเล่มว่าแต่ละคนต้องการเพียงความเป็นอยู่ที่ยุติธรรมเท่านั้นและโครงสร้างที่ควบคุมกำกับความปรารถนานี้ให้เป็นเพียงหวังก็ใหญ่โตจนคนคนเดียวอาจแก้ไขไม่ได้เบ็ดเสร็จ แต่หากเรามองเห็นว่าความหวังนั้น ๆ ของเราเชื่อมโยงถึงกัน หากสังคมยุติธรรมพอ หากทรัพยากรเป็นของคนเท่าเทียมกัน หากทุกคนได้รับการมองเห็นและยอมรับ หากทุกคนมีความเป็นอยู่ที่เสมอภาคยั่งยืน นี่หรือเปล่าคือจุดรวมศูนย์ของความปรารถนาต่าง ๆ ที่เรารอคอยร่วมกัน แต่ที่แน่นอนก็คือความหวังที่ว่าอยู่นี้…ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว
Fact File
- ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว
- เขียน : ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย
- สำนักพิมพ์ : แซลมอน (Salmon Books)
- ราคา 305 บาท