10 พิกัดไฮไลต์ เที่ยวตามรอย พิธีเปิดโอลิมปิกปารีส 2024
- ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เจ้าภาพ การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 33 หรือ Paris 2024 ฉีกกรอบการจัดพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกแบบเดิมที่นิยมจัดในสเตเดียมมาเป็นแบบกลางแจ้งและกลาง แม่น้ำแซน
- พิธีเปิดการแข่งขันยิงยาวร่วม 4 ชั่วโมงตั้งแต่เวลา 00.30 น ถึง 04.30 น. วันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ตามเวลาในประเทศไทย
เรียกได้ว่าเปิดแผงขายของฉ่ำตั้งแต่ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ แฟชั่น ดนตรี กีฬา และสถานที่ท่องเที่ยว สำหรับประเทศฝรั่งเศส เจ้าภาพโอลิมปิก Paris 2024 ในพิธีเปิดการแข่งขันที่ยิงยาวร่วม 4 ชั่วโมงตั้งแต่เวลา 00.30 น ถึง 04.30 น. วันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ตามเวลาในประเทศไทย Sarakadee Lite ขอเปิดทัวร์เที่ยวตามรอย 10 สถานที่ที่ปรากฎใน พิธีเปิดโอลิมปิก Paris 2024 เริ่มตั้งแต่ขึ้นขบวนรถไฟใต้ดินตาม ซีเนดีน ซีดาน นักฟุตบอลระดับตำนานของฝรั่งเศส จากสนามกีฬา สตาด เดอ ฟร็องส์ (Stade de France) เพื่อเดินทางเข้าไปตัวเมืองปารีส ลอดสุสานใต้ดิน เลส์ กาตาโกมบ์ เดอ ปาครี (Les catacombes de Paris) ก่อนที่จะปีนป่ายไปบนหลังคาอาคารต่างๆในเมืองกับชายปริศนาถือคบเพลิง จากนั้นไปชมกระถางคบเพลิงบอลลูนที่สวนสาธารณะตุยเลอรี ((Jardin des Tuileries) จนถึงจุดสุดท้ายที่หอไอเฟลกับเสียงร้องทรงพลังของ เซลีน ดิออน
01 สนามกีฬา สตาด เดอ ฟร็องส์ Stade de France
เริ่มเปิดฉาก พิธีเปิดโอลิมปิก ด้วยวิดีโอนักแสดงตลกชาวฝรั่งเศส จาเมล เดอบูซ วิ่งถือคบเพลิงเข้าไปที่ สตาด เดอ ฟร็องส์ (Stade de France) ซึ่งเป็นสนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสด้วยเข้าใจว่าที่นี่เป็นสถานที่จัดพิธีเปิดการแข่งขันแต่กลับพบความว่างเปล่า เนื่องจากประเทศเจ้าภาพในครั้งนี้ฉีกกรอบการจัดพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกแบบเดิมที่นิยมจัดในสเตเดียมมาเป็นแบบกลางแจ้งและกลางแม่น้ำแซน (La Seine) ด้วยขบวนเรือกว่า 90 ลำสำหรับนำทัพนักกีฬาจากทั่วโลกกว่า 10,000 คน ล่องไปตามแม่น้ำที่ไหลผ่านกลางกรุงปารีสเป็นระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร นักฟุตบอลชื่อดัง ซีเนดีน ซีดาน จึงปรากฎตัวพร้อมกับรับคบเพลิงต่อเพื่อนำกลับไปในตัวเมืองปารีส
สนามกีฬาสตาด เดอ ฟร็องส์ ยังลบภาพจำของลู่วิ่งทั่วไปที่มักเป็นสีโทนน้ำตาลแดงให้กลายเป็นเฉดสีม่วงตามพาเลตสีธีมหลัก “น้ำเงิน แดง เขียว ม่วง” ที่ได้กำหนดให้เป็น Visual Identity หรือ Look of the Games ของ Paris 2024 สนามแห่งนี้ตั้งอยู่ทางเหนือของกรุงปารีสและสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1995 เพื่อรองรับการแข่งขัน FIFA World Cup และสามารถจุผู้ชมได้กว่า 80,000 คน โดยใช้เป็นสถานที่สำหรับการแข่งขันฟุตบอล รักบี้ และกรีฑา อีกทั้งยังใช้จัดคอนเสิร์ตและละครเวทีด้วย
02 สุสานใต้ดิน Les catacombes de Paris
หลังจาก ซีเนดีน ซีดาน รับคบเพลิง เขารีบเดินทางไปสถานีรถไฟใต้ดินเพื่อเดินทางเข้าตัวเมืองปารีส แต่รถไฟเกิดหยุดชะงักก่อนถึงที่หมายทำให้เขาต้องส่งต่อคบเพลิงให้เยาวชน 3 คน เดินทางลอดใต้ดินต่อไปและระหว่างทางจะพบเจอโครงกระดูกจำนวนมากซึ่งหมายถึงสถานที่ประวัติศาสตร์อีกแห่งของปารีสคือ สุสานใต้ดิน เลส์ กาตาโกมบ์ เดอ ปาครี (Les catacombes de Paris)
คำว่า “Catacombe” หมายถึงสถานที่หรือห้องใต้ดินที่ใช้เป็นที่เก็บกระดูกของคนตายในยุคโรมันโบราณ แต่สุสานใต้ดิน Les catacombes de Paris แท้จริงแล้วเป็นเหมืองเก่าใต้ดินของกรุงปารีสที่ในอดีตมีการขุดเอาหินเพื่อนำมาใช้สร้างตึกรามบ้านเรือนและสถานที่ต่างๆ ในกรุงปารีสโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปขุดหรือนำเข้ามาจากแหล่งอื่นๆเลย เหมืองเก่านี้ครอบคลุมพื้นที่ในตัวเมืองชั้นในของปารีสถึงเกือบ 300 กิโลเมตรและกินพื้นที่ทั้งบริเวณฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำแซน
ต่อมาในปลายศตวรรษที่ 18 มีการย้ายซากศพและโครงกระดูกจากสุสานบนดินคือ เลส์ ซิมติแยร์ เด แซงโนซองส์ (Le cimetière des Innocents) มาเก็บไว้ที่เหมืองเก่าแทนทำให้ที่นี่กลายเป็นสุสานใต้ดินขนาดใหญ่ แต่บริเวณที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้มีความยาวแค่ 2 กิโลเมตร และอยู่ลึกลงไปใต้ดิน 20 เมตร
03 หลังคาสังกะสีเมืองปารีส Les toits de Paris
ชายปริศนาพาเยาวชน 3 คนนั่งเรือพายลอดใต้อุโมงค์จนมาถึงแม่น้ำแซนและเขาถือคบเพลิงกระโดดปีนป่ายไปบนหลังคาตามอาคารต่างๆ หลังคาสังกะสี ที่เรียกว่า เลส์ ตัวส์ เดอ ปาครี (Les toits de Paris) ถือเป็นเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมของปารีสที่เริ่มขึ้นเมื่อประมาณกลางศตวรรษที่ 19 ในสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (Napoléon III) ผู้ต้องการสร้างปารีสให้เป็นเมืองที่สวยที่สุดในยุโรปจึงได้ให้ บารง โอสมานน์ (Baron Haussmann) เป็นผู้รับผิดชอบในการวางผังเมืองและสร้างเมืองใหม่ เช่น มีการสร้างและขยายถนน ปรับตัวเมืองให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพิ่มเติมพื้นที่สีเขียวให้ปารีส และช่วงนี้นี่เองที่มีอาคารที่เรียกว่า สไตล์โอสมานน์ ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดทั่วเมือง
โอสมานน์เลือกใช้แผ่นสังกะสีเป็นวัสดุหลักเพราะมีน้ำหนักเบาและสะดวกต่อการติดตั้งและปรับปรุง แผ่นสังกะสียังเป็นวัสดุที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นจึงใช้เป็นสัญลักษณ์แทน “ปารีสสมัยใหม่” ด้วยคุณสมบัติของสังกะสีที่มีน้ำหนักเบาช่วยให้สถาปนิกไม่จำเป็นต้องสร้างคานจำนวนมากเพื่อรองรับหลังคาทำให้เกิดพื้นที่ใช้สอยของอาคารมากขึ้น นี่จึงเป็นที่มาของการสร้างห้องเล็กๆใต้หลังคาที่ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า ช้อมป์ เดอ บอนน์ (Chambres de Bonnes)
การปีนป่ายไปทั่วของชายปริศนาถือคบเพลิงตลอด พิธีเปิดโอลิมปิก คือกีฬาเอกซ์ตรีมอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ปาร์กัวร์ (parkour) ซึ่งมาจากภาษาฝรั่งเศสแปลว่า “วิ่งผ่านสิ่งกีดขวาง” และถือกำเนิดในประเทศฝรั่งเศสในช่วงปลายทศวรรษ 1980 โดย เดวิด เบลเลอ (David Belle) ที่ปีนป่ายไปตามท้องถนนและใช้เมืองทั้งเมืองเป็นสนามฝึกซ้อมในการวิ่งข้ามสิ่งกีดขวางและอุปสรรคต่างๆ ก่อนจะได้รับความนิยมจนเป็นพื้นฐานของ Free Running
04 มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส Cathédrale Notre-Dame de Paris
สถานที่สำคัญที่ปรากฏใน พิธีเปิดโอลิมปิก คือ มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส (Cathédrale Notre-Dame de Paris) ที่ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการบูรณะครั้งใหญ่หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ใหญ่ที่ทำลายหลังคาและยอดมหาวิหารเมื่อเมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ.2019
มหาวิหารในรูปสถาปัตยกรรมแบบโกธิกแสดงถึงประวัติศาสตร์และศิลปะของยุคกลางของยุโรปตั้งอยู่ในกรุงปารีสบนเกาะ อิล เดอ ลา ซิเต้ (Île de la Cité ) ในแม่น้ำแซน เริ่มก่อสร้างในค.ศ.1163 ในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 โดยบิชอปของปารีส Maurice de Sully การก่อสร้างใช้เวลานานหลายทศวรรษจนแล้วเสร็จในค.ศ.1345
ในช่วงศตวรรษที่ 19 มหาวิหารได้รับการบูรณะครั้งใหญ่โดยสถาปนิก Eugène-Emmanuel Viollet-le-Duc ที่นี่เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญทางศาสนาและประวัติศาสตร์ เช่น การราชาภิเษกของนโปเลียนโบนาปาร์ตในค.ศ. 1804 และยังเป็นสถานที่กล่าวถึงในนวนิยายชื่อดัง “The Hunchback of Notre-Dame” ของ วิกตอร์ อูว์โก (Victor Hugo)
05 อดีตคุกหลวง Conciergerie
อีกฉากการแสดงในพิธีเปิดคือที่สถานที่ประวัติศาสตร์ กงซีแยร์เฌอรี (Conciergerie) ตั้งอยู่บนเกาะซิเต (Île de la Cité) กลางแม่น้ำแซน ซึ่งเป็นการย้อนประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสในค.ศ.1789 ด้วยบางฉากจากภาพยนตร์เรื่อง Les Misérables หรือ เหยื่ออธรรม พร้อมกับหุ่นพระนางมารีอ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) ที่โดนประหารด้วยเครื่องกิโยตินรวมถึงการแสดงเหตุการณ์ช่วงปฏิวัติตามที่ปรากฎในภาพวาด Liberty Leading People (ค.ศ. 1830) ของ เออแฌน เดอลาครัว (Eugène Delacroix) เป็นภาพหญิงสาว มารีอานน์ (Marianne) ที่ชูธงชาติปลิวไสวนำประชาชนมีชัยเหนือศัตรู
กงซีแยร์เฌอรี ตั้งอยู่บนเกาะซิเต (Île de la Cité) กลางแม่น้ำแซน เดิมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังหลวง Palais de la Cité ซึ่งเป็นที่พำนักของกษัตริย์ฝรั่งเศสตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 ถึง 14 ต่อมาในศตวรรษที่ 14 ส่วนหนึ่งของพระราชวังถูกเปลี่ยนเป็นเรือนจำใช้ขังนักโทษทั้งที่เป็นขุนนางและสามัญชน ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 ที่นี่เป็นเรือนจำคุมขังนักโทษการเมืองที่สำคัญนับพันคน เช่น พระนางมารีอ็องตัวแน็ต ก่อนถูกนำไปประหารชีวิตที่จัตุรัสกงกอร์ด ปัจจุบันได้มีการสร้างโบสถ์เล็กๆเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานขึ้นตรงบริเวณเดียวกับที่เคยเป็นห้องขังของพระองค์ตลอดช่วงการปฏิวัติ และมีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของพระองค์ไว้ในบริเวณใกล้ ๆกันด้วย
06 พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ Musée du Louvre
ชายปริศนาถือคบเพลิงที่ฉายในพิธีเปิดการแข่งขันยังคงปีนป่ายไปตามอาคารสถานที่ต่างๆทั่วปารีส และหนึ่งในนั้นคือ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Musée du Louvre) หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในโลกที่เก็บรักษาและจัดแสดงผลงานมาสเตอร์พีชมากมาย เช่น ภาพโมนาลิซา รูปปั้นหินอ่อนวีนัส และ ประติมากรรม La Victoire de Samothrace
พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์เดิมเป็นป้อมปราการที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 12 โดยกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 แห่งฝรั่งเศส เพื่อป้องกันกรุงปารีสจากการโจมตี ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 14 ป้อมปราการนี้ถูกเปลี่ยนเป็นพระราชวังและเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ในศตวรรษที่ 18 หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสเพื่อแสดงศิลปะและวัตถุโบราณแก่สาธารณชน
ในค.ศ. 1989 ประธานาธิบดีฟร็องซัวส์ มิตเตคร็องด์ (François Mitterrand) เริ่มเมกะโปรเจ็คที่เรียกว่า Le Grand Louvre เพื่อปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ครั้งใหญ่โดย เอียวหมิงเป่ย (Ieoh Ming Pei) สถาปนิกชาวอเมริกันเชื้อสายจีนได้รับการมอบหมายให้เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง หัวใจหลักของคอมเพล็กซ์คือทางเข้าหลักที่ออกแบบเป็นรูปทรงของพีระมิดแก้วสไตล์ยิปต์ ปัจจุบันพีระมิดนี้ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์และเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปมากเป็นอันดับที่ 3 รองจากภาพโมนาลิซา และรูปปั้นวีนัส
07 พิพิธภัณฑ์ดอร์กเซย์ Musée d’Orsay
การเดินทางของชายปริศนาถือคบเพลิงที่ฉายในพิธีเปิดการแข่งขันยังคงต่อเนื่องไปถึง พิพิธภัณฑ์ดอร์กเซย์ (Musée d’Orsay) พิพิธภัณฑ์ที่ยืนหนึ่งสำหรับการจัดแสดงศิลปะยุคอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เดิมเป็นพระราชวังของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 และเป็นสถาปัตยกรรมสไตล์โบซาร์ (Beaux-Arts) ต่อมาในช่วงสงครามคอมมูนปารีสในช่วงปลายคริสตวรรษที่ 19 พระราชวังเกิดไฟไหม้และถูกทำลายในปีค.ศ.1871
ในช่วงปีค.ศ.1898-1900 บริษัทเดินรถรางปาครี-ออร์คเลองส์ (La Compagnie du chemin de fer de Paris à Orléans) ได้ปรับปรุงพระราชวังเดิมให้เป็นสถานีรถไฟเพื่อใช้เดินทางไป-กลับระหว่างเมืองปารีสกับเมืองออร์เลอ็องเพื่อรองรับการจัดงานเวิล์ดเอกซ์โปในปีค.ศ.1900 ต่อมาในสมัยของประธานาธิบดี วาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็ง (Valéry Giscard d’Estaing) ได้ให้ วิคตอร์ ลาครูส์ (Victor Laloux) เป็นผู้ออกแบบปรับปรุงสถานีรถไฟแห่งนี้ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงงานศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสม์ ส่วนนาฬิกาที่เป็นสัญลักษณ์เด่นของที่นี่ตั้งอยู่ชั้นบนสุดของอาคาร
08 หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส Bibliothèque nationale de France
อีกหนึ่งสถานที่สวยงามที่ปรากฎในวิดีโอพิธีเปิดการแข่งขันคือ หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส (Bibliothèque nationale de France) ซึ่งเป็นที่เก็บรวบรวมเอกสารและหนังสือหายากจำนวนมาก โดยมีต้นกำเนิดจากหอสมุดส่วนพระองค์ของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 5 ในศตวรรษที่ 14 ก่อนที่จะมีการย้ายไปไว้ที่ห้องสมุดส่วนพระองค์ในพระราชวังลูฟวร์
ต่อมาพระคาร์ดินัลดยุกแห่งรีเชอลีเยอ Cardinal-Duc de Richelieu) ได้ก่อตั้งหอสมุดส่วนตัวของเขาขึ้นในปี ค.ศ. 1622 และถูกซื้อโดยหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส หอสมุด Richelieu มีบทบาทสำคัญในการเก็บรักษาและจัดแสดงเอกสารและหนังสือสำคัญทางประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสและโลกและเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยของนักวิชาการและผู้สนใจในการค้นคว้าและเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วรรณคดี ศิลปะ และวัฒนธรรม
ในค.ศ. 1996 หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศสได้เปิดสาขาใหม่ที่ชื่อว่า Bibliothèque François-Mitterrand เพื่อลดความแออัดของหอสมุด Richelieu พร้อมกับบรูณะ Richelieu ครั้งใหญ่เป็นเวลาถึง 12 ปีและเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อค.ศ.2022 โดยมีสถานที่สำคัญเช่น ห้องอ่านหนังสือที่มีหลังคาโดมสวยงามและหน้าต่างกระจกสี ห้องอ่านหนังสือรูปทรงวงรีตกแต่งภายในด้วยลวดลายปูนปั้นและจิตรกรรมฝาผนัง แกลเลอรีตกแต่งแบบบาโรกที่เก็บรวบรวมงานศิลปะ และห้องจัดแสดงเหรียญและเครื่องประดับ
09 สวนสาธารณะ Jardin des Tuileries
เมื่อพิธีเปิดยังฉีกกรอบโดยไม่จัดในสเตเดียมแบบเดิมๆ กระถางคบเพลิงของโอลิมปิก Paris 2024 ย่อมออกนอกกรอบเช่นกันด้วยการทำเป็น กระถางคบเพลิงบอลลูน อยู่ในบริเวณสวนสาธารณะ ฌาร์แด็ง เดส์ ตุยเลอรี (Jardin des Tuileries) ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์และจัตุรัสกงกอร์ด
การที่ออกแบบเป็นรูปบอลลูนเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ที่มีการประดิษฐ์บอลลูนไฮโดรเจนและมีการเดินทางด้วยบอลลูนนี้เริ่มต้นที่ สวนตุยเลอรี แห่งนี้และลอยไปได้ไกลถึง 27 ไมล์โดยสองนักประดิษฐ์คือ Jacques Charles และ Nicholas-Louis Robert เมื่อค.ศ.1783
สวนตุยเลอรี สร้างขึ้นในปี 1564 เพื่อเป็นสวนของพระราชวังตุยเลอรีซึ่งเป็นสถานที่ประทับครั้งสุดท้ายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก่อนที่จะถูกประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยติน พระราชวังถูกไฟไหม้ใน ค.ศ.1871 และอีก 15 ปีถัดมาก็ได้มีการรื้อถอนซากปรักหักพังออกทั้งหมด ปัจจุบันจะได้เห็นแต่ลานกว้างๆและบ่อน้ำกลางสวนและความสวยงามของดอกไม้ต้นไม้และรูปปั้นต่าง ๆ ที่ถูกตกแต่งประดับประดาไว้ บริเวณสวนยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ออรองเจอรี Orangerie ที่แสดงภาพชุดดอกบัวขนาดใหญ่ของ Claude Monet บนผนังรูปโค้งเพื่อให้ความรู้สึกเหมือนผู้ชมถูกโอบล้อมอยู่กลางสระบัว
10 หอไอเฟล La tour Eiffel
ปิดฉาก พิธีเปิดโอลิมปิก อย่างยิ่งใหญ่ด้วยการแสดงของนักร้องชื่อดัง เซลีน ดิออน ที่ปรากฎกายบนหอไอเฟลด้วยบทเพลง L’Hymne à l’amour ของ Edith Piaf
หอไอเฟล มีฉายาว่า ลา ดาม เดอ แฟร์ ( La dame de fer) หรือ สตรีเหล็ก เพราะเป็นหอคอยที่สร้างจากเหล็กชนิดพิเศษที่เรียกว่า “puddle iron” ซึ่งในกระบวนการหล่อนั้นมีการกำจัดคาร์บอนส่วนเกินออกจนได้เหล็กบริสุทธิ์และมีความแข็งแกร่งคงทน เหล็กชนิดนี้ผลิตในโรงหลอมและเตาถลุงเหล็กที่เมืองปอมเปย์ในแคว้นลอแรนของฝรั่งเศส
วิศวกรและสถาปนิกชาวฝรั่งเศส กุสตาฟว์ ไอเฟล (Gustave Eiffel) เป็นผู้ออกแบบเพื่อใช้สำหรับเป็นซุ้มทางเข้างานมหกรรมนานาชาติ (Exposition Universelle) ในปี ค.ศ. 1889 ณ กรุงปารีส และกลายมาเป็นแลนด์มาร์กของประเทศฝรั่งเศสในเวลาต่อมา หอไอเฟลมีความสูง 330 เมตร ตัวฐานเป็นทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสที่มีความกว้างและยาวด้านละ125 เมตร ได้รับการยกย่องให้เป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1964 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโกใน ค.ศ. 1991
หอไอเฟลยังเป็นแรงบันดาลใจสำคัญสำหรับการออกแบบเหรียญรางวัลสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก Paris 2024 ชิ้นส่วนเหล็กของหอไอเฟลที่ถูกเก็บรักษาไว้เมื่อครั้งมีการบูรณะได้นำมาเป็นองค์ประกอบสำคัญประดับอยู่ตรงกลางด้านหลังของเหรียญรางวัลทุกเหรียญสำหรับกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก