หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ต้นแบบ “สัจนิยมมหัศจรรย์” โดย กาโบ
Lite

หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ต้นแบบ “สัจนิยมมหัศจรรย์” โดย กาโบ

Focus
  • หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (One Hundred Years of Solitude) ผลงานชิ้นเอกของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez) หรือ กาโบ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ค.ศ. 1982
  • ธันวาคม 2024 หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ได้รับการต่อยอดจากวรรณกรรมสู่ซีรีส์ทางสตรีมมิง Netflix

ในวาระที่ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (One Hundred Years of Solitude) ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez) หรือ กาโบ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ค.ศ. 1982 ได้รับการต่อยอดสู่ซีรีส์ในแพลตฟอร์มสตรีมมิงเจ้าใหญ่อย่าง Netflix ไปเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2024 ที่ผ่านมา เราจึงชวนหยิบวรรณกรรมภาษาสเปนปี ค.ศ. 1967 ของกาโบกลับขึ้นมาอ่านอีกครั้งว่าทำไม หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว จึงเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกที่ส่งให้ชื่อ “กาโบ” ขึ้นแท่นนักเขียนอมตะระดับโลกจวบจนทุกวันนี้ และทำไมนวนิยายเล่มนี้จึงมีอิทธิพลต่อวงการวรรณกรรมปัจจุบันโดยเฉพาะขนบทางวรรณกรรมแบบ สัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) พร้อมยอดจัดจำหน่ายทั่วโลกไม่น้อยกว่า 50 ล้านเล่ม ตีพิมพ์มากกว่า 46 ภาษา

หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว
One Hundred Years of Solitude เวอร์ชัน Netflix

แม้ในปัจจุบันแนวทาง สัจนิยมมหัศจรรย์ มีผู้นิยมมากขึ้น แต่ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ก็มักถูกหยิบขึ้นมาอ้างอิงเสมอเวลาเอ่ยถึงขนบ “สัจนิยมมหัศจรรย์” และนอกจากความโดดเด่นด้านรูปแบบวรรณกรรมแล้ว หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ยังบรรจุเนื้อหาไว้เต็มเปี่ยมทั้งประเด็นการล่าอาณานิคม ประวัติศาสตร์และการหลงลืม ความรักและความตาย การเจริญเติบโตทางเทคโนโลยี โลกทัศน์ที่อ้างอิงกับความคิดจิตวิญญาณ จนไปถึงการถ่ายทอดความรู้ของมนุษย์จากรุ่นสู่รุ่น และแนวคิดอีกมากมายที่สะท้อนความรู้ความคิดของกาโบในสมัยยุค 60’s โดยประเด็นทั้งหมดถูกเล่าผ่านวรรณกรรมที่ผสานทั้งประเด็นทางสังคมเข้ากับการจินตนาการ ร่วมด้วยเรื่องราวส่วนตัวของเขาและเรื่องราวรอบตัว จนเขาสามารถสร้างเรื่องราวของ มากอนโด เมืองลึกลับที่เต็มไปด้วยเหตุมหัศจรรย์อันขมขื่นขึ้นมาได้อย่างสมบูรณ์

หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว
กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ
ภาพ : © Richard Emblin. Kindly provided by Richard Emblin

น้ำแข็งแห่งมากอนโด

“น้ำแข็ง” เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวมหากาพย์ใน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว จากวัตถุเล็กน้อยที่เราแทบไม่ประหลาดใจกับมันแล้วในปัจจุบัน แต่กลับกันมันคือชนวนเหตุแห่งความมหัศจรรย์แห่งเมือง มากอนโด ที่เพียงได้สัมผัสก็สามารถรับรู้ได้ถึงความมหัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์ซึ่งทำให้น้ำแข็งมาสถิตเบื้องหน้า จนสามารถลืมเลือนทุกสิ่งที่เคยสำคัญมาก่อนหน้าไปชั่วขณะ และเมื่อนั้นวิทยาศาสตร์ก็กลายเป็นพระเจ้าของชาวเมืองในทันทีดังที่ตัวละคร โฆเซ อาร์กาดิโอ บวนเดีย กล่าวไว้ว่า


“…ในขณะที่ประทับมือลงบนก้อนน้ำแข็งราวกับกำลังแสดงประจักษ์พยานต่อพระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ เขาประกาศก้องว่า …นี่คือสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ในยุคของเรา”

หากอิงจากในนวนิยายในฉากที่คณะยิปซีเข้ามาในเมืองเพื่อเผยแพร่สิ่งประดิษฐ์ล้ำยุคเหนือจินตนาการอย่าง “แม่เหล็ก” ที่บรรยายไว้ว่าเหล็กสองแท่งที่สามารถดูดเหล็กต่างๆได้ และ “แว่นขยาย” ที่สามารถรวมแสงนำมาเป็นพลังงานความร้อนจนจุดไฟจากฟางแห้ง ทำให้ตัวละคร โฆเซ อาร์กาดิโอ บวนเดีย อยากมีความสามารถเยี่ยงนักประดิษฐ์และสามาถคิดค้นอะไร “ใหม่” ให้เกิดขึ้นมาได้ แต่นั่นกลับนำไปสู่ความขัดแย้งทางความคิดกับ อูร์ซูลา ภรรยาผู้เชื่อโลกทัศน์แบบดั้งเดิมที่มีมาก่อนการเข้ามาของคณะยิปซี โดยฝั่งภรรยาให้คุณค่ากับการสร้างครอบครัว และใช้ชีวิตแบบปกติแบบที่ที่ยังเชื่อเหตุมหัศจรรย์โดยไม่ต้องพยายามหาคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์

ทั้งนี้กาโบได้เปรียบเทียบให้เห็นถึงแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ วิทยาศาสตร์ในฐานะความล้ำสมัย ก้าวหน้า และ “ความเป็นจริง” เป็นแนวคิดที่น่าสนใจและหากนำไปอ่านเชิงบริบทว่านวนิยายเล่มนี้เขียนและเผยแพร่ในสมัย 1960 ซึ่ง เป็นยุคสมัยที่โลกทั้งใบอยู่ภายใต้การต่อสู่ทางอุดมการณ์ระหว่างโลกเสรีและโลกคอมมิวนิสต์ ซึ่งหนึ่งในสมรภูมิทางความคิดประชันกันของสองโลกคือ “แนวคิดทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์” เช่น การแข่งกันปล่อยอากาศยานสู่อวกาศเพื่อไปเยือนดวงจันทร์ สู่การโฆษณาด้านเทคโนโลยีว่าจะเป็น “อนาคต” ของโลกโดยเฉพาะฝั่งเสรีที่ขายพ่วงความล้ำสมัยกับแนวคิดตลาดเสรี พร้อมคุณค่าแบบวิทยาศาสตร์ที่ทำให้ชีวิตสามารถคำนวนและหาความแน่นอนได้ เช่นเดียวกับการรุกคืบมากอนโดของคณะยิปซี ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเข้ามาเผยแพร่แนวคิดใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีมอบ “ความจริงอันแน่นอน” เพื่อชวนผู้คนในมากอนโดเชื่อในความจริงอีกแบบนอกเหนือความจริงแบบพื้นถื่นที่อิงอยู่กับผีสางและอิทธิฤทธิ์มหัศจรรย์

หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว
ภาพจากเวอร์ชันซีรีส์ Netflix

มองเทคโนโลยีและอนาคตจาก มากอนโด

อีกประเด็นที่น่าสนใจสำหรับเรื่องนี้คือการเดินทางเพื่อคว้าความฝัน การตั้งคำถามถึงชีวิตที่ต้องขวนขวายเพื่อความมั่งคั่งและความสำเร็จ…จริงหรือที่การดำรงอยู่ของชีวิต หมายถึงการเดินทางเพื่อค้นหาความไม่สิ้นสุดไปตลอดกาล โดยโฆเซ อาร์กาดิโอ บวนเดีย กล่าวไว้สั้นๆ แต่น่าสนใจว่า

“ไม่มีใครเป็นคนของที่ไหนทั้งนั้น ตราบเท่าที่ยังปราศจากคนตายฝังอยู่ใต้ดิน”

เมื่อ โฆเซ อาร์กาดิโอ บวนเดีย หมกมุ่นในการผจญภัยเพื่อค้นคว้าสิ่งใหม่ เขาจึงคิดว่าการดำรงอยู่ของเขาคือการเดินทางเพื่อค้นหาความไม่สิ้นสุดตลอดกาล แนวคิดนี้สำคัญอย่างยิ่งและเป็นส่วนสำคัญของโฆษณาชวนเชื่อของฝั่งโลกเสรี ที่พยายามขายความไม่สิ้นสุดของชีวิต รวมทั้งการมีความฝันที่ต้องเดินทางไล่จับไปตลอดกาล ต้นตำรับสำหรับทุนนิยมอย่างอเมริกาจึงมี ความฝันแบบอเมริกัน (American Dream) ที่มากจากแนวคิดทำมากได้มาก ชีวิตต้องขวนขวายเพื่อความมั่งคั่งและสำเร็จความฝัน ชีวิตจึงเป็นสิ่งที่ต้องเดินทางไม่หยุดนิ่งเสมอหากต้องการความมั่งคั่ง และอุดมการณ์ดังกล่าวก็กำลังแพร่ขยายไปในหลากหลายพื้นที่ของโลกขณะที่กาโบกำลังเขียนนวนิยายเล่มนี้อยู่

One Hundred Years of Solitude
ภาพจากเวอร์ชันซีรีส์ Netflix

กลุ่มยิปซีผู้นำเทคโนโลยีนวัตกรรมล้ำสมัยมาเผยแพร่ในมากอนโดจึงเป็นทั้งภาพแทนของเจ้าจักรวรรดิที่เดินทางเข้ามาเปลี่ยนแปลงความคิดของคนพื้นถิ่นให้เชื่อในความสมัยใหม่ผ่านเทคโนโลยี และทำให้วิถีดั้งเดิมดูอ่อนค่าลง ไม่หวือหวาเท่าชีวิตแบบใหม่ที่พวกเขานำมาขาย มากอนโด ในฉากเปิดเรื่องจึงเป็นเหมือนหลายทวีปที่ได้รับผลกกระทบจากการเผยแพร่แนวคิดจากโลกใบใหม่ เพื่อมาเปลี่ยนแปลงโลกของพวกเขาและเธอให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ดยการก้าวเท้าตามโลกใบใหม่นามของ “อนาคต” ไปตลอดกาล

และไม่ว่าใครก็ตามที่สามารถครองนิยามของ “อนาคต” ไว้ในมือได้ก็จะสามารถควบคุมการสร้างอนาคตไว้ได้อย่างมหัศจรรย์กว่าผีตนไหนๆ ที่มีมาในมากอนโด…ตรงกันข้ามกับใครก็ตามที่ไม่เชื่อแนวคิดแห่ง “อนาคต ก็อาจจะต้องถูกทิ้งให้โดดเดี่ยวไปอีกหลายร้อยปี

Fact File

หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว

นักเขียน : กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ

ผู้แปล : ชนฤดี ปลื้มปวารณ์ 

สำนักพิมพ์ : บทจร

อ้างอิง


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน