รีวิวชีวิตแบบฉีดยาแรงกับ สูญสิ้นความเป็นคน ฉบับนิยายและมังงะสยองขวัญ
Lite

รีวิวชีวิตแบบฉีดยาแรงกับ สูญสิ้นความเป็นคน ฉบับนิยายและมังงะสยองขวัญ

Focus
  • สูญสิ้นความเป็นคน เป็นนิยายเรื่องสุดท้ายของ ดะไซ โอซามุ (ค.ศ. 1909-1948) นักเขียนชาวญี่ปุ่นผู้ได้รับยกย่องว่าผลงานของเขาเป็นต้นแบบของวรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่
  • นิยายมีเค้าโครงมาจากชีวิตจริงของนักเขียนที่หวาดกลัวการเข้าสังคมและภาวะซึมเศร้าขั้นรุนแรงถึงกับพยายามจบชีวิตตัวเองถึง 5 ครั้ง
  • หลังจากเขียนเรื่อง สูญสิ้นความเป็นคน เสร็จไม่นาน ดะไซจบชีวิตตัวเองเพียง 6 วันก่อนถึงวันคล้ายวันเกิดครบรอบอายุ 39 ปี

ชื่อหนังสือ สูญสิ้นความเป็นคน อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆ ที่จะหยิบมาอ่านในช่วงเทศกาลเฟซทิฟทั้งด้วยชื่อหนังสือเองและเนื้อหาที่เล่าเรื่องราวของชายคนหนึ่งซึ่งตลอดทั้งชีวิตมีแต่ความหมองหม่น ซึมเศร้า ขมขื่นและสิ้นหวัง แต่หากได้อ่านแล้วจะพบว่าหนังสือเล่มนี้ช่วยให้ย้อนกลับไปมองและรีวิวชีวิตของเราเองในช่วงที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร มีความสุขหรือไม่กับสิ่งที่เป็นอยู่ หรือใช้ชีวิตโดยแบกความคาดหวังของสังคมและครอบครัวมากเกินไปจนสูญสิ้นความเป็นตัวเอง

ดังเช่นที่ อุทิศ เหมมะมูล นักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2552 เขียนไว้ท้ายเล่มหนังสือเล่มนี้ว่า “สูญสิ้นความเป็นคน จึงมิใช่ ‘หนังสือแห่งความตาย’ ที่เมื่อใครได้อ่านแล้วเหมือนได้ดื่มยาพิษที่พร้อมจะตายตกตามไป แต่คือยาขมที่ปลุกให้เราตื่นตระหนักต่างหาก”

สูญสิ้นความเป็นคน เป็นนิยายเรื่องสุดท้ายของ ดะไซ โอซามุ (ค.ศ. 1909-1948) หรือชื่อจริงว่า สึชิมะ ชูจิ นักเขียนชาวญี่ปุ่นผู้ได้รับยกย่องว่าผลงานของเขาเป็นต้นแบบของวรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่ เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ใน ค.ศ. 1948 โดยใช้เวลา 5 เดือน แต่หลังจากนั้นไม่นานเขาตัดสินใจฆ่าตัวตายพร้อมชู้รักที่คลองเก็บน้ำและมีคนพบศพของทั้งคู่หลังจากนั้น 6 วันในสภาพมัดติดกันด้วยสายคาดเอวโอบิในวันที่ 19 มิถุนายนซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดครบรอบอายุ 39 ปีของดะไซ และแท้จริงแล้วนี่เป็นการฆ่าตัวตายครั้งที่ 5 ของดะไซหลังจากล้มเหลวมาแล้ว 4 ครั้ง

สูญสิ้นความเป็นคน

รูปถ่าย 3 ใบและบันทึก 3 ฉบับกับชีวิตแสนอัปยศ

นิยาย สูญสิ้นความเป็นคน เปิดเรื่องมาโดยนักเขียนนิรนามคนหนึ่งที่ได้รับรูปถ่าย 3 ใบและบันทึก 3 ฉบับที่ถ่ายและเขียนในช่วงชีวิตวัยเด็ก วัยรุ่น และวัยหนุ่มของชายที่ชื่อว่า โอบะ โยโซ โดยใน บันทึกฉบับที่ 1 เริ่มต้นว่า “ผมผ่านชีวิตอันมากด้วยความอัปยศ การใช้ชีวิตของมนุษย์ สำหรับผมแล้วช่างเป็นสิ่งลึกลับยากจะเข้าใจ”

หลังจากนั้นในบันทึกย้อนเล่าเรื่องชีวิตตั้งแต่วัยเด็กของ โอบะ โยโซ ซึ่งเกิดมาในครอบครัวขนาดใหญ่ของนักการเมืองท้องถิ่นที่ร่ำรวยและมีแบบแผนเคร่งครัด ในขณะที่คนภายนอกมองว่าเขาโชคดีเกิดมาบนกองเงินกองทอง แต่โยโซเองกลับรู้สึกอึดอัดทรมานและไม่เข้าใจว่านิยามคำว่า “ความสุข” ของเขาและคนอื่นแตกต่างกันอย่างไร และเพื่อตีกรอบป้องกันไม่ให้คนอื่นมองว่าตัวเขาเองมีความคิดแปลกแยกจากสังคมทั่วไป โยโซจึงเสแสร้งรับบทเป็น “คนตลก” สร้างเสียงหัวเราะและเอาใจคนรอบข้างเพื่อให้ยอมรับเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโดยปกปิดความสลดหดหู่ภายในและความหวาดกลัวมนุษย์ที่จิตใจยากแท้หยั่งถึง

“อะไรก็ได้ ขอแค่ทำให้อีกฝ่ายหัวเราะก็พอ เพียงเท่านั้นต่อให้ผมอยู่นอกกรอบ ‘การใช้ชีวิต’ ของมนุษย์ พวกเขาก็คงไม่ใส่ใจมากมาย”

ช่วงวัยรุ่นใน บันทึกฉบับที่สอง 2 เขาเริ่มรับมือกับความหน้าไหว้หลังหลอกของผู้คนได้มากขึ้นและสวมหน้ากากตีเนียนเข้ากับผู้อื่นในบทบาทชายหนุ่มจอมทะเล้น ต่อมาเขาเริ่มติดเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวโสเภณี เข้าร่วมขบวนการลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งอยู่คนละฝั่งกับรัฐบาลที่พ่อรับราชการจนถูกตัดเงินช่วยเหลือจากครอบครัว และอยู่กินกับหญิงสาวซึ่งทำงานเป็นบริกรในคาเฟ่ จากสถานะลูกเศรษฐีกลายเป็นคนขัดสนเงินทองและเหนื่อยหน่ายกับการใช้ชีวิต โยโซกับหญิงสาวจึงตัดสินใจฆ่าตัวตายโดยกระโดดลงทะเล แต่ผู้หญิงตาย ตัวเขากลับรอดและโดนไล่ออกจากโรงเรียน

“แต่หัวใจมนุษย์มีบางอย่างยากจะเข้าใจและน่าสะพรึงกว่านั้น จะเรียกว่า ‘ความทะยานอยาก’ ก็คงไม่พอ ‘เย่อหยิ่งทะนงตน’ ก็คงไม่ครอบคลุม หรือต่อให้เอาคำว่า ‘กิเลส’ มาเสริมเข้ากับ ‘ความทะยานอยาก’ ก็คงไม่อาจอธิบายได้ครบถ้วน”

ใน บันทึกฉบับที่ 3 โยโซใช้ชีวิตเสเพลและเลื่อนลอยหลังโดนไล่ออกจากโรงเรียนและทางบ้านให้เงินใช้จ่ายเพียงน้อยนิด ช่วงหนึ่งเขาใช้ชีวิตอยู่กับหญิงหม้ายลูกติดโดยผู้หญิงเป็นฝ่ายเลี้ยงดูเป็นหลักและตัวเองมีรายได้เล็กน้อยจากการวาดการ์ตูนเพื่อเอาเงินไปซื้อเหล้า ต่อมาเขาหนีไปอยู่กับมาดามเจ้าของบาร์จนกระทั่งพบกับเด็กสาววัยรุ่นและแต่งงาน แม้จะเริ่มงดเหล้าและพยายามวาดการ์ตูนเป็นอาชีพ แต่ไม่ประสบความสำเร็จจนพยายามฆ่าตัวตายอีกครั้งโดยกินยานอนหลับเกินขนาด หลังจากนั้นเขาเสพติดมอร์ฟีนอย่างหนักและโดนหลอกจากคนใกล้ชิดว่าจะพาไปสถานบำบัด แต่แท้จริงแล้วเขากลับถูกส่งไปโรงพยาบาลจิตเวชและถือเป็นจุดต่ำสุดในชีวิต

“ถูกตัดสินว่าเป็นคนบ้า ต่อให้กลับออกไปเดี๋ยวนี้ ผมก็คงไม่พ้นถูกตอกหน้าผากประทับตราเป็นคนบ้า…ไม่สิ…เป็นเศษมนุษย์อยู่ดี ตกต่ำ…เกินจะเรียกตัวเองว่าเป็นมนุษย์ ผมสูญสิ้นความเป็นคนโดยสมบูรณ์”

สูญสิ้นความเป็นคน
ดะไซ โอซามุ

โอบะ โยโซ กระจกสะท้อนชีวิตของ ดะไซ โอซามุ

เส้นเรื่องของชายหนุ่ม โอบะ โยโซ ในนิยายมีความคล้ายคลึงกับชีวิตของนักเขียน ดะไซ โอซามุ เป็นอย่างมาก และนักเขียนนิรนามที่ปรากฏในตอนต้นและตอนท้ายของนิยายน่าจะหมายถึงดะไซเอง ในนิยายนั้นโยโซเกิดมาในครอบครัวใหญ่ฐานะร่ำรวยและพ่อเป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง ในชีวิตจริงของดะไซไม่แตกต่างกัน เพราะเขาเป็นลูกคนที่ 6 ในจำนวนพี่น้อง 11 คน และพ่อเป็นสมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาผู้แทน และสมาชิกสภาขุนนาง แม่ของเขาสุขภาพอ่อนแอทำให้ดะไซเติบโตมากับย่าและแม่นมและแวดล้อมด้วยบ่าวรับใช้นับสิบคน

เมื่ออายุ 20 ปีเดะไซพยายามฆ่าตัวตายครั้งแรกโดยกินยานอนหลับเกินขนาด ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวใต้ดินของกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายซึ่งขัดกับกฎหมายรักษาความสงบของบ้านเมือง นอกจากนี้เขายังมีความสัมพันธ์กับเกอิชาจนทางบ้านยินยอมให้หมั้นหมายแลกกับการถอดชื่อเขาออกจากตระกูล แต่หลังการหมั้นเพียงวันเดียว ดะไซได้รู้จักสาวบริกรในคาเฟ่และใช้เวลาอยู่ด้วยกัน 3 วันก่อนจะกินยาฆ่าตัวตายพร้อมกันที่ชายทะเล ฝ่ายหญิงเสียชีวิต แต่ดะไซรอด และเดือนถัดมาเขาแต่งงานเงียบๆ กับคู่หมั้น ชีวิตในช่วงนี้ของดะไซจึงมีความคล้ายคลึงกับบันทึกฉบับที่ 2 ของโยโซอย่างมาก

ต่อมาเมื่ออายุ 26 ปี เขาพยายามฆ่าตัวตายเป็นครั้งที่ 3 แต่ไม่สำเร็จ และล้มป่วยด้วยอาการไส้ติ่งและเยื่อบุช่องท้องอักเสบจนต้องพึ่งยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของมอร์ฟีนจนถึงขั้นเสพติด ดะไซถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลจิตเวชโดยโดนหลอกว่าจะพาไปโรงพยาบาลรักษาอาการป่วยทำให้เขาสิ้นหวังในชีวิตอย่างมากพร้อมกับข่าวว่าภรรยามีความสัมพันธ์กับชายอื่นระหว่างที่เขาอยู่ในโรงพยาบาล

ใน ค.ศ. 1937 ดะไซตัดสินใจฆ่าตัวตายเป็นครั้งที่ 4 พร้อมกับภรรยา แต่รอดชีวิตทั้งคู่ และหย่าขาดจากกันในที่สุด หลังจากนั้นเขาได้แต่งงานใหม่กับครูสาวและงานเขียนได้รับการยอมรับมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่อง Shayo (อาทิตย์อัสดง) ชีวิตหักเหอีกครั้งเมื่อได้รู้จักกับหม้ายสาวและกลายเป็นชู้รักในขณะที่สุขภาพของเขาเองทรุดโทรมจากการดื่มหนัก พักผ่อนน้อย และวัณโรค จนกระทั่งวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1948 ดะไซได้ฆ่าตัวตายพร้อมชู้รักหลังเสร็จสิ้นงานเขียนเรื่อง สูญสิ้นความเป็นคน ได้ไม่นานและทิ้งนิยายที่ยังเขียนไม่จบเรื่อง Goodbye ที่ยังไม่ได้บอกลากับคนอ่าน

สูญสิ้นความเป็นคน

เส้นชีวิตที่บรรจบกันของนักเขียนและตัวละครในมังงะสยองขวัญของ จุนจิ อิโต้

จุนจิ อิโต้ ปรมาจารย์นักเขียนมังงะแนวสยองขวัญชาวญี่ปุ่นซึ่งมีผลงานชื่อดังมากมาย เช่น โทมิเอะ, โซอิจิ และก้นหอยมรณะ ได้นำนิยายเรื่อง สูญสิ้นความเป็นคน มาดัดแปลงเป็นมังงะสายดาร์กสไตล์จุนจิใน ค.ศ. 2017 ด้วยลายเส้นหนักและเข้มในบรรยากาศชวนหลอนที่ดำดิ่งถึงด้านมืดของมนุษย์ ฉบับเวอร์ชันภาษาไทยมีทั้งหมดสามเล่มจบ

เส้นเรื่องในมังงะยังคงเค้าโครงของบทประพันธ์เดิมอยู่หลายส่วน แต่จุนจิได้ผสมผสานชีวิตจริงของดะไซเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมังงะด้วย มังงะเปิดเรื่องด้วยฉากสุดท้ายของชีวิตของดะไซในวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1948 ที่เขาและชู้รักตัดสินใจฆ่าตัวตายพร้อมกันที่คลองเก็บน้ำ จากนั้นจึงเป็นการเล่าเรื่องชีวิตของโยโซนับตั้งแต่วัยเด็กจนวัยหนุ่มโดยเสริมแต่งความสยองขวัญจากการดึงภาพหลอนและความต้องการที่แท้จริงของตัวละครอย่างโยโซมาเล่นมากยิ่งขึ้น เช่น ความต้องการที่จะกำจัดเพื่อนวัยเด็กที่รู้เท่าทันความคิดของเขา และความรู้สึกผิดบาปที่ชวนหญิงสาวไปจบชีวิตพร้อมกัน แต่ตัวเองรอด

นอกจากนี้จุนจิยังได้สร้างให้ดะไซและโยโซพบกันในโรงพยาบาลจิตเวชและต่างฝ่ายได้ปลอบประโลมซึ่งกันและกัน ดะไซได้ให้โยโซอ่านนิยายของเขาจนอีกฝ่ายรู้สึกว่าตัวละครในนิยายช่างตรงกับชีวิตของตัวเองมากจนถึงกับพูดว่า “มันเหมือนเรื่องของตัวเอง…ราวกับไม่ใช่เรื่องของคนอื่นเลย…รู้สึกได้ถึงสายสัมพันธ์ที่พิลึกพิลั่น” ก่อนออกจากโรงพยาบาลจิตเวชดะไซขอเอาเรื่องราวชีวิตแสนหดหู่ของโยโซไปเขียนนิยาย เพราะชีวิตของทั้งคู่เหมือนเดินบนเส้นทางเดียวกัน

20 ปีต่อมาดะไซที่กลายเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงได้เดินทางไปหาโยโซเพื่อนำนิยายเรื่อง สูญสิ้นความเป็นคน ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกไปให้ แต่กลับพบว่าเพื่อนที่มีแนวคิดเดียวกันและเคยให้พลังความหวังในการใช้ชีวิตกลับกลายเป็นคนหมดอาลัยตายอยาก ไม่มีทั้งสุขและทุกข์อีกต่อไป

Fact File

สูญสิ้นความเป็นคน

ผู้เขียน : ดะไซ โอซามุ

ผู้แปล : พรพิรุณ กิจสมเจตน์

สำนักพิมพ์ : JLIT

ราคา : 285 บาท

สูญสิ้นความเป็นคน ฉบับมังงะ โดย จุนจิ อิโต้

สำนักพิมพ์ : Luck Pim

ราคา Box set 3 เล่ม : 495 บาท


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ