ประวัติศาสตร์ เทศกาลนวราตรี งานบูชาแด่ชัยชนะ พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี
- เทศกาลนวราตรี ถือว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่พระแม่พระแม่ศรีมหาอุมาเทวีจะเสด็จลงมาประทานพรแก่มวลมนุษย์โดยเฉพาะวันที่ 9 ซึ่งเป็นคืนสุดท้ายของการจัดงานที่เรียกกันว่า “วันวิชัยทัสมิ”
- ในวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ตรงกับช่วงเทศกาลงานบุญสำคัญของผู้ที่นับถือพราหมณ์-ฮินดูทั่วโลก คือ เทศกาลนวราตรี หรือบางแห่งอาจเรียก เทศกาลดูเซร่า
ในวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ตรงกับช่วงเทศกาลงานบุญสำคัญของผู้ที่นับถือพราหมณ์-ฮินดูทั่วโลก คือ เทศกาลนวราตรี หรือบางแห่งอาจเรียก เทศกาลดูเซร่า ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง โดยแต่ละพื้นถิ่นในอินเดียจะมีการจัดงานหลายรูปแบบมีความเชื่อถึงที่มาของงานดังกล่าวแตกต่างกันไป เช่น ทางอินเดียภาคเหนือส่วนใหญ่มักเชื่อว่าเป็นวันแห่งชัยชนะของพระรามที่มีต่อทศกัณฐ์
แต่บางพื้นที่โดยเฉพาะทางภาคใต้ถือเป็นเวลาแห่งการเฉลิมฉลองการปราบมหิษาสูรของ “พระแม่ทุรคา” ปางหนึ่งของ พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี และในไทยก็ตกทอดความเชื่อนี้มา โดยจะมีการจัดงานตามศาสนสถานของชาวฮินดูเช่นที่ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือ วัดแขกสีลม ซึ่งจัดเป็นงานใหญ่และมีขบวนแห่เทพเจ้าเคลื่อนไปตามท้องถนน อีกแห่งหนึ่งคือที่วัดวิษณุ สมาคมฮินดูธรรมสภา เขตยานนาวา
เทศกาลนวราตรี ถือว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่พระแม่พระแม่ศรีมหาอุมาเทวีจะเสด็จลงมาประทานพรแก่มวลมนุษย์โดยเฉพาะวันที่ 9 ซึ่งเป็นคืนสุดท้ายของการจัดงานที่เรียกกันว่า วันวิชัยทัสมิ อันเป็นวันที่ “เจ้าแม่ทุรคา” ปางหนึ่งของพระแม่ศรีมหาอุมาเทวี ทรงปราบมหิษาสูร (อสูรที่มีหัวเป็นกระบือ) ได้สำเร็จและเป็นที่มาของความเชื่อที่ว่า “ใครบูชาพระแม่ในวันนี้จะได้รับชัยชนะตลอดปี”
ประวัติความเป็นมาของพระแม่ศรีมหาอุมาเทวีปางนี้เล่ากันว่า อสูรตนหนึ่งนามว่า “มหิษาสูร” มีฤทธิ์มากจนไม่มีเทพยดาองค์ใดปราบได้ พระวิษณุจึงขอให้เทพทั้งหลายเปล่งแสงจากความโกรธ จนเกิดร่างนางกาตยานี มี 3ตา 18 กร และมีพลังมหาศาล อีกทั้งบรรดาเทพทั้งปวงต่างมอบศัสตราวุธให้เพื่อปราบมหิษาสูรได้สำเร็จ ในเทศกาลนี้ชาวฮินดูทั้งหลายจะรักษาศีลทำกายใจให้บริสุทธิ์โดยไม่กินเนื้อสัตว์และเกลือ กินเพียงผลไม้และนมเท่านั้น รวมถึงสวดมนต์และปฏิบัติธรรมด้วย
วันแรกของงาน เทศกาลนวราตรี เริ่มด้วยพิธีบูชาพระคเณศซึ่งชาวฮินดูเชื่อว่าเป็นเทพที่จะอำนวยพรให้งานทุกอย่างประสบผลสำเร็จและผ่านไปด้วยดี ดังนั้นในทุกงานพิธีกรรมของฮินดูจึงมักเห็นการบูชาขออำนาจศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระคเณศก่อนเสมอ พร้อมกับอัญเชิญเทพเจ้าองค์ต่าง ๆ มาร่วมพิธี ส่วนวันต่อ ๆ มาจะบูชาพระแม่ศรีมหาอุมาเทวีในปางต่าง ๆ และภาคค่ำมีการสวดและร้องเพลงสรรเสริญพระแม่
สำหรับวัดแขกสีลมนั้นมีประวัติศาสตร์มาพร้อมกับการอพยพย้ายถิ่นของชาวฮินดูจากแคว้นทมิฬนาฑูทางตอนใต้ของอินเดียและทางตอนเหนือของศรีลังกา แถบคาบสมุทรจาฟนาร์ มายังกรุงเทพฯ ราวรัชกาลที่ 3 และ 4 ส่วนใหญ่มักประกอบอาชีพเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ พนักงานบริษัทต่างประเทศ และค้าขาย โดยกลุ่มทมิฬนาฑูนี้นิยมบูชาพระศิวะและพระอุมา โดยมีวัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือวัดแขก เป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและยังคงเป็นศูนย์กลางความศรัทธาถึงปัจจุบัน
ต้นเรื่อง : บทความ “นวราตรี พลังศรัทธาแห่งเทพ” โดย สุดารา สุจฉายา นิตยสารสารคดี มีนาคม 2554