ย้อนรอยการท้าทายขนบของ 15 ศิลปินยุคอิมเพรสชันนิสม์ นำโดย โคลด์ โมเนต์ ใน Monet & Friends
- Monet & Friends Alive in Bangkok นำเสนอผลงานกว่า 3,500 ภาพของศิลปินในยุคอิมเพรสชันนิสม์ 15 คน ในรูปแบบดิจิทัลอิมเมอร์ซีฟแบบพาโนรามา 360 องศา ด้วยความละเอียดสูงจากโปรเจกเตอร์ 58 ตัว
- ศิลปะแบบอิมเพรสชันนิสม์มีจุดกำเนิดในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ในประเทศฝรั่งเศสนำโดย โคลด์ โมเนต์ ที่ให้คุณค่ากับการเปลี่ยนแปลงของแสง สี บรรยากาศ จินตนาการ และความรู้สึก
- ในนิทรรศการมีการจำลองฉากต่างๆ ในภาพเขียนชื่อดังของโมเนต์ไว้ให้ถ่ายรูป เช่น ภาพ “Impression, Sunrise” “Woman with a Parasol”, “Japanese Bridge” และ “Water Lilies”
หลังจากประสบความสำเร็จกับนิทรรศการ Van Gogh Alive Bangkok ที่จบไปเมื่อต้นเดือนกันยายน 2566 กับการนำเสนอผลงานแบบดิจิทัลอิมเมอร์ซีฟของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent Van Gogh) ด้วยจำนวนผู้ชมกว่า 1 แสนคนตลอดระยะเวลาจัดแสดงร่วม 5 เดือน ผู้สร้างและโปรดิวเซอร์เจ้าเดิมคือ Grande Experiences และ Live Impact Events ไม่ทิ้งช่วงนานกับนิทรรศการครั้งใหม่ Monet & Friends Alive in Bangkok ด้วยการนำผลงานศิลปะกว่า 3,500 ภาพของศิลปินในยุคอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) จำนวน 15 คนนำโดย โคลด์ โมเนต์ (Claude Monet) มาจัดแสดงในรูปแบบดิจิทัลอิมเมอร์ซีฟเช่นเดิม
ผลงานมาสเตอร์พีซของศิลปินอิมเพรสชันนิสม์ที่มีจุดกำเนิดในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ในประเทศฝรั่งเศสได้นำมาฉายแบบพาโนรามา 360 องศาด้วยโปรเจกเตอร์ความละเอียดสูงจำนวน 58 ตัว สำหรับฉายบนผนังจอสูง 6 เมตรและฉายบนพื้นพร้อมกับเพลงประกอบคลาสสิกของ เดอบูว์ซี (Debussy) ไชคอฟสกี (Tchaikovsky) ราแวล (Ravel) และออแฟนบัก (Offenbach) ด้วยระบบเซอร์ราวด์บนพื้นที่ 4,000 ตารางเมตร ของ Attraction Hall ชั้น 6 ไอคอนสยาม ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 7 มกราคม 2567
เบื้องหลังจิตรกรรมทิวทัศน์และวิถีชีวิตทั่วไปของผู้คนที่ถ่ายทอดด้วยสีสดใสและไม่ได้เขียนให้มีรายละเอียดแบบเหมือนจริง แต่ให้คุณค่ากับการเปลี่ยนแปลงของแสง สี บรรยากาศ จินตนาการและความรู้สึก คือการต่อสู้และความยากลำบากนานนับ 20 ปีกว่างานของพวกเขาจะได้รับการยอมรับจนเกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการและนำไปสู่การพัฒนาศิลปะในรูปแบบอื่นต่อไป เช่น โฟวิสม์ (Fauvism) เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Expressionism) คิวบิสม์ (Cubism) และนามธรรม (Abstract Art)
การฉายภาพใน Gallery Hall แต่ละรอบใช้เวลาประมาณ 40 นาทีและไม่ได้ไล่เรียงตามไทม์ไลน์ แต่นำเสนอผลงานของทั้ง 15 ศิลปินใน 3 หัวข้อหลัก คือ มหานครหลวง (Metropolitan) ซึ่งศิลปินเขียนภาพของคนธรรมดาในชีวิตประจำวันมากกว่าเนื้อหาที่สูงส่งอย่างขนบเดิม, หนึ่งวันของชีวิต (A Day in the Life) แสดงถึงภาพวาดด้วยฝีแปรงฉับพลันกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นชั่วขณะ และ กลางแจ้ง (En Plein Air) ที่นำเสนอการทำงานกลางแจ้งมากกว่าในสตูดิโอเพื่อบันทึกความรู้สึกที่เกิดขึ้นในชั่วขณะและการปรับเปลี่ยนของแสงและสีตามธรรมชาติ
ท้าทายขนบเดิมสู่ศิลปะใหม่นอกกรอบ
ย้อนกลับไปเมื่อ 149 ปีก่อนในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1874 ที่กรุงปารีส กลุ่มศิลปินหัวก้าวหน้านำโดย โมเนต์, ปิแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir), แอดการ์ เดอกาส์ (Edgar Degas), กามีย์ ปีซาโร (Camille Pissarro), อัลเฟรด ซิสลีย์ (Alfred Sisley) และ แบร์ต โมริโซต์ (Berthe Morisot) ได้จัดนิทรรศการศิลปะแบบอิมเพรสชันนิสม์เป็นครั้งแรกโดยไม่พึ่งพาสถาบันศิลปะแห่งชาติ หรือ ซาลง (Salon) ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของศิลปะกระแสหลักแบบอนุรักษ์นิยมที่นิยมเขียนภาพสมจริงอิงเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ ศาสนา และวรรณกรรมคลาสสิกด้วยเทคนิคที่เน้นความชัดเจนของเส้นและรูปทรงด้วยสีโทนเข้ม
ในครั้งนั้นมีผลงานจัดแสดงร่วม 200 ชิ้น (รวมประติมากรรม) จากศิลปินกว่า 30 คน และเก็บค่าเข้าชมคนละ 1 ฟรังก์ มีผู้เข้าชมร่วม 3,500 คนตลอดการจัดแสดง 1 เดือน แต่ผลงานของพวกเขาถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงว่าประหลาดและไร้ค่าถึงกับโดนเหยียดหยามว่า แม้แต่ภาพร่างกระดาษปิดผนังที่ยังไม่สมบูรณ์ยังดูดีกว่าเสียอีก ผู้ชมไม่เข้าใจว่าทำไมภาพเหล่านี้จึงไม่มีความงดงามหมดจดเหมือนจริงและเมื่อดูในระยะประชิดจะเห็นเป็นเส้นสายและสีที่แต้มเป็นหย่อมๆ จนมองไม่ออกว่าคืออะไร อีกทั้งเรื่องราวในภาพยังเป็นแค่ชีวิตธรรมดาสามัญ เช่น ภาพนักบัลเลต์กำลังฝึกซ้อมในภาพ “Dance Class” ของเดอกาส์ และภาพผู้หญิงนั่งอ่านหนังสือในภาพ “Reading” ของโมริโซต์ รวมไปถึงภาพหิมะที่ไม่ใช่สีขาวอย่างที่คุ้นเคยและเงาของต้นไม้ที่ทอดยาวจนล้นเฟรมในภาพ “Hoar Frost” ของปีซาโร
ผลงานที่จัดแสดงในครั้งนั้นขายไม่ได้ทำให้ศิลปินที่ขัดสนเรื่องเงินทองอยู่แล้ว เช่น โมเนต์ ปีซาโร, ซิสลีย์ และเรอนัวร์ ต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นไปอีก แต่พวกเขายังคงยืนหยัดทำงานในแนวทางนี้ต่อไป
ความประทับใจแห่งอรุณรุ่งสู่จุดเริ่มต้นอิมเพรสชันนิสม์
อย่างไรก็ตามการจัดแสดงในครั้งนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า ศิลปะแบบอิมเพรสชันนิสม์ โดยส่วนหนึ่งมาจากผลงานของโมเนต์ที่ชื่อ “Impression, Sunrise” (1872) หรือ “ความประทับใจแห่งอรุณรุ่ง” ซึ่งเป็นภาพวิวทะเลยามเช้าของท่าเรือเมืองเลออาฟวร์ (Le Havre) ที่โมเนต์เติบโตมาด้วยวิธีการเขียนที่แสดงบรรยากาศอันเลือนรางของหมอกและแสงขมุกขมัว สำหรับนิทรรศการ Monet & Friends Alive in Bangkok ได้มีการจำลองภาพเขียนชิ้นนี้เป็นฉากให้ผู้ชมสามารถถ่ายรูปได้
โมเนต์มีอายุยืนถึง 86 ปี (ค.ศ. 1840-1926) และยาวนานพอที่จะได้เห็นสถาบันศิลปะและสังคมที่เคยดูแคลนศิลปะแบบอิมเพรสชันนิสม์ให้การยอมรับงานของพวกเขาในที่สุด เขาผ่านการเปลี่ยนแปลงของสังคมในฝรั่งเศสมากมายตั้งแต่รัฐประหาร ปฏิวัติ การปกครองระบอบกษัตริย์ การเปลี่ยนเป็นจักรวรรดิและสาธารณรัฐ สงครามกลางเมืองและสงครามโลกครั้งที่ 1 และชีวิตส่วนตัวที่ขัดสนอย่างที่สุดถึงขั้นที่โดนไล่ออกจากบ้านเช่าและชีวิตที่รุ่งโรจน์จนสามารถพำนักอย่างสบายและสงบในบ้านและสวนที่หมู่บ้านจิแวร์นี (Giverny) หรือที่ปัจจุบันรู้จักในชื่อ สวนของโมเนต์ จนวาระสุดท้ายของชีวิต
โมเนต์จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของศิลปะอิมเพรสชันนิสม์และเป็นหนึ่งในศิลปินที่คนทั่วโลกรู้จักมากที่สุดจากภาพเขียนชื่อดัง อาทิ “Woman with a Parasol” (หญิงสาวกางร่ม) ภาพ “The Japanese Bridge” (สะพานญี่ปุ่น) และภาพ “Water Lilies” (ดอกบัว) ถึงแม้ในช่วงบั้นปลายชีวิตการมองเห็นสีของเขาได้รับผลกระทบจากปัญหาต้อกระจกทั้งสองข้างและเขายอมผ่าตัดตาเพียงข้างเดียว โมเนต์ยังคงเขียนภาพต่อและผลงานในช่วงท้ายเป็นการแสดงออกของอารมณ์ความรู้สึกผ่านการทำงานศิลปะที่ไม่ยึดติดกับรูปทรงซึ่งเข้าใกล้กับศิลปะแบบนามธรรม เช่น ภาพเขียนชุดดอกบัว ซึ่งเป็นงานเขียนภาพชุดสุดท้ายที่ใช้เวลาวาดกว่า 30 ปีและปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ออรองเจอรี (Orangerie) ในกรุงปารีส
ความผูกพันของโมเนต์กับผองเพื่อน
ในบรรดาเพื่อนศิลปินร่วมยุคสมัย โมเนต์รู้จักกับปีซาโรเมื่อเขาเข้าเรียนศิลปะที่เดียวกันคือ Academie Suisse ในกรุงปารีส เมื่อ ค.ศ. 1860 ทั้งคู่มักออกไปเขียนภาพข้างนอกตามที่ต่างๆ ด้วยกันจนกลายมาเป็นเพื่อนสนิทและร่วมกันก่อตั้งกลุ่มศิลปินอิมเพรสชันนิสม์ในภายหลัง
ต่อมาใน ค.ศ. 1862 เมื่อโมเนต์เข้าเรียนต่อในสตูดิโอของจิตรกร ชาร์ลส เกลอีร์ (Charles Gleyre) ทำให้เขาได้เพื่อนสนิทเพิ่มคือ เรอนัวร์และซิสลีย์ นอกจากนี้พวกเขายังชอบไปขลุกกันอยู่ที่คาเฟ่แกร์บัวส์ (Café Guerbois) สถานที่พบปะของศิลปินหัวก้าวหน้าทำให้ได้พบกับศิลปินคนอื่นๆ เช่น ปอล เซซานน์ (Paul Cézanne) เดอกาส์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอดูอาร์ด มาเนต์ (Edouard Manet) ผู้มีอิทธิพลต่องานโมเนต์และให้ความช่วยเหลือเขาหลายด้านในเวลาต่อมา
ในนิทรรศการ Monet & Friends Alive in Bangkok ภาพเขียนของเหล่าศิลปินอิมเพรสชันนิสม์จะฉายสลับสับเปลี่ยนกันไปตามหัวข้อหลัก ในส่วนของผลงานมาเนต์นั้นย่อมต้องมีภาพ “Olympia” ซึ่งเป็นภาพเปลือยของหญิงสาวที่เน้นการแสดงอารมณ์มากกว่าความงามในเรือนร่างของสตรีตามแบบที่นิยม ผลงานชิ้นนี้จัดแสดงในนิทรรศการศิลปะของซาลงเมื่อ ค.ศ. 1865 และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ในนิทรรศการเดียวกันนั้น ภาพทิวทัศน์ชายหาดและท่าเรือของโมเนต์ได้รับการคัดเลือกให้จัดแสดงด้วย และด้วยการจัดเรียงภาพเขียนตามตัวอักษรของชื่อศิลปินทำให้ภาพของโมเนต์แขวนอยู่ใกล้กันกับภาพ Olympia ของมาเนต์ที่อื้อฉาวที่สุดของงาน ด้วยชื่อของทั้งคู่ที่คล้ายกันทำให้ผู้ชมสับสน แต่ส่งผลดีทำให้ชื่อของโมเนต์เป็นที่รู้จักมากขึ้น
นอกจากนี้ภาพเขียนของมาเนต์ชื่อ “The Luncheon on the Grass” (1862-1863) ซึ่งเป็นภาพของหญิงเปลือยนั่งปิกนิกกับชายหนุ่มสองคนที่แต่งกายอย่างสมัยใหม่โดยรูปแบบและการวางท่าทางของบุคคลในภาพอิงตามอย่างที่นิยมของศิลปินในยุคเรอเนซองส์ เช่น ราฟาเอล (Raphael) และทิเชียน (Titian) ยังเป็นแรงบันดาลใจให้โมเนต์เขียนภาพขนาดใหญ่ในชื่อเดียวกันคือ “The Luncheon on the Grass” (1866-1867) เป็นภาพกลุ่มชายหนุ่มและหญิงสาว 12 คนแต่งกายร่วมสมัยกำลังปิกนิกในป่าฟองเทนโบล (Fontainebleau) ชานเมืองปารีสอีกด้วย
มาเนต์ยังเป็นผู้แนะนำให้โมเนต์ย้ายไปอยู่ที่เมืองอาร์ฌ็องเตย (Argenteuil) ที่เงียบสงบหลังจากปารีสไม่ใช่เมืองที่น่าพิสมัยอีกต่อไปเนื่องจากการพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย หรือสงครามฝรั่งเศส-เยอรมนี ในช่วง ค.ศ. 1870-1871 โมเนต์อาศัยอยู่ที่เมืองนี้เป็นเวลากว่า 7 ปีระหว่าง ค.ศ. 1872-1878 และถือเป็นช่วงที่เขาสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเยี่ยมมากมายเช่นภาพ “The Poppy Field” (1873) และ “Woman with a Parasol” (1875) ซึ่งเป็นภาพภรรยาของเขาคือ กามีย์ ดงซีเออ (Camille Doncieux) และลูกชายชื่อฌ็อง (Jean) ในทุ่งดอกป็อปปี้และขณะกางร่มท่ามกลางทุ่งหญ้าและสายลม
ขณะอยู่ที่เมืองอาร์ฌ็องเตย โมเนต์ยังได้ซื้อเรือลำเล็กและดัดแปลงเป็นสตูดิโอลอยน้ำเพื่อสังเกตธรรมชาติโดยรอบ มาเนต์ผู้สนิทชิดเชื้อและช่วยเหลือครอบครัวโมเนต์ได้บันทึกเหตุการณ์ช่วงนี้ไว้ในภาพวาดของเขาในชื่อ “Monet Painting in His Studio Boat” (1874) รวมไปถึงภาพครอบครัวของโมเนต์ในชื่อ “Monet Family in Their Garden at Argenteuil” (1874)
เพื่อนศิลปินอีกคนหนึ่งที่สนิทสนมกับโมเนต์และมักออกไปเขียนรูปด้วยกันพร้อมกับเผชิญภาวะขัดสนทางการเงินเหมือนกันคือ เรอนัวร์ ภาพเขียนของทั้งคู่ในชื่อเหมือนกันว่า “La Grenouillere” (1869) เป็นภาพสถานที่พักผ่อนยอดนิยมริมแม่น้ำแซนของเหล่าชนชั้นกลางชื่อ ลา เกรอลูนิแยร์ โดยทั้งคู่เขียนภาพจากมุมเดียวกันที่มองเห็นผู้คนกำลังพักผ่อนบนแพกลางน้ำและคาเฟ่ริมน้ำพร้อมเงาสะท้อนของต้นไม้บนผิวน้ำและระลอกคลื่น ภาพของพวกเขาสื่อถึงความอภิรมย์ของบรรดานักท่องเที่ยวซึ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับชีวิตศิลปินไส้แห้งของทั้งคู่ เรอนัวร์ยังแวะเวียนไปหาโมเนต์เสมอขณะอยู่ที่เมืองอาร์ฌ็องเตยและได้เขียนภาพโมเนต์ขณะวาดภาพในผลงานชื่อ “Monet Painting in His Agrenteuil” (1873)
สวนของโมเนต์ สตูดิโอกลางแจ้งของแสงและสี
สถานที่พำนักสุดท้ายและแหล่งก่อเกิดแรงบันดาลใจในการเขียนภาพของโมเนต์ในช่วงครึ่งหลังของชีวิต คือที่บ้านและสวนในเขต จิแวร์นี (Giverny) แคว้นนอร์ม็องดี (Normandy) ซึ่งต่อมากลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศฝรั่งเศสและจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน นับตั้งแต่เขาเช่าบ้านที่นี่เมื่อค.ศ. 1883 จนสามารถซื้อบ้านหลังนี้เป็นของตัวเองพร้อมกับที่ดินติดบึงน้ำใน ค.ศ. 1890 โมเนต์ค่อยๆ สร้างสวนดอกไม้ด้วยพืชพรรณหลากหลายเฉดเพื่อเป็นต้นแบบการทดลองผสมกันของสีรวมไปถึงการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของแสงในระหว่างวัน ที่นี่จึงเป็นดั่งสตูดิโอกลางแจ้งของโมเนต์และเขาแทบจะไม่ได้ออกไปไหนเลยตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่นี่
เป็นเวลาร่วม 30 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1896 จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตใน ค.ศ. 1926 โมเนต์ได้สร้างสรรค์ภาพชุดสระบัวขนาดใหญ่ชื่อ “Les Nymphéas” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาประสบปัญหาโรคต้อกระจกทำให้การมองเห็นแสงและสีเปลี่ยนไป ต่อมาเขาได้มอบจิตรกรรมฝาผนังรูปสระบัว 8 ภาพที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของแสงและสีตามเวลาที่เปลี่ยนแปลงระหว่างวันตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนพระอาทิตย์ตกให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส และภายหลังการเสียชีวิตของโมเนต์ไม่กี่เดือนภาพเขียนชุดนี้ได้ถูกนำมาติดตั้งไว้บนผนังรูปโค้งที่พิพิธภัณฑ์ออรองเจอรี (Orangerie) เพื่อให้ความรู้สึกเหมือนผู้ชมถูกโอบล้อมอยู่กลางสระบัว
ระหว่าง ค.ศ. 1990 จนกระทั่งเขาเสียชีวิตในวัย 86 ปี โคลด์ โมเนต์ เขียนภาพสวน สะพานญี่ปุ่นในสวน และสระบัวไว้มากกว่า 200 ภาพ
จำลองฉากเด่นในภาพเขียนชื่อดังทั้งสะพานและสระบัว
หลังจากจบการฉายภาพแบบดิจิทัลอิมเมอร์ซีฟใน Gallery Hall ถัดไปเป็นโซนที่สร้างขึ้นสำหรับสายถ่ายรูปโดยเฉพาะกับการสร้างฉากต่างๆ ตามภาพเขียนที่มีชื่อเสียงของโมเนต์ เช่น สะพานญี่ปุ่นในสวนของโมเนต์ มุมสวนกับร่มพร้อมฉากหลังเป็นภาพ Woman with a Parasol และชานชาลาในสถานีรถไฟแซ็ง-ลาซาร์ (Saint-Lazare) ตามที่ปรากฏในภาพชุด 12 ภาพที่โมเนต์วาดใน ค.ศ. 1877 ซึ่งเป็นสถานีที่เขาใช้เดินทางประจำ เพราะเป็นสถานีต้นทางจากปารีสไปยังบ้านของเขาในเมืองอาร์ฌองเตย
นอกจากนี้ยังมีห้องกระจกที่เต็มไปด้วยดอกบัว (พลาสติก) ห้องที่ให้ผู้เข้าชมวาดภาพตามวิดีโอสาธิต และห้องเรียนศิลปะวาดภาพโดยสตูดิโอสอนศิลปะ Factory Art Center (มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม) ปิดท้ายด้วยพ็อปอัปคาเฟ่โดย Divana ที่เสิร์ฟเครื่องดื่มและของหวานที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพเขียนชื่อดังของศิลปินอิมเพรสชันนิสม์ และโซนขายของที่ระลึกที่หลายชิ้นจัดทำเป็นพิเศษสำหรับนิทรรศการนี้โดยเฉพาะ
Fact File
- นิทรรศการ Monet & Friends Alive in Bangkok จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 7 มกราคม 2567 ณ Attraction Hall ชั้น 6 ไอคอนสยาม
- ซื้อบัตรเข้าชมได้ที่ https://www.liveimpact-event.com/th/home/ ราคาบัตร VIP 1,490 บาท (พร้อมของที่ระลึกที่ไม่มีจำหน่าย), บัตรทั่วไป 990 บาท, บัตร Early Bird 690 บาท (ใช้ได้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2566) และบัตรส่วนลดพิเศษสำหรับนักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ และผู้พิการ 480 บาท
- รายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 1338 หรือ Facebook : ICONSIAM
- สำหรับผู้ที่ต้องการไปเยือนสวนของโมเนต์ หรือ House and Gardens by Claude Monet ที่จิแวร์นี ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2566 นี้ สวนเปิดให้เข้าชมตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน – 1 พฤศจิกายน 2566 หรือชมแบบ Virtual ทางออนไลน์ได้ที่ https://fondation-monet.com/visite-virtuelle/