Minari ความฝันกลางวัน อุดมคติครอบครัว และ มินาริ
Lite

Minari ความฝันกลางวัน อุดมคติครอบครัว และ มินาริ

Focus
  • Minari ภาพยนตร์ดราม่าที่เรืองรองกลางแสงไฟของรางวัลออสการ์ ในงานประกาศรางวัลที่ได้รับความสนใจทั่วทั้งโลกอย่าง Academy Awards ครั้งที่ 93 โดยเข้าชิงรางวัลไปถึง 6 สาขา
  • Minari กำกับโดย ลี ไอแซค จอง (Lee Isaac Chung) ที่เคยฝากชื่อเข้าชิงรางวัล Un Certain Regard จากเทศการภาพยนตร์เมืองคานส์ในปี ค.ศ.2007

Minari (มินาริ) ภาพยนตร์ดราม่าที่เรืองรองกลางแสงไฟของรางวัลออสการ์ ในงานประกาศรางวัลที่ได้รับความสนใจทั่วทั้งโลกอย่าง Academy Awards ครั้งที่ 93 โดย Minari เข้าชิงรางวัลไปถึง 6 สาขาประกอบด้วย ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Motion Picture of the Year) นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Performance by an Actor in a Leading Role) ผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Achievement in Directing) นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Performance by an Actress in a Supporting Role) บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Original Screenplay) และ เพลงประกอบดั้งเดิมยอดเยี่ยม (Best Achievement in Music Written for Motion Pictures, Original Score)

องค์ประกอบสุดดราม่าละเมียดอารมณ์ของ Minari กำกับโดย ลี ไอแซค จอง (Lee Isaac Chung) ผู้เคยฝากชื่อเข้าชิงรางวัล Un Certain Regard จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปี ค.ศ.2007 มาแล้ว กับภาพยนตร์ดราม่าประเด็นชาติพันธุ์อย่าง Munyurangabo (2007) และสำหรับครั้งนี้ Minari ยังคงมีประเด็นชาติพันธุ์และการพลัดถิ่นซึ่งบางส่วนของ Minari มาจากการพัฒนาบทโดยใช้พื้นที่ความทรงจำส่วนตัวของครอบครัวลี ไอแซค จองเองจนสามารถเรียก Minari ได้ว่าเป็นภาพยนตร์กึ่งอัตชีวประวัติ (semi-autobiographical film) ด้วยชีวิตของเขาเองในวัยเด็กเคยได้สัมผัสประสบการณ์การอพยพจากเกาหลีสู่การเติบโตในฟาร์มเล็ก ๆ ของรัฐอาร์คันซอ (Arkansas) สหรัฐอเมริกา ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเสมือนการเล่าเรื่องที่ประกอบเรื่องส่วนตัวเข้ากับประเด็นผู้อพยพ ความฝันของชีวิต และแนวคิดความเชื่อระหว่างตะวันตกกับตะวันออกไว้อย่างน่าสนใจ

minari

ฝันกลางวันในทุ่งร้าง

Minari เล่าเรื่องของครอบครัวเกาหลี จาค็อบ (พ่อ) โมนิกา (แม่) เดวิด (ลูกชาย) และ แอน (ลูกสาว) ที่ย้ายจากเขตเมืองของสหรัฐอเมริกาสู่ที่ดินว่างเปล่ามีเพียงบ้านติดล้อโครงสร้างไม่แข็งแรงตั้งตระหง่านกลางทุ่งหญ้า จาค็อบ ผู้เป็นพ่อตัดสินใจซื้อที่ดินผืนนี้และย้ายเข้ามาด้วยเจตนาจะเปลี่ยนที่ว่างเป็นสวนผัก ผลไม้ พืชพันธุ์เกาหลีเพื่อจำหน่ายให้คนอเมริกันที่อยากกินผักผลไม้พันธุ์เกาหลีที่มั่นใจได้ว่าสดกว่าพืชผักนำเข้า นอกจากอุดมคติทางธุรกิจของจาค็อบแล้วอีกความน่าสนใจของเรื่องนี้คือพื้นหลังเรื่องราวของภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นในอเมริกายุค 80’s ภายใต้การบริหารงานรัฐของประธานาธิปดีโรนัลด์ เรแกน ซึ่งเป็นยุคแห่งความฝันอเมริกัน

ประเด็นของ ความฝันอเมริกัน (American Dream) คือแนวคิดการสร้างครอบครัวกับการพัฒนาทุนทรัพย์ ยิ่งทำงานหนักยิ่งสบาย และความสบายที่ว่าคือการเข้าถึงทรัพยากรหรืออุดมคติที่ “ต้องการ” โดยความฝันอเมริกันนี้เชื่อว่าการที่คนยิ่งขยันยิ่งทำงานหนักหรือยิ่งมีความสามารถ สัมพันธ์กับการสร้างชีวิตในอุดมคติ

แนวคิดที่ว่า ครอบครัวกับเศรษฐกิจต้องเติบโตไปพร้อมกันจากอุดมคติการบริโภคต่าง ๆ นานา เช่น สินค้าอย่างโทรทัศน์การตกแต่งบ้าน การมีเฟอร์นิเจอร์ในอุดมคติ การทำกิจกรรมทางศาสนาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชน หรือแม้กระทั่งการที่ทุกอย่างจะสร้างชีวิตในฝันวันที่เป็นสุขไปได้อย่างสมบูรณ์ต้องใช้ต้นทุนทั้งสิ้น เป็นพื้นความคิดที่ทำให้จาค็อบถือว่าการพัฒนาการครอบครองทรัพยากรมีความสำคัญระดับเดียวกับการมีครอบครัวในครอบครอง เขาเชื่อว่าสองสิ่งนี้สัมพันธ์กันจนแม้สุดท้ายเขาได้รับคำถามว่าระหว่าง ฟาร์มกับ ครอบครัว เขาเลือกอะไร คำตอบของเขาก็ยังคงเอนไปทางฟาร์ม เหตุผลเพราะถ้าฟาร์มนี้เป็นไปได้ด้วยดีเขาจะมีทั้งสองอย่าง

minari

แม้ในภาพยนตร์จะไม่ได้เน้นย้ำสภาพเศรษฐกิจจากนโยบายของเรแกนมากนัก แต่ภาพยนตร์ก็ใช้เสียงจากโทรทัศน์ในการเล่าว่าภาพยนตร์อยู่ในช่วงไหน ภาพปล่องควันเสียจากโรงงานที่กำลังพ่นขึ้นฟ้า และภาพเมืองที่มีการเติบโตขึ้นในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งปรากฏการณ์ที่เห็นผ่านฉากเล็กฉากน้อยในภาพยนตร์ได้สะท้อนประวัติศาสตร์ทั้งเชิงภาพและความคิดของปรากฏการณ์ เรแกนโนมิกส์ (Reaganomics) ที่เป็นนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของเรแกนในการปรับเปลี่ยนทั้งด้านภาษี ค่าใช้จ่ายทางสังคม ค่าใช้จ่ายทางการทหาร และกลไกตลาด เป็นผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงรวมถึงสอดคล้องกับอัตราการว่างงานที่ลดลงจากนโยบายนี้ ทำให้ GDP ของอเมริกาเติบโตขึ้นในภาพรวมและเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในฐานของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) รวมทั้งกลไกตลาดเสรี ที่เป็นพื้นฐานแรงส่งหนึ่งที่ส่งให้อเมริกาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจนถึงปัจจุบัน

ผลที่เห็นได้คือเมื่อเศรษฐกิจสามารถเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมฝันอเมริกันของจาค็อบจึงเหมือนจริงเข้าทุกที และนั่นจึงทำให้เขามั่นใจที่จะเปลี่ยนสถานะจากลูกจ้างคัดแยกไก่ในโรงงานเป็นเจ้าของฟาร์มพร้อมความฝันในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในภาพยนตร์ได้เน้นย้ำถึงการทะเลาะกันแต่ละครั้งระหว่าง จาค็อบ กับ โมนิกา ที่มักมาจากเรื่องเงินและอุดมการณ์ชีวิตที่ต่างกันเพราะโมนิกามีความฝันคืออยู่กับครอบครัวที่สมบูรณ์ไปเรื่อย ๆ แม้จะเป็นลูกจ้างไม่ต้องแบกรับผิดชอบธุรกิจก็รับได้ที่จะพอมีพอกินต่อไป สองอุดมการณ์ระหว่างการยอมรับว่าจะไม่เติบโตแต่มีครอบครัว กับ การเติบโตเพื่อครอบครัวที่สมบูรณ์ขึ้นจึงเป็นความขัดแย้งหลักของคำถามใหญ่ในภาพยนตร์และท้าทายทางความคิดรวมถึงอุดมคติชีวิตที่มีระหว่างชมเรื่องราวนี้

ฉากสำคัญของเรื่องจึงเป็นฉากที่โมนิกาสอนเดวิดที่มักจะฉี่ระหว่างหลับจนเปียกฟูกนอนว่า หากจะฉี่ให้เอานิ้วดึงแก้มไปก่อนว่าตื่นอยู่ไหมจะได้ไม่ฉี่ในฝัน ถ้าจับแก้มแล้วเรารู้สึกว่าตื่นอยู่ก็ฉี่ได้เลย การเปรียบเปรยของการมีสติและตั้งคำถามกับความฝันของเรื่องราวนี้จึงกระตุกความคิดได้อย่างดีว่าการตัดสินใจแต่ละครั้งของชีวิตมันสอดคล้องกับอุดมคติความฝันมากจนเราแยกไม่ออกว่าอะไรจริงไปแล้วหรือเปล่า หรือโดยแท้ความจริงมันยากเกินไป

minari

วัฒนธรรมความเกลียดชัง และ มินาริ

ความขัดแย้งที่น่าสนใจอีกประเด็นคือเมื่อ โมนิกา นำ ซุนจา แม่ของเธอซึ่งเป็นยายของเดวิดเข้ามาอยู่ด้วยจากอุดมคติทางครอบครัวพร้อมหน้าของเธอ ทำให้เดวิดไม่พอใจอย่างมากตั้งแต่การที่ยายของตนมี “กลิ่นเกาหลี” แถมอบคุกกี้ก็ไม่เป็น ซ้ำยังไม่สามารถอ่านหนังสือออก เดวิดจึงบอกว่านี้ไม่ใช่ยายของเขา ยายของแท้ต้องอบคุกกี้ได้ เขาชังยายจนนำฉี่ของตนใส่ถ้วยให้ยายดื่ม

พอจาค็อบรู้ก็โกรธมากต้องการให้เดวิดขอโทษซุนจาผู้เป็นยายจนถึงขั้นอยากจะตีเดวิดด้วยไม้ แต่ยายเองพอเห็นหลานเป็นเด็กก็ให้อภัย ในความคิดของซุนจาเธอดูแลเด็ก ๆ เต็มความสามารถเสมอโดยไม่จดจ้องความเกลียดชังที่แสดงออกต่อเธอเลย ซุนจายังสอนเดวิดให้รู้จักกับ มินาริ (Minari) พืชพันธุ์ที่สามารถนำมาปลูกริมน้ำตกแถวบ้านซึ่งมีข้อดีคือหากมีธารน้ำก็สามารถเติบโตขึ้นง่ายสามารถนำไปปรุงอาหารและเป็นสมุนไพรยาได้สารพัดประโยชน์จนซุนจาได้เพลงกล่อมเดวิดที่มีคำร้องว่า “Wonderful Minari”

ความน่าสนใจของความคิดที่ละจากความถูกเกลียดของซุนจาและมอบความรักให้เสมอเปรียบได้กับมินาริที่ขึ้นง่ายสารพัดประโยชน์และไม่เรียกร้องพื้นที่สวนที่จาค็อบซื้อไว้เลย มินาริขึ้นในที่ธรรมชาติและปรับตัวเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว การละจากการถูกเกลียดผ่านวัฒนธรรมนี้จึงน่าสนใจเพราะทำให้เราได้เห็น ความเกลียด ของเดวิดอันเป็นผลพวงจากวัฒนธรรมความฝันอเมริกันที่วางบทบาทหน้าที่ของคนในครอบครัวไว้อย่างมีอุดมคติทางความสามารถ เช่น มีความรู้ เท่ากับอ่านหนังสือออก หรือ การเลี้ยงเด็ก เท่ากับ อบคุกกี้เป็น ดังนั้นหาก ซุนจา เท่ากับ มินาริที่ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมที่ไหน ๆ ก็ได้เพราะไม่มีอคติทางวัฒนธรรม เดวิดก็จะสะท้อนภาพการยึดติดกับความฝัน (ที่ไม่ได้ดึงแก้มเรียกสติ) จนไม่สามารถแยกออกว่า “สิ่งที่เป็น” กับ “สิ่งที่ต้องการให้เป็น” มันเป็นคนละเรื่องกันราวการฝันกับการตื่น การกอดอุดมคติและเรียกร้องต้องการภาพฝันที่ล้นเหลือจนกลายเป็นการเกลียดชังเหยียดหยามวัฒนธรรมอื่น ๆ จึงเป็นอีกเรื่องที่น่าคิด ว่าทำไมเดวิดถึงเหม็นกลิ่นเกาหลี

การวางคุณค่าของความฝันที่บังความจริงจนเกิดการเหยียดทางวัฒนธรรมนี้ยังคงมีพลังเนื่องจากมันไม่หยุดอยู่ในภาพยนตร์ที่ยุค 80’s แต่เรายังคงเห็นข่าวคราวของการถูกทำร้ายร่างกายของคนเอเชียในประเทศตะวันตก หากมองผิวเผินอาจเป็นเรื่องชาติพันธุ์ที่สัมพันธ์กับร่างกาย แต่หากพินิจกรณีเดวิดมันไม่ใช่แค่ความต่างของร่างกายแต่คืออุดมการณ์ที่จัดวางคุณค่าและความชังในชุดความคิด การเหยียดในมิติหนึ่งจึงเกิดได้ในทุกร่างทุกชนชาติ

คำถามต่อไปคือเราจะทำอย่างไรให้ความเข้าใจประเด็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมและทลายแบบของอุดมคติเดียวที่สังคมผลิตจนเข้าสู่การรับรู้ของเดวิดบอกว่ายายอบคุกกี้ได้คือยายจริงหรือยายที่ควรจะเป็นโดยละเลยความสามารถทางวัฒนธรรมและองค์ความรู้แบบอื่น ๆ ในที่นี้หากมองย้อนกลับไปหาเดวิดนอกจากเขารับวัฒนธรรมแบบอุดมคติที่เข้ามาในความคิด เขายังสืบทอดวัฒนธรรมความเกลียดชังเหยียดหยามผู้ที่แตกต่างออกไปด้วยในทีเดียวกัน การชังและเหยียดจึงมีมิติการทำงานเชิงการส่งผ่านพร้อมกับอุดมคติด้วยเช่นกันเพียงเป็นภาพสะท้อนอีกด้านระหว่าง อุดมคติคือสิ่งที่โยงกับความต้องการกับความชังเป็นสิ่งที่ไม่ต้องการ (แม้แต่การอยู่ร่วม)

สุดท้ายหากเปรียบเทียบชีวิตที่ต้องขยันสร้างแบบจาค็อบ ชีวิตที่ต้องการครอบครัวอย่างโมนิกา ชีวิตที่ต้องการเติบโตพร้อมอุดมคติอย่างที่ตนอยากให้เป็นอย่างเดวิด…ชีวิตแบบไหนที่เป็นสิ่งที่ดำรงความงามไว้ หรือ ซุนจาที่ไม่มีความฝัน อยู่เพียงเพราะมีสารพัดประโยชน์เลี้ยงหลาน ๆ ทำความสะอาดบ้าน ช่วยทุกสิ่ง ละจากความชัง ราวกับ มินาริ ที่ปรับตัวขึ้นริมธารได้ ไม่ว่าจะเป็นดินที่แห่งหนไหนขอแค่มีน้ำก็สามารถหยั่งรากได้ แถมมีประโยชน์สารพัด

ชีวิตที่มีประโยชน์ คอยดูแลกันและกัน ให้อภัย รู้จักเติบโตทางความสัมพันธ์ เรียกว่าครอบครัวที่ดีได้หรือไม่ แม้มันไม่ใช่อุดมคติที่สังคมบอก มินาริ คงทิ้งข้อขบคิดต่อไปถึงการให้คุณค่าว่าสิ่งที่เราถือพัลวันมาจากไหน มีคุณค่าในตัวจริงหรือไม่ และมันทำร้ายผู้ที่ถือคุณค่าต่างจากเราหรือเปล่า แล้วชีวิตคือการวิ่งไล่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างการใช้ชีวิตเป็นเดิมพันยอมแลกคนรักไปกับฟาร์มที่ลงทุนน้ำลงทุนแรงแถมเสี่ยงการล้มละลาย หรือเพียงเติบโตโดยธรรมชาติจากน้ำลำธาร เข้าใจสภาพแวดล้อม มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่าง มินาริ ก็พอแล้ว สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้อาจไม่ใช่การเขียนกระดาษคำตอบ แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาล้วนถูกบอกเล่าเป็นประโยคคำถามทั้งสิ้น

อ้างอิง:


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน