6 และ 14 ตุลาคม พบปรากฏการณ์สำคัญของ ดาวอังคาร
- 6 ตุลาคม 2563 เป็นวันที่ดาวอังคารโคจรมาอยู่ใกล้โลกมากที่สุด หากพลาดต้องรอไปอีก 2 ปี
- 14 ตุลาคม 2563 ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ หมายความว่า ดวงอาทิตย์ โลก และดาวอังคาร จะเรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีโลกอยู่ตรงกลาง
ตุลาคมนี้ไม่ได้มีแต่เนื้อหาการเมืองที่เข้มข้นเท่านั้น บนท้องฟ้าก็มีเหตุการณ์สำคัญที่ห้ามพลาดเช่นกัน โดยเฉพาะเกี่ยวกับ ดาวอังคาร ดาวเคราะห์สีแดงที่กำลังอยู่ในความสนใจของวงการอวกาศ เริ่มจาก 6 ตุลาคม 2563 ห้ามพลาด ปรากฏการณ์ ดาวอังคารใกล้โลก โดยดาวอังคารจะปรากฏเด่นชัดทางทิศตะวันออกหลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า และสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าสีแดงสุกสว่างตลอดคืน
ทั้งนี้ 6 ตุลาคม 2563 เป็นช่วงที่ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีที่ระยะห่างประมาณ 62.07 ล้านกิโลเมตร ซึ่งตามสถิติปรากฏกาณ์ดาวอังคารใกล้โลกจะเกิดขึ้นทุกๆ 2 ปี 2 เดือน โดยประมาณ ถ้าพลาดก็ต้องรอไปถึงปี 2022 เลยทีเดียว
ที่สำคัญ วันที่ 6 ตุลาคม จะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการถ่ายภาพพื้นผิวของดาวอังคาร ซึ่งช่วงดังกล่าวจะสามารถเก็บภาพขั้วน้ำแข็งรวมทั้งเมฆบนดาวอังคารได้ดีที่สุดอีกด้วย เทคนิคในการถ่ายภาพก็ใช้วิธีการเดียวกันกับการถ่ายภาพดาวเคราะห์ด้วยกล้องทางยาวโฟกัสสูงๆ ร่วมกับกล้องถ่ายภาพแบบเว็บแคมเพื่อให้ได้รายละเอียดมากที่สุด ใครไม่มีอุปกรณ์ไม่ต้องเป็นห่วง ทาง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จะเป็นผู้นำชมพร้อมคำบรรยายอย่างละเอียดผ่านการไลว์สด
อีกเหตุการณ์ที่จะพลาดไม่ได้คือ 14 ตุลาคม 2563 ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ หมายความว่า ดวงอาทิตย์ โลก และดาวอังคาร จะเรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีโลกอยู่ตรงกลาง ที่ระยะห่างจากโลกประมาณ 62.70 ล้านกิโลเมตร
สำหรับค่ำคืนวันที่ 6 ตุลาคมนี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนมาดูปรากฏการณ์นี้พร้อมกัน เริ่มเวลา 18:00 – 22:00 น. ที่จุดสังเกตการณ์ 4 แห่ง ดังนี้
- อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 081-8854353
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา โทร. 086-4291489
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา โทร. 038-589395
- หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา โทร. 095-1450411
นอกจากนี้เครือข่ายดาราศาสตร์ยังได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์ ในโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์อีก 460 แห่งทั่วประเทศ ตรวจสอบรายละเอียดได้ที่ลิงค์ http://bit.ly/MemberList-NARIT-DobsonianTelescope2020
ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น พิเศษกับกิจกรรม Night At The Museum เปิดทั้ง 4 แหล่งการเรียนรู้ที่ได้กล่าวมาในข้างต้นให้เข้าชมนิทรรศการดาราศาสตร์และท้องฟ้าจำลองช่วงกลางคืน ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย (ยกเว้นการเข้าชมท้องฟ้าจำลอง มีค่าธรรมเนียม : เด็ก 30 บาท ผู้ใหญ่ 50 บาท) และชมถ่ายทอดสดดาวอังคารใกล้โลกผ่าน LIVE ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT
อ้างอิง