10 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ ดาวอังคาร ดาวเคราะห์สีแดงส้มลำดับ 4 ในระบบสุริยะ
- ดาวอังคารมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 95% ไนไตรเจนอีก 2.7 % ออกซิเจนที่มนุษย์ใช้หายใจได้นั้นเบาบาง
- 18 กุมภาพันธ์ 2021 ยานเพอร์เซเวียแรนซ์ขององค์การนาซ่าลงจอดบนดาวอังคาร กับภารกิจสำรวจพื้นที่ที่อาจจะเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในอดีต
เปิดปี 2021 กับความร้อนแรงของดาวเคราะห์สีแดงส้ม ดาวอังคาร ที่ 3 ชาติต่างก็กำหนดไปเยือนในเดือนกุมภาพันธ์ เริ่มจาก ดาวเทียมโฮป ยานหุ่นยนต์สำรวจดาวอังคารดวงแรกของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต่อด้วย เทียนเวิ่น-1 ยานสำรวจของจีนกับการกลับสู่ดาวอังคารครั้งที่ 2 พร้อมด้วยยานสำรวจถึง 3 แบบ ทั้งโคจรรอบดาว (Orbiter) ยานลงจอดบนพื้นผิว (Lander) และรถสำรวจ (Rover) และล่าสุดที่เพิ่งลงจอดไปสดๆ ร้อน เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2021 คือ ยานเพอร์เซเวียแรนซ์ (Perseverance) ขององค์การนาซ่า กับภารกิจสำรวจพื้นที่ที่อาจจะเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในอดีต และหลังจากลงจอดก็ได้แพร่ภาพถ่ายของดาวอังคารชุดแรกส่งกลับมาเป็นที่เรียบร้อย เป็นภาพสีคมชัดแบบ HD ส่งตรงมาจากดาวอังคารเลยทีเดียว
Sarakadee Lite ชวนเตรียมตัวไปสำรวจดาวอังคารกับ 10 เรื่องต้องรู้ก่อนที่มนุษย์จะแพ็คกระเป๋าไปดาวอังคาร
สี : ประกายแสงของดาวอังคารเป็นสีแดงส้ม
ขนาด : เส้นผ่าศูนย์กลาง 6,786 ตารางกิโลเมตร หรือ ขนาดเล็กกว่าโลกราวครึ่งหนึ่ง
วงแหวน : ดาวอังคารไม่มีวงแหวน
ลำดับในจักรวาล : ดาวอังคาร เป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 4 ในระบบสุริยะจักรวาลที่มี ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง
บริวาร : มีดวงจันทร์บริวาร 2 ดวง ชื่อ Phobos ความยาว 27 กิโลเมตร และ Deimos ความยาว 15 กิโลเมตร
อุณหภูมิ : อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งของการมีชีวิตอยู่บนดาวอังคารแบบชาวโลก คือความหนาวเหน็บ อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่-63 องศาเซลเซียส เรียกว่าบนทวีปแอนตาร์กติกาที่หนาวแล้วก็ยังอบอุ่นกว่าเส้นศูนย์สูตรบนดาวอังคารเสียอีก ทั้งนี้ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่เคยอยู่นอกโซนที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “เขตเอื้ออาศัย” (Habitable Zone) หรือโซนที่ดวงดาวมีน้ำและสภาวะแวดล้อมเอื้อให้สิ่งมีชีวิตอยู่รอดได้ ซึ่ง ณ ตอนนี้เท่าที่ความรู้มนุษย์มี เขตเอื้ออาศัยในเอกภพมีที่เดียวคือ ดาวเคราะห์โลก (Planet Earth) เท่านั้น
ภูมิประเทศ : ภูมิประเทศแบบดาวร้างและแล้ง คือคำจำกัดความของดาวอังคาร เพราะพื้นผิวมีแต่ภูเขาไฟ หุบเขาลึก มีร่องรอยของพื้นผิวที่เป็นตะกอนทับถมและร่องแม่น้ำที่แห้งเหือดไปแล้ว มีธารน้ำแข็งหนาอยู่ใต้ชั้นฝุ่น ทั้งนี้ข้อมูลชุดแรกๆ ที่ได้จากยานสำรวจดาวอังคาร ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ดาวอังคาร น่าจะเคยมี “มหาสมุทร” ลึกถึง 150 เมตร
ภูมิอากาศ : ดาวอังคารมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 95% ไนไตรเจนอีก 2.7 % ออกซิเจนที่มนุษย์ใช้หายใจได้นั้นเบาบาง ความหนาแน่นของชั้นบรรยากาศคิดเป็นเพียง 1 เปอร์เซนต์ของบรรยากาศที่มนุษย์อยู่ได้บนดาวโลก
ระยะทาง : ดาวอังคารมีระยะทางห่างจากดวงอาทิตย์ 228 ล้านกิโลเมตร (1.52 เท่าของโลก) เรียกได้ว่าอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มากกว่าโลกนั่นเอง และจากดาวโลกต้องใช้เวลาเดินทาง 6-7 เดือนเป็นอย่างน้อยจึงจะถึงดาวอังคาร
วัน/เวลา : 1 วันในดาวอังคารมีมากกว่า 24 ชั่วโมง เพราะระยะเวลาหมุนรอบตัวเองของดาวอังคารคือ 24 ชั่วโมง 37 นาที ต่อ 1 รอบ ส่วน1 ปีในดาวอังคารเท่ากับ 687 วัน (1 ปีของโลกคือ 365.25 วัน)
ภาพ : NASA/JPL-Caltech
อ้างอิง
- นิตยสารสารคดี กรกฎาคม 2555
- https://mars.nasa.gov/all-about-mars/facts/
- สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ