แมนสรวง : ความอยุติธรรม นาฏกรรม อำนาจ และชนชั้นการละคร
Lite

แมนสรวง : ความอยุติธรรม นาฏกรรม อำนาจ และชนชั้นการละคร

Focus
  • แมนสรวง ผลงานภาพยนตร์ปฐมฤกษ์จาก Be On Cloud เป็นผลงานกำกับ ร่วมของ พันพัสสา ธูปเทียน ชาติชาย เกษนัส และ กฤษดา วิทยาขจรเดช
  • อีกความโดดเด่นของเรื่องนี้คือองค์ประกอบศิลป์ที่ได้ นักรบ มูลมานัส ศิลปินคอลลาจมารับหน้าที่ออกแบบจนได้งานภาพความเป็นไทยที่น่าสนใจ

แมนสรวง ผลงานภาพยนตร์ปฐมฤกษ์จาก Be On Cloud ที่แสดงให้เห็นจากความพิถีพิถันงานสร้างเนี้ยบกริบจนมีนัยได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เขาไม่ได้มาเล่นๆ อีกทั้งได้สามผู้กำกับมากประสบการณ์ทั้ง พันพัสสา ธูปเทียน อาจารย์ประจำภาคศิลปการละครจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชาติชาย เกษนัส ผู้กำกับภาพยนตร์ที่เคยฝากผลงานผสานวัฒนธรรมไทย-พม่ามาแล้วทั้งจากเรื่อง ถึงคน…ไม่คิดถึง (ค.ศ. 2016) และ มาร-ดา (ค.ศ. 2019) และ กฤษดา วิทยาขจรเดช ผู้บริหารค่าย Be On Cloud ที่มาร่วมผนึกกำลังกำกับภาพยนตร์ไทยย้อนยุครายละเอียดประณีตเรื่องนี้ อีกทั้งยังได้ นักรบ มูลมานัส ศิลปินคอลลาจมาร่วมสร้างสรรค์ในตำแหน่ง Creative Art Director และ Assistant to Executive Producer ทำให้ภาพยนตร์ แมนสรวง เต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจในหลายองค์ประกอบ

แมนสรวง

หลักฐานและความจริงในกำมือของความ (อ) ยุติธรรม

นอกจากองค์ประกอบศิลป์ที่สวยงามประณีตตั้งแต่ภาพโปสเตอร์แล้ว อีกสิ่งที่น่าสนใจของ แมนสรวง คือการนำเสนอภาพยนตร์ในขนบสืบสวนสอบสวนเขย่าขวัญที่มีฉากหลังเป็นปีสุดท้ายในยุคสมัยแผ่นดินรัชกาลที่ 3 แห่งสยามประเทศ เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อ เขม (นำแสดงโดย ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์) และ ว่าน (นำแสดงโดย อัศวภัทร พลพิบูลย์) สองเพื่อนซี้มีเหตุให้ต้องเข้าไปพัวพันและถูกใส่ความในคดีฆาตกรรมชายผู้หนึ่ง ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับครอบครัวของ พระยาบดีศร (นำแสดงโดย ประดิษฐ์ ปราสาททอง) เจ้านายผู้มีอำนาจแห่งเมืองแปดริ้ว นั่นจึงทำให้เขมและว่านต้องเข้าไปสืบหาเอกสารลับใน แมนสรวง สถานแห่งความเริงรมย์ที่ลึกลับที่สุดในพระนครเพื่อพิสูจน์ “ความยุติธรรม” โดยไม่ต้องเข้าสู่ “กระบวนการยุติธรรม”

ความสำคัญอยู่ที่ประเด็นเปิดเรื่องที่ผลักให้เรื่องราวเริ่มต้นโดยภาพยนตร์ตั้งใจแสดงให้เห็นกันชัดๆ ไปเลยว่า เขมและว่านทั้งคู่ไม่ใช่ฆาตกร และเปิดเผยให้เห็นว่าเบื้องหลังคดีฆาตรกรรมนี้มี “ชาวจีนปริศนา” โผล่มาฆ่ากันให้เห็นแบบจะจะ ทำให้ในสายตาผู้ชมนั้นการฆาตกรรมครั้งนี้ไม่ใช่ปริศนาแบบที่ตัวละครพระยาบดีศรกำลังครุ่นคิด พร้อมทั้งยังขยายความให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรมที่ต้องใช้ “หลักฐาน” เป็นสิ่งสำคัญในการชี้ถูกผิดที่ส่งให้เขมและว่านต้องรับผิดเพียงเพราะตนเป็นไพร่ธรรมดา ความยุติธรรมใน แมนสรวง จึงสามารถแปลได้อีกนัยหนึ่งว่า ความชอบด้วยเหตุผล ซึ่งประเด็นนี้ถูกตั้งคำถามขึ้นมาทันทีในปมเปิดเรื่อง ทั้งนี้ทั้งนั้นหากชมภาพยนตร์ไปแล้วจะสามารถพอเดาได้ว่าทำไมเขมและว่านถึงเลือกไม่เข้าสู่กระบวนการ “ยุติธรรม” เพราะในโลกของแมนสรวงนั้นแม้จะเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับฆาตรกรรม แต่กลับเป็นโลกภาพยนตร์ที่ไม่มีสัญลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมใดๆ ปรากฏขึ้น ต่อให้จะมีฉากทำร้ายร่างกาย ต่อยตี ไปจนถึงวินาศกรรม วางระเบิด ก็ไม่มีแม้แต่ตำรวจหรือหน่วยงานที่เป็นตัวแทนของความยุติธรรมเข้ามาจัดการแต่อย่างใด กลับกันความชอบธรรมของเรื่องราวต่างๆ จบลงที่การพิพากษาของ “เจ้านาย” แม้แต่การจับฆาตกร การกอบกู้ความน่าเชื่อถือของตัวละครต่างๆ ก็ต้องมีเจ้านายคุ้มครองและยืนยันความยุติธรรมในทุกกรณี

ภาพยนตร์แสดงให้เห็นว่า “ความจริง” นั้นไร้ประโยชน์เหมือนกับฉากเปิดเรื่องที่ผู้ชมทั้งโรงภาพยนตร์ต่างรู้ว่า เขมและว่านไม่ได้เป็นฆาตรกร แต่ทั้งคู่หาได้เถียงเจ้านายไม่ ทั้งคู่จำต้องยอมรับ เพราะรู้ดีว่าความยุติธรรมในแมนสรวงนั้น เจ้านายต่างหากที่จะเป็นผู้ยืนยัน “ความจริง” ต่อให้พวกเขาจะฆ่าหรือไม่ ความจริงจะประจักษ์ได้ก็ต่อเมื่อเจ้านายเป็นผู้ยืนยันความจริงเท่านั้น เช่นเดียวกับอำนาจบาตรใหญ่ที่ควบคุมความจริงไว้ของพระยาบดีศร ซึ่งไม่ได้เล่าถึงแค่สังคมในแมนสรวง แต่ยังเป็นภาพสะท้อนสังคมสยาม (และสังคมไทยปัจจุบันที่ไม่เปลี่ยนไปนัก) ว่าสังคมในระบอบคนไม่เท่ากัน เมื่อบ่าวไพร่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของเจ้านาย ย่อมจะเป็นสังคมที่เข้าถึงความจริงได้ยาก และแน่นอนว่าเรื่องของเจ้านายมักเสียงดังกว่า ส่วนเรื่องของไพร่นั้นแทบจะไร้เสียง ความยุติธรรมในสังคมก็เช่นกัน หากบทสรุปของการพิพากษามีไม้ตายอยู่ในกำมือเจ้านายหรือใครก็ตามที่บงการระบบที่แสร้งว่าเป็นจุดจบของเรื่องราวในนามความยุติธรรมได้ ระบอบนั้นคือความ (อ) ยุติธรรม ที่อำพราง (อ) ไว้ในวงเล็บ นั่นเอง

แมนสรวง

นาฏกรรมอำนาจ ชนชั้นการละคร

แมนสรวง ตามชื่อเรื่องมาจากโรงละครที่เต็มไปด้วยผู้ชมระดับเจ้านายชั้นสูงและเหล่าข้าราชการ ซึ่งนอกจากความลึกลับที่ซ่อนอยู่ในโรงละครแล้ว แมนสรวงยังแสดงให้เห็นถึงการเมืองของละครรำ ตั้งแต่แม่นายผู้ควบคุมคณะก็มีระดับชั้นและมักจะพูดถึงเรื่องชนชั้นความต่ำสูงอยู่เสมอ ทั้งต่ำสูงทางชนชั้นสังคมไปจนถึงความต่ำสูงของการรำในฐานะ “ศิลปะชั้นสูง” ที่ห้ามแผลงดัดแปลงตามอำเภอใจ ซึ่งเหล่าบรรดาไพร่นักรำทั้งหลายก็ต้องจำอยู่ภายใต้แม่บทของแม่ครู ยกเว้นชั้นเจ้านายที่สามารถแปลงบทได้อย่างเช่น ฮ้ง (นำแสดงโดย ธนายุทธ ฐากูรอรรถยา) ลูกชายคนเดียวของเจ้าสัวผู้เป็นเจ้าของแมนสรวง เขาสามารถใช้ละครเป็นบทสรุปเปิดโปงขบวนการค้าอาวุธ ย้ำให้ผู้ชมเห็นว่า การจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนบทละครนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นศิลปะชั้นสูงอย่างขนบที่แม่นายยึดถือและสั่งสอนศิษย์ หากแต่คือใครก็ตามที่มีอำนาจมากกว่าแม่นายต่างหากที่สามารถเปลี่ยนบทการรำได้ ขนบประเพณีในแมนสรวงจึงไม่ใช่ขนบธรรมเนียม แต่ยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมอำนาจที่อำพรางขนบธรรมเนียมอีกชั้น เพราะท้ายที่สุดแล้วต่อให้มันจะเป็นขนบก็ย่อมเปลี่ยนแปลงได้ถ้าผู้มีอำนาจต้องการ โดยไม่ต้องสนธรรมเนียมอย่างที่เขากล่าวอ้างมาแต่อย่างใด

การละครใน แมนสรวง ยังถูกใช้แสดงถึงความสัมพันธ์ของตัวละครไพร่กับนายอีกด้วย จากเดิมว่านและเขมเป็นเสมือนนายรำคณะจรที่ไม่ได้ตอกเลขทาส เป็นเพียงไพร่ประชาปกติ แต่พอได้เข้ามายังแมนสรวงเพื่อแลกกับการมีชีวิตอยู่และคำขู่ว่าหากหนีไปอาจไม่มีชีวิตเหลือรอด นั่นทำให้จากหนุ่มจรปรับสถานะกลายเป็นทาสคณะรำไปโดยปริยาย แมนสรวงจึงเป็นคณะที่ทั้งต้อง “แสดง” บนเวทีแบบการละคร และเป็นสถานที่แห่งการ “แสดง” สวมบททางสังคมไปพร้อมกัน กล่าวได้ว่าการเป็นทาสหรือเป็นนายก็ต้อง “แสดง” ผ่านกริยาท่าทางและการยอมรับบทบาทของแต่ละฝ่าย ไม่ว่าโรงละครจะเปิดหรือจะปิด พื้นที่ของแมนสรวงก็ยังคงเปิดทำการแสดงต่อไปดังที่คำโปรยของภาพยนตร์ที่กล่าวไว้ว่า “นาฏกรรม แห่งเลือดและน้ำตา มหรสพ แห่งกิเลสและกลลวง”

แมนสรวง

ในบทสรุปของแมนสรวงมีความน่าสนใจตรงอิงพิงอยู่กับประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เข้าสู่ยุคร่วมสมัย มีการแสดงให้เห็นถึงการสมคบสมประโยชน์ร่วมกันระหว่างชนชั้นไพร่ (ที่มีโอกาสเติบโต) นายทุน และเจ้านาย ในความสัมพันธ์ของ เขม ไพร่นายรำ ฮ้ง ลูกเจ้าสัว และ ฉัตร (นำแสดงโดย ภาคภูมิ ร่มไทรทอง) มือตะโพน ลูกข้าราชการระดับสูง ที่ทั้งสามต่างหันมาเกื้อกูลกัน ส่วนจุดจบของปมบางปมในเรื่องก็ทำให้เป็นเพียงความผิดพลาดของข้าราชการเลวบางคนไม่ใช่เรื่องของระบบที่เอื้อต่ออำนาจ แสดงให้เห็นภาพของระบอบ “คนดี” เชื่อในคนดีปกครองบ้านเมืองไม่ใช่การคำนึงถึง “ระบบ” มองว่าหากอำนาจอยู่ในมือ “คนดี” ก็จะได้รับ “ผลดี” หากอยู่ในมือคนชั่วก็จะชั่วช้า แต่ด้วยระบบแบบนี้ก็ไม่มีอะไรที่จะยืนยันได้ว่าความดีความชั่วดังกล่าวมันยุติธรรมหรือไม่ เพราะด้วยนิยามความดีชั่วนั้นถูกนิยามโดยใครก็มักจะต้องคุณแก่ผู้นิยาม ความดีชั่วในระบบอำนาจแบบนี้ความถูกต้องจึงอยู่กับผู้ครองอำนาจชั้นสูงหาใช่ไพร่ประชาราษฎร์เดินดิน ท้ายที่สุดในระบบที่ความถูกต้องขึ้นอยู่กับอำนาจ ความดี ความชั่ว หรือ ความ (อ) ยุติธรรม ต่างก็ไร้ความหมายแถมซ้ำคำเหล่านี้ก็อาจเป็นเพียงภาษาที่ถูกซ่อนกลเหมือนความยุติธรรม (อ) ยุติธรรม ที่ถูกใช้เป็นชนวนเปิดเรื่องแมนสรวงก็ได้


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน