“หัวใจในอกซ้าย” ว่าด้วยความรักในทัศนะ ฝ่ายก้าวหน้า จาก ปีศาจ
Lite

“หัวใจในอกซ้าย” ว่าด้วยความรักในทัศนะ ฝ่ายก้าวหน้า จาก ปีศาจ

Focus
  • วัฒนธรรมการเมือง (political culture) เป็นหนึ่งในแนวคิดที่เสนอให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างบุคคล สังคม จิตวิทยา และความเชื่อทั้งมวลที่ยึดเกี่ยวกันอยู่กับโครงสร้างการเมืองของสังคม
  • ปีศาจ เป็นนวนิยายรักที่แสดงทัศนะหัวก้าวหน้าในไทยโดยปลายปากกาของ เสนีย์ เสาวพงศ์
  • ไทยและแนวคิดของปัญญาชนยุคสมัย พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หรือ “ฝ่ายซ้าย”เป็นกลุ่มแนวคิดหัวก้าวหน้าที่อยากให้สังคมเท่าเทียม และต้องการสร้างแนวร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคม

นามธรรมอันเป็นปัญหาใหญ่เชิงความคิดในหลายยุคสมัยอย่าง ความรัก ยังคงเป็นปริศนาทางคำอธิบายที่แทบจะไม่มีวันคลี่คลายได้ทั้งเชิงการนิยามขอบเขตและเชิงการบรรยายความรู้สึก เนื่องด้วยความรักเชื่อมโยงกับความหมายของคำอื่นๆ ทั้งความโรแมนติก ความใคร่ จนไปถึงความหมายชีวิต หรือแม้แต่ทัศนะและวัฒนธรรมทางการเมืองก็แทบจะไม่เคยตัดขาดกันได้อย่างสิ้นเชิงกับขอบเขตของความรัก

วัฒนธรรมการเมือง (political culture) เป็นหนึ่งในแนวคิดที่เสนอให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างบุคคล สังคม จิตวิทยา และความเชื่อทั้งมวลที่ยึดเกี่ยวกันอยู่กับโครงสร้างการเมืองของสังคม ซึ่งวิธีการมองแบบนี้มีการพัฒนาออกไปในหลายแนวทางโดยนักคิดทางรัฐศาสตร์และสังคมมากมาย เช่นในนิยามของ ลูเซียน พาย (Lucian Pye) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้นิยามโดยย่อสรุปได้ว่า วัฒนธรรมการเมืองเป็นการจัดวางพื้นฐานทางคุณค่า ความรู้สึก และความรู้ ภายใต้กระบวนการทางการเมืองซึ่งในความหมายดังกล่าวทำให้การเมืองสามารถสร้างความหมายของนามธรรมบางอย่าง และก็ทำให้อุดมการณ์ทางการเมืองสามารถนำไปสู่อุดมคติของชีวิตในหลายแง่มุมที่คลุมเครือได้…แน่นอนว่าความคลุมเครือที่ว่าย่อมมีความรักเป็นหนึ่งในนั้น

ความรัก การเมือง
หนังสือ รัก-และ-การปฏิวัติ และ โฉมหน้าศักดินาไทย

หนึ่งในตัวอย่างของการใช้แว่นของวัฒนธรรมการเมืองมาสวมเพื่อถามหาความเข้าใจ การนิยาม และการประกอบสร้างเสนอความหมายของ “ความรัก” ได้แก่ หนังสือ รัก-และ-การปฏิวัติ ของ ธิกานต์ ศรีนารา ที่ศึกษาวัฒนธรรมการเมืองในวรรณกรรมไทยและแนวคิดของปัญญาชนยุคสมัย พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หรือ “ฝ่ายซ้าย” ซึ่งมีการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม สังคม การเมืองในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2485 เป็นต้นมา โดยหนุ่มสาวฝ่ายซ้ายถือเป็นกลุ่มแนวคิดหัวก้าวหน้าที่อยากให้สังคมเท่าเทียม และต้องการสร้างแนวร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งอิทธิพลทางความคิดต่อขบวนการก้าวหน้ามีอยู่มากมายในสังคมโลกยุคนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผยแพร่ข้อเขียนที่มีอุดมการณ์สนับสนุนคอมมิวนิสต์ทั้ง The Communist Manifesto ของ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) และ ฟรีดริช เองเกลส์ (Friedrich Engels) ซึ่งเป็นงานเขียนแม่แบบการปฏิวัติทั่วโลก

นอกจากนี้ยังมีงานเรียบเรียงหรือนำเสนอแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์อีกมากมายโดยมีรวมทางความเชื่อในการทลายชนชั้นและรื้อสร้างแนวคิดกรรมสิทธิ์ให้ทุกคนเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียม หนึ่งในหนังสือเล่มสำคัญที่ได้รับความนิยมโดยมีเนื้อหาอธิบายแนวคิดนี้ในภาษาไทยคือ โฉมหน้าศักดินาไทย ของ จิตร ภูมิศักดิ์ โดยกระแสความคิดดังนี้นอกจากเชิงทฤษฎีแล้วยังมีขบวนการเคลื่อนไหวที่เชื่อในความเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบเศรษฐกิจ สังคม การเมืองไปในแนวทางคอมมิวนิสต์ซึ่งมุ่งเน้นความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรและการปลดแอกสังคมออกจากการถูกควบคุมทางอำนาจและการยึดครองทรัพยากรโดยนายทุน ขุนศึก ศักดินา เพื่อให้ทรัพยากรต่างๆ เข้าถึงประชาชนอย่างเท่าเทียม

จากกระแสแนวคิดเพื่อความเท่าเทียมและการทำให้เห็นถึงการกดขี่ทางชนชั้นของแนวคิดแบบมาร์กซ์และแนวทางการสนับสนุนแนวคิดคอมมิวนิสต์ของ พคท.ที่แผ่กว้างในยุคนั้น จึงไม่แปลกนักที่จะมีวรรณกรรมไทยหลายเล่มที่สร้างสรรค์เรื่องราวโดยมีแนวคิดของการต่อสู้ทางชนชั้นหรืออธิบายความไม่ชอบธรรมของการกดขี่ เช่นเดียวกับหนังสือวรรณกรรมไทยอมตะอันเป็นที่นิยมอย่าง ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ตีพิมพ์เป็นตอนลงในนิตยสาร สยามสมัย ช่วงปี พ.ศ. 2496 และต่อมาได้รับการรวมเล่มในปี พ.ศ. 2500 และหลังจากนั้น “ปีศาจ” ตัวนี้ก็ได้หลอกหลอน “คนโลกเก่า” ในสังคมไทยตลอดมาจวบจนปัจจุบันกับเรื่องราวรักของ สาย สีมา และ รัชนี ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวการเผชิญหน้ากับแนวคิดของการกดขี่ทางชนชั้นและเงื่อนไขที่สังคมสร้างไว้ตลอดทั้งเรื่องจนมาถึงฉากอมตะบนโต๊ะกินข้าวอันเป็นที่มาของประโยคคลาสสิคของสายที่กล่าวว่า “ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า” และหลังจากนั้นรัชนีลูกของผู้มั่งคั่งระดับสูงก็เดินตามสายไปอย่างไม่รู้อนาคตข้างหน้าโดยรัชนีได้กล่าวถึงเหตุผลที่ก้าวทิ้งบ้านอันสุขสบายจากการเป็นชนชั้นสูงว่า

ปีศาจ เสนีย์ เสาวพงศ์
หนังสือ ปีศาจ

“ดิฉันหวังว่ามันจะเป็นเช่นนั้น ด้วยการกุมโชคชะตาชีวิตไว้ในมือของตนและด้วยความเชื่อมั่นในตนเอง”

รัชนีตัดสินใจจะไปร่วมชะตากรรมกับเพื่อนที่เป็นครูและตั้งต้นชีวิตใหม่ด้วยจิตวิญญาณแห่งสามัญชนของสาย ซึ่งความมุ่งมั่นนี้ถูกอธิบายด้วยประโยคว่า “และจิตใจของผมจะติดตามไปอยู่เคียงข้างคุณเสมอทุกหนและทุกแห่ง…ที่รัก” สายกล่าวลากับรัชนี ใน ปีศาจ แม้สายและรัชนีไม่ได้จบด้วยการครองรักกันแบบอนุรักษนิยมที่หลายเรื่องคู่พระนางจะอยู่ด้วยกันตลอดไปแบบคติผัวเดียวเมียเดียว นิยายเรื่อง ปีศาจ จบโดยทุกคนมีชีวิตของตนเองและอิสระต่อทุกสิ่ง นิยายรักในแนวคิดที่ชูประเด็นเสรีภาพและต่อต้านการกดขี่อย่างปีศาจจึงมีตอนจบที่แสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์ที่จะติดตัวไปในทุกหนแห่งอย่างไม่จำเป็นต้องมีใครเป็นเจ้าของใครอันตรงกันข้ามกับเหล่าศักดินาที่เข้มงวดในแนวคิดของ “ความเป็นเจ้าของ” แม้เขาและเธอจะไม่ได้อยู่ด้วยกันในตอนจบ แต่ก็หาได้เป็นโศกนาฏกรรมรักไม่

ความรักในแนวคิดแนว “ก้าวหน้า” ดังใน ปีศาจ จึงเป็นได้ทั้งนิยามของ “ความรัก” ที่มาพร้อมกับอุดมการณ์ปลดแอกทางการเมือง ปีศาจ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการนิยามความรักด้วยแนวคิดทางการเมืองอันตอกย้ำถึงความรู้ของมนุษย์ที่เชื่อมโยงประสบการณ์ทางความรู้ต่างๆ มากมายที่ใช้ในการนิยามและสร้างอุดมคติต่างๆ ในชีวิต ความรักในทัศนะของรัชนีที่ปลดแอกตนเองทั้งจากชนชั้นและการไม่มีเจ้าของจึงได้รับความนิยมสูงในวรรณกรรมฝ่ายซ้ายหรือ “ฝ่ายก้าวหน้า” รวมทั้งมีลักษณะการปลดแอกแบบเดียวกับที่ พคท. ฝันใฝ่ที่จะปลดแอกสังคมออกจากสังคมที่มีเหล่าศักดินาเป็นเจ้าของและสร้างสรรค์สังคมของประชาชน

นิยามความรักอันซับซ้อนส่วนหนึ่งจึงสามารถหาความหมายเชิงสังคมการเมืองได้และอีกส่วนอาจเป็นเรื่องของความรู้สึก ความฝัน อุดมคติที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของนิยามของความรักแต่เพียงผู้เดียวเช่นกัน การเมืองจึงไม่แยกออกจากวิถีชีวิตแถมยังทำงานกับนามธรรมหรือความรู้ของผู้คนในสังคมในการนิยามและมีอุดมคติกับสิ่งต่างๆ อีกด้วย ไม่เว้นแม้แต่ ความรัก…นามธรรมที่ซับซ้อนที่สุดอีกหนึ่งสิ่งของโลกนี้

ภาพปก : ดัดแปลงจาก ภาพยนตร์ สาย สีมา นักสู้สามัญชน จาก หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

อ้างอิง :


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน