รัก ล้ำ โลก ว่าด้วยสมมติฐานความรักใน หนังไซไฟ ที่มากกว่าเทคโนโลยีล้ำยุค
- ในรูปแบบของภาพยนตร์ไซไฟมักจะมีการสร้างจินตนาการถึงโลกที่เต็มไปด้วยสมมติฐานเปรียบได้กับการหามุมมองใหม่ๆ ในห้องทดลอง และนั่นทำให้ “ความรักในหนังไซไฟ” แตกต่างออกไป
- ภาพยนตร์ไซไฟ3 เรื่อง คือ The Matrix, CARGO และ The App จาก 3 ประเทศคืออเมริกาอินเดีย และอิตาลี ได้เปิดมุมมองความรักในหนังไซไฟไว้อย่างแตกต่างและน่าสนใจและขยายกรอบการคิดไปสู่พื้นที่ใหม่ๆของการตีความ
ในรูปแบบของภาพยนตร์ขนบเรื่องแต่งวิทยาศาสตร์ (Science Fiction) หรือ หนังไซไฟ มักจะมีการสร้างจินตนาการถึงโลกที่เต็มไปด้วยสมมติฐานต่าง ๆ เปรียบได้กับการหามุมมองใหม่ ๆ ของการทดลอง เสน่ห์ของภาพยนตร์ขนบไซไฟจึงไม่เพียงการเห็นอุปกรณ์เทคโนโลยีล้ำยุค แสงของดวงดาว หรือการแต่งกายประหลาดเพียงเท่านั้น แต่ภาพยนตร์ไซไฟหลายเรื่องยังเต็มไปด้วยทฤษฎีสมคบคิดมากมาย พร้อมข้อเสนอทางความคิดใหม่ๆเพื่อแสดงถึงทัศนคติของผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์ต่อประเด็นต่างๆของโลก และ ความรัก ก็เป็นหนึ่งในนั้น ขึ้นชื่อว่า ความรักในหนังไซไฟ ย่อมแตกต่างจากทฤษฎีรักในหนังทั่วไป ความรักในหนังไซไฟ อาจสะท้อนได้ทั้งการตีความชีวิตประจำวันและการขุดลึกไปสู่สมมติฐานที่กางกว้างอย่างไร้ขอบเขตไม่ต่างจากจินตนาการที่มีอย่างไม่จำกัดในหนังไซไฟ
Sarakadee Lite ชวนมาค้นหาสมมติฐานความรัก ที่ซ่อนอยู่ใน หนังไซไฟ 3 เรื่อง 3 ประเทศ 3 มุมมอง เริ่มจากภาพยนตร์ไซไฟขวัญใจมหาชน The Matrix (1999) ภาพยนตร์ไซไฟอินเดีย CARGO (2020) และภาพยนตร์อิตาลีแนวไซไฟดราม่า The App (2019)
ถอดรหัสสัมพันธ์ซับซ้อนของ The Matrix
ในภาพยนตร์ไซไฟขวัญใจมหาชน The Matrix (1999) ก่อนที่ นีโอ (Neo)ตัวละครเอกในฐานะ The One หรือ ผู้ปลดปล่อยจะกล้าเข้าสู่การข้ามโลกMatrix ผู้ที่ทำให้นีโอเข้าสู่การผจญภัยครั้งสำคัญนี้คือ ทรินิตี้ (Trinity) สาวผู้ชักชวนนีโอและในฉากที่นีโอต้องตัดสินใจว่าจะตามขึ้นรถของตัวละครกลุ่มนี้ไหมคือการไว้ใจในคำชวนของทรินิตี้ ไม่ว่าอย่างไรในภาคที่ 2 ของภาพยนตร์ได้ยืนยันความสัมพันธ์ของทั้งคู่ว่าสำคัญต่อกันและกันมากขนาดที่กลัวอีกฝั่งจะตายไป ในนิมิตนีโอเห็นทรินิตี้ตายและเขาพยายามมากที่จะไม่ให้นิมิตนั้นเกิดขึ้น ตัวละครคู่นี้โดยเฉพาะในภาคสุดท้ายที่แสดงความยึดเหนี่ยวอย่างแรงกล้าที่ไม่ประสงค์จะจากกันอาจเป็นสิ่งยืนยันหนึ่งหากจะนิยาม พระเอก-นางเอก ในเรื่องนี้สิ่งที่ชัดว่าความรักของทั้งคู่เกิดขึ้นแล้วเริ่มจาก ความไว้วางใจ
“โธ่ นีโอคุณไว้ใจฉันสิ”
ทรินิตี้กล่าวกับนีโอเมื่อเห็นว่านีโอจะไม่ขึ้นรถที่เธอชักชวน
ในท้ายที่สุดการยืนยันความรักในฐานะอารมณ์คือภาค 2 ของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการไม่อยากลาจากพร้อมทั้งทำทุกวิธีทางที่จะพิทักษ์คนรักของตนความรักในส่วนนี้จึงแสดงให้เห็นถึงการปกป้องความสัมพันธ์และรักษากันและกันให้อยู่โลกเดียวกันไม่จากกันไปไหน การดำรงอยู่ร่วมกัน เสมือนมีโลกใบเดียวเท่านั้นไม่แยกจากนิรันดร์จึงเป็นอีกเงื่อนไขสำคัญสำหรับความรักจากแนวคิดนี้ ดังนั้นจาก 2 ภาคของ The Matrix ส่วนนี้จึงชวนให้พินิจถึงคุณค่าของการเริ่มและรักษาความรักไว้ในฐานะการอยู่คู่กันไม่ประสงค์จะแยกจาก
แต่อีกสิ่งที่น่าสนใจของแนวคิด หลังความรัก ที่แสดงให้เห็นความเคลื่อนผ่านอารมณ์ไปสู่จุดจบของความสัมพันธ์และแสดงภาพหลังจากรักจบสิ้นแล้วก็เป็นอีกสิ่งที่ The Matrix ในภาคที่ 3 ให้ความสำคัญในตอนจบความสัมพันธ์ของทั้งคู่ นีโอเสียทรินีตี้ไปพร้อมกับในเวลาเดียวกันที่เขา “บรรลุ” เห็นระบบรหัส Matrix ทั้งที่ดวงตาของนีโอถูกทำลายจนบอดไปแล้ว เขามองเห็นสรรพสิ่งของโลกที่อยู่ผ่านความรู้ที่บรรลุเห็นแทนภาพจริงที่เคยเห็นพร้อมกับการเดินทางต่อสู้ปลดปล่อยระบบ Matrix กับเจ้าระบบที่ควบคุมโลกไว้
การปลดเปลื้องโดยละความรักสู่การบรรลุเสมือนการปลดทิ้งห่วงจนตนได้เป็นอิสระ (อิสระจนนีโอไร้ตัวตนโดยสลายร่ายกายตัวเองให้หายไป) การจัดวางตำแหน่งให้ทรินีตี้ตายก่อนที่นีโอจะบรรลุนั้นจึงแสดงภาพให้เห็นถึงการหมดห่วงแบบหนึ่งและสอดคล้องกับแนวคิดของเรื่องเล่มพุทธประวัติ ที่การละจากอารมณ์ความรักเป็นส่วนหนึ่งของการปลดพันธนาการทางจิตวิญญาณ
CARGO กับโลกหลังความรัก
แนวที่ตั้งสมมติฐานถึงการหลุดพ้นออกจากความรักนี้ยังปรากฏชัดอีกในภาพยนตร์ไซไฟอินเดียเรื่อง CARGO (2020) ที่เล่าถึงอนาคตอันใกล้มีนักวิทยาศาสตร์ค้นพบการส่งดวงวิญญาณคนตายไปโลกหลังความตายโดยอุปกรณ์ของมนุษย์สำเร็จ การปฏิบัติการย้ายวิญญาณจะต้องใช้จุดเชื่อมต่อในการส่งบนยานอวกาศที่มีชื่อว่า ปุษปัก (Pushpak) คำอธิบายในภาพยนตร์คือ “เมื่อเราตายยานอวกาศจะดูดเราขึ้นมาและส่งเรากลับไปใหม่”
บนยานจึงมีการ ลบความทรงจำและส่งต่อไปที่เครื่องย้ายสสาร คล้ายกับการส่งคนกลับชาติไปเกิดซึ่งเป็นความเชื่อที่พบเห็นได้ในหลายเรื่องเล่าแถบเอเชีย ความน่าสนใจคือภาพยนตร์เลือกที่จะเล่าเรื่องบนยาน ปุษปัก 634A ที่มีพนักงานดำเนินการอยู่คนเดียวจนใกล้เกษียณคือ ประหัสต์ และตัวละครตัวนี้เป็นตัวแทนของคนที่หลุดพ้นพันธนาการจากความรัก และไม่ต้องการมีความรักรวมทั้งคุ้นชินกับความโดดเดี่ยว เขาถึงกับมีประโยคว่า
“ผมรู้สึกเหมือนคนที่นี่มีชีวิต แล้วผมเป็นผี”
จุดขัดแย้งของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อสถานีจะส่ง ยุวิศกา ผู้ร่วมงานคนใหม่มาช่วยงานประหัสต์บนยาน ในทีแรกประหัตส์บ่ายเบี่ยงจนเขาเห็นว่าอย่างไรก็ต้องรับคนเข้ายานเขาถึงกับต่อรองว่า “ขอผู้ชายได้ไหม” เพื่อเลี่ยงลดโอกาสตกหลุมรัก และเขาทำแบบนั้นเรื่อยมาเขาพยายามจะหลีกเลี่ยงความใกล้ชิดเกินไปกับ ยุวิศกา แม้ว่าจะไม่ใช่เวลาปฏิบัติงานเขาก็จะมีระยะทางความสัมพันธ์แบบหัวหน้างานอยู่เสมอ ประหัตส์ เป็นอีกตัวอย่างของแนวคิดหลังความรักและจำลองให้เห็นว่ามนุษย์บนยานอวกาศล้ำอนาคตที่ไม่ต้องมีการความรักเป็นอย่างไร
โดยทั้งยานอวกาศในเรื่องนี้ไม่ใช่ยานธรรมดาแต่เป็นยานขนวิญญาณที่เสมือนเป็นโลกหลังความตายกลาย ๆ หากเปรียบยานลำนี้เป็นโลกหลังความตาย เจ้าหน้าที่อย่างประหัตส์คือคนที่ก้ำกึ่งตรงกลางระหว่างมนุษย์กับวิญญาณ และหลังวิญญาณสลาย หากพินิจระยะที่ประหัสต์สร้างขึ้นมากับยุวิศกาจนท้ายที่สุดเขายอมรับได้ว่าความผูกพันเกิดขึ้นจริง แม้ในทีแรกเขาไม่ต้องการใครแต่พอตอนท้าย เมื่อยุวิศกาเกิดเรื่องไม่คาดคิดจนจำเป็นต้องกลับโลกไม่อย่างนั้นจะส่งผลต่อสุขภาพของเธอ ถึงขนาดนี้แต่เมื่อประหัสต์มีความผูกพันบางอย่างจนใจของเขาไม่อยากให้ยุวิศกากลับโลก รวมถึงในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็แสดงออกให้เห็นความผูกพันที่อาจเรียกรักในความหมายกว้างๆของการไม่ต้องเป็นสามีภรรยา คู่แฟนโรแมนติก แต่ความรู้สึกของการไม่อยากแยกกันไปเป็นจุดที่น่าสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกนี้เกิดขึ้นกับคนที่ระแวงจะรักใครเสียด้วย
หากคิดต่อว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นการนำเสนอภาพ “หลังความรัก” ที่หมายถึงนิยามความรักได้ถูกตีความใหม่คล้ายกับการมองโลกหลังความตายที่เราไม่รู้แน่ชัดจนเป็นความรู้สึกความคิดเลือนรางเรื่อยๆจนไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่ และไม่สำคัญที่ตัวคำหรือการบอกกล่าวและปฏิเสธนิยาม ปฏิเสธการมีอยู่ของห้วงนั้น ๆ ทั้งจากการปฏิเสธความหมายเชิงตรงจนถึงกลายเป็นความรู้สึกในใจของผู้รู้สึกเพียงฝ่ายเดียว
ในจุดนี้ประหัสต์กับยุวิศกาต่างจากนีโอและทรินีตี้ เพราะคู่หลังมีการยืนยันชัดเจนถึงความปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกัน แต่คู่แรกไม่แสดงออกรวมถึงแทบไม่ได้สื่อสารความรักให้อีกฝ่ายเห็น แต่ภาพยนตร์ทำให้เรารู้สึกถึงความสัมพันธ์บางอย่างที่ไม่อธิบายยืนยันว่าใช่หรือไม่ CARGO จึงไม่ได้เป็นภาพยนตร์รักโรแมนติกแต่เป็นภาพยนตร์ที่ตั้งคำถามกับชีวิตโดยจำลองสถานที่หลังความตายขึ้น ในภาพยนตร์กิจกรรมที่คนตายอยากทำมากที่สุดคือ โทรหาคนรักบนโลกเพื่อคุยครั้งสุดท้าย ก่อนประหัตส์เจอยุวิศกาเขาไม่เคยติดต่อกลับหาครอบครัวบนโลกเลยแต่เมื่อเขาได้สัมผัสพลังจากความสัมพันธ์บางอย่างที่เกิดขึ้นเขากลับคิดถึงคนรักและโทรกลับหาครอบครัวบนดาวโลก โดยมีประโยคหนึ่งที่ประหัสต์บอกกับคนรักของเขาบนโลกว่า “ผมเขียนจดหมายหาคุณ แต่ผมไม่เคยส่ง”
ในท้ายที่สุดเราได้เห็นความล้นเอ่อของความรู้สึกในตัวละครประหัสต์ที่เขาต้องเก็บความรู้สึกคิดถึงใครมาตลอดที่น่าสนใจคือจุดกระตุ้นเกิดจากยุวิศกาแต่ผลกระทบทางความรู้สึกที่เกิดกับประหัสต์เป็นทั้งการผูกพันกับยุวิศกาและการคิดถึงคนรักที่เหมือนตัดใจไม่คิดมานาน ความรักในเรื่องนี้จึงไม่ผูกสัมพันธ์ชัดเจนแต่เป็นมวลบางอย่างที่ทำให้เห็นถึงชีวิตมนุษย์ที่สามารถมีความสัมพันธ์ได้ต่างจากคนตายที่ไม่ว่าจะไปเกิดใหม่หรือไปไหนเขาก็ไม่มีทางได้กลับมาหาคนเป็นและแน่นอนว่าความรักบางครั้งมันไม่ได้ไปไหนมันอยู่ข้างในแค่โดนทับปิดบังไว้เหมือนความรู้สึกของประหัสต์ที่บังไว้ทั้งเรื่องว่าไม่มีความคิดถึงไม่มีความรักและเขาอิสระสันโดษ(คล้ายคนตายไปแล้วในประโยคที่เขาคิด)
การยอมรับว่าเขาคิดถึงมาพร้อมกับความทรงจำที่ผุดขึ้นได้เมื่อพบกับยุวิศกา ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงแสดงให้เห็นภาวะของความรักว่าซับซ้อนและไร้รูปแบบเกินคำนิยามเกินความเป็นเจ้าของ รักจึงเป็นอารมณ์ที่อิสระและไหลเคลื่อนได้เสมอแต่ยังคงผูกพันกับความทรงจำ และสำคัญที่สุดคือหากมองว่าประหัสต์อยู่เฉยๆแล้วไม่มีรักก็ได้ ยุวิศกาเป็นเสมือนปฏิกิริยาทางเคมีที่ทำให้สสารทางความรู้สึกของประหัสต์ต้องสะเทือนและเรียกคืนความทรงจำที่ตกตะกอนของเขาขึ้นมา ปฏิกิริยาของความรักในเรื่องนี้จึงน่าสนใจและชวนตั้งคำถามถึงความรู้สึกที่ถูกตีความว่าเป็นความรักว่าความรู้สึกนั้นเกิดจากการกระตุ้นหรือไม่ ทางตรงทางอ้อม และอย่างไร
เรื่องของประหัสต์นี้แสดงถึงความย้อนแย้งระหว่างการหลุดพ้นไปแล้วจนวนกลับเข้าสู่วงโคจรใหม่ เพราะในทีแรกเขาไม่มีความรักเขาไม่เคยเสียใจหรือรู้สึกอะไร แต่พอมีความรู้สึกมากมายปะทุขึ้นอย่างรุนแรง ก็แสดงให้เห็นถึงความพิศวงของรักได้เป็นอย่างดีว่าสุดท้ายแล้วสรุปเราต้องการมันไหม ประหัตส์ที่เปรียบตัวเขาเหมือนคนตายแล้ว โดยเฉพาะเมื่อเขาเห็นวิญญาณคนตายที่ขอโทรศัพท์กลับบ้านเขาจึงคิดว่าคนตายเหล่านั้นเหมือนคนมากกว่าเขา (ในที่นี้ประหัสต์อาจหมายถึงการมีความรู้สึกที่ไม่หลุดพ้น) ทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าไม่มีความรักเราก็เป็นอิสระทางความรู้สึกจากการก้าวข้ามไปสู่ความสงบ และหากไม่มีรักก็ไม่เสียใจ
แต่หากไม่มีรักจะเหมือนตายทั้งเป็นหรือเปล่านะแล้วอะไรสถิตอยู่ระหว่างการที่ประหัสต์ไม่อยากให้ยุวิศกาจากกัน หรือการที่อยู่ๆเขาก็คิดถึงบ้านบนดาวโลกขึ้นมาชวนให้คิดได้ว่าจากประหัตส์ที่ไม่มีความต้องการอะไรอยู่ๆก็มีส่วนเสริมเติมใจขึ้นมา (ยุวิศกา) ทำให้ตะกอน (แฟนเก่า) ผุดขึ้นจนสุดท้ายเขาทั้งมีและทั้งขาดจากความรู้สึกที่มีปฏิกิริยาซับซ้อนพร้อมทั้งชวนคิดสมมติไปได้ว่าการเข้ามาของความรักนั้นมาเติมสิ่งที่ขาดอยู่จริงหรือเราโปะส่วนนั้นเข้ามาเติมจนวันหนึ่งถ้าสิ่งที่ไม่มีอยู่เดิมนี้หายไปเราจะขาด เพราะการโปะประกอบนี้มันอยู่ในความทรงจำของเราแล้ว ภาพยนตร์เรื่อง CARGO จึงเป็นการเพิ่มคำถามใหญ่อีกหนึ่งกระทู้ที่ว่าสุดท้ายเราต้องการอะไรจากความรักกันแน่และเราเข้าใจอารมณ์นี้ดีพอขนาดไหนถึงจะนิยามและจัดการกับความรักได้
“ถ้าหากจะทิ้งกันไป
จากเพลง ตายทั้งเป็น โดย ดนุพล แก้วกาญจน์
ช้านิดนะรอวันให้ฉันนั้นตายซะก่อน
ที่ไหนยังไงเมื่อไรจะไปพบใครไม่วอน
วันนี้เธออย่าเพิ่งไป”
The App การตกหลุมรักและการสิงสู่
The App (2019)ภาพยนตร์อิตาลีแนวไซไฟดราม่าที่ตั้งคำถามกับความรักในฐานะการตามหาสิ่งที่ไม่มีตัวตน ด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับ นิค (Nick) หนุ่มนักแสดงที่มีแฟนสาวเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน NOI (ภาษาอิตาลีมีความหมายว่า “เรา”) แอปพลิเคชันนี้ผู้ใช้จะได้คุยกับผู้คนมากหน้าหลายตาโดยแฟนสาวนักพัฒนามอบหมายให้แฟนของตนอย่าง นิค ใช้เมื่อต้องเดินทางไปแสดงภาพยนตร์ต่างเมืองเพื่อทดสอบแอปพลิเคชัน(และอาจเป็นการทดสอบนิคด้วย)
ในภาพยนตร์เราจะได้เห็นนิคต่อสู้กับจิตใจความต้องการเช่นการขัดแย้งของการตัดสินใจว่าสรุปจะอยากดูเรืองร่างเปลือยไหม จะคุยกับผู้หญิงในแอปนี้หรือไม่ ตลอดจนนิคถูกทักทายด้วยข้อความย้ำ ๆ จาก “มาเรีย” สาวปริศนาในแอปพลิเคชันจนเขาตัดสินใจพูดคุยและติดพันจนท้ายที่สุดเขาตกหลุมรักมาเรียโดยสามารถเห็นอาการตกหลุมรักได้จาก การติดการหยิบโทรศัพท์ขึ้นตอบหรือแม้กระทั่งรับสายโทรคุยต่อหน้าแฟนของตน ตลอดจนไปตามนัดในสถานที่ต่าง ๆ
แต่นั่นก็ไม่ทำให้นิคได้เจอกับมาเรียแทบตลอดเรื่อง การตกหลุมรักของความรักที่ไม่เห็นร่างกาย ไม่เคยพบปะ สัมพันธ์ผ่านการพูดคุยโดยพิมพ์ในแอปและการโทรศัพท์สนทนาจนผูกพันกัน ในช่วงที่นิคพยายามไปตามนัดและไม่ได้พบมาเรียแสดงให้เห็นถึงการตามหาในสิ่งที่ไม่พบและไม่เติมเต็มสักที ในฐานะที่ความสำเร็จของการนัดพบคือการพบปะแต่นิคไม่เคยได้รับสิ่งนั้น เขากลับหลงรักมาเรียเสียมากกว่าที่จะใช้เวลากับแฟนสาวตัวจริงของเขาเสียอีก การตกหลุมรักในภาพยนตร์นี้ช่างทำให้เห็นถึงหลุมที่ไม่มีวันเต็มและนั่นคือหลุมรัก การไม่จบสิ้นเป็นอีกสิ่งที่สำคัญของอาการตกหลุมรัก
“คุณปลีกเวลามาให้ฉันแสดงว่าคุณใส่ใจเรื่องของเรา”
มาเรียกล่าวกับนิคให้เห็นถึงความสำคัญที่มนุษย์ใช้หน่วยแลกเปลี่ยนเป็นเวลาและนั่นคือสมบัติล้ำค่าที่มนุษย์มีเพราะหากแทนสมการเป็น เวลา=อายุขัย จึงสามารถแปลความว่าเวลาหมายถึงต้นทุนของมนุษย์หรือใกล้เคียงกับความหมายของชีวิตของมนุษย์ที่มักโลดแล่นอยู่ในเวลาเสมอ
หากเทียบกับแฟนสาวที่ได้รับสถานะแฟนเรียบร้อยจนไม่ต้องตามหาอะไรอีกกับการตามหามาเรียที่ไม่จบสิ้น ท้ายที่สุดนิคได้ดิ่งลงสู่การไม่จบสิ้นที่แท้จริงเพราะ มาเรีย คืออัลกอริทึมของแอปพลิเคชันที่ไม่มีตัวตนในโลกกายภาพความจริง เขาได้กลับไปอยู่กับแฟนสาวและแยกห่างจากมาเรียอย่างถาวรเมื่อเขาพบความจริงนี้ ความจริงนี้เป็นบทสรุปและทิ้งประโยคสำคัญของการสนทนาช่วงหนึ่งของนิคกับมาเรียว่า
“จินตนาการตัวฉัน ให้พื้นที่ฉันเติบโตในตัวคุณ ให้ฉันใช้ความปรารถนาของคุณเพื่อสร้างฉัน”
ความรักในที่นี้จึงอยู่ในสถานะจินตนาการที่มีอยู่ภายใน ถูกสร้างขึ้นให้มีอยู่ เสมือนหลุมที่เผลอขุดแล้วตกลงไปด้วยการยอมรับให้ ความรักนั้นทะลวงเข้ามาอยู่และไม่อาจถอนไปได้หากยังไม่สามารถพบความจริงก้นหลุม เพราะท้ายที่สุดการที่มาเรียใช้คำว่า “ใช้ความปรารถนาของคุณเพื่อสร้างฉัน”ความรักจึงเป็นเรื่องที่เราสร้างบางอย่างภายในเราเองอย่างไม่จบสิ้นและบางครั้งในตอนท้ายไม่ว่ารักจะมีกายภาพหรือไม่มันมักตกตะกอนในตัวเราหากเราไม่ปลดแอกอย่าง นีโอ แล้วเผอิญไปพบกับเคมีกระตุ้นหัวใจอย่างที่ ประหัสต์พบจนสุดท้ายเรามีความรักในจิตใจแบบ นิค อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดเราจะเสียคนรักเหมือนที่นีโอเสียทรินีตี้ ประหัสต์ลากับยุวิศกา นิคยอมรับความจริงว่ามาเรียไม่มีอยู่ แต่ทั้งสามเรื่องทำให้อย่างน้อยที่สุดความรักคือนามธรรม ความทรงจำ อารมณ์ความรู้สึกที่ข้ามผ่านเงื่อนไขผิวหนังร่างกายจนยากนิยามให้ครบถ้วนได้แม้พอสังเกตได้จากองค์ประกอบร่วมกันอย่างความผูกพัน ความสัมพันธ์ ความทรงจำร่วมกัน หรือการตกหลุมรักลึกที่ยิ่งหาสิ่งนั้นจะยิ่งไม่เจอ และการที่ไม่พบบทสรุปนี้แหละคือส่วนหนึ่งของความรัก
สิ่งเหล่านี้คงเหมือนจิ๊กซอว์ที่ต่อขยายนิยามไปเรื่อยๆอย่างไม่สิ้นสุด และไม่ว่าอย่างไรหากเราเคยรักมาแล้วความรักนั้นมักตกตะกอนในฐานะความทรงจำที่สิงสู่ภายในเรา ดังคำพูดของมาเรียเอ่ยกับนิคในตอนหนึ่งว่า
“ถ้าคุณหลับตาแล้วไม่เห็นฉันอีก ฉันอยู่ในตัวคุณ”