LonelyPop : Lonely Together นิทรรศการแห่งความเหงา ที่ไม่อยากให้ใครเดียวดาย
Lite

LonelyPop : Lonely Together นิทรรศการแห่งความเหงา ที่ไม่อยากให้ใครเดียวดาย

Focus
  • LonelyPop : Lonely Together นิทรรศเดี่ยวครั้งแรกของ LonelyPop คาแรคเตอร์การ์ตูนโดย น้อยหน่า-สุริยา อุทัยรัศมี
  • LonelyPop เป็นโปรเจคต์ NFT ซึ่งมาจากคำว่า Lonely และ Population
  • การจัดแสดงครั้งนี้น้อยหน่านำศิลปะดิจิทัลมาผสานกับผลงานจริง ทั้งงานดิจิทัล NFT แคนวาส และประติมากรรม

Lonely ผ่านหน้าจอกันมานาน คงจะดีถ้าเรามีพื้นที่ได้มาเหงาด้วยกัน และจากจุดเชื่อมโยงความเหงาบนโลกออนไลน์ก็ได้เดินทางมาสู่พื้นที่จริง LonelyPop : Lonely Together นิทรรศเดี่ยวครั้งแรกของ LonelyPop คาแรคเตอร์การ์ตูนโดย น้อยหน่า-สุริยา อุทัยรัศมี อดีตนักเขียนการ์ตูนขายหัวเราะที่มีประสบการณ์บนสายการ์ตูนบนหน้ากระดาษมากว่า 20 ปี และกำลังจะกระโดดเข้าสู่โลกดิจิทัลอาร์ตด้วยความสดใสขึ้น

นิทรรศการ LonelyPop
นิทรรศการ LonelyPop

จากการวาดรูปฉบับ Profile Picture (PFP) ในทุกเช้าเพื่อส่งเสียงแทนคำว่า Good Morning! ช่วงปี 2022 น้อยหน่าต่อยอดสิ่งนี้ร่วมกับ 0xStudio ในการพาคาแรคเตอร์ลายเส้นอ่อนโยนและสีสดใสไปสู่โปรเจคต์ NFT ในชื่อ LonelyPop ซึ่งมาจากคำว่า Lonely และ Population 

“Lonelypop เริ่มมาจากโปรเจคต์ NFT ของเรา แต่ส่วนใหญ่เราต่างอยู่ในโลกที่ไม่ได้เจอหน้ากัน เราสื่อสารกันผ่านอินเทอร์เน็ต นิทรรศการนี้เลยอยากให้คนที่อยู่ที่บ้าน นั่งหน้าจอหรือเหงาอยู่คนเดียวได้ออกมาเจอกันโดยมีศิลปะเป็นสื่อกลาง ครั้งนี้เราเอาศิลปะดิจิทัลมาบวกกับผลงานจริง เลยมีทั้งงานดิจิทัล แคนวาส และประติมากรรมอยู่ร่วมกันทั้งหมด”

น้อยหน่า-สุริยา อุทัยรัศมี 
น้อยหน่า-สุริยา อุทัยรัศมี
นิทรรศการ LonelyPop

กลางห้องจัดแสดงที่ตั้งอยู่ชั้น 2 ของ True Digital Park West มีน้องอายะ (Aya) เด็กสาวตัวแทนความสดใสและ โคโค่ (Cocoa) สัตว์เลี้ยงที่พร้อมเป็นเพื่อนอยู่ข้างๆ ในยามเหงา รอให้ทุกคนได้เข้าไปทักทาย และไม่ใช่แค่ขนาด 160 เซนติเมตรที่นำมาจัดแสดงเท่านั้น สำหรับสายสะสมที่อยากมีน้องๆ คอยฮีลใจ ทั้งอายะและโคโค่มีฟิกเกอร์ขนาด 23 เซนติเมตรเปิดจองให้สะสมถึง 3 รูปแบบ ทั้งสีออริจินัล สีทองและลายหินอ่อน ผ่านช่องทางของ SASOM (สะสม)

นิทรรศการ LonelyPop

สำหรับใครที่มาชมนิทรรศการ ศิลปินแนะนำให้เริ่มเดินจากมุมขวาไปยังฝั่งซ้าย ซึ่งเปรียบได้กับการเดินทางจากโลกดิจิทัลที่จัดแสดงอยู่บนหน้าจอ ไล่เรียงมาจนถึงผลงานจริงที่จับต้องได้มากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่งานดิจิทัลปรินต์นับร้อยชิ้น ถึงภาพสีอะคริลิคที่วาดขึ้นใหม่สำหรับงานนี้จำนวน 4 ภาพ

“การวาดในรูปแบบ Profile Picture (PFP) ไม่มีพื้นที่ในการเล่าเรื่องยาวขนาดนั้น ต้องจบในภาพเดียว ไม่เหมือนกับขายหัวเราะที่ส่วนใหญ่เป็นการนำเสนอความคิดของเราออกมาอย่างไม่มีข้อจำกัดหรือสามารถเล่าเรื่องได้ครั้งละหลายหน้า แต่มันก็มีข้อดี เพราะเราเป็นคนชอบวาดอะไรรกๆ อยู่แล้ว (หัวเราะ) มันเป็นการเขียนระบายความในใจของเราในช่วงเวลานั้นเลย ซึ่งบางทีเราจะเขียนไม่ทันความคิด คนอื่นมาดูอาจไม่รู้ว่าเขียนว่าอะไร มีขีดทิ้งบ้างตอนที่เราไม่รู้สึกกับคำนั้นแล้ว แต่พอเราเองมาดูก็จะเห็นว่าตอนนั้นเรารู้สึกอย่างไรอยู่” น้อยหน่าเล่าถึงผลงานของเขาที่มักมีคำพูด คำทักทายหรือคำแสดงความรู้สึกประดับอยู่ในภาพเสมือนเครื่องแต่งกายของตัวละคร

แม้จุดแสดงหลักจะอยู่บริเวณฮอลล์ชั้น 2 แต่ทุกคนสามารถไปตามหาเหล่า LonelyPop ได้ถึง 12 จุดผ่านจอ LED ที่กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งชั้น 1 และ 2 แอบบอกว่ามีอุโมงค์ Lonely Pets อยู่บริเวณชั้น 2 ด้วยนะอย่าลืมไปหาและวิ่งไล่จับน้องกัน!

Fact File 

  • นิทรรศการ LonelyPop : Lonely Together จัดแสดงระหว่างวันที่ 30 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2566 เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 11:00-19:00 น. (เข้าชมฟรี)

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม