Light in Two Places นิทรรศการที่เชื่อมสองพื้นที่ย่านอารีย์ ด้วยศิลปะดอกไม้จัดวาง
Lite

Light in Two Places นิทรรศการที่เชื่อมสองพื้นที่ย่านอารีย์ ด้วยศิลปะดอกไม้จัดวาง

Focus
  • Light in Two Places นิทรรศการโดย บอล-นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ ที่ได้ร่วมมือกับเจ้าบ้านชาวอารีย์อย่าง People of Ari และ เพื่อนบ้านอารีย์ บอกเล่าถึงซอยศาสนา อีกหนึ่งพื้นที่ของย่านอารีย์ที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึง ผ่านศิลปะการจัดวางที่มีดอกไม้เป็นสื่อกลาง
  • ศิลปินเลือกใช้ดอกดาวเรืองในการบอกเล่า ด้วยสังเกตเห็นดอกดาวเรืองกระจายอยู่หลายจุดทั่วซอยศาสนา และในอีกด้านดอกดาวเรืองในมุมมองของศิลปินเหมือนเป็นการทำลายชนชั้นของทุกคน เพราะบ้านทุกชนชั้นต่างใช้ดอกดาวเรืองในการสื่อสารความเชื่อไม่ต่างกัน

หากพูดถึงย่านอารีย์ จังหวะแรกเราคงนึกถึงย่านฮิป ๆ ที่เต็มไปด้วยร้านน้อยใหญ่หลากหลายที่เราสามารถเดินเข้าออกได้ตลอดวัน แต่มากกว่านั้นในอีกด้านอารีย์ยังคงเป็นย่านที่มีเสน่ห์ในแง่ของผู้คนที่ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อน ความอารีย์ ผ่านมุมมองที่หลากหลายตามความถนัดและวิธีสื่อสารของตนเอง โดยมีจุดร่วมหนึ่งคือการเชื่อมโยง ไม่ว่าจะเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับย่าน ผู้คนกับผู้คน หรืออีกมุมหนึ่งคือการเปิดพื้นที่ให้ผู้คน ศิลปะและความสร้างสรรค์ได้เดินทางมาคอนเนคกัน

Yellow Lane Cafe
Yellow Lane Cafe
พื้นที่กลางแจ้งของ Yellow Lane Cafe ที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่และเป็นโซน Pet Friendly

เมื่อ Bangkok Design Week 2022 ที่ผ่านมา เราได้เห็นข่าวคราวของหน่วยกำลังหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังซีนศิลปะในอารีย์อย่าง People of Ari ที่กำลังปลุกปั้นพื้นที่ทางศิลปะใหม่ในซอยอารีย์ 1 แต่ระหว่างที่สเปซแห่งนั้นกำลังเป็นรูปเป็นร่างซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จราวเดือนกรกฎาคมนี้ People of Ari ก็ได้เริ่มต้นใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่าง Yellow Lane Cafe ในการรองรับกิจกรรมสร้างสรรค์มาตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2022

“ตอนนี้เราเป็นเหมือนคิวเรเตอร์ก่อน จริง ๆ ในอนาคตเรากำลังจะเปิดโรงละครที่เป็น Black Box เลยค่ะ เน้นศาสตร์ Performance Art แต่กำลังก่อสร้างอยู่ตรงกลางซอยอารีย์ 1 ตอนนี้เราเลยรู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้เองก็รองรับงานศิลปะหลาย ๆ แบบได้เหมือนกัน ที่เคยจัดมาจะมีทั้ง Sound Interactive Installation, Ari Weekend Market และจะมีจัดอยู่เรื่อย ๆ ตอนนี้ People of Ari เลยเป็นเหมือนผู้คน ยังไม่ได้เป็นสถานที่” ไพพ์เพอร์ สุธิราวุธ Theatre Curator และ Program Coordinator ของ People of Ari กล่าว

บอล นรภัทร
บอล-นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์

Light in Two Places คือชื่อนิทรรศการเล็ก ๆ ที่กำลังจัดขึ้นอยู่ตอนนี้ จากการชักชวน บอล-นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ ศิลปินที่ถ่ายทอดเรื่องราวโดยมีดอกไม้เป็นสื่อกลางมาร่วมโปรเจกต์ โดยงานนี้มี เพื่อนบ้านอารีย์ (Your Neighbor Ari) เจ้าบ้านย่านอารีย์มาซัปพอร์ตฝั่งข้อมูล

“ไอเดียตั้งต้นเกิดจากแสงด้านนอกช่วงบ่ายเมื่อตกกระทบผ่านหน้าต่างของ Yellow Lane จะสวยมาก เลยชวนคุณบอลมาชมสเปซที่นี่ ซึ่งจริง ๆ เป็นบ้านเก่าของตระกูลชุณหะวัณที่เปิดเช่าและรีโนเวตเป็นคาเฟ่ ถ้าทุกคนเดินเข้ามาในซอยราชครูจะเห็นว่าเป็นบ้านส่วนตัวหมดเลย เพราะฉะนั้นการที่พื้นที่ตรงนี้ได้มาเป็นพื้นที่สาธารณะ (Public Space) จึงมีความน่าสนใจเกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ ซึ่งเมื่อเราได้เจอเพื่อนบ้านอารีย์ที่รู้จักประวัติศาสตร์ของบริเวณรอบ ๆ เลยรู้ว่าไม่ใช่แค่ซอยราชครู แต่ซอยอารีย์สัมพันธ์ 1 อารีย์สัมพันธ์ 2 ซอยถัด ๆ ไป ทุกคนจะเห็นถึงระบบชนชั้นสมัยก่อน พื้นที่ละแวกนี้เป็นพื้นที่ของข้าราชการ ทหาร แล้วซอยถัดไปจะเป็นแม่ครัวบ้าง เสมียนบ้าง มีความชนชั้นของสมัยก่อนที่ส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ ฮามิช และ โจ้ จากเพื่อนบ้านอารีย์เลยชวนบอลไปเดินดูพื้นที่รอบ ๆ แล้วมาต่อยอดกัน” ไพพ์เพอร์เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้น

บอล ณรภัทร

ซอยศาสนา คือพื้นที่ที่ศิลปินเลือกนำมาบอกเล่าผ่านนิทรรศการ ด้วยสังเกตเห็นว่าแม้จะอยู่ห่างออกไปไม่ไกลแต่กลับแสดงให้เห็นถึงชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง ต่างจากอารีย์ที่ผู้คนส่วนมากเคยรู้จัก 

“ผมมองว่าผมเป็นคนนอก ผมอยู่บางแค การที่ผมอยากพูดถึงพื้นที่อื่นเราต้องมีคนในพื้นที่อย่างไพพ์เพอร์ ฮามิสและโจ้ มาปรึกษาพูดคุยกัน ผมอยากให้ทุกอย่างผสมรวมกันจนทำให้เกิดงานชิ้นนี้ เราอยากให้มีส่วนหนึ่งของเรามาอยู่ในงานชิ้นนี้ด้วยผ่านการพูดถึงพื้นที่สองพื้นที่และมีบ้านผมผสมอยู่ด้วยเหมือนกัน

“พอเราได้ไปเดินกับฮามิสและโจ้ เราได้เห็นทุกอย่างมากขึ้น ได้เห็นว่ามีพื้นที่ที่เหมือนบ้านเรามากเลย คนอาจจะสงสัยว่าบอลรู้สึกอย่างไรที่เห็นพื้นที่ตรงนี้ เขาอาจจะคาดหวังว่าเรารู้สึกแปลกใจ แต่เรากลับรู้สึกอบอุ่นเพราะซอยศาสนาเหมือนบ้านเรามาก บ้านเราก็เป็นตึกแถวเหมือนกันและเรารับรู้ได้เลยว่ายังมีอีกหลายคนที่เขายังไม่เคยไป ผมเองอย่างมากก็จะเดินผ่านแค่ซอยนี้ ไม่เคยเดินไปถึงตรงนั้นเลย พอเราได้ไปเห็นเราก็รับรู้ได้ว่าคงจะดีถ้าเราเอาซอยศาสนามาอยู่ในซอยอารีย์ได้” บอลเล่าถึงไอเดียของนิทรรศการที่ใช้ระยะเวลาทั้งหมดราวสองเดือน

Light in two places
Light in two places

จากสายตาผ่านมุมมอง ภาพถ่าย สู่ภาพสเก็ตช์ จนถึงดอกดาวเรืองที่ศิลปินเลือกใช้เป็นตัวแทนของแสงแดดที่ทอดเงาตกกระทบจากหน้าต่างตึกแถวในซอยศาสนามาทอดทับกับแสงเงาบนพื้นที่จัดแสดงในซอยราชครู บอลมองว่าแม้ดอกไม้อาจไม่ใช่สิ่งที่อยู่คงทน แต่อย่างน้อยที่สุดชั่วระยะเวลาหนึ่งซอยศาสนาก็ได้มีคนรู้จักมากขึ้น 

“ผมใช้ดอกดาวเรืองเพราะดอกดาวเรืองเป็นดอกไม้ที่ผมเจอหลายจุดในซอยศาสนา ส่วนตัวผมไม่ได้อิง The Language of Flower สักเท่าไร เพราะรู้สึกว่าดอกไม้สำหรับแต่ละคนแตกต่างกัน อย่างผมเห็นดอกเฟื่องฟ้ามาตั้งแต่เด็ก เฟื่องฟ้าสำหรับผมเลยไม่ใช่ดอกไม้ที่อาจจะสื่อถึงความรัก แต่มันคือวัยเด็กที่ผมมีกับมัน ดอกไม้ที่เราใช้เลยเป็นความหมายจากการที่ตัวผมมีประสบการณ์กับมันมาตั้งแต่เด็กจนโต อย่างดอกดาวเรืองคนจะรู้สึกว่าเป็นดอกไม้ที่เอาไว้ไหว้พระ เช่นเดียวกันกับซอยศาสนา สิ่งที่ผมเห็นคือพวงมาลัยดอกดาวเรืองที่ถูกแขวนเอาไว้ในบ้านทุกชนชั้น ไม่ว่าจะเป็นอะพาร์ตเมนต์ ร้านขายส้มตำหรือแม้แต่ต้นไทร ผมเลยรู้สึกว่าคนทุกรูปแบบจะมีความเชื่อเหมือนกันและใช้ดอกดาวเรืองหรือพวงมาลัยเป็นเหมือนตัวกลางส่งผ่านความรู้สึก ผมเลยมองว่าดอกดาวเรืองสำหรับผมในงานชิ้นนี้เหมือนเป็นการทำลายชนชั้นของทุกคน เพราะทุกคนต่างมีความเชื่อในมันคล้าย ๆ กัน

Light in two places

“คนในพื้นที่อารีย์เองหลังจากได้เห็นข้อมูลของซอยศาสนาแล้วก็มีการพูดคุยเกิดขึ้นมากมายเหมือนกันว่าพื้นที่ตรงนี้มีอะไรเป็นจุดที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ บางคนก็เคยไปกินข้าวที่นั่น คนในซอยก็เคยมาที่นี่เหมือนกัน เราเลยรู้สึกว่าอารีย์ไม่ใช่แค่ช่วงพื้นที่ตรงนี้ แต่เป็นกลุ่มคนที่เชื่อมโยงกันหมดเลย โดยมีประวัติศาสตร์ในแบบของเขาเอง”

Light in Two Places จะจัดขึ้นจนถึงวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2565 นี้ ซึ่งทุกสัปดาห์ตลอดระยะเวลาจัดนิทรรศการ บอลจะเปลี่ยนการจัดวางดอกไม้เพื่อให้ซอยศาสนาได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้มากที่สุด ซึ่งผู้ชมจะได้เห็นการจัดวางที่อิงจากตึกแถวสามหลัง ส่วนในด้าน People of Ari นอกจากนิทรรศการครั้งนี้ก็ยังคงเดินหน้าคอนเน็กต์ผู้คนและความสร้างสรรค์ในแบบที่ตนเชื่อ

Light in two places

“เรารู้สึกว่างานศิลปะต้องคุยหรือสื่อสารกับคน เราจะคิดถึงเด็กตลอดว่าถ้าเด็กมาดูเขาจะ Appreciate พาร์ตไหน สมมติดอกไม้เขาก็น่าจะมีจินตนาการร่วมได้บางอย่าง ซึ่งอาจจะไม่ได้ซับซ้อนมากในการทำออกมา แต่วิธีการคิดต้องผ่านกระบวนการหลายอย่างที่จะทำให้คนรู้สึกว่าสามารถเข้าไปเล่นได้ เดินดูใกล้ ๆ ได้โดยไม่ได้รู้สึกว่าเข้าถึงยากจัง เช่นงานซาวนด์ที่ผ่านมาจะเป็นอะไรที่เราชอบกันเองมาก คือเราทำเป็นสเตชันในสวน 4 สเตชันโดยที่คนมาดูสามารถเล่นได้โดยการเอาใบไม้เข้าไปเสียบแล้วมันจะเกิดเสียง มันเลยเป็นงานแบบที่เราอยากทำออกมาเรื่อย ๆ เพื่อให้คนสามารถมีส่วนร่วมได้และไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองมีกำแพงกับงานศิลปะขนาดนั้น” ไพพ์เพอร์กล่าวปิดท้ายเมื่อเราถามถึงศิลปะในนิยามของ People of Ari 

“เราอยากให้คนอยากเข้าใจและเป็นส่วนหนึ่งกับมัน ยิ่งถ้า Interact ได้ด้วยและเห็นผลจริง ๆ ตอนนั้น เรายิ่งรู้สึกว่าสิ่งนั้นคือศิลปะแบบที่เราต้องการจะสื่อสารออกไปจริง ๆ เราจะมี Music Live Session ด้วย คือเราสนับสนุนวงอินดี้และวงอิสระในไทย เราจะทำ Live Session กับเขาเพื่อให้คนเปิด Music Appreciation มากขึ้น เพราะพอพูดถึงวงแนวนี้คนอาจจะรู้สึกว่าไม่เข้าใจ เราเลยอยากเป็นอีกสื่อหนึ่งที่ลองโปรดิวซ์กัน ถ้าเกิดคุณชอบคุณสามารถตามได้เลย แต่หากไม่ชอบก็ไม่เป็นไร เราเรียนรู้ไปด้วยกันว่าอันไหนใช่หรือไม่ใช่จริตเรา” 

Fact File 

  • นิทรรศการ Light in Two Places จัดขึ้นบริเวณชั้น 2 ของ Yellow Lane Cafe ซอยอารีย์ 1 (เข้าชมฟรี) ตั้งแต่วันนี้ – 27 มีนาคม พ.ศ.2565 เวลา 10.00-17.00 น. 
  • Google Map: bit.ly/3i4SaUq 
  • ติดตามความเคลื่อนไหว People of Ari: www.facebook.com/peopleofaribkk 
  • ติดตามผลงานของบอล-นรภัทร : www.naraphatsakarthornsap.com 
  • ติดตาม เพื่อนบ้านอารีย์ : www.facebook.com/yourneighborari

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว