ปล่อยก็ร้าว แตะก็แตก : นิทรรศการแด่ความเปราะบางของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย
Lite

ปล่อยก็ร้าว แตะก็แตก : นิทรรศการแด่ความเปราะบางของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย

Focus
  • ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ ศิลปินหญิงไทยเจ้าของนิทรรศการสื่อประสม ปล่อยก็ร้าว แตะก็แตก : Leave It and Break no Hearts
  • ปล่อยก็ร้าว แตะก็แตก พาผู้ชมเดินทางไปสำรวจมิติทางประวัติศาสตร์ที่เหมือนจะถูกเก็บซ่อนพับไว้ในหน้าบันทึกความทรงจำของประเทศไทย
  • ภาพตะวัน เป็นบุตรสาวของอดีตหนึ่งในศิลปินบรมครูในตำนานหน้าพระลานอย่าง ท่านกูฏ หรือ ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ

สำหรับประเทศไทย อนุสาวรีย์ อาจถือว่าเป็นผลพวงจากการรับเอาอารยธรรมตะวันตกในยุคสยามใหม่ จำนวนอาจไม่มากเมื่อเทียบกับบางประเทศ แต่ก็มีไม่น้อย และมีหลายชิ้นอีกเช่นกันที่ชวนให้พินิจพิเคราะห์ถึงบทบาทและที่มา

ประติมากรรม 2 ชิ้น แนวสื่อประสมและอินสตอลเลชันอาร์ต (Installation Art) ของ ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ ศิลปินหญิงไทยที่กำลังจัดแสดงที่มูลนิธิ 100 ต้นสนอยู่ในขณะนี้ ได้สำรวจประเด็นนี้อย่างแยบคาย ภาพจำที่คุ้นตาของสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองภาพหนึ่งถูกทำให้เลือนราง ก่อนที่จะนำไปสู่การทบทวนประสบการณ์จากการเดินทางครั้งหนึ่งของศิลปิน ณ ดินแดนที่ราบสูง ในวันที่แสวงหาความแจ่มชัดของเนื้อหาเบื้องหลังอนุสาวรีย์นั้น

ปล่อยก็ร้าว แตะก็แตก
ปล่อยก็ร้าว แตะก็แตก

Sarakadee Lite ขอพาไปสัมผัสผลงาน และที่มาของผลงานศิลปะภายใต้ชื่อนิทรรศการ ปล่อยก็ร้าว แตะก็แตก : Leave It and Break no Hearts ของภาพตะวันถึงจุดกำเนิดของการสร้างงาน ประหนึ่งเป็นการเดินทางไปสำรวจมิติทางประวัติศาสตร์ที่เหมือนจะถูกเก็บซ่อนพับไว้ในหน้าบันทึกความทรงจำของประเทศบ้านเกิดของตัวภาพตะวัน ผู้เป็นบุตรสาวของอดีตหนึ่งในศิลปินบรมครูในตำนานหน้าพระลานอย่าง ท่านกูฏ (ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ หนึ่งในศิลปินหัวก้าวหน้าจากในช่วงแรกก่อตั้งของคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร)

ภาพผ้าโปร่งแต่ไม่ใสและไม่ชัดเจน : งานติดตั้งแนวใหม่ที่พร้อมจะรื้อถอนความคิดเก่า

ณ ห้องสี่เหลี่ยมสีขาว (white cube) อันแสนคุ้นตาของคองานทัศนศิลป์มากว่า 20 ปีแถบหลังสวน งานของภาพตะวันดูละมุนละไมด้วยวัตถุดิบอย่างผืนผ้า แต่กลับสร้างความฉงนกับผู้ชมด้วยเนื้อหาที่ร้อนแรงหากได้เพ่งพินิจ

ชิ้นงาน  “ไหลทบท่วม นิ่งทรง อยู่ตรงนั้น” (And the Water Had Reached the Plateau) ทักทายผู้เข้าชมทางด้านขวามือของห้องแกลเลอรีด้วยแผ่นผ้าโปร่งบางผืนดำหลายผืนมาวางทับไปมาบนฐานสูงต่ำกว่าเอวเล็กน้อย แต่ละชิ้นแสดงภาพโพรไฟล์ภาพบุคคลสีขาวพอให้เดาได้ว่าน่าจะเป็นรูปเหล่าวีรบุรุษวีรสตรีนักรบไทยที่พร้อมสู้รบกับศึกสำคัญสักศึกหนึ่ง

ปล่อยก็ร้าว แตะก็แตก

ด้านในสุดของผนังห้องคือชิ้นงาน “ปล่อยก็ร้าว แตะก็แตก” Leave It and Break No Hearts ชื่อเดียวกับนิทรรศการคู่ครั้งนี้ นำเสนอภาพวาดสีอะคริลิกบนเพล็กซิกลาส (Plexiglass) สี่เหลี่ยมในขนาดต่างกัน วางลดหลั่นกันไปบนฐานแท่นสี่เหลี่ยมดูประหนึ่งเป็นแท่นบูชาขนาดใหญ่ หลายชิ้นเป็นแผ่นเปล่าหรือมีสีขุ่นขาว แต่ส่วนใหญ่เป็นภาพวาดที่พอจะจับได้ว่าภาพหนึ่งเป็นรูปท้าวสุรนารี หรือย่าโม วีรสตรีในตำนานของโคราช ส่วนอีกภาพคือนางสาวบุญเหลือ ที่เล่าขานกันว่าเป็นวีรสตรีอีกท่านที่รบกับผู้ที่เชื่อกันว่าเป็นผู้รุกรานจากประเทศเพื่อนบ้าน สู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับย่าโมจนเสียชีวิต

ทั้งสองชิ้นงานต่างโยงใยกับอนุสรณ์สถานวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ที่เพิ่งสร้างใน พ.ศ.2531 เพื่อหวนระลึกถึงวีรกรรมของชาวโคราช ซึ่งมีการจัดงานรำลึกทุกวันที่ 4 มีนาคมของทุกปี แต่ทำไมศิลปินที่มีพื้นเพมาจากจิตรกรรมแนวประเพณีไทยอย่างภาพตะวัน ถึงกลับนำเสนอภาพอนุสาวรีย์ร่วมสมัยที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของอีสานอย่างแหว่งวิ่น จางเบลอ และไม่เป็นภาพจำลองอันสมบูรณ์เช่นนี้ด้วยเล่า

ปล่อยก็ร้าว แตะก็แตก

การเดินทางสู่ปริศนา ณ ดินแดนที่ราบสูง

จุดเริ่มต้นของผลงานเกิดขึ้นเมื่อพ.ศ. 2557 ภาพตะวันได้ไปใช้ชีวิตเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ช่วงหนึ่งที่ Sam Rit Residency สถานที่พำนักสำหรับศิลปินเพื่อการผลิตงานศิลปะ กลางชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ที่ตำบลสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

“เป็นการค้นพบเจอโดยบังเอิญโดยไม่ทราบมาก่อนว่ามีสิ่งสำคัญอยู่ใกล้ พอหลังจากใช้เวลาอยู่ได้ไม่กี่วัน ก็ได้ยินแต่เสียงบวงสรวงสักอย่างดังเป็นระยะ จึงเดินทางด้วยเท้าเปล่าไปสำรวจว่ามันคืออะไรจึงได้พบว่านอกจากปราสาทหินขอมที่เลื่องชื่อแล้ว อำเภอพิมายที่พักอยู่ ยังมีอนุสาวรีย์ที่ถือได้ว่าเป็นหมุดหมายที่สื่อถึงความสำคัญของย่าโมอีกจุด นอกเหนือจากอันที่อยู่กลางเมืองโคราช” ศิลปินหญิงที่ย้ายถิ่นพำนักไปยังออสเตรเลียแต่ยังคงกลับมาเยือนแผ่นดินเกิดอยู่ตลอดทบทวนให้ฟัง

ปล่อยก็ร้าว แตะก็แตก
อนุสาวรีย์ย่าโม
ปล่อยก็ร้าว แตะก็แตก
อนุสรณ์สถานวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์

อนุสรณ์สถานวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ คือชื่อที่ใช้เรียกขานสิ่งก่อสร้างกลางทุ่งนาชิ้นนั้น เสียงที่ภาพตะวันได้ยินมาจากการแสดงเพลงโคราชเพื่อเป็นการแก้บน จากชาวบ้านที่มาบนบานศาลกล่าวต่อศาลนางสาวบุญเหลือ ที่เชื่อว่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง

หลังจากนั้นก็กลายเป็นจุดกำเนิดของเหล่าคำถามชุดใหญ่ในใจศิลปิน การสู้รบเกิดขึ้นพิกัดไหนของบริเวณอนุสรณ์สถานวีรกรรม หลักฐานบ่งชี้มีจัดแสดงให้เห็นในพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ติดใกล้กันหรือไม่ทำไมถึงมีการแสดงเพลงโคราชหน้าศาลนางสาวบุญเหลือ ธรรมเนียมต่าง ๆ เช่นการเปลี่ยนชุดเสื้อผ้าของรูปปั้นเหล่าวีรบุรุษวีรสตรีที่มีประกอบการบวงสรวงทุกปีถูกริเริ่มหลังอนุสาวรีย์สร้างเสร็จได้อย่างไร

มองในแง่หนึ่ง เหตุการณ์ครั้งนี้เหมือนกับได้จัดเตรียมไว้ให้ศิลปินหญิงที่ผันตัวจากการผลิตงานแนวจิตรกรรมไทยประเพณีไปสู่เชิงแนวคิด (Conceptual) อย่างภาพตะวันได้สัมผัส เพื่อจะกลั่นกรองออกมาเป็นงานอินสตอลเลชันอาร์ตชิ้นนี้ แต่ในอีกแง่ ก็เป็นผลพวงของความเป็นศิลปินวัยกลางคนที่แม้ไม่ได้ผ่านโรงเรียนศิลปะในระดับพื้นฐาน แต่ช่ำชองด้วยชั่วโมงบินจากการร่วมทำงานกับบิดา จนสามารถนำสิ่งที่พานพบมาร้อยเรียง

ไม่เพียงแต่ภาพจำจากอนุสรณ์สถานภาพตะวันยังได้นำเสียงมาร้องเพลงโคราช ณ สถานที่ที่เธออัดบันทึกประกอบ และยังนำสมุนไพรที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการทำงานระหว่างพำนักที่นั่นมาเติมแต่งชิ้นงานที่กำลังจัดแสดงอีกด้วย

“งานชิ้นที่ทำออกมา พอทำเสร็จแล้ว ก็ไม่กล้าให้คนในพื้นที่ดูเหมือนกัน บางคำถามเราก็ต้องละเว้นที่จะเสวนากับคนรอบข้าง แต่ก็อดที่จะนำคำถามเหล่านั้นมาถกต่อไม่ได้” ภาพตะวันทิ้งท้าย

ข้อมูลนิทรรศการ

ปล่อยก็ร้าว แตะก็แตก : Leave It and Break No Hearts นิทรรศการคู่ของศิลปินต่างเพศและต่างวัย ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ และ สมัคร์ กอเซ็ม (ที่นำเสนองานในประเด็นคล้ายกันแต่ต่างบริบท โดยมุ่งไปยังที่เนื้อหาด้านความเป็นชายขอบอย่าง เควียร์ (Queer) มุสลิม และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่เขาถนัด) โดยได้ภัณฑารักษ์ระดับสากลอย่างแพทริค ฟลอเรซ (Patrick Flores)

ภาพประกอบ : มูลนิธิ 100 ต้นสน

Fact File

  • ปล่อยก็ร้าว แตะก็แตก : Leave It and Break No Hearts จัดแสดงถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 ณ มูลนิธิ 100 ต้นสน
  • มูลนิธิ 100 ต้นสน ตั้งอยู่ซอยต้นสน ถนนเพลินจิต กรุงเทพฯ เปิดทำการระหว่างวันพฤหัสบดี-วันอาทิตย์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.100tonsonfoundation.org โทรศัพท์ 02- 010-5813

Author

ภัทร ด่านอุตรา
อดีตผู้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และหลังกระดานดำ (ของจริง) ที่ผันตัวมาอยู่ในแวดวงการจัดการศิลปวัฒนธรรมแบบผลุบๆ โผล่ๆ ชอบบะจ่างกวางตุ้งบางรัก และ The Poetics ของ Aristotle เป็นชีวิตจิดใจ