มิวเซียมโคตรทหาร ประวัติศาสตร์ทหารหาญที่ถูกเล่าผ่านคอลเล็กชันของสะสม
- พันตรีปิยะเจตน์ มีเดช ผู้ก่อตั้ง มิวเซียมโคตรทหาร จากความชอบสู่การสะสมและศึกษาประวัติศาสตร์ทหาร กลายเป็นคลังความรู้ที่มากกว่าตำราทหาร
- บรรดาสิ่งของสะสมที่เสธอาร์มได้ตกมาถึงมือล้วนมีความหลากหลายของประเภทเป็นอย่างมาก กลุ่มที่ดูแลยากที่สุดคือเสื้อผ้ากับเอกสารกระดาษที่ชำรุดและผุกร่อนง่าย
คงไม่มีใครคาดคิดว่าบนชั้น 3 ของอาคารสำนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในย่านชานเมืองเส้นนวมินทร์ กรุงเทพฯ จะเป็นที่เก็บรักษาประวัติศาสตร์บทสำคัญหลายต่อหลายหน้าของการทหารไทย แม้สิ่งที่จัดแสดงในห้องส่วนตัวแห่งนี้ที่เรียกว่า มิวเซียมโคตรทหาร จะไม่ใช่อดีตยุทธโปกรณ์ชั้นสูง หรือวีดิทัศน์รวบรวมภาพการรบย้อนยุคอย่างที่มักพบเห็นตามพิพิธภัณฑ์การทหารชั้นดีในต่างประเทศ แต่บรรดาของชิ้นเล็กชิ้นน้อยอย่างเหรียญตรา เครื่องแบบ หมวก ธงประจำหน่วยงาน อาวุธ ตลอดจนภาพถ่ายและเอกสารหลายชิ้น ที่ พันตรีปิยะเจตน์ มีเดช เจ้าของสถานที่ได้รวบรวมเอาไว้ สร้างคุณค่าให้กับสถานที่เกินกว่าที่จะเรียกแค่ว่าเป็นห้องเก็บของสะสมส่วนตัว
มิวเซียมโคตรทหาร คือชื่อที่อดีตข้าราชการทหารกองทัพบกในวัยปลาย 30 ผู้นี้ใช้เรียกห้องจัดแสดงของเขา หลายชิ้นไม่ใช่แค่งานโลหะ เครื่องหนัง หรือปักเย็บแบบธรรมดา แต่เข้าขั้นงานฝีมือขั้นสูง ทั้งจากในและต่างประเทศ รูปถ่ายและเอกสารหลายแผ่นก็มีคุณค่าไม่แพ้วัตถุตามหอจดหมายเหตุในยุคที่พิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของเอกชนเติบโตกันไม่น้อย มิวเซียมเอกชนที่เล็กกะทัดรัดแห่งนี้ได้มีส่วนช่วยเติมเต็มสิ่งที่หายไปในสังคมไทย ทั้งทางด้านการทหาร ประวัติศาสตร์สังคม งานหัตถศิลป์ Sarakadee Lite ขอพาบุก มิวเซียมโคตรทหาร ยลกลุ่มของสะสมทางเลือกผ่านตัวอักษรและรูปถ่าย ที่ไม่เพียงแต่แฝงความองอาจแต่อุดมด้วยเรื่องราวเบื้องหลังที่รอให้ค้นคว้าและสืบเสาะ
ด้วยใจรักและสมัครเล่น
“นอกจากการออกแบบที่ไม่เหมือนใคร หรือการต้องบ่งบอกยศตำแหน่ง สังกัดกรมกอง หรือวาระที่ผลิตแล้ว เอกลักษณ์ของของสะสมแนวทหารทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพิธีการ หรือยามออกรบ ก็ยังมีคุณสมบัติที่ต้องทนทาน สะท้อนความเข้มแข็ง เท่ห์ และขลังในแบบของทหาร ไม่นับเรื่องราวประวัติศาสตร์เบื้องหลังของแต่ละหน่วย แต่ละยุทธภูมิ”พันตรีปิยะเจตน์ที่คนในวงการนักสะสมเรียกกันในชื่อเล่นว่า เสธอาร์ม ให้ข้อสังเกต
บรรดาสิ่งของสะสมที่เสธอาร์มได้ตกมาถึงมือล้วนมีความหลากหลายของประเภทเป็นอย่างมาก กลุ่มที่ดูแลยากที่สุดคือเสื้อผ้ากับเอกสารกระดาษที่ชำรุดและผุกร่อนง่าย แต่โดยส่วนตัวเสธจะชอบจำพวกหนังไม้และโลหะมากกว่า ซึ่งแต่ละชนิดก็มีวิธีการดูแลรักษาที่แตกต่างกันไป อย่างเครื่องหนังก็ต้องคอยใช้ไขมันปลาวาฬเช็ด ไม้ต้องลงขี้ผึ้งเป็นระยะ ส่วนเหล็กก็ต้องเคลือบน้ำยากันสนิม
“ชิ้นหนึ่งที่ผมภูมิใจมากที่สุดคือเครื่องหมายจอมพลทัพเรือไทยเนื้อเงินน่าจะผลิตก่อน พ.ศ.2475 และมีไม่กี่ชุด ผมไปเจอที่ห้างพันธุ์ทิพย์สองในราคาแค่ 500 บาท ดูจากเนื้องานและวัสดุก็ไม่น่าจะพลาดผมจะมีกลุ่มผู้รู้ที่คอยช่วยตรวจสอบ ผสมอาศัยเทียบกับรูปถ่ายเก่าๆ บ้าง”
เทียบกับของสะสมของเก่าสายอื่นๆที่มีพระเครื่องเป็นตลาดใหญ่สุด ถัดมาอาจเป็นเครื่องกระเบื้องลายคราม หรือของเก่าเจ้านาย หรือเทียบกับสายรองอื่นๆอย่างเฟอร์นิเจอร์ แสตมป์ จดหมาย เหรียญ ฯลฯ สายของสะสมทหารเพิ่งจะมาเป็นกระแสได้ไม่กี่ปี เมื่อก่อนคนที่ครอบครองหรือทายาทที่ได้รับของตกทอดอาจไม่รู้คุณค่า แต่พอกลุ่มสะสมของทหารเริ่มโตขึ้น ก็เริ่มมีการปล่อยของสะสมด้านการทหารกันมากขึ้น
“ในต่างประเทศสะสมกันเยอะและมีมานานแล้ว หาก็ง่ายกว่า ในฐานะเป็นคนไทยก็คิดว่าควรสะสมของไทยก่อน แต่ก่อนเราอาจจะเห็นของพวกนี้อยู่ตามมุมเล็กๆ หรือในตู้ ของร้านขายชุดทหารเก่า ตามจตุจักร หรือตลาดขายของเก่าอื่นๆ ซึ่งเทียบกับสายอื่นแล้ว มีกลุ่มเฉพาะ และราคาไม่ได้สูงมาก ของปลอมก็ยังไม่เยอะด้วย”
จากสะสม สู่ศึกษา
นอกจากตัว มิวเซียมโคตรทหาร แล้ว พันตรีปิยะเจตน์ยังมีแฟนเพจ โคตรทหาร และ ทหารศิลปะ เป็นช่องทางที่ใช้นำเสนอของสะสมของเขาในแต่ละคอลเล็กชัน รวมถึงนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การทหารไทยในอดีตอีกด้วย ทั้งนี้เกิดจากความสนใจส่วนตัวของเขาเองตั้งแต่ครั้งยังเรียนโรงเรียนเสนาธิการทหารที่ทำให้ได้มีโอกาสศึกษาประวัติศาสตร์ยุทธการต่างๆ ของทหารไทยอย่างจริงจัง หลังจากที่ได้ผลิตงานเขียนมาได้สักระยะหนึ่ง เพื่อนๆ ก็ผลักดันให้เขาเขียนอย่างเป็นเรื่องราว
“แม้ว่าผมจะจบจากโรงเรียนนายร้อยจปร. และเคยผ่านมาหลายสังกัดกรมกอง แต่เพิ่งมาสนใจประวัติศาสตร์การทหารไทยอย่างจริงจังในช่วงหลังนี้เอง โดยเฉพาะภายหลังออกจากราชการทหาร เพราะมีเวลามากขึ้นประกอบกับความเป็นคนชอบสะสมของเก่า ยอมรับว่าการเป็นอดีตข้าราชการทหารทำให้มีโอกาสในการเข้าถึงพื้นที่ บุคคล รวมถึงทำให้มีมุมมองลึกกว่าพลเรือนทั่วไป”อดีตทหารที่ปัจจุบันเป็นนักสะสมอย่างเสธอาร์มย้อนรอยเส้นทางความเป็นนักประวัติศาสตร์การทหารไทยของตนเอง
“ผมทำเพจโคตรทหารมาตั้งแต่ปี 2561โดยมียอดไลก์พอสมควร หลังจากนั้นก็มาทำเพจทหารศิลปะอีกเพจได้สักเมื่อราวต้นปี 2565 เพื่อนำเสนอชิ้นที่สวยงามโดดเด่น กึ่งเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนปล่อยของ เป็นกึ่งหน้าร้านโชว์ของและระบายของด้วย ทำให้บางชิ้นอาจไม่มีแคปชันเพราะยังสืบที่มาที่ไปไม่ได้รวมถึงมีงานพลเรือนเข้ามาปนบ้าง”
ส่องอดีตผ่านตราอาร์ม ธงชัย และไกปืน
สมัยเรียนปริญญาโทที่อังกฤษ เสธอาร์มเองได้เห็นถึงความสำคัญของพิพิธภัณฑ์การทหารของที่นั่น ที่มีทั้งส่วนจัดแสดงและห้องสมุดค้นคว้าที่ให้สาธารณชนเข้าไปศึกษาได้ ซึ่งของไทยเองยังมักอยู่แค่ในส่วนห้องจัดแสดงเฉพาะตามบางหน่วยงานเท่านั้น และมักจะเปิดเป็นบางเวลา หรือต้องทำจดหมายในการขอเข้าใช้ที่ที่ใกล้เคียงมาตรฐานสากลมีอยู่เพียงไม่กี่หน่วยงาน ที่โดดเด่นสุดน่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศอุปสรรคหนึ่งก็คือการเปิดปิดที่จำกัดเวลา และขั้นตอนในการขอเข้าเยี่ยมชมหรือใช้บริการ
“จริงๆ หน่วยทหารเองมีกฎระเบียบว่าต้องมีห้องสมุดและหน่วยเก็บรักษาของสะสมอยู่แล้ว ซึ่งมีบุคลากรจำนวนหนึ่งจบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์โดยตรง และที่จบด้านการทหารมาแต่มีความสนใจด้านนี้เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งหลายหน่วยงานในไทยก็เริ่มมีการพัฒนากิจการด้านนี้”
นอกเหนือจากบทบาทนักสะสมและนักประวัติศาสตร์นอกรั้ว เจ้าของเพจโคตรทหารยังเป็นหัวหน้ากลุ่มนักจำลองประวัติศาสตร์ผ่านเครื่องแบบทหารในชื่อเดียวกัน โดยสมาชิกกลุ่มโคตรทหารมาจากคนรุ่นใหม่ บ้างก็เป็นผู้ติดตามแฟนเพจเองมาก่อน บ้างก็เริ่มจากการเป็นนักคอสเพลย์ (cosplay) เครื่องแบบทหาร ซึ่งมักจะเริ่มต้นจากความนิยมในชุดทหารญี่ปุ่นตามกระแส เนื่องจากความเท่ห์ของชุดและญี่ปุ่นมีความใกล้ชิดกับประเทศไทย และค่อยๆ หันมาสนใจชุดของทหารไทย ซึ่งเสธอาร์มก็สนับสนุนในการหาเวทีสาธารณะให้สมาชิกได้แสดงออก ซึ่งมีพัฒนาการจากการนำเสนอเพียงเครื่องแบบเครื่องแต่งกายมาสู่เรื่องราวด้านยุทธศาสตร์ เทคนิคการรบ การจัดกำลังรบ ไม่นับภาคีกลุ่มที่มีความสนใจเดียวกันแต่เจาะยุคสมัยต่างกันหรือจับแนวเนื้อหาทหารของชาติอื่นๆที่มักร่วมกิจกรรมกันเป็นระยะๆ
“ผมมักย้ำกับพวกน้องๆในกลุ่ม ผลักดันให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้พยายามไปศึกษาแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง และให้เครดิตอ้างอิงเวลาเขียนอะไร ปัจจุบันมีแหล่งอ้างอิงประวัติศาสตร์การทหารไทยในทางวิชาการอยู่พอสมควร แม้อาจจะเทียบกับต่างประเทศไม่ได้ในแง่ของการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะด้วยปัจจัยด้านความมั่นคงแต่ก็สามารถเปิดเผยได้ระดับหนึ่งถึงยุคสมัยหนึ่งอย่างน้อยก็ช่วงก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2”
เสธอาร์มของน้องๆ นักจำลองประวัติศาสตร์ทหารกล่าวไว้ และน่ายินดีว่าจากการที่อดีตข้าราชการทหารผู้นี้พาพวกสมาชิกรุ่นเยาว์ไปออกกิจกรรมตามกรมกองบ่อยครั้งขึ้น ทำให้กลุ่มโคตรทหารของเขาได้รับการยอมรับจากหน่วยงานทหารมากขึ้น เรียกได้ว่าถึงหูถึงตาระดับผู้บัญชาการกองทัพบกแล้ว
ก่อนเก็บเครื่องแบบ
เมื่อกลางปี 2565 ที่ผ่านมา เสธอาร์มได้ร่วมมือกับเพื่อนฝูงในแวดวงสะสมของเก่า เปิดหน้าร้านร่วมกับอีกสามร้าน อยู่ที่บริเวณชั้น 2 ของตึกแดง จตุจักร โดยเปิดทุกศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์เป็นหลัก การมีหน้าร้านทั้งทางออนไลน์และร้านจริง ทำให้เขาได้มีโอกาสเจอข้าวของและเอกสารทางประวัติศาสตร์มากขึ้น
ในปัจจุบัน มิวเซียมโคตรทหาร ยังเป็นที่รู้จักในวงแคบ แต่ก็ยินดีบริการให้กับผู้ที่สนใจมาเยี่ยมชมได้โดยไม่คิดบริการ เพียงแต่ต้องทำการนัดหมายล่วงหน้าซึ่งสามารถติดต่อโดยตรงในทางแฟนเพจ อย่างไรก็ตามสามารถติดตามของสะสมในคอลเล็กชันได้ในเพจทหารศิลปะและเพจโคตรทหารที่เน้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ รวมถึงติดตามกิจกรรมที่ทางเพจและกลุ่มภาคีมักจัดให้ความรู้กับสาธารณชนเป็นระยะ
หลังจากดำเนินสถานะความเป็นนักประวัติศาสตร์การทหารไทยสมัครเล่นนอกกรมกองได้มาสักระยะ ก็เริ่มมีคนเข้ามาขอความรู้จากพันตรีปิยะเจตน์ เริ่มมีหน่วยงานเข้ามาขอคำปรึกษา รวมถึงมีโครงการผลิตหนังสือประวัติของหน่วยงานต่างๆ แต่ส่วนตัวของเขาเองมองว่าถ้าจะผลิตสิ่งพิมพ์ทำนองนี้ออกมาควรจะสะท้อนมิติทางประวัติศาสตร์อย่างครบถ้วนจะดีที่สุด อย่างไรก็ตามเขาและเพื่อนนักสะสมสายของทหารก็ฝันว่าจะออกหนังสือแสดงของที่พวกเขาสะสมกันมาในอนาคตเช่นกัน
Fact File
ติดตามความเคลื่อนไหวของ มิวเซียมโคตรทหาร www.facebook.com/KODETAHARN