KINGDOM : อาณาจักรกบฏผีดิบ โรคระบาด และอำนาจรัฐ
- Kingdom ซีรีส์ เกาหลีสุดฮิตที่ผสมเนื้อหาเรื่องซอมบี้ในยุคราชวงศ์โชซอนกับนัยยะทางการเมืองเข้มข้น พร้อมเสิร์ฟความระทึกขวัญในซีซั่น 2 จำนวน 6 ตอนจบรวดใน Netflix เริ่มวันที่ 13 มีนาคม 2020
- Kingdom เป็นซีรีส์เรื่องแรกของเกาหลีที่ผลิตโดย Netflix Original Seriesด้วยทุนสร้างมหาศาลและได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามด้วยคุณภาพงานสร้าง และเนื้อหาที่เร้าใจ โดยซีซั่นแรก (6 ตอนจบ) ออกฉายเมื่อปี 2019
- นอกจากประเด็นแฝงเรื่องอำนาจรัฐและการปกครองแล้ว ซีรีส์ เรื่องนี้ยังสะท้อนถึงวิกฤตการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จนถึงไวรัสโควิด-19 ที่ประชาชนทั่วโลกกำลังหวาดวิตก
หลังตัดจบซีซั่นแรกเมื่อปีที่แล้วแบบค้างคาใจผู้ชมกับฉากฝูงซอมบี้กำลังจะบุกเมืองโดยไม่กลัวแสงอาทิตย์อย่างที่เข้าใจกัน เตรียมมาลุ้นกันต่อกับซีซั่น 2 ของซีรีส์ เกาหลีสุดฮิต Kingdom ที่หลายคนรอคอยหลังทิ้งช่วงจากภาคแรกนานนับปีใน Netflix ที่เริ่มออนแอร์วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม 2020 นี้ 6 ตอนจบรวด
Kingdom เป็นซีรีส์ เรื่องแรกของเกาหลีที่ผลิตโดย Netflix Original Series ที่สร้างปรากฏการณ์เสียงตอบรับล้นหลามในคุณภาพงานสร้างและเนื้อหาการเมืองเข้มข้นมาอยู่ในฉากซีรีส์ ผีดิบสุดระทึก ในซีซั่นแรกมีทั้งหมด 6 ตอน แต่ละตอนมีค่าใช้จ่ายในการสร้างราว 60 ล้านบาท การันตีความลุ้นสุดๆ ในทุกตอนโดยผู้กำกับ คิมซองฮุน ผู้สร้างชื่อจากเรื่องTunnel ร่วมด้วยนักเขียนบท คิมอึนฮี ผู้เขียนเรื่อง Signal ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในละครแนวสืบสวนสอบสวนที่ดีที่สุดของเกาหลี
ซีซั่น 2 มาพร้อมเนื้อหา
6 ตอนจบเหมือนกับซีซั่นแรก และแน่นอนว่านอกเหนือจากการเล่าเรื่องที่น่าตื่นเต้นของการเอาชีวิตรอดจากเหล่าผีดิบกระหายชีวิต
ก็ย่อมแฝงประเด็นการวิพากษ์อำนาจรัฐและการปกครองประชาชนอย่างหนักแน่น
จึงเป็นงานที่ดูเอาความลุ้นระทึกก็ได้หรือจะดูเอาสาระก็ดี
กบฏ การปกปิดข้อมูล และการกระหายอำนาจ
Kingdom เป็นเรื่องราวสมมติที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งของยุคราชวงศ์โชซอน ในช่วงที่ประเทศกำลังส่งเสริมการผสานวัฒนธรรมประเพณีของลัทธิขงจื้อที่มีแนวคิดของการซื่อสัตย์ กตัญญู สามัคคี คติครอบครัว การยึดถือคุณธรรม เข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมของเกาหลี โดยเฉพาะด้านการปกครองที่จำลองความสัมพันธ์ของครอบครัวมาประยุกษ์กับภาพใหญ่ของประเทศโดยมี “ราชา” เสมือนพ่อในครอบครัวที่บุตรคือ “ประชาชน” ต้องเชื่อฟังกตัญญู ซื่อสัตย์ และมีลำดับชั้นในสังคมอย่างชัดเจน อย่างเข้มงวด โดยมีชนชั้น “ปราชญ์” เป็นผู้ขับเคลื่อนวางแผน
เหตุวิบัติการณ์สยองเกิดขึ้นเมื่อ ราชา ของเมืองเกิดป่วยหนัก แต่ได้หมอมือดีที่สุดในแผ่นดินมาชุบชีวิตด้วยสมุนไพรคืนชีพ หากแต่ราชาไม่ได้คืนชีพมาเป็นมนุษย์ธรรมดากลับกลายเป็นผีดิบกระหายเลือดเนื้อของมนุษย์ ทั้งยังไร้สติสัมปชัญญะเหมือนคนที่ตายไปแล้ว เหตุนี้ทำให้ราชสำนักต้องปิดข่าวการสวรรคตและการหายไปของราชาเพื่อรอการเปลี่ยนผ่านอำนาจสูงสุด ระหว่างช่องว่างนี้เองจึงเกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างขั้วของสนมที่วางแผนกับอัครมหาเสนาบดี (รับบทโดยริวซุงยอง) และขั้วของรัชทายาทนาม ลีชาง (แสดงโดยจูจีฮุน) ผู้เป็นบุตรชายคนเดียวของราชา
ระหว่างนั้นเหล่า บัณฑิตรุ่นใหม่ ถูกใส่ความและใช้การเมืองเล่นงานว่าเป็นพวกกบฏ ทั้งยังถูกฝ่ายราชสำนัก (สนมเอก) ตีตราว่าเป็นฝ่ายกบฏรัชทายาท เพื่อสร้างเกมให้รัชทายาทผู้มีสิทธิชอบธรรมในฐานะลูกชายไม่ได้ขึ้นครองราชย์ ฝ่ายราชสำนัก (สนมเอก) จึงยึดครองทั้งในเชิงอำนาจและการอยู่เหนือความรู้ สามารถสั่งการได้ทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องยึดค่านิยมใดๆ ของเหล่านักปราชญ์ เมื่อปัญญามีค่าน้อยกว่าคมดาบและการปกครองผูกขาด ประชาชนจึงยากจนลงถึงขนาดในเขตพยาบาล (นอกสำนัก) เองมีการต้มศพที่ขนมาจากราชสำนักกิน ผู้ที่กินเนื้อคนเหล่านั้นไม่รู้เลยว่าศพนั้นเป็นศพที่ราชาผีดิบกัดกินจนตาย ทำให้เชื้อผีดิบเริ่มก่อตัว และเกิดการระบาดในหมู่ผู้กินเนื้อคน ก่อนจะลุกลามไปอย่างไม่สิ้นสุด
การเป็นผีดิบในเรื่องนี้จึงเป็นการสร้างภาพแทน “ผู้ก่อกบฏ” ตัวจริง นอกจากสำนึกของการกลัวกบฏในวังหลวงของทั้งสนมเอกและรัชทายาทที่ต่างก็ระแวงฝ่ายตรงข้ามภายนอกรั้ววัง “กบฏ” ตัวจริงจากประชาชนได้เกิดขึ้นในร่างผีดิบ ซึ่งได้ปลดปล่อยความหิวโหยอย่างคลุ้มคลั่ง พร้อมที่จะหลุดออกจากทุกสำนึกที่มนุษย์จะคาดคิด แข็งกร้าว ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ และระบบคุณธรรมใดๆ
ผีดิบกบฏสร้างสุ้มเสียงของประชาชนนอกรั้วดังสนั่นไปถึงภายในวังที่แม้แต่รัชทายาทและทหารเองก็เพิ่งได้เห็นว่าชาวบ้านนอกวังลำบากขนาดไหน การได้กินเนื้อสัตว์ถือเป็นสิ่งหรูหราทั้งที่ในวังหลวงกินทิ้งกินขว้าง เรียกได้ว่าเหล่าผีดิบได้สั่นสะเทือนความเข้าใจที่ชนชั้นปกครองเคยมีต่อประชาชน และบังคับให้ชนชั้นปกครองหันกลับมามองผลของความล้มเหลวในการบริหารรัฐ จนประชาชนไม่ได้อยู่ในฐานะ “มนุษย์” อีกต่อไป
ร่างกาย อำนาจ และการครอบงำ
“ผีดิบ” เป็นคำเรียกของมนุษย์ที่ตายแล้วฟื้นมาอยู่ในสถานะกึ่งเป็นกึ่งตาย ร่างกายจะเคลื่อนไหวไปอย่างที่ไม่มีวิญญาณมนุษย์ที่มีอยู่เดิมควบคุมไว้ทำให้ไร้สำนึกทุกอย่างที่มนุษย์ผู้นั้นเคยยึดถือ “ร่างกาย” เป็นกลไกสำคัญของเรื่องนี้เพราะระหว่างคนกับผีดิบแตกต่างกันที่จิตวิญญาณแต่ยังคงมีร่างกายคล้ายกัน ดังนั้นซีรีส์ เรื่องนี้จึงมีความน่าสนใจในการนิยามร่างกายในแบบต่างๆ
มิเชล ฟูโกต์ นักปรัชญาร่วมสมัยชาวฝรั่งเศสเคยได้มีความคิดเห็นต่อร่างกายในฐานะการผลิตและการถูกครอบงำไว้ว่า ในสายตาของผู้ปกครอง การจะใช้พลังจากร่างกายที่ตนปกครองนั้นต้องทำให้ร่างกาย ‘เชื่องลง’ เสียก่อนจนไปถึงสยบยอมถึงจะสามารถขัดเกลาปรับเปลี่ยนตามต้องการของผู้ปกครองได้
ดังเช่นในเรื่อง Kingdom อัครมหาเสนาบดีพูดกับสนมเอกในวันที่ได้ครองอำนาจวังหลวงไว้ว่า
“เจ้าเห็นว่าอำนาจเป็นเพียงแค่ช่องทางหาเงินทองอย่างนั้นหรือ เจ้าคิดว่ามีศพอยู่ที่นี้กี่ศพ เมื่อถึงวันที่ไม่มีใครกล้าพูดเรื่องจำนวนศพในบ่อนี้ได้นั้นแหละคือ อำนาจ”
ผิดกับเหล่าผีดิบที่เมื่อกลายร่างจากประชาชนผู้หิวโหยมาเป็นกบฏผีดิบที่หลุดออกจากกรอบระเบียบที่แท้จริงไร้สำนึกด้านท่าทางกริยา ไม่สามารถเจรจาต่อรอง กระหายเลือดเนื้อยิ่งขึ้นเท่าทวี ผีดิบเหล่านี้จึงเป็นการประกาศตนว่านอกจากการปั่นป่วนรัฐให้ไม่สามารถควบคุมจัดการได้แล้วยังไม่สยบยอมอำนาจและระเบียบใดทางกิริยาร่างกายอีกด้วย
ซอมบี้ในอาณาจักรโชซอนกับวิกฤตการณ์โรคระบาดทั่วโลก
การแพร่เชื้อของผีดิบในเรื่อง Kingdom ที่ยากต่อการควบคุมและกำลังขยายลุกลามไปทั่วอาณาจักรโชซอน ช่างสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ทั่วโลกกำลังปั่นป่วนกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะที่บรรดาหมอซึ่งนำโดย หมอซอบี (รับบทโดยแบดูนา) กำลังเสาะแสวงหาสมุนไพรเพื่อระงับการแพร่ระบาดในซีรีส์ ในโลกความจริงคณะแพทย์ทั่วโลกกำลังวิจัยกันอย่างเต็มกำลังเพื่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ที่ลุกลามไปแล้วใน 118 ประเทศทั่วโลก โดยมีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงถึง 126,000 รายและคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 4,600 คน ในประเทศไทยเองมีรายงานผู้ติดเชื้อจำนวน 70 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 12 มีนาคม 2020)
วิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้ประชาชนหวาดวิตกไปทั่วโลกและเมื่อวันที่ 12 มีนาคมนี้ทางองค์การอนามัยโลกประกาศยกระดับ โรคโควิด-19 จากโรคระบาด (Epidemic) เป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ของโลก (Pandemic) ซึ่งหากย้อนไปดูวิกฤตการณ์โรคระบาดที่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา องค์การอนามัยโลกได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern หรือ PHEIC) ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อจากการแพร่ระบาดนานาประเทศทั้งสิ้น 6 ครั้งคือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (ค.ศ.2009), โรคโปลิโอ (ค.ศ.2014) ไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก (ค.ศ.2014), ไวรัสซิกา (ค.ศ.2015–16), อีโบลาในกีวู (ค.ศ.2018-19) และการระบาดของโควิด-19 (ค.ศ.2020)
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) เริ่มต้นขึ้นที่ประเทศเม็กซิโก ในปีค.ศ.2009 ซึ่งเป็นเชื้อตัวใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน เป็นเชื้อที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ซึ่งมีสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่คน ไข้หวัดใหญ่สุกร และไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกด้วย จากนั้นการระบาดได้แพร่ไปกับผู้เดินทางไปในอีกหลายประเทศทั่วโลก ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มากกว่า 18,000 คนทั่วโลก
ใน ค.ศ.2014 โปลิโอ กลับมาระบาดอีกครั้งในแถบเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง และที่น่าเป็นห่วงคือได้กลับมาระบาดในประเทศที่เมื่อก่อนปราศจากโปลิโอ อย่างเช่น ซีเรีย โซมาเลีย และอิรัก หลังจากนั้นเกิดการระบาดของไวรัสซิกาในช่วง ค.ศ.2015–16 มากกว่า 80 ประเทศทั่วโลกตั้งแต่ทวีปแอฟริกาถึงเอเซียโดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค
นับจากการระบาดครั้งแรกใน ค.ศ.1976 ไวรัสอีโบลา กลับมาระบาดร้ายแรงที่สุดใน ค.ศ.2014 โดยเริ่มที่สาธารณรัฐกินีในทวีปแอฟริกาและลามไปประเทศไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน ไนจีเรีย มาลี เซเนกัล สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สเปน และอิตาลี เชื้อไวรัสอีโบลาแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ง่ายและความรุนแรงของโรคทำให้ผู้ป่วยมีสิทธิ์เสียชีวิตสูงถึง 50-90% ในการระบาดครั้งนั้นมีผู้ติดเชื้อราว 30,000 คนและผู้เสียชีวิตราว 10,000 คน
อีโบลากลับมาระบาดอีกครั้งในช่วงค.ศ.2018-19 เริ่มที่ภูมิภาคกีวูทางตะวันออกของประเทศคองโกและลามไปประเทศยูกันดา ไวรัสอีโบล่าคร่าชีวิตชาวคองโกไปร่วม 2,000 คนจากจำนวนผู้ติดเชื้อราว 3 พันกว่าคน
อ้างอิง
- มิแช็ล ฟูโกต์. 2558. ร่างกายใต้บงการ. บรรณาธิการแปลและนำเสนอโดย นพพร ประชากุล. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์คบไฟ
- https://www.ancient.eu/article/969/confucianism-in-ancient-korea/
- องค์การอนามัยโลก / สำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค