กี่บาด เรื่องราวหญิงทอผ้าแม่แจ่ม โดย ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด คว้านวนิยายซีไรต์ 2567
Lite

กี่บาด เรื่องราวหญิงทอผ้าแม่แจ่ม โดย ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด คว้านวนิยายซีไรต์ 2567

Focus
  • กี่บาด เล่าเรื่องราวของช่างทอผ้า “แม่ญิง” ล้านนา 3 รุ่นที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทอผ้าซิ่นตีนจกล้านนา เส้นสายลวดลายบนผืนผ้าเปรียบเสมือนกับเรื่องราวชีวิตที่มีบาดแผลและความทรงจำอันเจ็บปวดของตัวละคร
  • กี่บาด เขียนโดย ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด แห่ง สำนักพิมพ์คมบาง คว้ารางวัลซีไรต์ประเภท “นวนิยาย” ประจำปี 2567 โดยคัดจากนวนิยายทั้งหมด 69 เรื่องที่ส่งเข้าประกวด

ประกาศผลแล้วสำหรับ รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี 2567 หรือ ซีไรต์ โดยในปีนี้นวนิยาย กี่บาด เขียนโดย ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด แห่ง สำนักพิมพ์คมบาง คว้ารางวัลซีไรต์ประเภท “นวนิยาย” ประจำปี 2567 โดยคัดจากนวนิยายทั้งหมด 69 เรื่องที่ส่งเข้าประกวด โดยเนื้อเรื่องของนวนิยายเล่มนี้เล่าถึงการต่อสู้และส่งต่อมรดกภูมิปัญญาด้านการทอผ้าท่ามกลางบริบทของยุคสมัยที่เปลี่ยนผัน เช่นเดียวกับสไตล์การเขียนที่มีทั้งขนบดั้งเดิมผสานกับการสร้างสรรค์แบบใหม่

กี่บาด เล่าเรื่องราวของช่างทอผ้า “แม่ญิง” ล้านนา 3 รุ่นที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทอผ้าซิ่นตีนจกล้านนา เส้นสายลวดลายบนผืนผ้าเปรียบเสมือนกับเรื่องราวชีวิตที่มีบาดแผลและความทรงจำอันเจ็บปวดของตัวละคร กี่บาด ที่เป็นขื่อนวนิยายจึงเปรียบได้กับแผลเป็นที่ย้ำเตือนประสบการณ์อันเลวร้ายในชีวิต เป็นการเชื่อมโยงเรื่องราวการทอผ้ากับเรื่องราวชีวิตของตัวละครได้อย่างน่าติดตาม นอกจากนั้นผ้าซิ่นทอในเรื่องยังเป็นสัญลักษณ์ของการส่งต่อ “พลังความเป็นหญิง” ในครอบครัว

กี่บาด

เนื้อหาของนวนิยายแบ่งเป็น 3 ช่วงใหญ่ตามเรื่องราวของตัวละครหลัก เล่าด้วยสายตาของผู้รู้ผ่านมุมมองของตัวละครแต่ละรุ่น เริ่มตั้งแต่ส่วนของ “เอวซิ่น” เป็นเรื่องราวของ “แม่หม่อนเฮือนแก้ว” หญิงชราที่เป็นผู้รับและส่งต่อมรดกการทอผ้าจากบรรพบุรุษ ผู้พบกับความรักต้องห้ามในวัยสาวซึ่งต่อมาต้องเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวและเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลในใจตลอดชีวิต ตามด้วย “ตัวซิ่น” เป็นเรื่องราวของ “แม่อุ้ยนาค” ลูกสาวของหญิงชราที่ถูกมารดาชัง สุดท้าย “ตีนซิ่น” เป็นเรื่องของรุ่นหลานชาย “บ่าหงส์” ผู้เลือกวิถีชีวิตของตนเป็นหญิงขัดกับเพศกำเนิด และเป็นผู้สืบทอดมรดกการทอผ้าในครอบครัวซึ่งตามประเพณีวัฒนธรรมของล้านนาสงวนไว้สำหรับผู้หญิงเท่านั้น

กี่บาด

นอกจากประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องการส่งต่อภูมิปัญญา วัฒนธรรมซึ่งสะท้อนออกมาจากปัญหาจริงด้านวัฒนธรรมของไทยที่กำลังเกิดขึ้น อีกความน่าสนใจคือสไตล์การเขียนที่ผู้เขียนสามารถถักทอเรื่องราวประดุจดังการสอดประสานเส้นใยฝ้ายเป็นลวดลายบนผืนผ้า ผสมผสานข้อมูล ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการทอผ้าเข้ากับเรื่องเล่าแนวบันเทิงคดีได้อย่างสอดคล้องและแนบเนียน นำเสนอฉาก ท้องเรื่องที่มีภูมิหลังทางสังคมและบรรยากาศทางวัฒนธรรมของล้านนาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2นอกจากนั้น ยังได้นำเสนอเรื่องราวการกดขี่สตรีเพศในครอบครัว รวมทั้งเรื่องเพศวิถีความเป็นชายและความ เป็นหญิงกับการก้าวผ่านข้อห้ามทางประเพณีวัฒนธรรมที่สังคมกำหนด ใช่วิธีการเล่าเรื่องของนวนิยายเป็นไปอย่างเรียบง่าย งดงาม กระจ่างชัดด้วยการใช้ภาษาพรรณนาอารมณ์ ความรู้สึกของตัวละครอย่างน่าสะเทือนใจ สร้างความรู้สึกร่วมแก่ผู้อ่าน

ในด้านศิลปะการประพันธ์นั้นคณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) มีความเห็นว่า กี่บาด มีทั้งขนบวรรณศิลป์แบบดั้งเดิมประสานกับการสร้างสรรค์ใหม่ โดยใช้ศิลปะการทอผ้าและลวดลาย สื่อความหมายและดำเนินเรื่องอย่างมีเชิงชั้น เต็มไปด้วยสีสันท้องถิ่นนำพาผู้อ่านสู่อารมณ์สะเทือนใจ เห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของมนุษย์ แม้จะต้องเผชิญประสบการณ์หรือความทรงจำอันปวดร้าวเพียงไร ชีวิตก็ต้องเดินไปข้างหน้า และถักทอเรื่องราวอันเป็นวัฒนธรรมเรื่องเล่าของมนุษยชาติต่อไป


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite