เปิด จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ชมศิลปะกลางทุ่งดอกไม้ ซึบซับวัฒนธรรมอีสานบ้านเฮา
- จิม ทอมป์สัน เปิดบ้านประจำปี 2024 พร้อมกับธีม อีสานเอิ้นหา (Isan Calling) รวบรวมความสนุกในแบบฉบับถิ่นอีสานพร้อมชวนทุกคนให้กลับไปเที่ยวบ้านซึบซับเสน่ห์วิถีชีวิตและวัฒนธรรมถิ่นอีสานกันอีกครั้ง
- Art on Farm เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของทุกๆ ปี แต่ปี 2024 จริงจังกว่าเดิมมาก ด้วยการชวนทั้งศิลปินในโครงการ ศิลปินจากไทยแลนด์ เบียนนาเล่ เชียงราย และศิลปินที่เคยจัดแสดงงานในมหกรรมศิลปะระดับโลกรวมแล้วกว่า 18 คนมาร่วมกันจัดแสดงผลงานทั่วทั้งพื้นที่
เมื่ออีสานเอิ้นหา เราจะพาไปเช็คอิน เพราะ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม (Jim Thompsan Farm) เปิดบ้านประจำปีต้อนรับทุกคนไปสัมผัสเสน่ห์แห่งอีสานกันแล้ว และด้วยความตั้งใจของทางฟาร์มที่อยากให้ที่นี่เป็นเหมือนโอเอซิสของอีสาน รวบรวมและนำเสนอมุมมองต่างๆ ทั้งในด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรม จึงทำให้จิม ทอมป์สัน ฟาร์มไม่ได้มีดีแค่สวนดอกไม้ที่ถ่ายรูปสวยเท่านั้น โดยปี 2024 นี้เขามาพร้อมกับธีม “อีสานเอิ้นหา” (Isan Calling) รวบรวมความสนุกในแบบฉบับถิ่นอีสานพร้อมชวนทุกคนให้กลับไปเที่ยวบ้านแล้วม่วนซื่นกันให้หายคิดฮอด
หนึ่งในไฮไลต์ของทุกปีคือ Art on Farm โปรเจคต์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของทีมหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน กับการชักชวนศิลปินเข้าไปทำงานศิลปะภายในฟาร์ม แต่สำหรับปีนี้ Art on Farm กลับมาแบบจริงจังกว่าเดิมมากด้วยการชวนทั้งศิลปินในโครงการ ศิลปินจากไทยแลนด์ เบียนนาเล่ เชียงราย และศิลปินที่เคยจัดแสดงงานในมหกรรมศิลปะระดับโลกรวมแล้วกว่า 18 คนมาร่วมกันจัดแสดงผลงานทั่วทั้งพื้นที่ โดยที่ครั้งนี้จิม ทอมป์สัน ฟาร์มจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 โซนหลักคือ ส่วนต้อนรับบริเวณด้านหน้า ทุ่งดอกไม้ นาข้าว โซนหมู่บ้านอีสานที่รวบรวมนิทรรศการ เวิร์กช็อป และเวทีหมอลำริมทุ่งให้ได้ไปม่วนจอยกันในสุดสัปดาห์ และสุดท้ายคือส่วนของโรงงานทอผ้าที่เราสามารถเข้าไปดูกระบวนการทอผ้าด้วยมือได้ทุกขั้นตอน Sarakadee Lite ขอแปะพิกัดไฮไลต์ที่ไม่อยากให้ทุกคนพลาด…เมื่อวัฒนธรรมถิ่นอีสานกำลังเอิ้นหา
ดัก (Trapping the Flows)
ตั้งแต่ประตูทางเข้าเราก็โดนดักด้วยผลงานศิลปะชิ้นแรกของสตูดิโอออกแบบ all(zone) กันแล้ว สำหรับชิ้นนี้ได้ใช้โครงสร้างที่มีอยู่เดิมมาตีความใหม่ โดย รชพร ชูช่วย สถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลังได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจาก “ไซ” อุปกรณ์ดักปลาที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องของการดักจับสิ่งดีๆ ทั้งโชคลาภเงินทองและความรุ่งเรือง ด้วยความสนใจในเรื่องผ้าและสนใจในโครงสร้างของไซที่มีทั้งความยืดหยุ่นและแข็งแรงในเวลาเดียวกัน จึงเกิดเป็นประติมากรรมหลังคาผ้าจากวัสดุผ้าโปร่งชื่อว่า “ดัก” ชิ้นนี้ที่มีทั้งความสวยงามสะดุดตาและฟังก์ชันการเป็นหลังคาให้คนหลบร่มตามสไตล์ของสถาปนิก โดยผลงาน ดัก จะถูกนำไปจัดแสดงในเทศกาลศิลปะ Cheongju Craft Biennale ที่ประเทศเกาหลีใต้หลังจากจบงานนี้ด้วย
ลาน เสี่ยว โฮม
ก่อนที่จะเริ่มเดินชมงานศิลปะในทุ่งดอกไม้กันอยากให้แวะที่ ลาน เสี่ยว โฮม (ภาษากลางแปลว่า ที่รวมเพื่อนรัก) กันก่อน ชิ้นนี้เป็นผลงานออกแบบของ เกื้อกมล นิยม แห่งสำนักพิมพ์สานอักษร สำนักพิมพ์สำหรับเด็ก โดยจุดเริ่มต้นของนิทรรศการนี้เกิดจากการที่เธอเห็นว่า จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม มีพื้นที่ใหญ่มากและการนำงานศิลปะมาอยู่ในฟาร์มอาจทำให้คนเดินผ่านเลยไป จึงเกิดไอเดียการทำ Art Trail มาจากสิ่งที่ถนัดนั่นคือการทำนิทาน ผลลัพธ์ออกมาเป็นบอร์ดแผนที่เส้นทางการเดินในทุ่งดอกไม้ ที่ใส่ตัวละครลงไปแทนตำแหน่งของแต่ละชิ้นงาน โดยที่คาแรคเตอร์อิงมาจากผลงานของศิลปินและใส่ความเป็นท้องถิ่นอีสานเข้าไปด้วย เช่น ภูติไหม และ พญานาคพันสี โดยระหว่างทางที่เราเดินตาม Art Trail นี้จะมี QR-Code ที่สามารถสแกนเพื่อฟังเรื่องราวของตัวละครและผลงานศิลปะแต่ละชิ้นไปด้วยได้
Cocoon สัญชาตญาณแห่งชีวิต (Instinct)
Cocoon ออกแบบโดย ชาตะ ใหม่วงศ์ ศิลปินชาวจังหวัดเชียงรายที่สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาใหม่ร่วมกับโครงเหล็กดัดฟักทองยักษ์ที่มีอยู่เดิม เขานำวัสดุไม้ยูคาที่ถูกตัดทิ้งร้าง กิ่งแตกหักกว่าสิบต้นมาสร้างสรรค์ใหม่ โดยการติดตั้งและร้อยพันกันด้วยเส้นลวด ปล่อยพื้นที่ว่างตรงกลางให้มีรังไหมที่ถักขึ้นจากลวดเหล็กและเกี่ยวโยงกันด้วยเส้นไหม เปรียบเสมือนกับป่าไม้ที่คอยปกคลุมรังไหมเอาไว้ แม้ผลงานชิ้นนี้จะให้ความหมายเปรียบเทียบถึงสัญชาตญานระหว่างมนุษย์ สิ่งมีชีวิตและธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันศิลปินก็อยากให้ผู้ชมมองอย่างเรียบง่ายและตีความตามที่เข้าใจ หรือจะไม่ตีความแต่ได้มามองเห็นธรรมชาติที่อีสานมีก็เพียงพอแล้ว
เอิ้น (ดังๆ)
นักปราชญ์ อุทธโยธา ศิลปินชาวเหนือจากจังหวัดเชียงราย เขากลับมาจัดแสดงศิลปะบนนาข้าวอีกครั้ง แต่มาในรูปแบบของประติมากรรมหุ่นไล่กาขนาดยักษ์ที่วางอยู่ในจุดต่างๆ ทั่วทั้งฟาร์ม อย่างเช่นบริเวณทุ่งดอกไม้มีหุ่นไล่กาหนุ่มสาวกระซิบรักชื่อว่า “สึ่ม” (กระซิบ) ชิ้นนี้ศิลปินได้แรงบันดาลใจมาจากจิตรกรรมปู่ม่านย่าม่าน วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน เป็นการนำสัญลักษณ์แห่งความรักจากเมืองเหนือมาประยุกต์กับความเป็นอีสาน ส่วน “เอิ้น (ดังๆ)” จัดวางอยู่ใกล้กับหมู่บ้านอีสานเป็นหุ่นไล่กาครอบครัวที่ออกแบบมาจากคอนเซปต์หลักของปีนี้นั่นคือการเชื้อเชิญให้ทุกคนมาสัมผัสกับบรรยากาศในฟาร์มด้วยความสนุกสนาน
The Pilgrimage Within
ผลงานที่อยากให้ทุกคนได้หยุดพัก ช้าลงและใช้เวลาอยู่กับตัวเอง The Pilgrimage Within ออกแบบโดยภูมิสถาปนิกอย่าง สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ที่สนใจรูปทรง พื้นผิวและที่ว่างภายในประติมากรรมและสถาปัตยกรรม เธอออกแบบตัวงานโดยได้แรงบันดาลใจมาจาก สุคตาลัย หรือ อโรคยศาล ที่ปราสาทเมืองเก่าจังหวัดนครราชสีมา ด้านนอกเป็นกระจกที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงรอบด้านตั้งแต่เช้าจรดเย็น ขณะที่ด้านในเธอเลือกใช้เทคนิคกล้องรูเข็มดึงภาพธรรมชาติจากภายนอกเข้ามาฉายให้ผู้ชมได้สัมผัสกับการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา เพื่อเชื่อมโยงผู้คนและธรรมชาติรอบข้างเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งใครที่เคยไปชม Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 อาจจะเคยเห็นงานของเธอที่สะท้อนภาพผืนป่าเข้ามาในงานสถาปัตยกรรม แต่ครั้งนี้แตกต่างด้วยการที่ตัวเราจะถูกโอบล้อมไปด้วยสีสันของทุ่งดอกไม้ขนาดใหญ่ของ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม
Golden Land Project
ผลงานถักทอสองชิ้นใหญ่ที่จัดแสดงอยู่ในโซนหมู่บ้านอีสานคือผลงานของ เคลซี-เมอเรกค์ วากเนอร์ (Kelsey Merreck Wagner) หรือ Trash Weaver เคลซีเป็นศิลปินพำนักจากอเมริกา เธอสนใจในสิ่งทอ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ สำหรับผลงานที่นำมาจัดแสดงนี้เธอใช้เศษวัสดุผ้าจากกระบวนการผลิตผ้าไหมของจิม ทอมป์สันมาถักทอเข้ากับขยะพลาสติก เกิดเป็นผลงานสองชิ้นที่ชวนให้นึกถึงแม่น้ำ ดิน ข้าวและภูเขาในฐานะของแหล่งอาหารและคุณค่าทางเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันก็ชวนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติกที่เราอาจละเลยไป ในโซนเดียวกันมีนิทรรศการหม่อนไหม และแม่ๆ ที่มาโชว์ฝีมือทักษะการทอผ้าให้เห็นกันทุกกระบวนการอยู่ด้วย เข้าไปชมใกล้ๆ ได้เลย
เสาแห่งผู้คน (People’s Pillar)
แค่เดินเข้าไปในทุ่งดอกไม้ก็สะดุดตากับสิ่งนี้แล้ว แคนวาสสีสดใสชวนมองที่เห็นคือผลงานของ มิตร ใจอินทร์ ศิลปินร่วมสมัยที่เลือกใช้สีเป็นหลักในการนำเสนอ นอกจากนี้เขายังใช้เกรียง มือและนิ้วในการสร้างสรรค์ผลงานแบบนอกกรอบการวาดภาพเดิมๆ สำหรับผลงานล่าสุดเขาเลือกใช้ชุดเสาเหล็กสิบต้นประกอบเข้ากับชุดผ้าใบทาสีที่พริ้วไหวและเปลี่ยนแปลงไปตามแรงลม แสงและพื้นที่ ดึงดูดให้ผู้ชมเข้าไปสัมผัสกับผลงานและธรรมชาติโดยรอบ นอกจากจุดนี้แล้วเขายังมีผลงานอีกชุดอยู่ที่ศาลากลางน้ำให้ได้ชมกันด้วย
Ligature
ผลงานของสตูดิโอ Thingsmatter ที่ก่อตั้งโดย ศาวินี บูรณศิลปิน และ ทอม แดนเนคเกอร์ สำหรับ Ligature เป็นผลงานที่เคยจัดแสดงมาแล้วบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ในงาน Bangkok Art Biennale 2018 พวกเขาเลือกใช้ไม้ไผ่วัสดุในภูมิภาคตะวันออก ที่มีความยืดหยุ่นสูงมาตีความใหม่เป็นสิ่งที่แปลกตาจากเดิมเกิดเป็นผลงานที่มีลักษณะของศาลาเปิดโล่งที่ออกแบบโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการประเมินการยึดโยงกันของไม้ไผ่ผสมผสานเข้ากับการสร้างชิ้นงานด้วยมือที่มีทั้งความเป็นระบบระเบียบและยืดหยุ่นในเวลาเดียวกัน
นิทรรศการข้าว
นิทรรศการข้าวกลับมาอีกครั้งโดยความร่วมมือกับ Rice Hub ที่จะมาชวนทุกคนทำความรู้จักกับข้าวไทย อาหารจานหลักที่เราคุ้นเคยแต่กลับรู้จักเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับความหลากหลายของพันธุ์ข้าวดีๆ ที่มีอยู่จริง นิทรรศการนี้จึงนำเสนอเรื่องราวของข้าวครบทุกมิติรวมถึงการจัดเวิร์กช็อปชิมข้าวเพื่อให้ทุกคนได้ลองลิ้มรสชาติ สัมผัสและกลิ่นของข้าวไทย นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่หลากหลายตั้งแต่ข้าวจี่ ขนมแดกงา บราวนี่จากแป้งข้าว ชาข้าวไปจนถึงสาเกที่มีให้ชิมอยู่ในบริเวณเดียวกัน
Fact File
- จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ถึง 1 มกราคม 2568
- ผู้ที่สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ที่หน้างานหรือช่องทางออนไลน์ผ่าน Ticket Melon
- ราคาบัตรเข้าชมวันจันทร์-ศุกร์ เด็กและผู้สูงอายุ 120 บาท ผู้ใหญ่ 230 บาท วันเสาร์-อาทิตย์ เด็กและผู้สูงอายุ 120 บาท ผู้ใหญ่ 250 บาท