
It’s Okay to Not Be Okay นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าโลกไม่เคยจบ Happy Ending
- It’s Okay to Not Be Okay ซีรีส์ที่ว่าด้วยการบำบัดจิตใจที่ไม่ได้มีเพียงผู้ป่วยทางจิตของ โรงพยาบาลจิตเวชรื่นรมย์ เท่านั้นที่ต้องการการเยียวยา โดยวิธีหนึ่งในการเยียวยาที่ซีรีส์ใช้ก็คือ นิทาน
- ในซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay มีการตั้งคำถามว่านิทานฉบับโกมุนยองนั้นมีความดาร์กเกินไปรึเปล่า ทั้งยังให้คุณค่ากับฝั่งแม่มดที่เป็นตัวแทนของความชั่วร้ายมากกว่าเจ้าหญิงตัวแทนของความดีงาม
- ภาพประกอบใน It’s Okay to Not Be Okay ออกแบบโดย Jamsan กราฟิกดีไซเนอร์และนักวาดภาพประกอบ ชาวเกาหลี สไตล์ของเขาคือการไม่มีขีดจำกัด เขาเคยมีงานวาดภาพประกอบมาแล้วในซีรีส์ Encounter
It’s Okay to Not Be Okay ซีรีส์เกาหลี ที่ว่าด้วยการบำบัดจิตใจที่ไม่ได้มีเพียงผู้ป่วยทางจิตของ โรงพยาบาลจิตเวชรื่นรมย์ เท่านั้นที่ต้องการการเยียวยา แม้แต่ มุนคังแท (รับบทโดย คิมซูฮยอน) พระเอกที่ดูเหมือนจะเป็นคนปกติที่สุดคนหนึ่งในเรื่อง ก็กลับมีปมในใจเล็กๆ แต่สามารถกัดกร่อนพังชีวิตและทำให้เขาต้องคอยวิ่งหนี เช่นเดียวกับ มุนซังแท (รับบทโดย โอจองเซ) พี่ชายออทิสติกวัย 37 ปีของเขาที่ดูเหมือนมีโลกส่วนตัว ขังตัวเองอยู่แต่ในจินตนาการ เป็นบุคคลน่าอิจฉาผู้ไม่ต้องกังวลต่อสิ่งใด แต่ลึกๆ แล้ว มุนซังแท ก็มีปมในใจที่ใหญ่มาก และอาจจะซ่อนจิ๊กซอว์สำคัญของเรื่องไว้


ด้าน โกมุนยอง (รับบทโดย ซอเยจี) นางเอกผู้มีอาชีพเป็นนักเขียนนิทานชื่อดัง ก็กลับมีบุคลิกต่อต้านสังคม ถูกกล่าวหาว่าเป็นกระป๋องเปล่าไร้ความรู้สึก และสามารถหลอนคนดูได้ตั้งแต่เปิดเรื่อง ซึ่งความเป็นโกมุนยองที่ว่ามานี้ช่างขัดกับบุคลิกใสๆ อ่อนโยน ใจดี รักเด็ก อย่างที่ใครๆ ก็คิดว่านักเล่านิทานควรจะเป็นอย่างสิ้นเชิง เช่นเดียวกับนิทานของโกมุนยองที่ใส่ความดาร์กของโลกแห่งความจริงเอาไว้ชนิดที่ผู้ใหญ่ดูแล้วต้องหลอนให้กับความดาร์กนี้

เมื่อนิทานคือโลกแฟนตาซีที่แสนโหดร้าย
โลกของ โกมุนยอง นั้นไม่ต่างจากชื่อซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay เธอคนนี้ตรงไปตรงมา และชัดเจนต่อความรู้สึกว่าเธอกำลังโอเค หรือไม่โอเค มุมมองต่อโลกของ โกมุนยอง ยังแสดงออกมาอย่างชัดเจนผ่าน “นิทาน” ที่เธอเป็นคนเขียน ไม่ว่าจะเป็นปมความเจ็บปวดที่อยู่ในใจ ปมชีวิตที่ถูกทำร้าย ทุกบาดแผลของโกมุนยองถูกถ่ายทอดผ่านลายเส้นดาร์กๆ และเนื้อเรื่องที่โหดเลือดสาด ไม่ว่าจะเป็น เด็กน้อยซอมบี้, เด็กชายผู้โตมากับฝันร้าย และ เจ้าหมาในวันใบไม้ผลิ

ความน่าสนใจของนิทานทั้งสามเรื่องคือการใส่รายละเอียดของชีวิตจริงลงไป โกมุนยองใส่ความโหยหาความรักไว้ในตัวเด็กชายซอมบี้ที่แท้จริงแล้วต้องการแค่ความอบอุ่นจากแม่มากกว่าการกัดกินร่างกายแม่เป็นอาหาร เธอบอกเล่าความทุกข์ของเด็กที่ต้องโตมากับฝันร้ายที่เขาไม่มีทางหนีพ้น รวมทั้งหักมุมความร่าเริงของหมาในฤดูใบไม้ผลิที่อาจจะมีความสุขหากมันไม่ลืมวิธีการปลดเชือกที่ผูกคอมันไว้ แน่นอนว่านิทานของโกมุนยองไม่มีเจ้าหญิงแสนสวยกับเจ้าชายขี่ม้าขาว นิทานฉบับโกมุนยองใน It’s Okay to Not Be Okay ตรงกันข้ามกับอีสป หรือเจ้าหญิงในปราสาทของดีสนีย์ที่ฝันหวานรอเจ้าชายมาจุมพิต
โกมุนยองเชิดชูแม่มดแสนสวย เธอให้ค่ากับชายเคราน้ำเงินที่ฆ่าภรรยาตัวเองและเก็บเป็นคอลเล็คชันความโดดเดี่ยวในห้องใต้ดิน เธอบอกว่าการที่เงือกน้อยไม่สมหวังในรักคือบทลงโทษของการหมายตาคนมีคู่หมั้นแล้ว โกมุนยองตั้งใจใส่ความจริงลงไปในนิทาน เพื่อที่จะบอกกับเด็กๆ ว่า นิทานไม่ได้แฮปปี้เอนด์ดิ้งเสมอไป ดังที่เธอเคยให้นิยามคำว่า “นิทาน” ไว้เมื่อครั้งที่เธอไปสอนวิชาวรรณกรรมใน โรงพยาบาลจิตเวชรื่นรมย์ ว่า
“นิทานคือโลกแฟนตาซีแสนโหดร้าย ที่วาดให้ขัดกับความป่าเถื่อนรุนแรงของโลกแห่งความจริง”

นิทานเรื่องนี้ไม่เคยสอนให้รู้ว่า…
หลังจากได้รู้จักกับนิทานสายดาร์กของโกมุนยองใน It’s Okay to Not Be Okay ไป คำถามหนึ่งที่ตามมาคือ แท้จริงแล้วนิทานคืออะไร นิทานสามารถใส่ความจริงแสนโหดร้ายแบบที่โกมุนยองกำลังเล่าอยู่ได้หรือเปล่า และนิทานที่ดีควรเป็นอย่างไร
อุษา ศรีนวล นักจัดการความรู้อาวุโส ฝ่ายกิจกรรมการเรียนรู้ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ผู้คลุกคลีกับนิทานมาเป็นสิบปี ได้ให้ความเห็นถึงโลกของนิทานว่า สำหรับเด็กไทยอาจจะคุ้นเคยกับนิทานปะเภทที่ลงท้ายด้วยข้อสรุปชัดเจน “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า” แต่อย่าลืมว่าฟังก์ชันหลักของนิทานคือโลกของจินตนาการที่ไม่มีกรอบมาตีไว้ เช่น เด็กไม่กินผักจะได้รับการลงโทษอย่างไร หรือถ้าทำอย่างนี้และจะได้รับผลอย่างไร

“เครื่องมือในการพัฒนาเด็กมีเยอะมาก แต่นิทานคือเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด มีอยู่สองอย่างที่นิทานทำได้ดีมากๆ คือ สนับสนุนจินตนาการ และส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ จินตนาการเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ในอนาคต จินตนาการเป็นพื้นฐานของการคิด การคิดทุกชนิดมีจุดเริ่มต้นจากจินตนาการ ทุกอาชีพถ้ามีจินตนาการจะสามารถพัฒนาต่อไปสู่ไอเดีย และการสร้างมูลค่าได้ แต่นิทานก็มีหลายแบบ นิทานที่มักสรุปไปเลยว่า นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า หรือเวลาที่ครูเล่านิทานและปิดท้ายว่า นิทานเรื่องนี้สอนว่า เท่ากับเป็นการปิดกั้นจินตกนาการ ตั้งกรอบไม่ให้เด็กกล้าคิดไปเป็นอย่างอื่น


“ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วเราจะเห็นโลกของนิทานที่หลากหลายและเปิดกว้างสำหรับจินตนาการมากๆ นิทานที่เป็นปลายเปิดจะทำให้เด็กคิดได้อย่างอิสระ อย่าลืมว่าความรู้ในโลกนี้เปลี่ยนแปลงได้เสมอ และคำถามก็ไม่เคยมีคำตอบเดียว นิทานประเภทถ้าไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตามจะเป็นอย่างนี้ นิทานพวกนี้เด็กฟังได้ แต่เด็กก็จะลืมง่าย นิทานที่ทำดีมากๆ จะสร้างความจับใจ เด็กอาจจะไม่เข้าใจ แต่สามารถจุดประกายให้เด็กค้นพบตัวเองได้ต่อไป”

อุษา ให้คำนิยามโลกของนิทาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสรุปจบ และไม่จำเป็นต้องมีภาพที่สดใส ฝันหวาน หรือมีประเด็นง่ายๆ เพื่อมุ่งหวังให้เด็กเข้าใจ อีกทั้งนิทานก็สามารถใส่ชีวิตจริง หรือแม้แต่โลกของความตายไว้ได้เช่นกัน
“นิทานจะไม่สอนเด็กว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด นิทานบางเรื่องเด็กอาจจะยังไม่เข้าใจอย่างครบถ้วน นั่นไม่ใช่ของแปลก เพราะสมองที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหตุผลของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ แต่ถ้าเขาได้รับเรื่องราวซ้ำๆ หรือประสบการณ์ซ้ำ แต่ต่างวุฒิภาวะด้วยการที่เขาค่อยๆ โตขึ้น เขาก็จะสามารถตีความได้เอง ดังนั้นนิทานไม่จำเป็นต้องย่อโลกบอกทุกอย่างอยู่ในนี้ และนิทานก็สามารถใส่ความจริงของชีวิตไว้ได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าคนเขียนนิทานจะใช้วิธีเล่าเรื่องอย่างไร”

โลกของความจริงที่ซ่อนอยู่ในนิทาน
Duck, Death and the Tulip คือนิทานเรื่องเยี่ยมของเยอรมันที่ อุษา ยกตัวอย่างให้เราได้เห็นถึงชั้นเชิงการใส่ความจริงที่หนักหน่วงเกี่ยวกับเรื่อง “ความตาย” ลงไปในนิทาน อุษากล่าวว่าเด็กจะเข้าใจความตายได้ราว 9 ขวบ แต่กลุ่มหลักของนิทานคือเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่านั้น สำหรับ Duck, Death and the Tulip ผู้แต่งก็ไม่ได้หวังว่าเด็กเล็กจะเข้าใจความตาย เพียงแค่ให้เด็กได้ทำความรู้จัก คุ้นเคยกับความตายเหมือนเจ้าเป็ดน้อยที่อยู่ในเรื่อง ซึ่งจากเป็ดที่กลัวความตาย เป็ดที่ดีใจมากที่ตื่นมาแล้วพบว่าตัวเองยังไม่ตายก็กลายเป็นว่าเริ่มคุ้นเคย สนิทสนมกับความตาย มองความตายเป็นเหมือนเพื่อน จนท้ายสุดเป็ดก็ถึงแก่ความตายโดยไม่มีความหวาดกลัวแต่อย่างใด และด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับความตาย Duck, Death and the Tulip จึงมีลายเส้นที่เรียบง่าย ไม่สดใส ใช้หัวกะโหลกที่ไม่ค่อยเจอในหนังสือนิทานเด็กมาเป็นตัวละครหลัก และใส่ความน่ารักจนเด็กๆ ไม่รู้สึกกลัวความตายแต่อย่างใด

ไม่ใช่เพียงความตายเท่านั้น ในนิทานเรื่อง I like, I don’t like ยังหนักหน่วงด้วยพล็อตเรื่องของสิทธิ์เด็ก และการกดขี่การใช้แรงงานเด็กไว้อย่างจุกมากผ่านการบอกว่า ฉันชอบอะไร ฉันไม่ชอบอะไร หรืออย่างนิทานญี่ปุ่นที่มองเผินๆ เหมือนชวนไปเที่ยวสวนผัก แต่กลับก็ใส่เรื่องความแตกต่างของโลกนี้ไว้อย่างแนบเนียนผ่านรูปทรงของผักต่างๆ ในสวน ที่แม้จะเป็นผักชนิดเดียวกัน เป็นมะเขือเทศเหมือนกันแต่อาจจะมีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน ทว่าสุดท้ายแม้มะเขือเทศจะให้ผลผลิตที่สวยแค่ไหนก็ไปจบอยู่ในจานอาหารเช่นเดียวกับมะเขือเทศที่มีผลบิดเบี้ยว



นิทานบางเรื่องที่อุษาหยิบยกมาใช้ภาพถ่ายเล่าเรื่อง บ้างใช้เพียงภาพถ่ายใบไม้ บางเรื่องเล่าผ่านโศกนาฏกกรมที่มาจากเรื่องจริงเกี่ยวกับการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงยามภัยพิบัติของญี่ปุ่น หรืออย่างนิทาน MOI J’ATTENDS พาไปรู้จักชีวิตคนหนึ่งคน ตั้งแต่เกิด ทำงาน มีครอบครัว และตาย ผ่านภาพประกอบที่เป็นเพียงเส้นด้ายสีแดงที่อาจจะไม่ได้สร้างความตื่นตาให้เด็กมากนัก และในนิทานบางเล่มก็มีภาพแก้วเบียร์ฟองล้นแก้วเสียด้วยซ้ำ ซึ่งนี่เป็นนิทานที่เราจะไม่เจอในไทยอย่างแน่นอน
แม้นิทานจะสามารถใส่โลกแห่งความจริงลงไปได้ แต่ อุษา ก็ให้ความเห็นว่านิทานในแบบฉบับโกมุนยองอาจจะน่ากลัวและมีความรุนแรงมากเกินไปสำหรับเด็กเล็ก การโหยหาความอบอุ่นของเด็กคนหนึ่งอาจมีวิธีเล่าได้มากมายกว่าการต้องมีฉากตัดแขน ตัดขาให้เลือดสาด เช่นเดียวกับ Duck, Death and the Tulip ที่เล่าถึงความตายโดยยังใส่ความตลกขบขันลงไปได้ ซึ่งนิทานของโกมุนยองทำให้เราคิดถึงการ์ตูนของทิม เบอร์ตัน และ สตูดิโอจิบลิ ที่ใส่ความดาร์ก ซ่อนความจริงของโลกนี้ไว้ และตั้งใจสร้างมาเพื่อจับใจผู้ชมวัยผู้ใหญ่เสียมากกว่าเด็กเล็ก

แต่ถึงนิทานของโกมุนยองจะมีความดาร์กทั้งเนื้อเรื่องและลายเส้น ทว่าล่าสุดทาง tvN ได้นำนิทานทั้ง 3 เล่ม คือ เด็กน้อยซอมบี้, เด็กชายผู้โตมากับฝันร้าย และ เจ้าหมาในวันใบไม้ผลิ ตีพิมพ์จริงและนำออกวางจัดจำหน่าย ซึ่งสำหรับผู้ใหญ่ที่ผ่านความเจ็บปวดของชีวิตมาสักเล็กน้อย นิทานสายดาร์กฉบับโกมุนยองดูจะเข้าใจปมชีวิต และช่วยเยียวยาความเจ็บปวดของคนไข้นอกของ โรงพยาบาลจิตเวชรื่นรมย์ แห่งนี้ได้ดีทีเดียว

Fact File
- ภาพประกอบใน It’s Okay to Not Be Okay ออกแบบโดย Jamsan กราฟิกดีไซเนอร์และนักวาดภาพประกอบ ชาวเกาหลี สไตล์ของเขาคือการไม่มีขีดจำกัด เขาเคยมีงานวาดภาพประกอบมาแล้วในซีรีส์ Encounter เขาได้เข้าร่วมเป็นนักออกแบบแนวคิดสำหรับภาพประกอบของบริษัทระดับโลก เช่น Nike, Samsung Galaxy, Graphic Noble และ Holica Holica
- It’s Okay to Not Be Okay ซีรีส์เกาหลีที่ว่าด้วยการเยียวยาบาดแผลทางใจซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับคนไข้ในโรงพยาบาลจิตเวชที่พระเอกทำงานอยู่
- It’s Okay to Not Be Okay นำแสดงโดยคิมซูฮยอน, ซอเยจี และ โอจองเซ กำกับโดย พัคชินอู เขียนบทโดยโจยองผลงานสร้างโดย Studio Dragon ออกอากาศในเกาหลีใต้ทางช่อง TVN และประเทศไทยรับชมได้ทาง Netflix
