“อ่านอย่างไร” กับ หญิงร้ายในกฎหมาย และ หัวใจในตัวเลข
- นอกเหนือจากความสำคัญที่ว่าเราจะเลือก “อ่านอะไร” แล้วอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันในการอ่าน คือ “อ่านอย่างไร”
- หนังสือเรื่องเดียวกันมักมีหลายแง่หลายมุมอาจจะเรียกว่าการอ่านคือการวิเคราะห์ เพื่อเข้าใจสารใดสารหนึ่งอย่างแผ่กว้างรวมทั้งสามารถมีทัศนคติต่อสารหนึ่งได้หลากหลาย
หากมองกระแส การอ่าน ในปัจจุบันเราจะสามารถเห็นได้ถึงวิถีชีวิตผู้คนในสังคมที่ซ่อนอยู่ในวัฒนธรรมการอ่านอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านผ่านสื่อออนไลน์ รูปแบบการสื่อสารสู่ผู้อ่านที่หลากหลาย เช่น เว็บไซต์นิยาย เว็บไซต์บทความ นวนิยายแชต เว็บบล็อก และหนังสือเล่ม การอ่านเรื่องราวที่รายล้อมเราอยู่ทุกนาที นอกเหนือจากความสำคัญที่ว่าเรา “อ่านอะไร” อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “อ่านอย่างไร” เพราะในเรื่องเดียวกันมักมีหลายแง่หลายมุมให้สอดส่องหันมอง เสมือนการถอดรหัสที่มีความหมายให้ค้นพบหลายชั้นตามแต่การดำดิ่งลงไปสู่มหาสมุทรแห่งความหมาย
อ่าน “อย่างไร”
“อ่านอย่างไร” เป็นเรื่องของทักษะและวิธีทางกระบวนการที่จะเข้าใจสารที่อ่าน หากเล่าให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นเราขอยกการตีความหลักสัญวิทยาจากวิธีคิดของ เฟอร์ดินอง เดอ โซซูร์ (Ferdinand de Saussure) นักภาษาศาสตร์ โครงสร้างนิยม (Structuralism) ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดสัญวิทยา โดยโซซูร์เสนอวิธีการมองโครงสร้างของ สัญญะ (Sign) ไว้ว่า สัญญะมีส่วนประกอบของ 2 ส่วนนั่นคือ รูปสัญญะ (Signifier) ในฐานะสิ่งที่ทำงานกับผัสสะอย่างเสียงและภาพ เช่น สิ่งที่ทำให้เกิดความหมายสามารถเป็นได้ทั้งประโยคคำพูด นวนิยาย หรือข้อเขียนต่าง ๆ กับอีกส่วนคือ ความหมายสัญญะ (Signified) คือความคิดหรือมโนทัศน์ (Concept) ที่มีต่อสิ่งนั้น
กล่าวโดยสรุปได้ว่าในขณะที่เรา “อ่าน” สิ่งที่อ่านไม่ได้เป็นเพียงความเข้าใจโดด ๆ แต่สิ่งที่เราได้อ่านคือการประกอบเข้าด้วยกันของความสัมพันธ์ระหว่าง รูป กับ การให้ความหมาย เช่น การเรียงอักษรเป็นคำว่า “ไก่” หากเป็นอักษรลอย ๆ ไร้ความเชื่อมโยงเช่น สมมติว่าเราไม่รู้มาก่อนว่าในโลกนี้มีสัตว์สองขา มีขนบริเวณลำตัว มีหงอน และร้องกระต๊าก ๆ คำว่า “ไก่” ก็สามารถที่จะเสียความหมายไปได้ การเข้าใจ “ไก่” ว่าเป็นสัตว์ที่เรียกกันจึงเป็นการกำหนดตกลงความสัมพันธ์ระหว่างอักษรในฐานะสัญญะกับสิ่งที่ต้องการสื่อสารหรือให้ความหมายตรงกันของสัญญะนั้น ซึ่งวิธีนี้เป็นโครงสร้างในการที่มนุษย์ตกลงกันใช้สัญญะเพื่อให้เข้าใจตรงกันเช่น สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ (ตัวอย่าง +, -, x, %)
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การอ่าน จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการ “เห็น” เพราะการอ่านคือการทำความเข้าใจสารอย่างน้อยที่สุดก็คือการประกอบความเข้าใจในสัญญะซึ่งอาจเห็นได้ในรูปของอักษร หรือในเชิงตัวบท (Text) ที่สามารถอยู่ในบทเพลง ภาพยนตร์ งานศิลปะต่าง ๆ ผ่านสัญญะได้เช่นกัน เพียงแต่รูปสัญญะจะต่างออกไปตามสื่อนั้น ๆ การตีความและถอดความจึงเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันตลอดเวลา เราสามารถลองนึกถึงเวลาขับรถได้ว่าทำไมเราจึงหยุดเมื่อเห็นไฟแดง นั่นก็เพราะเรารู้ความหมายของไฟแดงว่ากำลังสื่อสารถึงอะไร
“อย่างไร” ในแง่ของวิธีการจึงสำคัญในการทบทวนว่าเราเข้าใจสิ่งต่าง ๆ โดยการ “อ่าน” ในความหมายของการถอดรหัสได้โดยวิธีการใด กลับมาที่ การอ่าน ของโซซูร์หลังจากที่ทำความเข้าใจว่าเราเข้าใจรูปต่าง ๆ จากความสัมพันธ์ทางความรู้ระหว่าง รูป กับ ความหมาย สิ่งสำคัญต่อมาคือแล้วอะไรคือความหมาย
โดยย่อโซซูร์ได้เสนอถึงการมองความหมายไว้อีก 2 รูปแบบ นั่นคือ ความหมายโดยตรง (Denotative Meaning)คือความหมายที่มักมีความเข้าใจตรงกันชัดเจนอย่าง ไก่ = สัตว์สองขา มีขนมีหงอน ร้องกระต๊าก ๆ กับ ความหมายโดยนัย (Connotative Meaning) กล่าวคือความหมายที่ไม่ได้แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาแต่มักต้องตีความหรือสามารถเกิดจากความเข้าใจที่หลากหลายไม่ว่าจะต่างประสบการณ์หรือต่างวัฒนธรรม เช่นบางความเชื่อเชื่อว่า พญานาค(งูใหญ่) เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสัมพันธ์กับมงคลโชคลาภรวมทั้งเป็นสัญญะทางพุทธศาสนาและมีความหมายแตกต่างกันไปตามความเชื่อท้องถิ่น “นัย” จึงเป็นสิ่งที่ไม่แน่นิ่งทางความหมาย
การอ่านวรรณกรรมบ่อยครั้งจึงมีทั้งระดับของความหมายโดยตรง ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แต่ทั้งหมดที่กล่าวนั้นก็ย่อมมี “นัย” ของการกระทำตามและความกว้างสำหรับการตีความของนักอ่าน การอ่านจึงมีนัยของการแปล การถอดรหัส เพื่อเข้าสู่ความเข้าใจของปัจเจก วรรณกรรมเรื่องแต่งจึงมีความหมายที่ไหลลื่นอันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของงานวรรณกรรมรวมทั้งไม่ว่างานหรือสารที่สามารถทำงานเชิงความหมายได้บ่อยครั้งก็สามารถมีนัยจากวิธีการอ่านของผู้อ่านได้เช่นกัน เพราะตัวบทไม่ได้เป็นวิธีการ ตัวบทจึงสามารถทำงานกับผู้อ่านแตกต่างกันตามประสบกาณณ์ วิธีการ วัฒนธรรม และองค์ความรู้ความเข้าใจหรือทฤษฎีที่ใช้อ่านได้เช่นกัน
หญิงร้ายในกฎหมาย กับ หัวใจในตัวเลข
การอ่านอย่างไรนั้นไม่เพียงเป็นการทบทวนความเข้าใจของตัวเองเมื่อต้องเผชิญกับเรื่องราวต่าง ๆ ว่าเราเข้าใจนัยของสารนั้นอย่างไรเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการตั้งสมมติฐานของสายตาที่จะถอดรหัสเช่น หากมองในมิติหนึ่ง “กฎหมาย” เป็นตัวบทที่เขียนขึ้นเพื่อรักษาความสงบของสังคมนั้น ๆ มีเพื่อบังคับใช้ให้คนในสังคมอยู่ในระเบียบเดียวกัน เจตนาบ่อยครั้งในการอ่านมิติหนึ่งคือการอ่านเพื่อเข้าใจและปฏิบัติในกรอบของกฎ แต่ในอีกมิติก็สามารถมองและวิเคราะห์ตัวบทในฐานะตัวบทที่มีนัยทั้งทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมได้เช่นกันราวกับการศึกษาวรรณกรรมประวัติศาสตร์ นวนิยาย ที่สามารถตีความหรือขุดคว้ามองหานัยได้ในหลายมิติ เช่นหนังสือ หญิงร้าย และ บวก ลบ คุณ ฉัน : ความน่าจะรักระหว่างเรา (The Mathematics of Love) ที่สามารถเป็นตัวอย่างของการอ่านข้ามสารข้ามศาสตร์ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งของการ “อ่านอย่างไร”
หญิงร้าย ของ วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล มุ่งศึกษาประวัติศาสตร์หลายหลักฐานที่เชื่อมโยงมาสู่การกำหนดคุณค่าทางจริยธรรมที่ผูกพันกับเพศสภาพของเพศหญิงในช่วงหนึ่งของ หญิงร้าย ได้มีการเล่าถึงกฎหมายตราสามดวงที่มีบทลงโทษแตกต่างกันจากสถานะของเพศหญิงเช่น แม่ ลูก หรือผู้ที่โสด ก็จะมีโทษของการไปมีสัมพันธ์กับชายอื่นต่างกันตามระดับสถานะซึ่งทำให้สถานะมาพร้อมกับบทลงโทษทางกฎหมายที่รุนแรงต่างกัน เป็นต้นว่าหากมีสถานะภรรยาบทลงโทษข้อหาการเป็นชู้ก็จะรุนแรงกว่าผู้หญิงที่กระทำสิ่งเดียวกันแต่อยู่ในสถานะอื่นรวมทั้งยังมีโทษประจานเพื่อให้อับอายและในเชิงวัฒนธรรมการประจานให้อับอายถึงโทษนั้นก็สร้าง “หญิงร้าย” ในแง่ของจารีตและความเชื่อในสังคมอันเป็นการกำหนด ความดี-เลว ของผู้หญิงทั้งทางกฎหมายและวัฒนธรรม การ “อ่าน” กฎหมายและศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจึงสามารถอ่านเพื่อตีความ วิเคราะห์ ถอดรหัส หาความเชื่อมโยงเพื่ออธิบายประเด็นที่ใหญ่ขึ้นกว่าเจตนาของการเขียนดั้งเดิมได้อย่างในกรณีนี้ที่ศึกษากฎหมายในฐานะบทบังคับและตัวบทที่นำไปสู่จริยธรรมจารีตที่กำหนดคุณค่าทางสังคม
อีกหนึ่งตัวอย่างการอ่านสิ่งหนึ่งเพื่อเข้าใจสิ่งที่เกี่ยวพันกันอยู่ก็คือ The Mathematics of Love เขียนโดย Hannah Fry (แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ บวก ลบ คุณ ฉัน : ความน่าจะรักระหว่างเรา แปลโดย วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม) มีแก่นสารอยู่ที่การมองมิติทางความรักจากหลักการคิดแบบคณิตศาสตร์ ความน่าสนใจอยู่ที่ผู้เขียนใช้องค์ประกอบทางความรู้และวิธีคิดของคณิตศาสตร์มองเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมนุษยวิทยาอย่างประเด็นวิเคราะห์ต่าง ๆ ที่เป็นบริบทของการตกหลุมรักและการอยู่ร่วมกันของคู่รัก ตั้งแต่สถิติและหลักการของการจะหาคนที่เราจะรัก โอกาสความน่าจะเป็นของความรักที่ยืนยาว หลักการวิเคราะห์ความสวยงามของใบหน้ารวมถึงการจัดลำดับ หรือจัดวางวิธีการเข้าหาด้วยการจีบคนที่หมายปองไว้ด้วยการคิดจากความเป็นไปได้ทางคณิตศาสตร์
The Mathematics of Love เล่มนี้จึงช่วยขยายมิติให้เห็นถึงกลไกและการทำงานของความเป็นไปได้ที่แม้จะดูเป็นการแปรสารจากมนุษยวิทยาอันมีความซับซ้อนสู่การสรุปความโดยใช้คณิตศาสตร์การคำนวณและการมองภาพกว้าง ไม่ว่าจะจริงหรือไม่แต่การ “อ่าน” วิเคราะห์ตีความข้ามศาสตร์ทำให้เห็นว่าการขยายกรอบการอ่านที่มีเจตนาการเข้าใจถึงสารเรื่องหนึ่งสามารถอ่านผ่านองค์ประกอบมากมายและศาสตร์ที่หลากหลายเพื่อเข้าถึงมิติโดยนัยของทั้งประเด็นหลักและบริบทแวดล้อมเนื้อความนั้น ๆ
การอ่านสารหนึ่งผ่านกรอบอีกแบบหนึ่งหรือนอกกรอบการอ่านที่คุ้นชินจึงน่าสนใจในเชิงกระบวนทัศน์และการมองเห็นองค์ความรู้ที่ไหลวนอยู่บริเวณของเรื่องนั้น ๆ ว่าหลายประเด็นในโลกล้วนเชื่อมโยงกันสู่โครงสร้างภาษาและนัยทางความหมายอย่างไม่สิ้นสุด
อ้างอิง
- การปฏิวัติสัญศาสตร์ของโซซูร์ เส้นทางสู่โพสต์โมเดอร์นิสม์. ธีรยุทธ บุญมีเขียน. สำนักพิมพ์ วิภาษา. 2558
- หญิงร้าย. วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล เขียน. สำนักพิมพ์ยิปซี. 2562
- บวก ลบ คุณ ฉัน :ความน่าจะรักระหว่างเรา. ฮันนาห์ ฟราย เขียน. วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม แปล. สำนักพิมพ์ Be(ing). 2564