วิทยาศาสตร์ พุทธศาสนา และความหวังที่ถูกแช่แข็งไว้ใน Hope Frozen
- Hope Frozen: A Quest To Live Twice ภาพยนตร์สารคดีที่สร้างจากข่าวดังระดับโลกในปี ค.ศ. 2015 เมื่อครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ได้นำร่างของน้องไอนส์ บุตรสาวที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งระดับที่ยังไม่สามารถรักษาได้ด้วยศาสตร์ในปัจจุบันเข้าสู่กระบวนการเก็บรักษาร่างกายด้วยการแช่แข็ง
- ความหวังแช่แข็ง: ขอเกิดอีกครั้ง เป็นผลงานภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกของ ไพลิน วีเด็ล ผู้กำกับสารคดี นักข่าว และ ผู้ก่อตั้งบริษัท 2050 Productions
- ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ได้รางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์สารคดี Hot Docs 2019
Hope Frozen : A Quest To Live Twice หรือ ความหวังแช่แข็ง : ขอเกิดอีกครั้ง ภาพยนตร์สารคดีที่สร้างจากข่าวใหญ่ของเมืองไทยและเป็นข่าวดังระดับโลกในปี ค.ศ. 2015 เมื่อครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ ได้นำร่างของ น้องไอนส์-เด็กหญิงเมทรินทร์ เนาวรัตน์พงษ์ ลูกสาววัย 2 ขวบที่เสียชีวิตด้วยมะเร็งในระดับสมองอย่างรุนแรง เข้าสู่กระบวนการแช่แข็งเพื่อรักษาร่างและเซลส์สมองไว้ด้วยความหวังว่า วันหนึ่งในอนาคตข้างหน้าจะมีวิทยาการทางการแพทย์ที่สามารถนำพาชีวิตของน้องไอนส์กลับคืนสู่ร่างอีกครั้ง
น้องไอนส์ถือเป็นเด็กที่อายุน้อยสุด และเป็นคนแรกในเอเชียที่เข้ารับกระบวนแช่แข็งร่างที่เรียกว่า ไครออนิกส์ กับ Alcor Life Extension Foundation สหรัฐอเมริกา สถานที่ที่เรียกแคปซูลแช่แข็งร่างของน้องไอนส์ว่า “ห้องพักผู้ป่วย” และยังคงรักษาสถานะร่างสิ้นลมว่า “ผู้ป่วย” ไม่ใช่ “ผู้ตาย”
ความน่าสนใจของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การสร้างจากเรื่องจริง ถ่ายทอดผ่านบุคคลจริงในเหตุการณ์ หรือเพียงแค่บอกเล่าโลกเทคโนโลยีหรือวิทยาศาสตร์ แต่ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ได้ใส่เรื่องราวแห่งความหวังของครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ ทั้งพ่อ แม่ และเมทริกซ์ ลูกชาย โดยทุกคนต่างหวังว่าวันหนึ่งความหวังที่แช่แข็งไว้จะพาน้องไอนส์กลับมาเกิดอีกครั้ง
“เราต้องต่อสู้จนเราไม่มีโอกาส ผมรู้สึกว่าผมไม่มีสิทธิตัดสิน ลูกต่างหากจะเป็นคนตัดสินว่าเขาจะสู้ได้หรือไม่”
ดร.สหธรณ์ เนาวรัตน์พงษ์ พูดถึงการเสียชีวิตของน้องไอนส์ ลูกสาวที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเนื้องอกประสาทส่วนกลาง หลังจากผ่าตัด 10 ครั้ง คีโม 12 ครั้ง ฉายแสง 2 ครั้ง และเข้าออกไอซียูหลายครั้ง
ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 2015 เมื่อข่าวการแช่แข็งเซลล์สมองของน้องไอนส์ วัย 2 ขวบ ได้ถูกเผยแพร่และถูกพูดถึงไปทั่วโลก เพราะถือว่าเป็นการแช่แข็งร่างที่อายุน้อยที่สุดในขณะนั้น โดยหนึ่งในผู้ที่สนใจข่าวนี้ก็คือ ไพลิน วีเด็ล (Pailin Wedel) ผู้กำกับภาพยนตร์ที่เปี่ยมประสบการณ์ด้านสารคดีข่าวจากการทำงานเป็นทั้งนักข่าวและกำกับสารคดีข่าวของสำนักข่าวสากลอย่าง Al Jazeera รวมถึงประสบการณ์ทำวิดีโอข่าวให้กับ The New York Times, National Geographic, Washington Post และเธอเองยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทโปรดักชันชื่อ 2050 Productions
ไพลินใช้เวลาหลายปีในการติดตามถ่ายทำเรื่องราวของครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์จนกลายมาเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกในชีวิตของเธอ Hope Frozen: A Quest To Live Twice ซึ่งหลังจากสารคดีเรื่องนี้ออกฉาย ชื่อของเธอก็กลายเป็นที่รู้จักด้วยการที่ภาพยนตร์ได้เข้าฉายกว่า 20 เทศกาล และยังได้รับรางวัลสารคดียอดเยี่ยมของเทศกาลภาพยนตร์สารคดี Hot Docs ประเทศแคนาดาในปี ค.ศ. 2019 ซึ่งการได้รับรางวัล Hot Docs ทำให้ภาพยนตร์ Hope Frozen: A Quest To Live Twice ได้สิทธิ์ร่วมเข้าพิจารณาในการชิงรางวัลสารคดีของสถาบันรางวัลออสการ์โดยอัตโนมัติอีกด้วย
จากวิสัยทัศน์ทางภาพยนตร์ของไพลินทำให้ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เป็นมากกว่าสารคดีเชิงข่าวที่ใส่ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน กลับกันในเรื่องเต็มไปด้วยองค์ประกอบทางภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็นการลำดับเรื่อง เสียงดนตรี การตัดต่อ และการคัดเลือกสถานการณ์ต่างๆ ในการสื่อสาร ทั้งเนื้อหา ความหมาย และมิติอารมณ์ของตัวละคร
ทั้งหมดส่งให้สารคดีเรื่องแรกของเธอโดดเด่นด้วยเทคนิคในการจัดการเชิงภาพยนตร์ ประกอบกับเนื้อหาที่พาผู้ชมไปสำรวจครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ ครอบครัวที่สมาชิกทั้งหมดสนใจในวิทยาศาสตร์ รวมถึงพาไปชมการทำงานบางส่วนของ ดร.สหธรณ์ พ่อผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และมองเห็นความหวังด้านวิทยาการ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้ลูกชายคนเดียวของบ้าน เมทริกซ์ เติบโตมาในสิ่งแวดล้อมแบบนักวิทยาศาสตร์ และได้ศึกษาต่อในด้านวิทยาศาสตร์
“ในครอบครัวของเรา เราให้ความสำคัญวิทยาศาสตร์ค่อนข้างมาก วิทยาศาสตร์เรารู้คือเรารู้ ถ้าอะไรที่เราไม่รู้ คือไม่รู้ ไม่ใช่การบอกว่ารู้แล้วเราบอกว่ามันไม่จริง”
ดร.สหธรณ์ ได้กล่าวถึงแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์ที่ครอบครัวของเขาให้ความสำคัญ
แม้โทนของเรื่องจะดูเหมือนเป็นสารคดีวิทยาศาสตร์ แต่ไพลินกลับถ่ายทอดความเชื่อทางพุทธศาสนาของครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ออกมาด้วย และนั่นก็เป็นอีกจุดที่น่าสนใจของสารคดีเรื่องนี้ เพราะแม้ครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์จะเป็นครอบครัวนักวิทยาศาสตร์อย่างเต็มตัว แต่ก็ยังมีมุมที่นำความเชื่อส่วนตัวที่ยึดโยงอยู่กับหลักพุทธศาสนามาทำความเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ครอบครัวต้องพบเจอ โดยเฉพาะการเปรียบเทียบระหว่างจิตวิญญาณเชิงพุทธในไทยกับความรู้ด้านสสารเชิงวิทยาศาสตร์ของ ดร.สหธรณ์
“ถ้าเราเทียบร่างกายเปรียบเสมือนฮาร์ดแวร์ วิญญาณเปรียบเสมือนซอฟท์แวร์ เราก็เหมือนคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งที่ถูกผลิตออกมาจากโรงงานแล้วมันมีดีเฟคต์ ในที่สุดเราก็ต้องหยุดมันเอาไว้ก่อน เราก็ยังคิดอยู่ว่าคนจะเอาเครื่องคอมนั้นกลับมาทำงานได้ เทคโนโลยีตอนนี้ เราสามารถเรียงจีโนม เรียงดีเอ็นเอ จากเดิมไม่มีชีวิต เรามาทำให้มันมีชีวิตได้ ดังนั้นแน่นอนว่า เรากำลังก้าวไปสู่ความไม่ตายได้ ถึงเวลานั้นเป็นเวลาของไอนส์ ไอนส์จะตื่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในโลกที่ไม่มีความเจ็บป่วยอีกเลย”
ทั้งนี้ไพลินได้เล่าถึงสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เธอพยายามถ่ายทอดในสารคดีเรื่องนี้ก็คือการไม่ตัดสินการกระทำของครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ และปล่อยให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำงานกับผู้ชมในการกลับมาคิดกับตัวเองว่า ผู้ชมแต่ละคนจะเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร
และแม้สารคดีเรื่องนี้จะเป็นภาพยนตร์สารคดีที่ดูจะเหมือนมีเนื้อหาเชิงวิทยาศาสตร์เป็นหลัก แต่กลับเจือมิติมนุษย์และความเชื่อส่วนบุคคลเข้ามา เรียกได้ว่าเป็นการเชื่อมโยงเชิงบริบทเรื่องความเชื่อ ศาสนา วิทยาศาสตร์ และสังคมไทยได้อย่างแนบเนียน
ด้านการนำเสนอภาพยนตร์หรือสารคดีที่เฉพาะเจาะจงทางพื้นที่แบบ Hope Frozen: A Quest To Live Twice นี้สอดคล้องกับเจตนาของการผลิตภาพยนตร์ของ Netflix โดย อดัม เดล ดิโอ (Adam del deo) รองประธานฝ่ายสารคดีออริจินัลของเน็ตฟลิกซ์ได้ให้ทัศนะว่า เขาอยากจะเพิ่มการสร้างภาพยนตร์ในประเทศต่างๆ และภาษาอื่นๆ นอกเหนือจากภาษาอังกฤษมากขึ้น และมีเรื่องราวที่เฉพาะเจาะจง แต่ก็มีความเป็นสากลอย่าง Hope Frozen: A Quest To Live Twice ซึ่งในเวอร์ชันที่ออกอากาศทาง Netflix เป็นเวอร์ชันที่ Netflix เป็นผู้ร่วมทุนผลิตและเผยแพร่ พร้อมเนื้อหาพิเศษที่แตกต่างออกไปจากฉบับที่ฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ที่ผ่านๆ โดยเฉพาะการเพิ่มฉากที่เกี่ยวกับครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์มากขึ้นกว่าฉบับก่อนหน้า
Hope Frozen: A Quest To Live Twice จึงเป็นภาพยนตร์สารคดีที่น่าสนใจทั้งเทคนิคการเล่าและเนื้อหาที่เต็มไปด้วยมิติของมนุษย์ในการตัดสินใจกับเรื่องสำคัญ รวมถึงตั้งคำถามกับเหตุการณ์ที่เป็นข่าวระดับโลกนี้อย่างไม่ตัดสินแทนว่าการกระทำอย่างนี้เป็นเช่นไร
นี่จึงเป็นช่องว่างที่ให้ผู้ชมได้มีประสบการณ์กับเนื้อหาและทำให้สารคดี ซึ่งแต่เดิมอาจถูกมองว่าเป็นการให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ถูกพลิกเป็นมุมที่ข้อมูลนั้นไม่ใช่ข้อมูลสำเร็จรูป แต่เป็นข้อมูลที่ให้ผู้ชมได้เก็บมาคิดต่อว่าดูแล้วเราคิดเห็นอย่างไรได้บ้าง เช่นเดียวกับแม่ของน้องไอนส์ที่กล่าวถึงจุดสำคัญที่ทำให้เธอเชื่อ หวัง และตัดสินใจเช่นนี้ไว้ว่า
“จุดเดียวที่สามารถทำให้การตัดสินใจของคนที่ไม่ว่าจะมีความรู้หรือไม่มีความรู้ หรือว่าเข้าใจเทคโนโลยีที่แตกต่างกันก็คือ…ความรัก”
Fact File
สามารถรับชมHope Frozen: A Quest To Live Twice ได้ใน Netflix