บ้านเช่า บูชายัญ : กะเทาะแก่นความกลัวที่ซุกซ่อนอยู่ในบ้านเช่าหลังนั้น
Lite

บ้านเช่า บูชายัญ : กะเทาะแก่นความกลัวที่ซุกซ่อนอยู่ในบ้านเช่าหลังนั้น

Focus
  • บ้านเช่า บูชายัญ ผลงานจากผู้กำกับ โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ ที่เคยฝากความสยองไว้ในสังคมไทยอย่าง ลัดดาแลนด์, ฝากไว้…ในกายเธอ และ เพื่อน…ที่ระลึก
  • ภาพยนตร์เรื่องใหม่ในชายคาสตูดิโอ GDH เจ้าตลาดและประสบความสำเร็จทางรายได้สูงสตูดิโอหนึ่งของไทย

บ้านเช่า บูชายัญ ภาพยนตร์สยองขวัญสุดลุ้นระทึกที่มีผู้ชมกล่าวถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่งตั้งแต่เปิดปี 2023 มา เรื่องนี้เป็นผลงานจากวิสัยทัศน์ผู้กำกับไทยที่ช่ำชองการปลุกผีมาหลอกหลอนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ ซึ่งเคยฝากผลงานความหลอนอันเป็นที่จดจำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวหมู่บ้านสุดหลอน ลัดดาแลนด์ (2011) รักสามเศร้าของผีเฝ้าสระน้ำ ฝากไว้ในกายเธอ (2014) และเรื่องของวิญญาณสถิตในตึกร้างที่กลายมาเป็นอนุสรณ์แห่งการล่มสลายทางเศรษฐกิจไทย เพื่อนที่ระลึก (2017) สำหรับครั้งนี้โสภณกลับมากำกับความสยองในสถานที่พักอาศัยใกล้ตัวผู้ชมอีกครั้งกับ บ้านเช่า บูชายัญ หนังชวนสยองที่เล่าเรื่องจากหลายมุมมองอันเริ่มจาก สองสามีภรรยา กวิน (นำแสดงโดย ศุกลวัฒน์ คณารศ) และ หนิง (นำแสดงโดย นิษฐา คูหาเปรมกิจ) พร้อมลูกสาววัยเด็กอิง (นำแสดงโดย กัสจัง) โดยเรื่องราวความสยองได้ย้อนเล่าไปถึงครอบครัวนี้ที่อยู่ในฐานะทางเศรษฐกิจแบบคาบลูกคาบดอก มีทรัพย์สินพอควร แต่ยังคงต้องดิ้นรนทั้งการหาสมัครงาน และธุรกิจปล่อยเช่าคอนโด-บ้าน จนกระทั่งได้มาเจอผู้เช่ารายใหม่ ราตรี (นำแสดงโดย เพ็ญพักตร์ ศิริกุล) เจ้าลัทธิองค์เทพผู้ขมังเวทย์ที่จำต้องร่ายพิธีกรรมยามตี 4 จนนำมาซึ่งเหตุสยองขวัญทั้งหลายที่กำลังจะตามมา

ความน่าสนใจอย่างแรกของภาพยนตร์นั้นนอกจากความลุ้นระทึกทางอารมณ์ คือ การใช้วิธีการเล่าเรื่องที่แบ่งช่วงออกเป็น 3 มุมมองตั้งแต่ หนิง กวิน ต่อด้วย ราตรี และขมวดไปสู่ปมใหญ่ทางเนื้อเรื่องและการเสริมสร้างเนื้อหาชวนคบคิด ผู้เขียนจึงอยากชวนไปสำรวจองค์ประกอบหลักจาก 3 มุมมองที่จะสะท้อนให้เห็นความเป็นมนุษย์ในหนังผีเรื่องนี้ที่มีตั้งแต่จุดต้นเรื่องอย่าง ผี สัญญาณเตือนสุดหลอนที่มาในรูปของ สัตว์ และจุดเริ่มต้นของหลายเหตุการณ์สยองที่มาพร้อมกับ สิ่งของ รวมทั้งกะเทาะแก่นความกลัวว่าความน่ากลัวของเรื่องนี้มันมีเงื่อนที่ซับซ้อนซ่อนอยู่ในบ้านเช่าหลังนี้อย่างไร

ผี กับ คน เราควรกลัวสิ่งใดมากกว่ากัน?

อย่างเด่นชัดว่า บ้านเช่า บูชายัญ ถูกจัดอยู่ในหมวดภาพยนตร์ที่เรียกกันติดปากว่า “หนังผี” และเมื่อได้ชื่อว่าหนังผีก็แน่นอนว่าภาพยนตร์ต้องมีตัวละครหลักที่เป็น ผี และเล่าเรื่องเกี่ยวกับ ผี ซึ่ง ผี โดยทั่วไปมักมากับความสยองขวัญ เลือดสาด แต่ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือการแยก ผี ออกจากความสยองขวัญ เป็นหนังผีที่ไม่ขับเน้นความน่ากลัวให้เป็นหลัก แต่ก็สามารถสร้างบรรยากาศความสยองขวัญให้ผู้ชมได้ บ่อยครั้งที่หนังผีหรือภาพยนตร์สยองขวัญตั้งใจแสดงความน่ากลัวผ่านรูปร่างของผี วิญญาณร้าย สัตว์ประหลาด ภูตินรก หากไม่แล้วก็มักเน้นไปที่ลักษณะหน้าตาอาบเลือด หัวแหว่งอะไรทำนองนั้น แต่บ้านเช่า บูชายัญได้สร้างตัวละครที่มีรูปร่างปกติ หนำซ้ำยังใช้หนังสือปิดหน้าปิดตาให้ชวนจินตนาการถึงผีหลังหนังสือเล่มนั้น พร้อมทั้งมีการเลือกใช้ ผี ไปในเชิงความหมายของเนื้อหาเสียมากกว่าการกระตุ้นอารมณ์ผู้ชม ซึ่งนี้คือหนึ่งในจุดแข็งและน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้เลยก็ว่าได้

หนึ่งในเหตุสยองเริ่มจาก ภูมิหลังของกวิน ชายหนุ่มผู้ที่เคยเป็นพ่อม่ายลูกติดหนึ่งคนชื่อ จ๋า แต่วันหนึ่งเขาได้เสียลูกสาวคนแรกของเขาไปด้วยเหตุเครื่องทำน้ำอุ่นเสีย และกวินก็เป็นผู้ลงมือซ่อม แต่กลับเป็นว่าเครื่องทำน้ำอุ่นที่กวินซ่อมเกิดไฟฟ้าลัดวงจรดับชีพจ๋าลูกสาวของเขาเสียเอง และทำให้เขายอมรับในความผิดร้ายแรงของตัวเองไม่ได้ แม้เมื่อมีครอบครัวใหม่กับหนิงและมีอิงเป็นลูกสาวคนใหม่ แต่อดีตครั้งนั้นยังฝังใจเขาเรื่อยมาจนกระทั่งเมื่อ ราตรี เจ้าลัทธิมาขอเช่าบ้าน และราตรีก็ยังสามารถบอกเล่าเรื่องของจ๋าผู้ล่วงลับได้ราวกับเหตุการณ์ทุกอย่างอยู่ตรงหน้า กวินจึงศรัทธาราตรีตั้งแต่นั้นพร้อมทั้งปล่อยบ้านให้ราตรีเช่า โดยราตรีได้ตีราคาค่าเช่าบ้านเป็นการชุบชีวิต จ๋า ให้มาอยู่ในร่าง อิง และอยู่ร่วมกันสองวิญญาณ ซึ่งกวินก็ตอบรับเงื่อนไขนี้ และตอนนี้เองที่เรื่องราวของ จ๋า กำลังจะถูกบอกเล่าอีกครั้งในฐานะ ผี และในฐานะที่เป็นบาดแผลในใจของกวิน พร้อมกับคำถามที่เกิดขึ้นว่าจริงๆ แล้ว กวินรักลูกสาว หรือกวินอยากแก้ไขความรู้สึกผิดที่ถูกขังไว้ในใจตนมากกว่า ผู้ชมจะได้เห็นกวินเฝ้ามองน็อตในห้องน้ำที่เคยยึดเครื่องทำน้ำอุ่นอยู่บ่อยครั้ง จะเรียกว่าบ่อยกว่ามองรูปจ๋าที่ฝุ่นเกาะอยู่บนฝาผนังเลยก็ว่าได้ผีจ๋า จึงไม่ใช่แค่ความน่ากลัว ความสยอง แต่ยังเป็นผีที่แสดงให้เห็นถึงธาตุแท้ของคนเป็นอย่างกวิน ที่พยายามจะไถ่บาปการตายของจ๋าก็เพื่อตนเอง และในการหมกมุ่นกับ “วิชา” เพื่อให้จ๋าคืนร่างก็ทำให้รู้สึกได้ว่าคนเป็นอย่างกวินมีความน่ากลัวกว่าคนตายที่เรียกว่า ผี เป็นไหนๆ

สัตว์ และ ถิ่นฐานทางวัฒนธรรม

มนุษย์ อีกา ผีสัตว์ประหลาด ทั้งสามสิ่งนี้หากมองรวมคือสัตว์ที่ทั้งจะประหลาดหรือไม่ประหลาดก็ตาม ซึ่งความเป็นสัตว์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกใช้ในฐานะ สื่อ ที่ทำหน้าที่สื่อสารกับทั้งตัวละครกันเองและผู้ชมโดยมีวิธีการสื่อสารที่ต่างออกไปเริ่มจาก มนุษย์ ที่พูด คิด อ่าน เขียนแบบที่คุ้นชิน อีกา ที่ไร้ภาษาแต่สามารถสื่อสารผ่านวิธีการโบยบิน และ ผีสัตว์ประหลาด ที่เคยมีสถานะเป็นมนุษย์แต่ต้องมาสิงอยู่ในหุ่นนานจนมีวิธีการสื่อสารในแบบของมัน ตลอดทั้งเรื่องสามสิ่งนี้ต่างปรากฏและสื่อสารสลับไปมา เพื่อขยายความหมายการมีอยู่ของชุดตัวละครมนุษย์ในภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างน่าขบคิด

อีกา เป็นภัยคุกคามแรกๆ ของหนิงและผู้ชม เพราะเป็น ผี ตนแรกที่ปรากฏ ทั้งการเกาะราวระเบียงคอนโดตำแหน่งห้องหนิงและอิงเพียงห้องเดียวทั้งคอนโด การบินรอบและเกาะบริเวณบ้านเช่าหลังจากที่ราตรีเข้าพัก อีกาทำให้กลัวด้วยการคุกคามและการแสดงให้เห็นถึงความผิดที่ผิดทางในการปรากฏตัวของอีกากลางเมืองที่มักจะมาในเวลาและพื้นที่ของพิธีกรรมที่ราตรีเป็นคนนำ และอีกายังเป็นเสมือนสัญญาณเตือนจากราตรี

บ้านเช่า บูชายัญ

สำหรับราตรีเองเธอมาเช่าบ้านพร้อมการปรากฏของบริวาร 3 ประเภท คือ ลูกศิษย์ที่เป็นคน ผู้ช่วยร่ายคาถาที่เป็นผี และอีกาที่เป็นสัตว์ ซึ่งทั้งสามมีความหมายในภาพยนตร์แบบเดียวกันคือ ความเป็นคนนอก ขยายความคือ กลุ่มลูกศิษย์ที่เป็นทั้งคนและผีของราตรีคือผู้ที่เชื่อในวัฒนธรรมชายขอบ เป็นความศรัทธาที่เดินทางมาจากแดนไกล เป็นความเชื่อของชนเผ่าที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครอันเป็นฉากหลักของเรื่อง ซึ่งการปรากฏตัวของอีกานั้นก็ทำให้บริเวณเกิดเหตุดูน่ากลัวจากความผิดที่ผิดทาง ตรงข้ามกับชนเผ่าของราตรี ที่มีวิถีการสลับร่างและร่ายมนต์เป็นเรื่องปกติ พวกเขาไม่ได้ “กลัว” ในสิ่งที่ตนเป็น นี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่ภาพยนตร์ไม่ได้สร้างความน่ากลัวให้เหล่าชนเผ่าไม่ว่าจะทั้งคนหรือผี ท้าทายสำนึกทางวัฒนธรรมกับการเห็นกลุ่มผู้ปฏิบัติแปลกแยกว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวหรือไม่ และเป็นคำถามที่ภาพยนตร์ส่งต่อให้กับผู้ชม เป็นคำถามถึงหนิงในฐานะคนกรุงเทพฯ ที่กำลังหวาดกลัวราตรีว่าแท้จริง “ความกลัวนั้นคือความกลัวสิ่งใด”

บ้านเช่า บูชายัญ

ด้าน ผี ในเรื่องที่เข้ามาสร้างความกลัวคือ ผีแพร หุ่นกระบอกที่บรรจุวิญญาณลูกของราตรี ความน่าสนใจคือ ผีแพรในหุ่นกระบอกเป็น ผีเด็ก ที่ต่างจากผีเด็กตนอื่นตรงที่ไม่ปรากฏร่างเต็มตัว แต่จะมีการใช้ดวงตาโผล่อยู่ในหุ่น หรือปรากฏเพียงแขนที่ยื่นออกมา แถมเป็นผีที่ไม่มีสุ้มเสียง เป็นผีที่ไม่มีภาษาทางคำพูดและการกระทำ ผีแพร จึงเป็นผีแห่งคนนอกเช่นเดียวกับสัตว์อย่างอีกา แต่เหนือกว่าด้วยการอยู่ในฐานะผีสัตว์ประหลาดในหุ่นกระบอกที่ไม่มีการสื่อสารแบบมนุษย์เท่าไรนัก ผีสัตว์ประหลาดแบบแพรกับอีกาจึงมีสถานะใกล้เคียงกันคือการไม่สื่อสารแต่คุกคาม และดูน่าสะพรึงอย่างที่ทั้งสองสิ่งนี้ก็ไม่ได้จงใจหลอกหลอน แค่พวกมันดำเนินกริยาตามแบบพวกมัน แต่จังหวะของพวกมันดันแปลกแยกกับสังคมมนุษย์ที่คุ้นชิน จนประหลาดและสร้างความน่ากลัวให้ผู้พบเห็นก็เท่านั้น

และนอกเหนือจากสัตว์อย่างอีกาหรือผีสัตว์ประหลาดแล้วก็สามารถขบคิดต่อไปได้ว่า สัตว์แบบมนุษย์ยังมีการแบ่งแยกและระแวงการอยู่ร่วมกันของหลักการพหุวัฒนธรรมอยู่หรือเปล่า มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันกับวัฒนธรรมของอีกลุ่มที่ต่างกันมากได้อย่างแท้จริงหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วมนุษย์ทั้งมวลคือ สัตว์ ที่เชื่อและปฏิบัติคนละแบบเพียงเท่านั้น ความเป็นคนในคนนอกเป็นการสมมติขึ้นทางวัฒนธรรมและการครองพื้นที่หรือไม่ นี่คือคำถามสำคัญของภาพยนตร์ที่ถามถึงความเป็นสัตว์และนิยามของมนุษย์ในแบบสัตว์ว่าต่างกันแค่ไหน และรู้สึกกับสัตว์อื่นอย่างไร

บ้านเช่า บูชายัญ

บ้านเช่า…ที่สะท้อน มนุษย์

หนึ่งในสิ่งที่สะท้อนภาวะของมนุษย์ในภาพยนตร์ได้อย่างน่าสนใจและถูกใช้เป็นตัวขับเน้นปมใหญ่อันเป็นชื่อเรื่องก็คือ บ้านเช่า ซึ่งถูกอุปมาเปรียบเทียบกับ ร่าง ของมนุษย์ตามความเชื่อระหว่าง ร่าง – จิต โดยราตรีเจ้าลัทธิได้นิยามให้ จิตเป็นสิ่งที่เช่าร่าง ซึ่งก็อุปมาสู่ บ้าน ที่มีผู้เช่าเป็นมนุษย์

หากคิดต่อจากลัทธิของราตรีที่เป็นคนนอกวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ทั้งการแต่งกายและวิถีการแลกเปลี่ยนวิญญาณที่แปลกแยกจากชาวกรุง ความต่างนี้ผลักดันชนลัทธิผีกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ไปสู่สุดชายขอบ เพราะนอกจากวัฒนธรรมที่แปลกแยกแล้ว พวกเขาและเธอไม่มีถิ่นที่อยู่ทั้งกายทั้งใจ เพราะเกินครึ่งของศิษย์ราตรีในลัทธินี้เป็น ผี ไม่มีร่าง และอีกส่วนที่เป็นมนุษย์ก็มีร่างแต่ไม่มี บ้าน ในฐานะถิ่นที่อยู่จนต้องพเนจรทำภารกิจไปเรื่อยๆ ไม่สามารถเชื่อมโยงตนเองกับเมืองได้ ลัทธิของราตรีจึงเป็นลัทธิของผี ทั้งผีในฐานะคนที่ตายแล้วและผีในฐานะที่คน (กรุง) มองไม่เห็น แต่สถิตอยู่และมีพลังที่จะสร้างพลกระทบเล็กๆ น้อยๆ ทางสังคม

นอกจากบ้านแล้ว ในเรื่องยังมีเหล่า ตุ๊กตา ที่เป็นสิ่งของและเป็นทั้งร่าง ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาสมัยใหม่ที่ขังผีจ๋าไว้ และ ตุ๊กตาไม้ของเผ่าโบราณที่ขังผีแพรจนกลายเป็นสัตว์ประหลาดไป ตุ๊กตาทั้งสองไม่ได้แสดงเจตจำนงของตนเอง แต่เป็นสิ่งสะท้อน เจตนามนุษย์ ทั้ง กวิน หนิง และ ราตรี ทั้งโกรธ กลัว อาฆาต ตุ๊กตาได้สะท้อนจิตผู้จับต้อง เช่นกวินใช้ตุ๊กตาเป็นภาพแทนลูกสาวที่เสียชีวิตไป เขาจึงถนุถนอมตุ๊กตาตัวนี้ดุจลูก ต่างจากหนิงที่กำลังหลอนกับฝูงกาและพิธีของราตรี เธอจึงกลัวตุ๊กตาตัวเดียวกันในฐานะผี หรืออย่างราตรีเจ้าของตุ๊กตาไม้โบราณก็มีเจตนาของตนซ่อนอยู่ในตุ๊กตาเช่นกัน

บ้านเช่า บูชายัญ

ในภาพยนตร์ บ้านเช่า บูชายัญ แสดงให้เห็นถึงการใช้องค์ประกอบมากมายเพื่อสร้างโครงสร้างให้ผู้ชมเข้าใจจิตใจตัวละครในฐานะที่ จิตแยกกับร่าง ร่างจึงกระทำการแทนจิต และเมื่ออุปมาบ้านเช่าที่มาเทียบกับร่างและจิตแล้ว บ้านเช่าหลังนี้ก็ยังแสดงให้เห็นถึงการเก็บงำความสับสนของเรื่องราวทั้งหมดไว้ภายในแบบเดียวกับที่ บ้านเป็นกาย และเหล่าตัวละครที่คลั่งความปรารถนาของตนกำลังห้ำหั่นกันอย่างเอาแต่ใจ สะท้อนช่วงเวลาอันสับสนของมนุษย์ในเวลาที่ไม่รู้ที่ทางและไม่เข้าใจตนเองได้อย่างดี และทั้งชั้นเชิง เรื่องราว เนื้อหา ทำให้ บ้านเช่า บูชายัญ เป็นภาพยนตร์ที่น่าจดจำในฐานะหนังผีที่กล่าวถึงผีอย่างซับซ้อนซ่อนความจนน่าประทับใจ


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน