Day of the Dead วันแห่งความตายฉบับเม็กซิกัน สานต่อความเชื่อโบราณชาวแอซเท็ก
- ในช่วงปลายเดือนตุลาคมไปจนถึงวันที่ 1-2 พฤศจิกายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันรำลึกถึงคนตาย Dia de los Muertos หรือ Day of the Dead เทศกาลสำคัญของประเทศเม็กซิโก
- Day of the Dead ไม่ได้เป็นเพียงเทศกาลสำคัญของประเทศเม็กซิโก แต่ยังได้รับการขึ้นทะเบียนจาก UNESCO ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติอีกด้วย
ตุลาคม เป็นเดือนที่ตรงกับรอยต่อของฤดูกาลจากเพาะปลูกไปยังฤดูเก็บเกี่ยว และเชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่รอยต่อระหว่างโลกคนเป็นและโลกหลังความตายถูกเปิดออก ไม่ว่าซีกโลกตะวันตกหรือตะวันออกก็มีประเพณีสำคัญเกี่ยวโยงกับโลกหลังความตายในเดือนนี้ ไม่ว่าจะเป็นสารทเดือนสิบ ฮาโลวีน และส่งท้ายด้วย Dia de los Muertos หรือ Day of the Dead เทศกาลที่หลายคนให้นิยามว่าเป็นเช็งเม้งสไตล์เม็กซิกัน เป็นเทศกาลที่คนเป็นจัดงานรำลึกถึงคนตาย โดย Day of the Dead ไม่ได้เป็นเพียงเทศกาลสำคัญของประเทศเม็กซิโก แต่ยังได้รับการขึ้นทะเบียนจาก UNESCO ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติอีกด้วย
จากความเชื่อโบราณชาวแอซเท็ก สู่เทศกาลระดับโลก
เดิมที Day of the Dead เป็นงานเฉลิมฉลองรับดวงวิญญานกลับบ้านที่จัดยาวนานเป็นเดือน ต่อมาหลังจากสเปนเข้ามาปกครองเม็กซิโกในยุคล่าอาณานิคม ก็ได้ปรับเปลี่ยนเทศกาลนี้ไปจัดในช่วงปลายเดือนตุลาคมไปจนถึงวันที่ 1-2 พฤศจิกายนของทุกปีเพื่อให้เข้ากับความเชื่อทางศาสนาคริสตโรมันคาธอลิก โดยกำหนดวัน Day of the Dead ให้ตรงกับวัน All Saints’ Day คือวันที่ 1 พฤศจิกายน และวัน All Souls’ Day ตรงกับวันที่ 2 พฤศจิกายน
สำหรับพิธีกรรมของ Day of the Dead นั้นในแต่ละครอบครัวก็จะมีการตั้งแท่นบูชาต้อนรับผู้ล่วงลับ ทำความสะอาดสุสาน สมาชิกครอบครัวที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะกลับมาร้องเพลงรำลึกถึงดวงวิญญานของญาติมิตรหรือคนรักที่ล่วงลับ เป็นวันที่คนตายและคนเป็นจะได้อยู่รวมกันในทางจิตวิญญานอีกครั้งเพื่อระลึกถึงคุณงามความดี และสายสัมพันธ์ที่เคยมีต่อกัน พร้อมทั้งตอกย้ำความเชื่อที่ว่า ดวงวิญญานคนตายไม่เคยหายไป แต่ยังสถิตอยู่กับคนที่รักเสมอ
ทั้งนี้วันแห่งความตายเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดจากความเชื่อยุคอาณาจักรแอซเท็ก (Aztec) ซึ่งมีการบูชาเทพีแห่งความตายที่ชื่อ Mictecacihuatl องค์ประกอบสำคัญของงานนี้คือการจัดแท่นระลึกถึงคนตาย บนแท่นมีของสำคัญ 5 สิ่ง คือ ภาพถ่ายของคนตาย หัวกระโหลกตกแต่งเขียนสี อาหารโปรดของคนตาย เทียน และดอกดาวเรือง บางพื้นที่อย่างในแถบชนบทของเม็กซิโก อาจจัดแท่นของเซ่นไว้ที่สุสานหรือหลุมฝังศพคนตาย หรือใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็เป็นการจัดเป็นแท่นบูชาคนตายส่วนกลางของชุมชน ไปจนถึงงานเทศกาลระดับชาติจัดแท่นของเซ่นวิญญาณขนาดมหึมาซึ่งได้กลายเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวระดับโลกในปัจจุบัน โดยในงานจะมีขบวนพาเหรดยิ่งใหญ่ตกแต่งด้วยดอกดาวเรือง ผู้คนสวมหน้ากากไม้แกะสลักเป็นรูปหัวกระโหลกที่เรียกว่า Calaveras ซึ่งได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่จะขาดไม่ได้ของงานนี้
จากงานรำลึกคนตายที่จัดขึ้นภายในครอบครัว ชุมชนตอนนี้ Day of the Dead ได้กลายเป็นเทศกาลใหญ่ของเม็กซิโก จัดขึ้นที่เม็กซิโก ซิตี้ เมืองหลวง ในวันที่ 2 พฤศจิกายนของทุกปี โดดเด่นด้วยพาเหรดในชุดประจำชาติ งานประติมากรรมหลากสีสันจากตำนานเทพในท้องถิ่นของเม็กซิโก รวมถึงภาพล้อตกแต่งสีสันภาพแหัวกระโหลก โครงกระดูก คนสวมหน้ากากเขียนลายหัวกะโหลกต่างๆ ยกขบวนแห่จาก ประตูปูเอร์ตา เด ลอส เลโอเนส (ทางเข้าสวนสาธารณะ Chapultepec Park) ผ่านถนนสายหลักต่างๆของเมืองหลวงไปจบที่จตุรัส โซกาโล Zócalo ศูนย์กลางของเมือง
เทพีแห่งความตาย Lady of the Dead
อย่างที่กล่าวว่าวันเช็งเม้งสไตล์เม็กซิกันนี้สืบทอดความเชื่อจากอารยธรรมโบราณยุคอาณาจักรแอซเท็กซึ่งมีพิธีกรรมบูชาเทพีแห่งความตายที่ชื่อ Mictecacihuatl ทำหน้าที่นำดวงวิญญานจากร่างคนตายในหลุมฝังศพกลับคืนสู่บ้านและครอบครัว หลักฐานความเชื่อนี้ปรากฎอยู่ในศิลปะโบราณยุคแอซเท็กเป็นภาพเทพีแห่งความตายที่มีใบหน้าเป็นรูปกระโหลก ปากอ้ากว้าง เห็นโครงของกระดูกบนใบหน้าชัดเจน อกทั้งสองข้างห้อย และสวมกระโปรงทำจากงู
ปัจจุบันรูปทรงลายเส้นโครงกระดูกและใบหน้ากะโหลกเยี่ยงเทพี Mictecacihuatl ยังคงปรากฏให้เห็นในงานศิลปะที่เป็นสัญลักษณ์ประจำเทศกาล เช่น หัวกะโหลก Calaveras นอกจากนี้ยังมี Calavera de Azucar เป็นหัวกะโหลกจากน้ำตาล ตกแต่งสีสันสวยงามสามารถกินได้ อีกทั้งยังถูกใช้เป็น 1 ใน 5 ของสำคัญในชุดเครื่องเซ่นบนแท่นบูชาวิญญานญาติมิตรผู้ล่วงลับหรือที่เรียกว่า Ofrendas
ดาวเรืองและแท่นบูชาดวงวิญญาณผู้เป็นที่รัก
Ofrenda หรือ แท่นบูชา เป็นอีกองค์ประกอบที่จะขาดไม่ได้ในเทศกาลรำลึกถึงคนตายสไตล์เม็กซิกัน ซึ่งจัดไว้ทั้งที่บ้าน และชุมชน องค์ประกอบสำคัญของแท่นบูชาวิญญาน มี 5 อย่าง คือ ภาพถ่ายของผู้ล่วงลับ ข้อความรำลึกถึง เทียน ดอกดาวเรือง และ อาหาร เครื่องดื่ม
สำหรับความหมายของการตั้งแท่นบูชานั้นต้องการสื่อสารให้ดวงวิญญานผู้ล่วงลับรับรู้ว่า คนเป็นยังไม่ลืมเลือนคนตาย และคนตายยังคงสำคัญเสมอ สำหรับการเลือกใช้ดอกดาวเรืองนั้นนอกจากจะเป็นดอกไม้พื้นเมืองประจำถิ่นของเม็กซิโก ก็ยังมีความเชื่อว่าสีที่สดใส กลิ่นหอมของดอกดาวเรือง บวกด้วยแสงเทียนสว่างไสวที่จุดอยู่ที่แท่นบูชาจะช่วยนำทางวิญญาณให้กลับบ้านมาร่วมเฉลิมฉลองกับครอบครัวอีกครั้ง ส่วนอาหารเครื่องดื่มที่เตรียมไว้บนแท่นบูชามักเป็นของโปรดของผู้ตาย ตั้งไว้รอรับดวงวิญญานที่เดินทางกลับบ้านด้วยความเหนื่อยล้าและหิวโหย
นอกจากดาวเรืองจะถูกใช้ประดับแท่นบูชาแล้วก็ยังเป็นเหมือนดอกไม้ประจำเทศกาลที่ประดับตกแต่งไปทั่วเมือง ร่วมกับดอกไม้สีสันสดใสอื่นๆ เช่น ดอกเบญจมาศ ดอกซ่อนกลิ่นฝรั่ง (แกลดิโอลัส) และดอกหงอนไก่ เรียกว่าเป็นงานรำลึกถึงคนตายที่ตกแต่งอย่างสดใส ให้คนเป็นและคนตายได้เฉลิมฉลองในช่วงเวลาที่เชื่อว่าบานประตูเชื่อมทั้งสองโลกถูกเปิดออกให้ทั้งสองโลกกลับมาเชื่อมโยงกันอีกครั้ง
La Calavera Catrina ศิลปะที่ใช้ความตายเสียดสีสังคม
นอกจากสัญลักษณ์หัวกะโหลกตกแต่งแฟนซีแล้ว เทศกาลแห่งความตายยังก่อให้เกิดผลงานศิลปะชิ้นเยี่ยมที่เรียกว่า La Catrina หรือ La Calavera Catrina เป็นภาพพิมพ์ล้อการเมืองรูปหัวกระโหลกสวมหมวกดอกไม้สไตล์ยุโรป ผลงานการสร้างสรรค์ของ José Guadalupe Posada โดยภาพนี้เล่าเรื่องราวสะท้อนสังคมและเสียดสีการเมืองที่มีการคอรัปชั่นสูงในยุคนั้น และถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางในสิ่งพิมพ์ต่างๆ ทั่วประเทศเม็กซิโกช่วง ค.ศ. 1910 จากนั้นถูกนำไปเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในภาพเขียนอันโด่งดัง Dream of a Sunday Afternoon in Alameda Park (ค.ศ. 1947) โดย Diego Rivera (สามีของ ฟรีดา คาโลห์) เป็นภาพวาดขนาดใหญ่บนกำแพงศูนย์ประวัติศาสตร์ของเมืองเม็กซิโก เป็นรูปใบหน้าหัวกะโหลกยืนเด่นอยู่ตรงกลางภาพสวมใส่ชุดสตรีชั้นสูง และสวมหมวกหรูหราสไตล์ยุโรปเหมือนผลงาน La Catrina ทว่าแตกต่างที่ภาพนี้แวดล้อมด้วยหมู่มวลคนดัง บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์เม็กซิโก รวมถึง ภรรยาและลูกสาวของนายพลดิอาซ ผู้นำที่ถูกประชาชนเม็กซิกันลุกขึ้นมาปฏิวัติก็ถูกวาดอยู่ในภาพประวัติศาสตร์นี้ด้วย
ภาพล้อหัวกระโหลกสวมหมวกตกแต่งบรรเจิดที่ศิลปินตั้งชื่อว่า La Catrina หรือ La Calavera Catrina มาจากคำว่า กาตริน (‘catrin) ศัพท์สแลงของเม็กซิกัน หมายถึง “คนแต่งตัวดี” เสียดสีสังคมไฮโซ หรือชนชั้นสูงในเม็กซิโกที่ลุ่มหลงกับขนบธรรมเนียมแบบชาวยุโรปซึ่งตรงกับยุคของนายพลปอร์ฟิริโอ ดิอาซ (José de la Cruz Porfirio Díaz Mori ) วีรบุรุษกู้ชาติจากฝรั่งเศสผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเม็กซิโก 3 สมัยยาวนานถึง 35 ปี เป็นยุคแห่งการคอรัปชันโกงกินจนนำไปสู่การลุกฮือของประชาชนและเกิดปฏิวัติครั้งใหญ่ของเม็กซิโก (Mexican Revolution)
หลังจากที่งานภาพล้อการเมืองรูปหัวกระโหลกที่เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมถูกนำมาใช้สื่อสารเรื่องราวความคิดเสียดสีสังคมการเมืองก็ส่งผลให้ José Guadalupe Posada ศิลปินนักวาดภาพประกอบและช่างแกะภาพพิมพ์หินชาวเม็กซิกันโด่งดังและมีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการศิลปะเม็กซิโกยุคหลัง โดยเฉพาะนักวาดการ์ตูนล้อและงานศิลปะวิพากษ์สังคม ราวกับว่า La Catrina ใบหน้าหัวกะโหลกใส่หมวกติดดอกไม้ รับไม้ต่อจากภาพของเทพีแห่งความตายในยุคอาณาจักรโบราณแอซเทค กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลแห่งความตายที่เชื่อมสังคมแมกซิโกปัจจุบันไว้ได้อย่างแนบเนียน
อ้างอิง