ย้อนรอยประวัติศาสตร์ 10 สนามกีฬาโอลิมปิก Paris 2024 จากปารีส แวร์ซาย ถึงตาฮิติ
Lite

ย้อนรอยประวัติศาสตร์ 10 สนามกีฬาโอลิมปิก Paris 2024 จากปารีส แวร์ซาย ถึงตาฮิติ

Focus
  • สโลแกนของการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิก Paris 2024 คือ เกมที่เปิดกว้าง เจ้าภาพจึงพยายามนำการแข่งขันเข้ามาไว้ในใจกลางเมืองให้มากที่สุด
  • สนามการแข่งขันมีทั้งการใช้สนามกีฬาเดิม เช่น สนามเทนนิส Roland Garros และปรับสถานที่ประวัติศาสตร์เช่นพระราชวังแวร์ซายและจตุรัสกงกอร์ดเป็นสนามกีฬาเฉพาะกิจ
  • ชายหาดเมืองเตอาอูโป ในเกาะตาฮิติ เป็นสนามกีฬาที่อยู่ไกลที่สุดจากเมืองเจ้าภาพนับตั้งแต่มีการจัดโอลิมปิก

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก Paris 2024 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม พ.ศ. 2567 และต่อด้วยการแข่งขันพาราลิมปิกระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม – 8 กันยายน พ.ศ. 2567 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ด้วยปณิธานในการจัดการแข่งขันที่ว่า “หนึ่งตราสัญลักษณ์ หนึ่งมาสคอต และหนึ่งคำขวัญ” กรุงปารีสในฐานะเมืองเจ้าภาพมาพร้อมกับสโลแกนว่า “เกมที่เปิดกว้าง” ได้นำการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ เข้ามาไว้ในใจกลางเมืองเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ดังจะเห็นได้จากการสร้าง สนามกีฬาโอลิมปิก เฉพาะกิจขึ้นมาในบริเวณของอนุสรณ์สถานและแลนด์มาร์กสำคัญๆ ทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกับการใช้สนามกีฬาเดิมที่มีอยู่แล้ว

สนามกีฬาโอลิมปิก
พระราชวังแวร์ซายพร้อมสำหรับเป็นสนามแข่ง

Sarakadee Lite พาไปย้อนรอยประวัติศาสตร์ความเป็นมาของ 10 สนามกีฬาโอลิมปิก Paris 2024 ทั้งสนามกีฬาเดิมและการปรับสถานที่ประวัติศาสตร์ เช่น พระราชวังแวร์ซาย ศาลาว่าการกรุงปารีส และแลนด์มาร์กท่องเที่ยวสุดฮิตบริเวณหอไอเฟลให้เป็นสนามกีฬาเฉพาะกิจ รวมไปถึงสนามกีฬาพิเศษที่จัดไกลถึงเกาะตาฮิติ

01 Château de Versailles: สนามกีฬาแข่งม้าในอดีตพระราชวังยิ่งใหญ่ของโลก

Château de Versailles (ชาโต้ เดอ แวร์ซาย) หรือ พระราชวังแวร์ซาย สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งในยุครุ่งโรจน์ของราชวงศ์บูร์บง (Bourbon) ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และการล่มสลายในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของโปรแกรมการแข่งขัน เพราะบริเวณสวนของพระราชวังได้มีการปรับชั่วคราวให้เป็นสนามสำหรับ การแข่งขันขี่ม้าประเภทศิลปะการบังคับม้า กระโดดข้ามเครื่องกีดขวางและอิเวนติง รวมไปถึง การแข่งขันปัญจกีฬาสมัยใหม่

สนามกีฬาโอลิมปิก

History in Brief : พระราชวังแวร์ซายตั้งอยู่ที่เมืองแวร์ซาย เขตเลส์ซิฟเวอร์ลีนส์ (Les Yvelines) ทางทิศตะวันตกของกรุงปารีส สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1623 โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 (Louise XIII : ครองราชย์ 1610-1643) แรกเริ่มเป็นสถานที่ประทับชั่วคราวในช่วงเวลาที่พระองค์เสด็จประพาสล่าสัตว์โดยสร้างเป็นลักษณะตำหนักเล็กๆ สไตล์ชนบท ต่อมาพระองค์ได้ซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงเพิ่มและขยายต่อเติมให้กว้างขวางและสะดวกสบายมากขึ้นจนเสด็จฯ มาประทับค้างคืนที่ตำหนักแห่งนี้ครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1624 

ต่อมาในสมัย พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ( Louis XIV : 1643-1715) ซึ่งถือเป็นช่วงยุคทองของแวร์ซายมีการก่อสร้างตัวพระราชวัง ตำหนักรวมทั้งสวนเพิ่มเติมอย่างใหญ่โตกว้างขวางเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการปกครองและที่ประทับของพระองค์รวมถึงเป็นพระราชวังทิ่ยิ่งใหญ่สวยงามและอลังการที่สุดแห่งหนึ่งของโลก การก่อสร้างใช้ระยะเวลาเกือบ 30 ปี จนกระทั่ง ค.ศ. 1677 พระองค์ได้ย้ายมาประทับที่พระราชวังแวร์ซายอย่างถาวร และในอีก 5 ปีต่อมาราชสำนักฝรั่งเศส (La cour royale) ได้ย้ายมาปักหลักและรวมศูนย์ของอำนาจการปกครองทุกด้านมาไว้ที่พระราชวังแห่งนี้ กษัตริย์อีกสองพระองค์ที่ประทับที่แวร์ซายคือพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 (Louis XV : 1715-1774) และพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI : 1774-1792)  

ใน ค.ศ. 1837 รัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์-ฟีลิป (Louis-Philippes : 1830-1848) แวร์ซายเปลี่ยนฐานะจากพระราชวังที่ประทับของกษัตริย์มาเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ (Le musée de l’Histoire de France) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศสและได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโกใน ค.ศ. 1979

สนามกีฬาโอลิมปิก

02 Le Grand Palais: ฟันดาบและเทควันโดในอาคารสุดหรูสไตล์ Beaux-Arts

หนึ่งใน สนามกีฬาโอลิมปิก ที่สวยงามด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์โบซาร์ (beaux-arts) ต้องยกให้ Le Grand Palais (เลอ กร็อง ปาเล) สร้างขึ้นสำหรับการจัดงานเวิลด์เอกซ์โปเมื่อ ค.ศ. 1900 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ในครั้งนั้นสยามได้นำสินค้ามาร่วมจัดแสดงภายใต้บรรยากาศของการจัดพาวิลเลียนแบบศาลาไทยด้วย ใน Paris 2024 ที่นี่จะกลายเป็น สนามกีฬาโอลิมปิก สำหรับ การแข่งขันฟันดาบและเทควันโด

สนามกีฬาโอลิมปิก

History in Brief : Le Grand Palais ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 2000 ลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมคือหลังคารูปโดมกระจกสุดอลังการ โครงสร้างหลักประกอบด้วย หิน เหล็ก และแก้ว และมีการแบ่งพื้นที่การใช้สอยเป็นสามส่วนหลัก คือ ส่วนที่เป็นเหมือนวิหารลักษณะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีความยาวถึง 240 เมตร ใช้สำหรับจัดงานสำคัญระดับประเทศและระดับนานาชาติ เช่น การแข่งม้า งานแสดงมหกรรมสินค้า และแฟชั่นโชว์โดยเฉพาะแบรนด์ Chanel ส่วนที่ 2 เป็นแกลเลอรีใช้สำหรับแสดงนิทรรศการศิลปะของจิตรกรชื่อดัง เช่น ปิกัสโซ (Picasso) ฮอปเปอร์ (Hopper) โกแก็ง (Gauguin) และโลเทร็ก (Lautrec) เป็นต้น และส่วนสุดท้ายใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้หรือพิพิธภัณฑ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้ผ่านนิทรรศการและงานศิลปะที่จัดแสดงถาวร

สนามกีฬาโอลิมปิก

03 L’Hôtel de Ville : จุดเริ่มต้นการวิ่งมาราธอนที่ศูนย์กลางการปกครองเมืองปารีส

L’Hôtel de Ville (โลแตล เดอ วิลล์) หรือศาลาว่าการกรุงปารีส เป็นศูนย์รวมอำนาจทางการปกครองของปารีสและเป็นที่พำนักของนายกเทศมนตรีเมืองปารีส นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่สำหรับจัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสและเทศกาลสำคัญๆ และคอนเสิร์ตกลางแจ้ง สำหรับ Paris 2024 ที่นี่จะถูกใช้เป็นหนึ่งใน สนามกีฬาโอลิมปิก และเป็นจุดเริ่มต้นของ การแข่งขันวิ่งมาราธอน

สนามกีฬาโอลิมปิก

History in Brief : ใน ค.ศ. 1357 Etienne Marcel (เอเตียน มาร์แซล) เสนาบดีการค้าเมืองปารีสได้ซื้ออาคารหลังหนึ่งบริเวณ Place des Grève (ปลาส เดอ แกรฟ) ที่ชื่อว่า Maison aux Piliers (เมซง โอปิลิเย่ร์) เพื่อเป็นสำนักงานด้านการค้าและการเก็บภาษีทางการค้าแห่งปารีส ต่อมาราว ค.ศ. 1533 ได้มีการสร้างอาคารหลังใหม่ในสไตลส์เรอแนซ็องส์ที่ใหญ่กว่าและมีการตกแต่งประดับประดาอย่างวิจิตรงดงามในรัชสมัยของพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 (François 1er) โดยสถาปนิกฝรั่งเศสชื่อ ปิแยร์ เดอ ชอมบีฌ   (Pierre de Chambiges) และสถาปนิกชาวอิตาลีชื่อ โดมินิค เดอ กอร์ตอน (Dominique de Cortone) หรือโบกาดอร์ (Boccador) ซึ่งคนหลังนี้เราจะเห็นรูปปั้นของเขาบริเวณซุ้มประตูด้านหน้าของตัวอาคารด้วย การก่อสร้างครั้งนี้แล้วเสร็จใน ค.ศ. 1628

ศาลาว่าการกรุงปารีสถูกไฟไหม้หลายต่อหลายครั้งและครั้งใหญ่คือในช่วงของการปฏิวัติปารีส (La Commune) ใน ค.ศ. 1871 ตัวอาคารได้ถูกไฟไหม้เสียหายจนเหลือแต่โครง ทางสภาเทศบาลปารีสได้จัดให้มีการประกวดออกแบบอาคารใหม่ใน ค.ศ. 1873 ซึ่งผู้ชนะคือ เตโอดอร์ บาลู (Théodore Ballu) เอดัวร์ เดอแปคต์ (Edouard Deperthes) ที่ออกแบบตัวอาคารในสไตลส์นีโอเรอแนซ็องส์แบบฝรั่งเศสอย่างที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน การก่อสร้างครั้งนี้ใช้ระยะเวลาถึง 9 ปี (ค.ศ. 1873-1882) และกลายเป็นศาลาว่าการเทศบาลที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปด้วยพื้นที่ 66,000 ตารางเมตร และประกอบด้วยห้องหรือสำนักงานต่างๆ กว่า 600 ห้อง

สนามกีฬาโอลิมปิก

04 L’hôtel des Invalides : คอมเพล็กซ์อาคารของกองทัพสู่สนามยิงธนู วิ่ง และจักรยาน

สนามกีฬาโอลิมปิก ครั้งนี้จัดเต็มเรื่องความสวยงามของสถาปัตยกรรม เช่นเดียวกับ คอมเพล็กซ์อาคารของกองทัพฝรั่งเศสที่เรียกว่า L’hôtel des Invalides (แองวาลิดส์)ประกอบด้วย สำนักงาน โบสถ์ สถานพยาบาล และพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับกองทัพ จุดเด่นคืออาคารรูปโดมสีทองมียอดเป็นไม้กางเขน ด้านหน้าของตัวอาคารมีเอสพลานาดหรือทางเดินขนาดใหญ่ที่ชาวปารีเซียงนิยมมาเดินเล่นและปิกนิกในวันที่อากาศดี และสำหรับ Paris 2024 ที่นี่จะเป็นสถานที่สำหรับ การแข่งขันยิงธนู วิ่งมาราธอน และจุดเริ่มต้นของการแข่งขันจักรยานประเภทไทม์ไทรอัล (time trial)

History in Brief : Invalides เป็นอาคารสไตล์บาโรก (Baroque) สร้างเมื่อ ค.ศ. 1670 ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อเป็นทั้งที่พักและโรงพยาบาลของเหล่าทหารผ่านศึกที่พิการหรือทุพพลภาพ และพระองค์เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1674 พร้อมกับเปิดรับทหารผ่านศึกเข้ามาพำนักและรักษาตัวมาโดยตลอด ต่อมามีการก่อสร้างเพิ่มเติมและขยับขยายเรื่อยมา ปัจจุบันนอกจากจะเป็นคอมเพล็กซ์อาคารของกองทัพฝรั่งเศสยังเป็นที่เก็บโลงศพของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 (Napoléon Bonaparte) และบุตรชาย คือ Joseph Charles Bonaparte (โจเซฟ ชาร์ลส์ โบนาปาร์ต : 1811-1832) ที่เป็นที่รู้จักในหมู่คนฝรั่งเศสว่า Aiglon (เอ-กลง :ที่หมายถึงลูกนกอินทรี) และบุคคลสำคัญอื่นๆ ของฝรั่งเศส

05 La place de la Concorde: อดีตลานประหารในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสกับการแข่งขันกีฬาสมัยใหม่

อย่างที่บอกว่า สนามกีฬาโอลิมปิก ครั้งนี้ผสมรวมกับแลนด์มาร์ก และแลนด์มาร์กหนึ่งที่รู้จักกันดีของฝรั่งเศสและตั้งอยู่ในใจกลางเมืองปารีสคือ La place de la Concorde (ลา ปลาส เดอ ลา กงกอร์ด) หรือจตุรัสกงกอร์ด โดยมีจุดเด่นคือเสาหินแกรนิตสีชมพูทรงแหลมตั้งตระหง่านอยู่ตรงกลางจตุรัส สำหรับ Paris 2024 ที่นี่จะเป็นสถานที่สำหรับ การแข่งขันบาสเกตบอล 3×3  เบรกแดนซ์ จักรยาน BMX ฟรีสไตล์ และสเกตบอร์ด

History in Brief : ในอดีตสถานที่นี้ถูกเรียกว่า Place Louis XV (ปลาส หลุยส์ 15) และ La place de la Révolution (ลา ปลาส เดอ ลา เรโวลูว์ซิยง) ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 8 เอเคอร์ เสาหินแกรนิตสีชมพูกลางจตุรัสมีความสูง 23 เมตร และหนักถึง 222 ตัน ตามประวัติกล่าวว่าเสาหินแท่งนี้มาจากเมืองลุกซอร์ (Luxor) ตามการออกเสียงแบบชาวฝรั่งเศส ซึ่งทางการอียิปต์ได้มอบเป็นของขวัญให้แก่ประเทศฝรั่งเศสเพื่อแสดงความขอบคุณรัฐบาลฝรั่งเศสและยกย่อง ฌอง-ฟร็องซัว ช็องโปลียง (Jean-François Champollion) บุคคลสำคัญที่เป็นคนแรกที่สามารถแปลอักษรเฮียโรกลิฟิกเป็นภาษาฝรั่งเศส

แม้ปัจจุบันที่นี่จะเป็นแลนด์มาร์กที่สวยงามและจุดเช็กอินถ่ายรูปของนักท่องเที่ยว แต่ในอดีตลานกว้างแห่งนี้คือลานประหารสำหรับกษัตริย์ ขุนนาง และผู้คนมากมายนับไม่ถ้วนในสมัยของการปฏิวัติฝรั่งเศส เช่น พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI) พระนางมารี อ็องตัวแน็ต (Marie-Antoinette) และนักก่อการคนสำคัญอย่างดองตง (Danton) และรอแบ็สปีแยร์ (Robespierre) รวมทั้งผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติฝรั่งเศสอีกมากกว่า 1,000 คน

06 Le pont Alexandre III : เส้นชัยของการแข่งขันจักรยาน time trial ที่สะพานสวยสุดในปารีส

Le pont Alexandre III (เลอ ปง อะเล็กซร้องด์ ทรัว)ได้รับการยอมรับว่าเป็นสะพานข้ามแม่น้ำแซนที่สวยที่สุดในกรุงปารีสและเป็นสะพานที่เชื่อม Les Invalides กับ Le Grand Palais สำหรับ Paris 2024 สะพานแห่งนี้จะเป็นจุดแข่งขันสำหรับ ไตรกีฬา ว่ายน้ำมาราธอน และเส้นชัยของการแข่งขันจักรยานประเภทไทม์ไทรอัล (time trial)

ภาพจำลองการแข่งขัน

History in Brief :  Le pont Alexandre IIIเริ่มก่อสร้างใน ค.ศ. 1896 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสัญญาความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศสกับรัสเซียที่มีการลงนามกันของทั้งสองประเทศใน ค.ศ. 1891 และตั้งขึ้นตามชื่อของกษัตริย์รัสเซีย คือ พระเจ้าซาร์ อะเลกซานเดอร์ที่ 3 (Tsar Alexander III) เปิดใช้ในครั้งแรกใน ค.ศ. 1900 ในงานเวิลด์เอกซ์โปที่ปารีสเป็นเจ้าภาพ การออกแบบและก่อสร้างนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของวิศวกร ฌ็อง เรซาล (Jean Résal ) และ อาเมเด อาลบี (Amédée Alby) และมี โฌเซฟ กาสแซง-แบรคนารด์ (Joseph Cassien-Bernard) และ กัสตง กูแซ็ง (Gaston Cousin) เป็นสถาปนิก ตัวสะพานสร้างด้วยเหล็กกล้ามีความยาว 160 เมตรและตกแต่งประดับประดาด้วยโคมไฟแบบเชิงเทียนที่ทำจากทองสำริด32 อัน และบริเวณมุมของปลายสะพานแต่ละด้านจะมีรูปปั้นสิงโต และเสาขนาดใหญ่ที่มีความสูง 17 เมตร ส่วนบนของเสาแต่ละต้นตกแต่งด้วยรูปปั้นม้าเพกาซัสและเทพธิดา ทูตสวรรค์ด้วยสีทองสไตล์หลุยส์ 14 สะพานแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1975

07 Stade Roland Garros : สนามเทนนิส French Open เปิดคอร์ตสำหรับกีฬาโอลิมปิก

Stade Roland Garros (สต๊าด โครลอง การ์ครอส) เป็นสนามแข่งขันเทนนิสหนึ่งในสี่ของรายการแกรนด์สแลมระดับโลก คือ รายการเฟรนช์โอเพน (French Open) ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงหน้าร้อนของฝรั่งเศส คือช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายน และใน Paris 2024 แน่นอนว่าที่นี่ย่อมเป็นสนามสำหรับ การแข่งขันเทนนิส และที่เพิ่มเติมคือเป็นสถานที่สำหรับ การแข่งขันมวยสากลรอบชิงชนะเลิศ

History in Brief :  ตามกฎของการแข่งขันเทนนิสรายการเดวิสคัป ประเทศที่ชนะการแข่งขันในแต่ละปีจะต้องรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพการแข่งขันในปีถัดไป และใน ค.ศ. 1927 ฝรั่งเศสเป็นผู้ชนะเลิศ ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องมีการสร้างสนามเทนนิสขึ้นอย่างเร่งด่วนเพื่อรองรับการแข่งขันรายการนี้ในอีก 1 ปีข้างหน้าบริเวณที่ตั้งของสนามอยู่ติดกับสวนป่าสาธารณะ Bois de Boulogne (บัว เดอ บูลอญ) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปารีสและในอดีตเป็นพื้นที่ของสโมสรเทนนิสฌ็อง-บูแอ็ง (Stade Jean-Bouin)

การดำเนินการก่อสร้างอยู่ในความรับผิดชอบของ Émile Lesieur (เอมิล เลอซิเออร์) ประธานสโมสร Stade Français (สต๊าด ฟร็องเซ่ยส์) และ Pierre Gillou (ปิแอร์ ฌิลูร์) ประธานสโมสร Racing Club de France (คร๊าซซิ่ง คลับ เดอ ฟร็องซ์) และกัปตันทีมชาติฝรั่งเศสในการแข่งขันเดวิสคัป โดยมีเงื่อนไขว่าสนามที่จะสร้างใหม่แห่งนี้จะต้องตั้งชื่อว่า Roland Garros ตามชื่อของนักบินกองทัพอากาศฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และเป็นเพื่อนผู้ล่วงลับของประธานสโมสรสต๊าด ฟร็องเซ่ยส์ ในขณะนั้น

ปัจจุบันในคอมเพล็กซ์ประกอบด้วยคอร์ต (ในภาษาฝรั่งเศสออกเสียงว่า กูต์) สี่คอร์ตใหญ่ๆ คือ Court Philippe Chartier (กูต์ ฟิลิปป์-ชาร์คติเย่ร์) ถือเป็นคอร์ตกลางที่ใหญ่ที่สุดและการแข่งขันชิงชนะเลิศประเภทต่างๆ มักจะแข่งที่คอร์ตนี้ Court Suzanne-Lenglen (กูต์ ซูซานน์-ล็องเกล็น) Court Simonne-Mathieu (กูต์ ซิมอนน์-มัตติเยอ) และสนามย่อยหรือ Courts Annexes (กูต์ อันแน็กซ์) ซึ่งมีทั้งหมด 18 คอร์ต

08 Stade Tour Eiffel: แข่งวอลเลย์บอลชายหาดพร้อมทัศนียภาพของหอไอเฟล

Stade Tour Eiffel (สต๊าด ตูร์ เอฟเฟล) ตั้งอยู่บริเวณสวนช็อง เดอ มาร์ (Le Champs de Mars) ที่เป็นสวนสาธารณะแบบเปิดมีสนามหญ้าที่มีความยาวถึง 780 เมตร และเป็นสถานที่พักผ่อนยอดนิยมของชาวปารีเซียงอันดับต้นๆ เพราะเป็นจุดที่สามารถมองเห็นหอไอเฟลได้ใกล้มากที่สุด ใน Paris 2024 บริเวณนี้จะปรับเป็นสนามกีฬาเฉพาะกิจสำหรับ การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด

History in Brief :  Stade Tour Eiffel เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนทหารของปารีส (L’École Militaire : เล กอล มีลีแตร์) ที่สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1765 สวนสาธารณะแห่งนี้เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวปารีเซียงในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่พวกเขามักจะออกมาเดินเล่น ปิกนิกสังสรรค์กันระหว่างครอบครัวและเพื่อนฝูง เป็นลานแสดงคอนเสิร์ต สถานที่จัดแสดงพลุและดอกไม้ไฟในวันชาติฝรั่งเศส รวมถึงเป็นลานกิจกรรมเพื่อแสดงออกทางการเมือง

ส่วนหอไอเฟลนั้นสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1887 โดยสถาปนิกและวิศวกรชาวฝรั่งเศส กุสตาฟ ไอเฟล (Gustave Eiffel) และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1889 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของงานเวิลด์เอกซ์โปในปีที่จัดขึ้นที่กรุงปารีส หอคอยแห่งนี้มีโครงสร้างเป็นเหล็กจึงได้ชื่อว่าลา ดาม เดอ แฟร์ ( La dame de fer) หรือ สตรีเหล็ก มีความสูง  330 เมตร ตัวฐานเป็นทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสที่มีความกว้างและยาวด้านละ125 เมตร ได้รับการยกย่องให้เป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1964 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโกใน ค.ศ. 1991

09 Trocadéro: ใจกลางกรุงปารีสกับกรีฑา race walking และจักรยาน road race

ปัจจุบัน Trocadéro (โทรกาเดโร) เป็นแลนด์มาร์กสำคัญทางด้านศิลปวัฒนธรรม เพราะเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา (Musée de l’Homme) Musée National de la Marine de Paris Aquarium de Paris) และเป็นอีกสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปหอไอเฟลจากมุมนี้ ใน Paris 2024 บริเวณนี้จะเป็น สนามกีฬาโอลิมปิก สำหรับ การแข่งขันกรีฑาประเภทเดิน (race walking) และจักรยานประเภทถนน (road race)

History in Brief : Trocadéro ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของหอไอเฟลและฝั่งตรงข้ามแม่น้ำแซนบริเวณที่เรียกว่า เนินชัยโย (La colline de Chaillot : ลา โกลีน เดอ ชัยโย)  เมื่อ ค.ศ. 1811 ทางจักรวรรดิฝรั่งเศสได้ออกกฤษฎีกาลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ กำหนดให้มีการสร้างพระราชวังเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระโอรสของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ซึ่งประสูติในปีนั้นคือ Joseph Charles Bonaparte (โจเซฟ ชาร์ล โบนาปาร์ต : 1811-1832) ที่ได้รับการเรียกขานอีกชื่อหนึ่งว่ากษัตริย์แห่งโรม (Le roi-de-Rome : เลอ ครัว เดอ ครอม) อย่างไรก็ตามโครงการมิได้มีการก่อสร้างเกิดขึ้นจริง จนกระทั่งใน ค.ศ. 1869 บริเวณเนินดังกล่าวได้ถูกเรียกว่า La place du roi de Rome (ลา ปลัส ดู รัว เดอ รอม) เพื่อเป็นการระลึกถึงพระองค์แทนการก่อสร้างพระราชวัง ต่อมาพระเจ้าชาร์ลที่ 10 (Charles X : 1824-1830) ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Trocadéro เพื่อเป็นการยกย่องและรำลึกถึงชัยชนะของฝรั่งเศสในการสู้รบที่โทรกาเดโร (La bataille du Trocadéro) เมื่อ ค.ศ. 1823 ในครั้งนั้นกองทัพฝรั่งเศสนำโดย ดยุคแห่งอองกูแลม (Le duc d’Angoulême) สามารถยึดป้อมหลุยส์ (le Fort Louis) ที่อ่าวเมืองกาดิส (Cadix) ของสเปนได้ 

10 Teahupo’o : เกลียวคลื่นวัดใจในตาท้าทายสปิริตนักเซิร์ฟ

Teahupo’o (เตอาอูโป) เป็นหมู่บ้านชายฝั่งทะเลทางทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกในประเทศตาฮิติ (Tahiti) ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศหมู่เกาะเฟรนช์พอลินีเชีย (La Polynésie française : ลา โปลีเนซี ฟร็องแซส) ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามของท้องทะเลและเป็นแหล่งท้าทายความสามารถของบรรดานักเล่นเซิร์ฟทั่วโลกจึงเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดของ การแข่งขันกีฬาโต้คลื่น ถึงแม้จะอยู่ห่างจากเมืองเจ้าภาพปารีสถึง 18,000 กิโลเมตร นับเป็น สนามกีฬาโอลิมปิก ที่อยู่ไกลที่สุดจากเมืองเจ้าภาพนับตั้งแต่มีการจัดโอลิมปิก

History in Brief : ตาฮีตีเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในเฟรนช์พอลินีเชียซึ่งเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสและต่อมาได้รับการจัดตั้งเป็นประเทศโพ้นทะเลของฝรั่งเศส (Overseas Country หรือ Pays d’outre-mer ในภาษาฝรั่งเศส) เมื่อ ค.ศ. 2003 ชายหาดของหมู่บ้าน Teahupo’o เป็นหนึ่งในสถานที่จัดการแข่งขันชิงแชมป์โลกของสมาคมโต้คลื่นมืออาชีพ คือรายการ Billabong Pro Tahiti  (บิลลาบอง โปร ตาฮตี)

คลื่นของที่นี่เป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ม้วนตัวเป็นเกลียวหรือท่อที่ค่อนข้างยาวและสูงโดยเริ่มก่อตัวจากซ้ายไปขวา คนที่นี่เรียกว่า “Chopoo (โชปู)” ซึ่งจะก่อตัวอยู่ห่างออกไป 400 เมตรจากชายฝั่ง มีความสูงของตัวคลื่นตั้งแต่ 2-3 เมตร หรือบางครั้งก็สูงถึง 7 เมตร สำหรับนักเซิร์ฟมืออาชีพนอกจากความสูงของโชปูที่วัดใจแล้ว ความต่อเนื่องของคลื่นที่เป็นท่อหรือเกลียวขนาดใหญ่ที่ผู้เล่นต้องใช้ความสามารถเพื่อลอดผ่านคลื่นและเคลื่อนไหวขึ้นลงไปตามตัวคลื่นได้ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง จนถึงกับมีคำกล่าวว่าที่นี่ไม่ใช่ที่สำหรับนักเซิร์ฟขี้ขลาด

อ้างอิง


Author

ดรุณี คำสุข
จับพลัดจับผลูได้มาอยู่ในย่านของชาวปารีเซียงพลัดถิ่นมามากกว่าสิบปีจนชื่นชอบในสีสันและความหลากหลายของวัฒนธรรมที่แตกต่าง