Heritage Drinks of Myanmar หนังสือที่พาเราไปดื่มด่ำอัตลักษณ์เพื่อนบ้านผ่าน spirit เมียนมา
- Heritage Drinks of Myanmar ได้รวบรวม 14 สูตรเครื่องดื่มพื้นถิ่นในประเทศเมียนมาที่ยังคงผลิตอยู่ในปัจจุบัน
- Heritage Drinks of Myanmarหนังสือ 2 ภาษา (อังกฤษและพม่า) เล่มนี้ เป็นผลมาจากการวิจัยตลอด 3 ปี ในเล่มไม่ได้มีแค่สูตรเครื่องดื่มพร้อมภาพสวยงามแต่ยังสื่อถึงความหมายด้านจิตวิญญาณในภูมิภาคต่างๆ ของเมียนมา
หากจะหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่แฝงทั้งมิติด้านความเชื่อ พิธีกรรม คหกรรม เกษตรกรรม และชาติพันธุ์อีกทั้งยังเป็นมรดกที่ส่งต่อมาอย่างยาวนาน เครื่องดื่มหมักบางประเภทก็สมควรเข้ากลุ่มได้ เมรัย เมียนมา ก็เป็นหนึ่งในนั้น มรดกทางภูมิปัญญาของประเทศเพื่อนบ้านเก่าแก่แห่งนี้มีอะไรมากกว่าที่คิด หนังสือเล่มใหญ่ที่แม้จะไม่หนามากอย่าง Heritage Drinks of Myanmar สามารถสำรวจประเด็นต่างๆ นี้ได้อย่างน่าสนใจ โดยรวบรวมถึง 14 สูตรเครื่องดื่มพื้นถิ่นที่ยังคงผลิตอยู่ในปัจจุบัน พร้อมด้วยภาพประกอบแปลกตากว่า 100 ภาพ
หนังสือ 2 ภาษา (อังกฤษและพม่า) เล่มนี้ เป็นผลมาจากการวิจัยเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว จากทีมที่นำโดย ลูค เจมส์ คอร์บิน (Luke James Corbin) ในภาษาอังกฤษ คำว่า spirit ไม่เพียงสื่อถึงความหมายด้านจิตวิญญาณ แต่ยังใช้กับเครื่องดื่มประเภทหนึ่งที่หมักและกลั่นมาจากวัตถุดิบธรรมชาติจนเกิดสารแอลกอฮอล์ ที่ใช้จิบเพื่อสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย ไปพร้อมกับพิธีกรรมและวาระสำคัญต่างๆและแน่นอน รวมถึงการเฉลิมฉลอง เพื่อให้สะท้อนองค์ประกอบดังกล่าว นักเขียนและทีมได้เดินทางไปยังสารพัดภูมิภาคของเมียนมาโดยเน้นหนักที่ส่วนกลางและตอนเหนืออย่างฉาน, ชีน, กะชีน และ กะยา เพื่อเก็บและคัดสรรข้อมูลตามหมู่บ้านของชนกลุ่มต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้เห็นถึงจิตวิญญาณของชาวบ้านในแต่ละท้องที่ต่อการรักษารากเหง้าทางอารยธรรมเผ่าพันธุ์ผ่านเครื่องดื่มทำนองเดียวกันนี้ไม่ให้สาบสูญได้อย่างไร
ลูค เจมส์ คอร์บิน ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลด้านวัตถุดิบ วิธีหมักปรุง และกระบวนการการต้มกลั่น ของเครื่องดื่มทั้ง14ชนิดที่ส่วนใหญ่ใช้สายพันธุ์ข้าวเจ้าเป็นองค์ประกอบหลัก ในการบรรยายประกอบการเปิดตัวหนังสือเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เขายังสะท้อนนานาประเด็นที่ได้เก็บเกี่ยวมาระหว่างวิจัย ทั้งด้านบทบาทของสมุนไพรท้องถิ่น เศรษฐศาสตร์ของการครอบครองยีสต์ที่เป็นสารตั้งต้นสำคัญในการหมัก ข้อถกเถียงด้านข้อห้ามและข้อสนับสนุนทางศาสนา รวมถึงประเด็นที่น่าสนใจที่ว่าในเมียนมา ผู้ผลิตเครื่องดื่มอันนับเป็นมรดกเหล่านี้ส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของผู้หญิง
“แอลกอฮอล์เป็นรากฐานของอารยธรรมมนุษย์ วัฒนธรรมการดื่มที่แตกต่างกันได้พัฒนาขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปทั่วโลก และในเมียนมา เราเห็นภาพรวมของความหลากหลายในการแสดงออกของมนุษยชาติที่พบในเครื่องดื่ม ความสำคัญที่มีต่อเศรษฐกิจในชนบทและชีวิตทางสังคม รวมถึงวิธีการผลิต การขาย และการแบ่งปันเครื่องดื่มที่ผลิตจากท้องถิ่นและที่อันห่างไกล”
ลูค เจมส์ คอร์บินกล่าว เขาเป็นทั้งนักเขียน ผู้ผลิตสื่อ และผู้ผลิตเบียร์ชาวออสเตรเลีย เคยอยู่ในนครย่างกุ้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559-2563 โดยเป็นบรรณาธิการของวารสาร Independent Journal of Burmese Scholarship และยังเป็นผู้ก่อตั้งและผู้ดำเนินรายการพอดคาสต์ Myanmar Musings
หนังสือ Heritage Drinks of Myanmar พิมพ์และจัดจำหน่ายโดย สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม (Silkworm Books) มีกิจกรรมเปิดตัวหนังสือที่ ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และห้องสมุดของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ (Ecole française d’Extrême-Orient: EFEO) โครงการหนังสือเล่มนี้ได้รับการสนับสนุนการผลิตจากบริษัทเพอร์นอต ริคาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด(Pernod Ricard) ที่เชื่อมั่นว่า แอลกอฮอล์เองสามารถมีบทบาทในการเสริมสร้างความรู้ของสังคมในด้านประวัติศาสตร์และมรดกของประเทศ และสังคมสามารถเฉลิมฉลองได้ภายใต้บรรทัดฐานทางสังคมของการบริโภคและขนบธรรมเนียมในระดับที่เหมาะสมดังที่เคยเป็นมา
นอกจาก ลูค เจมส์ คอร์บิน ผู้เขียน ยังมี ซู โมน ตัน (Su Mon Thant) รับหน้าที่วิจัยและแปล และ ชเว ปอ เมีย ทิน (Shwe Paw Mya Tin) รับหน้าที่บันทึกภาพ
ภาพประกอบ : ชเว ปอ เมีย ทิน (Shwe Paw Mya Tin)
Fact File
- Heritage Drinks of Myanmar เขียนโดย ลูค เจมส์ คอร์บิน (Luke James Corbin) วิจัยและแปลโดย ซู โมน ตัน (Su Mon Thant) ภาพโดย ชเว ปอ เมีย ทิน (Shwe Paw Mya Tin)
- ตีพิมพ์และจัดจำหน่ายโดย สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม (Silkworm Books)