Hear Her มินิซีรีส์จีนที่มอบแด่หญิงสาว ผู้ต้องเผชิญกับโครงสร้างสังคมอันบิดเบี้ยว
Lite

Hear Her มินิซีรีส์จีนที่มอบแด่หญิงสาว ผู้ต้องเผชิญกับโครงสร้างสังคมอันบิดเบี้ยว

Focus
  • Hear Her เรื่องราวของผู้หญิงในเมืองหลวง นำทีมกำกับโดยจ้าวเวย เดินเรื่องโดย หยางมี่, หยางจื่อ​, ไป๋ไป่เหอ รวมถึงนักแสดงชั้นนำจากวงการบันเทิงจีน
  • มินิซีรีส์เรื่อง Hear her ได้รับเลือกให้เป็นซีรีส์ในลิสต์ BBC Studios’ short-film series Snatches: Moments from Women’s Livesคาดว่าจะออกอากาศในแพลตฟอร์มออนไลน์ของทาง BBC ในปี ค.ศ. 2021

Hear Her มินิซีรีส์จีนที่ไม่มีทั้งพระเอก นางเอก และตัวร้าย มีเพียงแค่ผู้หญิง 8 คน 8 เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดผ่านการเล่าเรื่องของนักแสดงหญิงจีนเบอร์ท็อปของประเทศ ที่พร้อมจะพาคนดูจมดิ่งไปกับความรู้สึกที่อัดอั้นอยู่ภายในจิตใจของผู้หญิง

“ทำไมคุณยังร้องไห้ในห้องน้ำทุกคืน”

“ฉันเองก็เกือบลืมไปแล้วว่า ฉันเป็นผู้หญิง”

“ตั้งแต่เมื่อไหร่ ที่แกใช้ชีวิตไร้ค่าแบบนี้”

Hear Her

นี่เป็นคำถามที่ทีเซอร์เรื่องนี้ตั้งไว้ โดยใน 8 เรื่องราวที่ซีรีส์เรื่องนี้นำเสนอ ต่างเป็นเรื่องราวที่สามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวันของใครหลาย ๆ คน จนทำให้เราต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในทุก ๆ วันจนกลายเป็นเรื่องปกตินี้ มันถูกต้องแล้วหรือไม่ ผู้หญิง ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งของสังคม จำเป็นต้องแบกรับเรื่องราวมากมายถึงเพียงนี้เลยหรือ แล้วหลายคนที่รู้สึกปกติกับเหตุการณ์ดังกล่าว แท้จริงแล้วเรารู้สึกโอเคจริง ๆ หรือเพียงแค่เราฝังความเจ็บปวดเหล่านั้นไว้ข้างในเพราะไม่อยากให้คนอื่นรับรู้ ซีรีส์ Hear Her กับ 8 เรื่องราวที่อัดอั้นอยู่ภายในจิตใจของตัวละครทั้ง 8 จะพาทุกคนปลดล็อกความรู้สึก และโอบกอดผู้หญิงทุกคนไว้ ในฐานะมนุษย์ที่ต้องเผชิญกับความบิดเบี้ยวของสังคม

Hear Her

Sarakadee Lite ขอยกเรื่องราวในตอน The flawless girl หรือ หญิงสาวผู้สมบูรณ์แบบ มานำเสนอ โดยในตอนนี้มีประเด็นหลักคือสะท้อนความทุกข์ของผู้หญิงที่ต้องอยู่ภายใต้สังคมปิตาธิปไตย หรือสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความเคยชินของหลายคนที่ถูกกดทับอยู่ภายใต้แนวคิดนี้

การที่ซีรีส์เรื่อง Hear Her กล้าหยิบเรื่องนี้มาพูด นับว่าเป็นอีกก้าวที่สำคัญของการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องบทบาทของผู้หญิงให้คนในสังคม โดยเฉพาะสังคมตะวันออกและสังคมจีน เพราะเรื่องปิตาธิปไตย สังคมชายเป็นใหญ่ นับว่าเป็นประเด็นที่ไม่ค่อยถูกยกมาเป็นประเด็นหลักในซีรีส์จีนมากนัก รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในประเด็นที่โต้เถียงกันบนโลกออนไลน์ของสังคมไทยเช่นกัน

The flawless girl หรือ หญิงสาวผู้สมบูรณ์แบบ เป็นตอนที่ 8 ของซีรีส์เรื่อง Hear Her ว่าด้วยเรื่องราวของหุ่นยนต์หญิง เสี่ยวอ้าย รุ่น NOVO300080 (นำแสดงโดย หยางมี่)ที่ถือกำเนิดขึ้นตามความคาดหวังของทุกคน และถูกสร้างมาเพื่อความรักและสันติภาพของโลก โดยตัวเลข 300080 คือจำนวนชั่วโมงที่ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ใช้เวลาในการพัฒนาทั้งรูปร่าง หน้าตา และความสามารถของเธอ โดยผ่านการโหวตจากประชาชนจนกลายมาเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกเรียกว่า “หญิงสาวผู้สมบูรณ์แบบ 2020”

Hear Her

“เกิดขึ้นเพื่อความรักและสันติภาพของโลก”

ในเรื่อง เสี่ยวอ้ายถือว่าเป็นผู้หญิงในอุดมคติของสังคมจีน ที่เพียบพร้อมไปทั้งหน้าตา ทัศนคติ และความรู้ที่ถูกออกแบบและป้อนข้อมูลให้โดยนักพัฒนา ซึ่งการมีอยู่ของเธอก็นับเป็นการมีอยู่เพื่อเอาใจผู้ชาย รองรับความต้องการของฝ่ายชาย และไม่อาจแสดงความเป็นอิสระของสตรีได้

การถือกำเนิดของเสี่ยวอ้ายก็นับเป็นการตอกย้ำแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงที่ถูกกดทับโดยสังคมชายเป็นใหญ่ในจีนมาตลอดตั้งแต่ในสมัยอดีต แม้แต่ในปรัชญาของ ขงจื๊อก็ได้กำหนดเอาไว้ว่าผู้หญิงมีบทบาทหน้าที่ตามความคาดหวังของเพศชาย มีหน้าที่สำคัญในวงศ์ตระกูลคือการเป็นลูกสาวของพ่อ ภรรยาของสามี และแม่ของลูก ความเชื่อนี้ส่งผลต่อค่านิยมของสังคมจีนในหลายทศวรรษต่อมาให้มองว่าการมีลูกสาวถือเป็นความผิดหวังของครอบครัว

Hear Her
หยางมี่ ในบท หุ่นยนต์หญิง เสี่ยวอ้าย รุ่น NOVO300080

แม้ในปัจจุบันนี้ก็มีนักปรัชญาจีนหลายท่านที่ยกเอาคำสอนของขงจื๊อในเรื่องบทบาทของชายและหญิงมาเปรียบเทียบกับหยินและหยาง โดยเปรียบว่าผู้หญิงคือ หยิน ที่มีความอ่อนหวาน โอนอ่อน และเป็นสัญลักษณ์ของความสงบสุข ในขณะที่ผู้ชายคือสัญลักษณ์ของ หยาง ที่แข็งกระด้าง มั่นใจ และเป็นผู้ปกครอง ซึ่งถือว่าการเปรียบเทียบนี้ เป็นการเปรียบโดยอ้างอิงจากธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ได้อ้างอิงจากบทบาททางสังคม และทฤษฎีนี้นี่เองที่เป็นที่มาของเหตุผลให้ผู้ชายต้องเป็นผู้นำในทุก ๆ ด้าน ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่เป็นเพียงฝ่ายตาม และพัฒนาต่อเป็นสังคมปิตาธิปไตย หรือสังคมชายเป็นใหญ่ “โดยไม่ตั้งใจ”

เสี่ยวอ้าย หรือ NOVO300080 เป็นหุ่นยนต์บริการที่ทำหน้าที่ตามที่ถูกป้อนข้อมูลมา ผู้ใช้งานสามารถซื้อฟังก์ชันเพิ่ม และลบข้อมูลที่มีอยู่ได้ แต่มีกฎสำคัญอยู่หนึ่งข้อที่ห้ามฝ่าฝืนเด็ดขาด นั่นก็คือห้ามทำร้ายผู้อื่น

ครั้งหนึ่ง เคยมีผู้ใช้งานที่เป็นโสดและเพิ่งอกหักมาในตอนกลางคืนเขาจึงดาวน์โหลดข้อมูลผู้หญิงที่มีความคิดมาเพื่อพูดคุย และถกเถียงกันในประเด็นต่าง ๆ และเมื่อตื่นมาในวันรุ่งขึ้น เขาก็ลบข้อมูลชุดนั้นทิ้ง แล้วดาวน์โหลดคู่มือการทำอาหารให้เธอแทน

ต่อมา เสี่ยวอ้ายได้รับการจ้างจากบ้านพักคนชราแห่งหนึ่ง เธอมีหน้าที่ต้องดูแลพยาบาลคนแก่ในศูนย์ แต่วันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เธอไม่สามารถดูแลผู้ป่วยติดเตียงท่านหนึ่งได้ ผู้ป่วยกดเรียกให้เธอไปหา แต่เธอกลับไม่สามารถรักษา เขาตายต่อหน้าเธอ ทำให้เธอกลายเป็นสินค้าพิเศษที่มีตำหนิ และถูกขายขาดให้ลูกค้ารายใหญ่ผู้หนึ่ง

“ความเจ็บปวดของพวกเธอ หล่อเลี้ยงความป่าเถื่อนของพวกเขา”

ในฐานะหญิงสาวผู้สมบูรณ์แบบ ระบบการรับรู้ของเธอไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด และไม่มีความรู้สึกใด ๆ ผู้ใช้งานใหม่อาศัยความ “สมบูรณ์แบบ” นี้ เฆี่ยนตีและทำร้ายเธอ เพื่อพิสูจน์กำลังและอำนาจของเขา หลายครั้งที่เธอถูกทำร้ายจนร่างกายฉีกขาด เป็นแผลตามตัว ทำให้ต้องเรียกวิศวกรมาซ่อมร่างกายที่ผุพังร่างนี้อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งสุดท้ายหลังจากที่ซ่อมเสร็จ เธอก็กลับไปที่บ้านของผู้ใช้รายนั้นในสภาพสมบูรณ์แบบเหมือนเคย

ในเรื่องการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงในสังคมจีนนี้เว็บไซต์ Amnesty เคยเขียนรายงานไว้ว่า ในวัฒนธรรมจีน การใช้ความรุนแรงในครอบครัวนับว่าเป็นเรื่องส่วนตัวภายในครอบครัว มีผู้หญิงถึงหนึ่งในสี่ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงดังกล่าว กระทั่งในปี ค.ศ. 2016 รัฐบาลจีนจึงประกาศบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 2011 คดีฟ้องหย่าที่โด่งดังที่สุดของจีนคดีหนึ่งก็คือคดี “คิม ลี” เธอเป็นผู้หญิงที่แต่งงานกับเศรษฐีจีนชื่อดัง ลี่ หยาง เธอได้โพสต์ภาพร่างกายที่ถูกทารุณจนบอบช้ำลงสื่อออนไลน์จนกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในวงกว้าง และสุดท้ายเธอก็ชนะคดี พร้อมกับได้รับค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000 หยวน

หลังจากที่เธอออกมาจากห้องพิจารณาคดี เธอก็ตรงเข้ามาสวมกอดกับนักกิจกรรมที่สวมชุดแต่งงานเปื้อนเลือด ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านการใช้ความรุนแรงในครอบครัว และเกิดเป็นข้อเรียกร้องที่ต้องการกฎหมายว่าด้วยการใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่มีอำนาจการบังคับใช้อย่างแท้จริง

แต่ท้ายที่สุด คดีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวก็เป็นคดีที่ชนะได้ยากในประเทศจีน ในมณฑลจี่หนาน ปี ค.ศ.2016 หลังจากที่กฎหมายบังคับใช้ได้เพียง 10 เดือน ก็มีคดีฟ้องหย่าที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงมากถึง 142 คดี แต่เหยื่อชนะแค่เพียง 14 คดี และเป็นการชนะจากคำสารภาพของผู้กระทำเท่านั้น ส่วนที่เหลือก็แพ้คดี เพราะจำเลยไม่รับสารภาพ

กฎหมายนี้ไม่ได้ช่วยลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวของจีน เพราะในปีที่ผ่านมา ตัวเลขของเหยื่อจากการใช้ความรุนแรงในครอบครัวก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา สำนักข่าว The diplomat รายงานว่า มณฑลหูเป่ย์มีตัวเลขของเหยื่อที่ถูกทำร้ายร่างกายจากคนในครอบครัวมากถึง 162 ราย ซึ่งเพิ่มจาก ค.ศ.2019 ถึง 4 เท่า

ในซีรีส์เราจะเห็นได้ว่าการใช้ความรุนแรงในครอบครัวยังคงเป็นเรื่องปกติของสังคมส่วนใหญ่ และเสี่ยวอ้ายที่เป็นสินค้าของผู้ใช้บริการคนดังกล่าว การตระหนักถึงเรื่องนี้ของเขาก็เป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นแม้แต่ในเศษเสี้ยวของความคิดเขาเลย ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกัน ว่าความเห็นอกเห็นใจต่อเหยื่อมักจะเกิดขึ้นในคนที่ประสบและตระหนักถึงปัญหานี้

ย้อนกลับมาที่วิศวกรหญิงผู้ดูแลเสี่ยวอ้าย เขาไม่ได้มองเสี่ยวอ้ายเป็นแค่หุ่นยนต แต่เขามองเธอว่าเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง และเห็นสภาพของการถูกทำร้ายมาโดยตลอด จนสุดท้าย วิศวกรหญิงผู้นี้ทนไม่ไหว ยอมละเมิดกฎของบริษัท ลงข้อมูลการต่อสู้ให้เสี่ยวอ้ายพร้อมทั้งพูดกับเสี่ยวอ้ายว่า

“ถ้าร่างกายซ่อมคืนได้เสมอ หมายความว่าไม่มีบาดแผลเหรอ”

เสี่ยวอ้ายกลับไปที่บ้านพักของผู้ใช้งานพิเศษ และเรื่องราวก็วนกลับมาเหมือนเดิม เขาทำร้ายเธออีกครั้ง และร่างกายของเธอก็แหลกสลายอีกครั้ง ผู้ใช้คนนั้นโทรศัพท์เรียกวิศวกรไปด้วยความไม่พอใจเพราะสินค้าชิ้นนี้พังลงเพียงแค่ถูกบีบคอ มัดมือ และใช้แส้เฆี่ยนตีเท่านั้น วิศวกรรีบมาที่บ้านของผู้ใช้งานและอัปโหลดบางอย่างเข้าไปในระบบ จู่ ๆ ผู้ใช้งานคนนั้นก็ลอยกระแทกทะลุหน้าต่างออกไป วิศวกรหันมาบอกกับเธอให้รีบหนีไป แต่เธอไม่มีชุดข้อมูลเอาตัวรอด

หญิงสาวผู้สมบูรณ์แบบคนนี้ไม่เข้าใจความหมายของคำว่าหนีไป เธอไม่เข้าใจคำว่าอิสรภาพ ชะตาชีวิตของเธอจะเป็นอย่างไร ติดตามต่อได้ในมินิซีรีส์เรื่อง Hear Her ทาง WeTV

อ้างอิง


Author

วิวิศนา อับดุลราฮิม
Introvert ผู้เสพติดการอ่านนิยายดราม่า ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตไปกับการติ่ง k-pop และ c-pop