กลับสู่โลกเวทมนตร์กับหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับอินเทอร์แอคทีฟจากทีมออกแบบกราฟฟิกภาพยนตร์ 7 ภาค
- สตูดิโอ MinaLima ที่อยู่เบื้องหลังงานกราฟฟิกในภาพยนตร์ชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้ออกแบบหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ อิดิชั่นใหม่แบบป๊อปอัพอินเทอร์แอคทีฟ
- อิดิชั่นใหม่ประกอบด้วยหนังสือเล่มที่ 1-3 คือ Harry Potter and the Philosopher’s Stone, Harry Potter and the Chamber of Secrets และ Harry Potter and the Prisoner of Azkaban
- อิดิชั่นนี้มาพร้อมกับภาพประกอบใหม่ 4 สีเกือบทุกหน้าและภาพป๊อปอัพอีก 8 ภาพต่อเล่ม เช่น จดหมายจากฮอกวอตส์ ภาพร้านค้าต่างๆในตรอกไดแอกอน และ เครื่องย้อนเวลาของเฮอร์ไมโอนี่
แฟนภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ย่อมต้องคุ้นตากับฉากที่จดหมายหลายร้อยฉบับจากโรงเรียนเวทมนตร์ฮอกวอตส์ จ่าหน้าถึง “Mr H Potter, The Cupboard under the Stairs” (คุณ ฮ.พอตเตอร์ ห้องใต้บันได) พุ่งเข้าใส่บ้านเดอร์สลีย์ และ หน้าปกหนังสือพิมพ์เดลี่พรอเฟ็ตที่ประกาศจับ ซิเรียส แบล็ก ผู้แหกคุกอัซคาบัน รวมไปถึง แผนที่ตัวกวนที่ผู้ครอบครองสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของทุกคนในฮอกวอตส์
นี่คือส่วนหนึ่งของงานออกแบบกราฟฟิกโดย สตูดิโอ MinaLima ที่ก่อตั้งโดย มิราโฟรา มินา (Miraphora Mina) และ เอดูอาร์โด ลิมา (Eduardo Lima) ผู้อยู่เบื้องหลังงานกราฟฟิกและของประกอบฉากมากมายในภาพยนตร์ชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ มาตั้งแต่ภาคแรกที่ออกฉายใน พ.ศ.2544 จนภาคที่ 7 ซึ่งเป็นภาคสุดท้ายฉายใน พ.ศ. 2554 รวมไปถึงภาพยนตร์สปินออฟของอาณาจักรเวทมนตร์เรื่อง สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ (Fantastic Beasts and Where to Find Them) ก็ยังเป็นเวทมตร์ของสตูดิโอ MinaLima ที่ทำให้โลกวรรณกรรมมีชีวิตสมจริง
เมื่อทีมกราฟฟิกดีไซเนอร์ที่รู้ทุกองค์ประกอบของจักรวาลภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้นำการออกแบบอินเทอร์แอคทีฟมาเพิ่มฟีเจอร์ในหน้าหนังสือย่อมเปิดประสบการณ์ใหม่ในโลกวรรณกรรม สำหรับอิดิชั่นล่าสุดของหนังสือชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ขณะนี้ตีพิมพ์มาทั้งหมด 3 เล่ม คือ Harry Potter and the Philosopher’s Stone, Harry Potter and the Chamber of Secrets และ Harry Potter and the Prisoner of Azkaban
อิดิชั่นนี้มาพร้อมกับภาพประกอบใหม่ 4 สี เกือบทุกหน้า และภาพป๊อปอัพที่เป็นงานศิลปะกระดาษสุดครีเอทีฟอีก 8 ภาพต่อเล่ม เช่น ผู้อ่านสามารถเปิดซองจดหมายจากฮอกวอตส์ที่เป็นป๊อปอัพโดยที่ข้างในเป็นข้อความระบุการรับแฮร์รี่เข้าเรียน พร้อมด้วยรายการหนังสือและของใช้จำเป็น หรือกางหน้ากระดาษออกจะเป็นภาพร้านค้าต่างๆในตรอกไดแอกอนที่จะทำให้นักอ่านมักเกิ้ลโดนร่ายถาคาให้กลับไปผจญภัยในโลกเวทมนตร์อีกครั้ง หรืออาจดึงดูดผู้ที่รู้จักเหล่าพ่อมดแม่มดเฉพาะในโลกภาพยนตร์ได้เรียนรู้เรื่องราวของพวกเขาลึกซึ้งมากขึ้นในโลกวรรณกรรม
หน้าปกแต่ละเล่มเป็นปกแข็งพิมพ์นูนทอง ตัดขอบด้วยเส้นสายแบบศิลปะโกธิคยุคกลางตามลักษณะสถาปัตยกรรมของปราสาทฮอกวอตส์ และแต่ละมุมของหนังสือเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์ประจำแต่ละบ้าน คือ สิงโตของบ้านกริฟฟินดอร์ แบดเจอร์ของบ้านฮัฟเฟิลพัฟ อินทรีของบ้านเรเวนคลอ และ งูของบ้านสลิธีริน
ในเล่มแรก Harry Potter and the Philosopher’s Stone นอกจากภาพอินเทอร์แอคทีฟของจดหมายจากฮอกวอตส์และตรอกไดแอกอนแล้ว ยังมีภาพป๊อปอัพแผนที่ปราสาทฮอกวอตส์และงานเลี้ยงในห้องโถงใหญ่ และผู้อ่านสามารถค่อยๆ คลายภาพผ้าโพกหัวของอาจารย์ควีร์เรลล์ออก เพื่อเจอกับโวลเดอร์มอร์ในสภาพที่ยังต้องอาศัยร่างคนอื่นอยู่ด้วยใบหน้าซีดขาวและดวงตาแดงก่ำ
ส่วนเล่มที่ 2 Harry Potter and the Chamber of Secrets มีภาพป๊อปอัพแสดงรายละเอียดห้องต่างๆในบ้านโพรงกระต่ายของครอบครัววีสลีย์ ภาพการเดินทางไปตรอกไดแอกอนของแฮร์รี่ด้วยผงฟลูจากเตาผิงในครัวบ้านวิสลีย์ที่ผู้อ่านสามารถเลื่อนกระดาษลงมาทำให้แฮร์รี่ตกไปอยู่ผิดที่ ณ ตรอกน็อกเทิร์น สถานที่สำหรับพ่อมดแม่มดฝักใฝ่ศาสตร์มืด ภาพ ต้นแมนเดรก ที่เมื่อดึงขึ้นมาจะเห็นรากเป็นรูปร่างเหมือนเด็กทารกและเสียงกรีดร้องอันตรายถึงชีวิต ภาพทางเข้าที่ซับซ้อนสู่ห้องทำงานของศาสตราจารย์ดัมเบิลดอร์ และ ภาพรูปสลักหินใบหน้าสลิธิรีนที่เมื่อดึงปากประตูเปิดจะปลดปล่อยงูยักษ์บาซิลิสก์ออกมา
ในเล่มที่ 3 Harry Potter and the Prisoner of Azkaban มีภาพอินเทอร์แอคทีฟกางออกเป็นรถเมล์อัศวิน 3 ชั้นที่พาแฮร์รี่หนีไปร้านหม้อใหญ่รั่ว หรือจะหมุนจานรองชาเพื่อดูกากชาทำนายโชคชะตาและพบว่าเป็นรูปกริม สุนัขผีตัวใหญ่สัญลักษณ์ลางมรณะ นอกจากนี้ยังใช้คาถาเปลี่ยนปีศาจบ็อกการ์ตในตู้เสื้อผ้าให้กลายเป็นร่างตลกเพื่อจัดการด้วยเสียงหัวเราะ หรือจะหมุนเครื่องย้อนเวลาของเฮอร์ไมโอนี่ เพื่อช่วยฮิปโปกริฟฟ์ของแฮกริดรอดตายจากการถูกประหาร และช่วยชีวิตแฮร์รี่ เฮอร์ไมโอนี่ และ ซิเรียส แบล็ก จากผู้คุมวิญญาณ
แม้จะผ่านมาเกือบ 3 ทศวรรษที่พ่อมดเแฮร์รี่ พอตเตอร์ ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือเล่มแรก “แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับ ศิลาอาถรรพ์” (Harry Potter and the Philosopher’s Stone) ใน พ.ศ.2540 จากปลายปากกาและจินตนาการสุดล้ำของ เจ.เค.โรว์ลิง (J. K. Rowling) โลกเวทมนตร์ของเขาไม่เคยจางหายไปจากนักอ่านมักเกิ้ลเนื่องจากหนังสือชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้มีการตีพิมพ์ซ้ำอย่างต่อเนื่องและมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 80 ภาษา รวมทั้งผลิตเป็นหลายอิดิชั่น เช่น Illustrated Edition วาดโดย จิม เคย์ (Jim Kay), House Edition ในโอกาสครบรอบ 20 ปีของการตีพิมพ์หนังสือครั้งแรก และ Digital and Audio Book Editions อีกทั้งยังขยายอาณาจักรเวทมนตร์ไปสู่เล่มอื่นๆอีก เช่น “สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่” (Fantastic Beasts and Where to Find Them) และ “นิทานของบีเดิลยอดกวี” (The Tales of Beedle the Bard)
สำหรับหนังสืออิดิชั่นล่าสุดโดยสตูดิโอ MinaLima นั้น ถือเป็นหนังสือชุดที่ควรค่าแก่การอ่านและสะสมอย่างยิ่ง เพราะนอกเหนือจากคุณค่าทางด้านวรรณกรรมโดย เจ.เค.โรว์ลิง แล้ว นี่คือผลงานศิลปะการออกแบบที่ยอดเยี่ยมโดยผู้ก่อตั้งสตูดิโอ มิราโฟรา มินา และ เอดูอาร์โด ลิมา
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดายว่าเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567 สตูดิโอ MinaLima ได้ประกาศผ่านอินสตาแกรมว่าพวกเขาไม่ได้รับการว่าจ้างให้ออกแบบหนังสือชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มที่ 4 คือ Harry Potter and the Goblet of Fire และต่อมาทางสำนักพิมพ์ Scholastic ประกาศว่าจะยังคงดำเนินการจัดพิมพ์เล่ม 4 ต่อแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงทีมวาดภาพประกอบและออกแบบภาพอินเทอร์แอคทีพ นักอ่านมักเกิ้ลต้องจับตาดูต่อไปว่าสตูดิโอใดจะได้ไม้กายสิทธิ์ให้มาร่ายคาถาในเล่มต่อไป
เครดิตภาพ: MinaLima Studio
Fact File
- หนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มที่ 1-3 เวอร์ชันภาษาอังกฤษ โดยสตูดิโอ MinaLima หาซื้อได้ที่ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ร้านคิโนะคุนิยะ และร้านเอเชียบุ๊ค
- ฉบับภาษาไทยเล่ม 1 “แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์” จัดพิมพ์โดย นานมีบุ๊คส์