ช่องว่างระหว่างความหมาย : นวนิยายสั้นว่าด้วยการแปล การเมือง และเรื่องขี้ๆ
Lite

ช่องว่างระหว่างความหมาย : นวนิยายสั้นว่าด้วยการแปล การเมือง และเรื่องขี้ๆ

Focus
  • ช่องว่างระหว่างความหมาย โดย ภู่มณี ศิริพรไพบูลย์ นักเขียน นักแปลวรรณกรรม ผู้มีผลงานเป็นที่รู้จักอย่างผลงานเขียนรวมเรื่องสั้น ผู้คนบนโลกนี้ต่างหวาดกลัวกันและกัน นิยายขนาดสั้น 2020
  • นวนิยายสั้นเล่มนี้ชวนให้ผู้อ่านได้คำนึงถึงพื้นที่แห่งการครุ่นคิดความหมายที่เชื่อมโยงกับการเมือง สังคม ซึ่งสิ่งนั้นคือ “พื้นที่ระหว่าง” ที่เว้นไว้ตรงการของคำและความหมาย

ผลงานวรรณกรรมของ ภู่มณี ศิริพรไพบูลย์ กลับมาอีกครั้งใน ช่องว่างระหว่างความหมาย นวนิยายขนาดสั้น (novella) โดย สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม ครั้งนี้ภู่มณียังคงเอกลักษณ์การเล่าเรื่องเชิงสมจริง และการเปิดให้เห็นถึงมุมมองจากตัวละครที่เป็นผลผลิตแห่งยุคร่วมสมัยของสังคมไทย สำหรับ ภู่มณี ศิริพรไพบูลย์ เป็นทั้งนักเขียนและนักแปลวรรณกรรมผู้มีผลงานเป็นที่รู้จักอย่างผลงานเขียนรวมเรื่องสั้น ผู้คนบนโลกนี้ต่างหวาดกลัวกันและกัน นิยายขนาดสั้น 2020 หรือจะผลงานแปลวรรณกรรมเล่มสำคัญอย่าง ON THE ROAD ของ แจ็ก เครูแอ็ก (Jack Kerouac) ในพากษ์ไทยที่ใช้ชื่อว่า สู่หนไหน ต้นฉบับม้วนกระดาษพิมพ์ดีด ด้านความน่าสนใจของนวนิยาย ช่องว่างระหว่างความหมาย คือการชวนให้ผู้อ่านได้คำนึงถึงพื้นที่แห่งการครุ่นคิดความหมายที่เชื่อมโยงกับการเมือง ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ “พื้นที่ระหว่าง” ที่ซ่อนอยู่ระหว่างความหมายและถ้อยคำ

ทักษิณ ชวน และ ฉัน

ช่องว่างระหว่างความหมาย เล่าเรื่องของ มิว เด็ก (กำลัง) หนุ่มวัยมัธยมฯ ปลาย ที่ตกอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความรัก การเรียน และข้อต่อทางการเมืองครั้งสำคัญในสมัย นายกทักษิณ ได้ยินชื่อนี้หลายคนอาจจะฟันธงได้ว่านวนิยายเล่มนี้น่าจะอัดแน่นด้วยประเด็นทางการเมือง ซึ่งนั่นก็เป็นความประจักษ์ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ทั้งหมดและก็ไม่ใช่นวนิยายแนวเพื่อชีวิตหรือวิพากษ์การเมืองเข้มข้น แต่ ช่องว่างระหว่างความหมาย ได้แสดงให้เห็นถึง “พื้นที่ระหว่าง” ความหมายต่างๆ ที่ตัวละครมิวมองเห็น เล่าถึง และเผชิญ ซึ่ง “พื้นที่ระหว่าง” นี้เองได้เชื้อเชิญผู้อ่านให้มองลึกเข้าไปในโลกแห่งภาษาที่เต็มไปด้วยพื้นที่ทางคติ ความคิด การสอดแทรกคุณค่า ใส่ความหมายของคุณธรรม หรือแนวทางความคิด เพื่อให้ผู้รับสารได้รู้สึก หรือมองเห็นคุณค่าในพื้นที่ที่ผู้เล่ากำหนดไว้ ซึ่งเรื่องราวในนวนิยายเป็นการมองย้อนกลับของมิวถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว ย้อนไปในช่วงวัยที่มีความสำคัญกับตนเอง ซึ่งในแต่ละช่วงวัยนั้นก็จะมีข้อต่อระหว่างทางที่หายไป บางเรื่องเล่าก็ได้รับการอธิบายเพิ่มจากสายตามิวที่ผ่านเรื่องราวเหล่านั้นมาแล้วและย่อมทำให้ความหมายของเรื่องราวเดิมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ระหว่างทางยังมีการวิเคราะห์ตนเองว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น แต่ในขณะที่เสียงของมิวพยายามจะชัดเจนใน คำอธิบาย กลับยิ่งเป็นการถ่างให้ผู้อ่านเห็นระยะของ “พื้นที่ระหว่าง” ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งนี่คือสิ่งที่น่าสนใจของเรื่องนี้

ตัวละครมิวเองใช้ขนบของวรรณกรรมมองโลกของตนและแปลเหตุการณ์ให้เป็นภาษาที่สามารถจารึกเล่าต่อได้ ซึ่งนี่เป็นอุปนิสัยของมิวเองที่มีความสนใจและพยายามพัฒนาทักษะการแปลภาษาของตนเองจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย แน่นอนว่าพื้นที่แห่งการแปลย่อมมี “พื้นที่ระหว่าง” เข้ามาเช่นกัน อุปมาได้กับเทคนิคการแปลจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่งที่บางครั้งก็จะแปลตรงตัว บางครั้งก็อาจไม่ตรงความหมายของผู้เขียนต้นภาษา แต่เป็นการพึ่งความเข้าใจในบริบทตามสายตาผู้แปล บ้างก็แปลเทียบให้กลายเป็นความเข้าใจในอีกภาษา และนั่นก็ทำให้พื้นที่ในเชิงนามธรรมถือกำเนิดขึ้นจากการมีระยะห่างของสิ่งที่ไม่สามารถสรุปได้โดยสนิท ทำให้ทักษะการแปลได้กลายมาเป็นเลนส์มองโลกของตัวละคร เช่นครั้งที่มิวพ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานนักเรียนให้กับ อ๋อง มิวได้ยกตัวอย่างให้ผู้อ่านเห็นภาพโดยเปรียบเทียบการเลือกตั้งในโรงเรียนกับการเมืองระดับประเทศว่า

“ผมเหมือนนายชวนที่สุภาพ เรียบร้อย แต่แพ้การเลือกตั้ง ส่วนไอ้อ๋องเหมือนนายทักษิณ หน้าเหลี่ยม สร้างความตลกโปกฮาทุกคนจึงเทคะแนนให้”

ในคำพูดสั้นๆ ของมิวไม่เพียงลักษณะทางกายภาพเท่านั้นที่เขาพยายามยกมา แต่ระหว่างคำยังมีช่องว่างที่แสดงให้เห็นจุดยืนทางการเมืองและคุณธรรมที่มิวยึดถือไว้ ไม่ว่าจะเป็นการให้คุณค่ากับความสุภาพเรียบร้อยมากกว่าความตลกโปกฮา ซึ่งทั้งสองคุณลักษณะหาได้เกี่ยวข้องกับทักษะของประธานนักเรียนไม่ แต่เขาจะสื่อให้เห็นถึงอ๋องในฐานะตัวร้ายเนื่องจากก่อนหน้านี้เขาได้เล่าให้ผู้อ่านรู้ไว้ว่า

“ผมอยากรู้ว่าใครเป็นใคร ใครเป็นผู้ร้าย ใครเป็นพระเอก…”

“หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นเขียนให้ ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ร้าย ผมเริ่มสงสัยแล้วว่า คนที่ชื่อทักษิณนี่เขาร้ายกาจ หน้าด้าน ได้ขนาดนั้นเชียวหรือ?”

ในการเปรียบเทียบอ๋องเป็นทักษิณนั้นมิวกำลังพูดถึงคุณลักษณะสองแบบที่ยกมาให้ผู้อ่านเห็นว่าอ๋องน่าจะเป็นตัวร้าย พื้นที่ระหว่างความหมาย จึงชัดเจนว่าถูกเชื่อมร้อยกับบริบทรอบตัวของมิวที่ได้ร้อยสร้างพื้นที่ทางความรู้และกรอบคำอธิบายโลกการเมืองที่ดีงามแบบของเขา ทำให้เห็นได้ว่า “พื้นที่ระหว่างระหว่างความหมาย” มันมีแสงยานุภาพที่แสดงให้เห็นถึงพื้นที่ด้านในของความคิด ความรู้ การมองโลก และทำให้เห็นความสำคัญของบริบทสังคม นวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นการชักพาเครือข่ายความคิดมาแสดงให้ผู้อ่านได้เห็นพร้อมๆ ไปกับการใช้ศักยภาพของวรรณกรรม ใครที่เริ่มตั้งคำถามแล้วว่า “ภาษาสำคัญกับความคิดขนาดไหน” เรียนเชิญประจักษ์ได้ในนวนิยายเล่มนี้

ภาษาสามารถเป็นเครื่องมือสร้างความจำแบบคัดย่อเพื่อแปลสู่การอธิบายต่อ เป็นสิ่งที่นำพาเรื่องราวได้และสอดใส่คุณธรรมแบบตน ทั้งยังมุ่งหาการแปลความจากภาษาสู่ความรู้สึก และสามารถสร้างซ้อนความหมายทางเลือกและความรู้อีกมากมายที่จะสามารถจดจำและอธิบายต่อได้ ซึ่งมันจะสร้างตัวตนของตนและสื่อสารกับผู้อื่นได้พร้อมกัน ความรู้เรื่องหนึ่งจึงไม่เพียงความรู้เรื่องนั้นเพียงอย่างเดียว แต่มันได้สร้างพื้นที่ระหว่างในการเปรียบเทียบอธิบายแปลความไปสู่เรื่องอื่นๆ จากการถูกใช้เป็นกรอบเลนส์มองโลกได้ในคราวเดียวกัน วรรณกรรมชิ้นนี้จึงแสดงให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างการใช้ภาษาที่ทั้งเป็นสื่อกลางสื่อสารและการจารึกความรู้ส่วนตน และเรื่องเล่าแกนนี้ก็เหมาะอย่างยิ่งที่จะถูกถ่ายทอดในรูปแบบนวนิยายที่ผู้อ่านก็ต้องเข้าใจทั้งตัวละคร เหตุการณ์ ความรู้สึกผ่านภาษา ช่องว่างระหว่างความหมาย จึงเปิดพื้นที่เชื้อเชิญให้ผู้อ่านได้สัมผัส “พื้นที่ระหว่าง” ในมุมมองของโลกแห่งภาษาในการใช้สื่อสารและมีนัยซ่อนเร้นที่ไม่นิ่งสนิท องค์ประกอบดังกล่าวจึงเป็นเทคนิคทางวรรณกรรมที่น่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ พร้อมทั้งความน่าสนใจนี้นำพาไปหาประเด็นคำถามของคุณธรรมซ่อนเร้นที่เดินทางจากพื้นที่ของเรื่องหนึ่งพ่วงไปใช้ในอีกพื้นที่ของอีกเรื่อง ดังที่ผู้อ่านอย่างเราได้เห็นการอธิบายความดีเลวด้วยข่าวสารที่มิวเข้าใจ นำมาอุปมากับชีวิตของตนผ่านการซ้อนกันของสองสิ่งจนเกิดพื้นที่ทับซ้อนทางความหมายและคำอธิบาย

ความรักของมิวและเรื่องขี้ๆ

“ ‘ฉัน ขี้ ฉันจึงมีอยู่’ น่าจะเป็นหลักปรัชญาประจำตัว”

นอกจากการเมืองแล้ว มิวยังได้กล่าวถึงอาการประจำตัวของเขาอยู่บ่อยๆ นั่นคือ การขี้ที่ดีเกินไป และอาการดังกล่าวสามารถนำมาสู่ปัญหาเกินกว่าหลายคนจะคาดคิด เพราะมิวเป็นตัวละครที่มักจะ ขี้ ในเวลาที่ตื่นเต้นหรือมีความรู้สึกที่มากล้นจนไปถึงการกินอาหารที่ส่งเสริมระบบขับถ่าย ในเรื่องนี้มิวมีเหตุการณ์ที่เขาต้อง ขี้ บ่อยจน ขี้ แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของตัวละครในเรื่อง แถมยังเป็นตัวละครที่ผู้เขียนจงใจเน้นผ่านการใช้อักษรตัวเอียงให้เห็นเด่นชัดขึ้นอีกด้วย โดยตัวละครมิวก็ใช้สิ่งนี้ในการอธิบายพื้นที่ที่คลุมเครือและไม่สามารถอธิบายได้โดยง่ายหลายครั้งเช่น ความรัก

“สิ่งเดียวที่ผมเพิ่งจะรู้ตัวคือ ผมอาจไม่ได้รักอีฟ เพราะเวลาอยู่ด้วยกัน ผมไม่รู้สึกตื่นเต้น ปวด ขี้ อีกแล้ว”

พื้นที่นามธรรมปริศนาที่จับต้องง่ายอย่างความรักได้รับการตั้งคำถามผ่านกริยาการปวด ขี้ ของมิว เป็นการชวนคิดคำนึงถึงคุณสมบัติของความรู้สึกปวดขี้กับความรู้สึกรักของเขา เป็นการเปรียบเทียบใน “พื้นที่ระหว่าง” ทางความหมายที่ลึกซึ้งได้อย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะการทรมานหากอัดอั้น การไม่อยู่ในการควบคุม แน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็นคนมากตรรกะขนาดไหน เมื่อปวดขี้ท้ายที่สุดคงไม่นั่งคิดคำนึงถึงปรัชญาทฤษฎีใดๆ แห่งการขับถ่าย ปวดขี้ คือไป ขี้ มันเป็นพื้นที่ที่มิวแลกเปลี่ยนนามธรรมที่เขาเองก็อาจไม่กระจ่างกับผู้อ่าน เพื่อให้เห็นถึงพื้นที่คลุมเครือนอกภาษาและคำอธิบายอาจเป็นพื้นที่ทางความรู้สึกหรือความเป็นไปได้อื่นๆ นอกจากกรอบความเข้าใจที่คุ้นชิน

นามธรรมบางครั้งอาจยากซับซ้อนหากครุ่นคิดมันหรือบ้างบางทีมันอาจจะกระตุ้นการตัดสินใจเร่งด่วนในบางสถานการณ์แบบเดียวกับการขับถ่ายเลยก็ได้ หรือหากสำรวจพื้นที่ที่มิวชวนแลกเปลี่ยนครั้งนี้ ขี้ สำหรับเขาที่ต้องเร่งระบายอยู่เสมออาจไปอุปมาถึงพื้นที่แห่งความกังวล ความตระหนก และลี้ลับแบบที่ไม่รู้จะปวดและเลิกราเมื่อใด มันเป็นสิ่งที่ไม่เชื่อง กำหนดได้ยาก ทั้งความรัก และ ขี้ และที่สำคัญมันพร้อมไปจากเราเสมอ เจ็บปวดยามจากลา และรู้สึกสบายได้หน่อยเมื่อมันจากไปเรื่องราวจบไป

บางครั้งใน “พื้นที่ระหว่าง” ความหมายที่มีการแปลสิ่งหนึ่งไปเทียบกับอีกสิ่งอันเป็นชั้นเชิงของเรื่องนี้ก็ทำให้การอ่านสนุกขึ้นในการสำรวจระหว่างตัวละคร สิ่งที่เขาคิด และพื้นที่ที่ผู้อ่านกำลังจินตนาการว่ามันเชื่อมโยงกันได้อย่างไรบ้าง เช่นเดียวกับความรักและขี้ของมิวที่ในท้ายที่สุดสองสิ่งนี้อาจแปลความหมายบางส่วนได้ในทิศทางเดียวกันและสามารถใช้เป็นคำอธิบายความรู้ของกันและกันได้ (เฉยเลย!)

ช่องว่างระหว่างความหมาย จึงเป็นนวนิยายที่แม้เดินเรื่องในแนวเรื่องที่เรียบง่าย สั้น กระชับ แต่รายละเอียดรายทางและการนำเสนอก็มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย เหมือนเป็นการท่องไปในดินแดนที่ความหมายต่างๆ สะเปะสะปะ แต่ไหลลื่น สอดคล้องกันไปมา แผ่ขยายพื้นที่แห่งความคิดในหัวของผู้อ่านได้เพลิดเพลินไปพร้อมกับการก้าวข้ามผ่านวัยของ มิว วัยรุ่นมัธยมฯ ปลายในเวลาช่วงท้ายของรัฐบาลทักษิณ ในยุคของจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยร่วมสมัยครั้งใหญ่ ทั้งยังชวนให้คิดคำนึงในขณะอ่านได้ว่าทุกการท่องไปในชีวิตของเราเองที่เปลี่ยนผ่านผกผันหลายครั้ง แต่ละครั้งมันมีช่องว่างความเป็นไปได้แบบอื่นบ้างไหม บางทีการท่องใน “พื้นที่ระหว่าง” ที่เสมือนเป็นลานกว้างให้เดิน อาจมีความเข้าใจหลายแบบไหลแลกเปลี่ยนกันเป็นปกติ…หากในเวลานั้นหลายคนยอมรับว่าไม่ได้เป็นเจ้าของ “ความจริง” แบบเดียวและรับฟังพื้นที่ถกเถียงในความหมายของผู้อื่นบ้าง ยอมรับพื้นที่ของช่องว่างให้พูดคุยร่วมคิดกันได้ จุดเปลี่ยนทางการเมืองครั้งใหญ่ของประเทศก็อาจไม่ได้หันหัวเรือมาในทิศนี้ก็เป็นไปได้

Fact File

ช่องว่างระหว่างความหมาย
ผู้เขียน : ภู่มณี ศิริพรไพบูลย์
สำนักพิมพ์ : เม่นวรรณกรรม
ราคา : 198 บาท


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน