จะรอด หรือ จะร่วง มองอนาคตอุตสาหกรรมหนังสือ ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19
- อนาคตธุรกิจหนังสือในวิกฤตโควิด-19 เป็นหนึ่งในหัวข้อวงเสวนาที่น่าสนใจบนเวที งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 30 กันยายน – 11 ตุลาคม 2563
- การเสวนาหัวข้อ อนาคตธุรกิจหนังสือในวิกฤตโควิด-19 มีประเด็นน่าสนใจเรื่องการปรับตัวของอุตสาหกรรมหนังสือไทยเข้าสู่ออนไลน์ การคาดการณ์ตลาดหนังสือที่อาจจะได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องไม่ใช่แค่ในช่วงโควิด-19 เท่านั้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากโลกดิจิทัล และพฤติกรรมของนักอ่านที่เปลี่ยนไปแล้ว ปัญหาเศรษฐกิจ วิกฤติโควิด-19 ก็ล้วนมีส่วนในการสั่นคลอนธุรกิจและอุตสาหกรรมหนังสือด้วยกันทั้งสิ้น และนั่นทำให้หัวข้อ อนาคตธุรกิจหนังสือในวิกฤตโควิด-19 ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยบนเวที งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 จัดขึ้น ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่าง 30 กันยายน – 11 ตุลาคม 2563
ความน่าสนใจของเวทีนี้คือการดึงผู้คนในอุตสาหกรรมมาพูดคุย ตั้งแต่สายส่งไปถึงสำนักพิมพ์ ประกอบด้วย ปรมัตถกร ปรเมธีกุล สำนักพิมพ์มติชน จีรวุฒิ เขียวมณี สำนักพิมพ์ Biblio ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์ สำนักพิมพ์ Bookscape ธีรภัทร เจริญสุข พะโล้ พับลิชชิ่ง อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ธุรกิจสายส่งแห่งเคล็ดไทย รวิวร มะหะสิทธิ์ ร้านหนังสือออนไลน์ MEB นายแพทย์พงศกร จินดาวัฒนะ นักเขียนจาก Groove Publishing และ คธาวุฒิ เกนุ้ย สำนักพิมพ์ยิปซี เจ้าภาพในการจัดงานเสวนา
ขายออนไลน์ทางรอดในยุคนี้จริงหรือ
ย้อนไปในช่วงแรกที่สถาการณ์โรคโควิด-19 ระบาด ผลที่ตามมาทันทีคือนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม ไปจนถึงนโยบาย “ปิดเมือง” ทำให้ร้านหนังสือที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าและร้านหนังสืออิสระเล็กๆ ได้รับผลกระทบโดยตรง และอย่างรวดเร็วจากการปิดหน้าร้าน การปรับตัวที่เร็วที่สุดเท่าที่ทุกคนจะนึกได้คือการเปิดขายออนไลน์ เร่งจัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายในขณะที่ทุกอย่างชะลอตัว ซึ่งการกรโดดเข้าสู่งานขายออนไลน์อย่างฉับพลันก็มีทั้งข้อดีและข้อด้อย เช่นกับร้านเล็กๆ ที่ยังไม่มีระบบออนไลน์รองรับ หรือแม้แต่กับกลุ่มนักอ่านเองที่ยังไม่มีประสบการณ์การซื้อขายออนไลน์ และอีกหนึ่งกลไกของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ สายส่ง รวมทั้งร้านหนังสือที่ยังคงต้องแบกภาระในส่วนของหน้าร้าน
ปรมัตถกร ปรเมธีกุล แห่งสำนักพิมพ์มติชน ได้ให้ข้อสังเกตเรื่องการขายออนไลน์ว่าอาจจะไม่สามารถตอบโจทย์ผู้อ่านได้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุที่ก่อนหน้านี้อาจยังไม่คุ้นชินกับการซื้อขายออนไลน์ แต่ผู้สูงอายุหลายท่านก็พร้อมที่จะปรับตัวไปตามตลาด โดยมีการโทรศัพท์มาติดต่อสอบถามโดยตรงกับสำนักพิมพ์ เรื่องการใช้งานระบบออนไลน์ การสั่งซื้อหนังสือผ่านเว็บไซต์ ข้อดีคือทำให้สำนักพิมพ์ได้รับรู้ข้อมูลเรื่องพฤติกรรมผู้ใช้งานเว็บไซต์โดยตรง เพื่อนำมาปรับปรุงระบบของเว็บไซต์ต่อไปเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม
ส่วน จีรวุฒิ เขียวมณี จากสำนักพิมพ์เล็กๆ แต่มาแรงในวงการนักอ่านอย่าง สำนักพิมพ์ Biblio ได้เล่าถึงการจัดการด้านการเผยแพร่ข่าวสารทางระบบอินเตอร์เน็ตในส่วนของ Biblio ว่าเนื่องจากมีการปิดเมืองและผู้คนมักอยู่ในที่พักอาศัย ทางสำนักพิมพ์จึงปรับทำการตลาดออนไลน์ เน้นการเผยแพร่เรื่องหนังสือลิขสิทธิ์จากภาษาต่างประเทศทั้งหมดที่ทางสำนักพิมพ์ได้ถือครองไว้และเปิดให้ Pre-Order บางเล่มในระบบออนไลน์ล่วงหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งเพื่อเป็นบริหารจัดการเรื่องต้นทุนสินค้าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
รวิวร มะหะสิทธิ์ ผู้ก่อตั้ง MEB ร้าน e-book ซึ่งเป็นกิจการร้านหนังสือรูปแบบออนไลน์อยู่แล้ว แสดงความคิดเห็นในวงสนทนาว่า นโยบายปิดเมือง อาจไม่ได้กระทบช่องทางขายเพราะกลุ่มผู้อ่านของ MEB เป็นกลุ่มที่ใช้ช่องทางออนไลน์อยู่แล้ว แต่ในแง่การทำงานก็ต้องปรับโครงสร้างการทำงานภายในให้สามารถทำงานทางไกลจากที่บ้านได้อย่าง 100% ส่วนผลที่ได้รับชัดเจนคือการตอกย้ำว่าช่องทางออนไลน์คือช่องทางที่เติบโตขึ้นและมีบทบาทสำคัญในธุรกิจหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์อย่างแน่นอน โดย MEB เองก็มุ่งพัฒนาระบบเว็บไซต์ต่อไป พร้อมจัด Flash sale ขนานโลกออนไลน์คู่กับงานหนังสือออฟไลน์ไปด้วย
แต่ไม่ว่าออนไลน์จะสำคัญกับธุรกิจหนังสือมากและเป็นแนวโน้มทางธุรกิจที่จะมองข้ามไม่ได้ แต่ในทัศนะของ คธาวุฒิ เกนุ้ย จากสำนักพิมพ์ยิปซี เจ้าภาพในการจัดเสวนาครั้งนี้ได้แสดงความคิดเห็นว่า “โลกออนไลน์เป็นเพียงน้ำหล่อเลี้ยงให้หายใจได้” แต่การกลับมาของงานหนังสือที่ทำให้ผู้คนกลับมาเดินในงานพร้อมเลือกซื้อหนังสือต่างๆ ได้อีกครั้งก็เป็นความหวังอีกส่วนสำหรับการสร้างยอดขาย และสำหรับงานหนังสือในครั้งนี้ทางสำนักพิมพ์ยิปซีได้มีการออกหนังสือปกใหม่ในงานครั้งนี้มากถึง 16 ปก เพื่อรองรับนักอ่านที่รอคอยงานหนังสือมาครึ่งปี
เนื้อหาที่ดียังสำคัญอยู่ไหม
ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์ จากสำนักพิมพ์ Bookscape ได้แสดงความเห็นว่าไม่ว่าจะอย่างไร จะเร่งการขายออนไลน์ หรือกระตุ้นการขายออฟไลน์ แต่สิ่งสำคัญของหนังสือคือ “เนื้อหา” นอกจากการคัดเลือกเนื้อหาที่ดี น่าสนใจแล้ว การทำกิจกรรมทางความรู้ก็เป็นอีกสิ่งที่ช่วยในการเผยแพร่และส่งเสริมตัวหนังสือไปด้วย เช่น การจัดเสวนาเนื้อหาความรู้ที่เกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้นๆ ควบคู่ไปกับการเปิดตัวหรือโปรโมตหนังสือ
เช่นเดียวกับนักเขียนเบอร์หนึ่งของ Groove Publishing อย่าง นายแพทย์พงศกร จินดาวัฒนะ ที่เชื่อมั่นว่าเนื้อหาของหนังสือยังคงเป็นเหตุผลหลักให้ผู้อ่านตัดสินใจซื้อ พร้อมยกตัวอย่างที่เห็นชัดเจนว่า หากมีหนังสือออกใหม่ 20 ปก แต่ผู้อ่านมีกำลังซื้อเพียง 5 ปก เนื้อหาของหนังสือจะเป็นตัวตัดสิน 5 ปกนั้น
ทางด้าน ธีรภัทร เจริญสุข แห่ง พะโล้ พับลิชชิ่ง มองว่าอุตสาหกรรมหนังสือภาษาไทยยังมีขนาดที่เล็กอยู่โดยเฉพาะ Light Novel ซึ่งในตลาดไทยยังมีข้อจำกัดด้านเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอ ในอนาคต พะโล้ พับลิชชิ่ง จึงมีแผนขยายงานไปยังต่างประเทศ ทั้งส่งนักออกแบบปก นักทำภาพประกอบ ไปทำงาน เรียนรู้งานกับต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งส่งนวนิยายไทยไปขายในประเทศที่มีกระแส Light Novel เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดของนวนิยายไทยประเภทนี้
อีกส่วนที่สำคัญในการปรับตัวในโลกปัจจุบันที่ขายออนไลน์นั้นคือ สายส่ง ประเด็นนี้ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน แห่งเคล็ดไทย ได้กล่าวถึงอนาคตของสายส่งไว้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก อย่างไรการจัดการเรื่องสายส่งยังสามารถช่วยในเรื่องการขายได้อยู่ อีกส่วนสายส่งเองก็ต้องปรับตัวสู่โลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน เปลี่ยนจากการเจรจากับร้านหนังสือที่เป็นหน้าร้าน ไปเจรจากับร้านหนังสือออนไลน์ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้จะมุ่งสู่คำถามที่ว่าต่อไปสายส่งควรวางตัวเองอยู่ตรงไหนและอย่างไรในโลกออนไลน์และอุตสาหกรรมหนังสือ
สุดท้าย คธาวุฒิ ในฐานะโต้โผในการจัดเสวนาได้กล่าวทิ้งท้ายถึงการทำงานในสถานการณ์โควิ-19 ว่า
“สิ่งที่ไม่เห็นเลยตั้งแต่โควิด คือ ความช่วยเหลือจากรัฐบาล มากกว่า 1,000 ธุรกิจเหมือนต้องทำอะไรกันเอง”
ปรมัตถ จาก สำนักพิมพ์มติชน ก็ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเกี่ยวกับการเกิดวิกฤติโรคระบาดว่าแม้โรคระบาดจะจบ แต่ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหนังสือของไทยยังไม่จบเพียงเท่านี้
“แม้โรคระบาดจะซาลงแล้ว แต่ปัญหาด้านเศรษฐกิจก็จะยังมีอยู่ และยังคงส่งผลกระทบต่อร้านหนังสือ สายส่ง รวมถึงนักอ่านต่อไป”