ชม พลเมืองลอยแพ และหลายรสภาพยนตร์สารคดีออนไลน์ BKK DOC 2020
- BKK DOC Fest 2020 เทศกาลสารคดีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 1 จัดเทศกาลภาพยนตร์ออนไลน์และประกวดภาพยนตร์สารคดี พร้อมเปิดให้ชมภาพยนตร์ที่ชนะรางวัลประกวดทั้ง 15 สาขา ประจำปี 2020 ผ่่านออนไลน์ ระหว่างวันที่17-27 ธันวาคม ศกนี้
- ผู้ชนะรางวัลสาขาภาพยนตร์สารคดีไทยยอดเยี่ยม ได้แก่ ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “พลเมืองลอยแพ”(Floating Village Asylum) กำกับโดย ปรีชา ศรีสุวรรณ
- ภาพยนตร์สารคดีไทยที่ส่งเข้าประกวดใน BKK DOC2020 ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับน้ำและแม่น้ำ รวมถึงภาพยนตร์ที่ชนะรางวัลก็เป็นสารคดีติดตามวิถีชีวิตของชาวเรือพลัดถิ่นที่ใช้ชีวิตอยู่บนเรือในแถบชายแดนไทย-พม่า
คนรักหนังสารคดีห้ามพลาด สำหรับ BKK DOC 2020 (Bangkok International Documentary Awards) หรือ เทศกาลสารคดีนานาชาติ กรุงเทพฯ (ครั้งที่ 1) เทศกาลจัดประกวดภาพยนตร์สารคดีจากนานาชาติรวม 15 สาขา ผ่านการส่งผลงานในระบบออนไลน์ และได้ประกาศผลภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลประจำปี 2020 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ณ สถาบันเกอเธ่ กรุงเทพฯ โดยผู้ชนะรางวัลสาขาภาพยนตร์สารคดีไทยยอดเยี่ยม ได้แก่ ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง พลเมืองลอยแพ (Floating Village Asylum) กำกับโดย ปรีชา ศรีสุวรรณ
พลเมืองลอยแพ เป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่องที่ติดตามวิถีชีวิตของชาวเรือพลัดถิ่น ซึ่งใช้ชีวิตอยู่บนเรือในแถบชายแดนไทย-เมียนมา กับวิถีชีวิตที่ต้องล่องตามแม่น้ำรอยต่อเขตแดนไทยและเพื่อนบ้าน เมื่อวิถีของพวกเขาต้องตกอยู่ตรงกลางระหว่างสองประเทศ ครอบครัว พ่อแม่ลูกหลานชาวเรือพลัดถิ่นเหล่านี้จึงมีสถานะเป็นพลเมืองโลกที่ไร้สัญชาติ และต้องเผชิญกับอุปสรรคทางกฎหมาย ไม่ได้รับรองสิทธิเหมือนพลเมืองไทยหรือเมียนมา วนเวียนอยู่ในวงจรการถูกละเมิด การถูกกดขี่ และถูกแสวงหาประโยชน์นับครั้งไม่ถ้วน การฉายแต่กระนั้นภาพพลเมืองที่ถูกลอยแพผ่านเลนส์ของ ปรีชา ศรีสุวรรณ และทีมงานได้ล้วงลึกถึงอารมณ์ความรู้สึก วิถี และชีวิตที่เกิดขึ้นจริงในสังคมที่หากมองย้อนดูจริงๆ เรื่องนี้อาจจะไม่ได้อยู่แค่ริมตะเข็บชายแดนเท่านั้น
สำหรับ BKK DOC 2020 ครั้งนี้มีผู้ส่งผลงานภาพยนตร์สารคดีจากประเทศไทยเข้าร่วมประกวดอย่างคึกคัก และผู้ก่อตั้งเทศกาลฯ ตั้งข้อสังเกตว่า เนื้อเรื่องในภาพยนตร์สารคดีของไทยมักเกี่ยวข้องกับ “น้ำ” หรือ “แม่น้ำ” อยู่หลายเรื่องรวมถึงภาพยนตร์ชนะเลิศสาขานี้ ก็เป็นเรื่องราวของครอบครัวชาวประมงไร้สัญชาติที่ถูกลอยแพอยู่กลางแม่น้ำเช่นกัน
BKK DOC จัดขึ้นปี พ.ศ. 2563 เป็นปีแรก โดยมีภาพยนตร์สารคดีนานาชาติส่งเข้าประกวดมากกว่า 300 เรื่อง และมีงานประกาศผลรางวัล 15 รางวัล ใน 15 สาขา โดยมีคณะกรรมการตัดสินรางวัลจากหลากหลายสาขา เช่น ทอม วอลเลอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง นางนอน (The Cave) นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ก้อง ฤทธิ์ดี เป็นต้น
สำหรับความหลากหลายในสาขารางวัลที่มีมากถึง 15 รางวัลนั้น นอกจากจะแบ่งเป็นภาพยนตร์สารคดีนานาชาติยอดเยี่ยม และภาพยนตร์สารคดีไทยยอดเยี่ยมแล้ว ยังได้แบ่งรางวัลตามเนื้อหาสาระหลักของภาพยนตร์ เช่น รางวัลภาพยนตร์เกี่ยวกับความหลากหลายเพศ (Best LGBTQ Documentary Award) และ รางวัลภาพยนตร์เกี่ยวกับกีฬา (Best Sport Documentary Award) เป็นต้น
อีกไฮไลต์ภาพยนตร์รางวัลที่เราอยากแนะนำว่าห้ามพลาดเลยจริงๆ คือ ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง You decide ผลงานกำกับและอำนวยการสร้างโดย ไทกิ ซึกิโอกะ (Taiki Sugioka) จากญี่ปุ่น ที่ชนะรางวัลสาขา Best LGBT Documentary เสนอชีวิตของหญิงข้ามเพศ ชื่อ คาเอเดะ (ชื่อในการแสดง) ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีในญี่ปุ่น สารคดีเจาะลึกถึงเบื้องหลังและความใฝ่ฝันของคาเอเดะที่อยากเป็นสาวข้ามเพศผู้ประความสำเร็จ เช่นเดียวกับการพิสูจน์ตัวเองว่าเขาก็เป็นลูก (ชาย) ที่ดีของคุณพ่อ
การเปิดเทศกาลภาพยนตร์สารคดี BKK DOC ปีแรกนั้นผู้ก่อตั้งอย่าง สเตฟาน ลองแบร์ กล่าวว่าเขาได้มองเห็นศักยภาพของประเทศไทย และใช้งานเทศกาลเป็นก้าวแรกของการสร้างตลาดและโอกาสของภาพยนตร์สารคดีในไทย เพื่อเปิดเวทีให้คนได้แสดงงาน
“จากที่ผมเคยทำตลาดภาพยนตร์สารคดีเอเชีย (Asian Side Doc 2016) ผมคิดว่าถ้ามีงานดีๆ ในแนวสารคดีจากทั่วโลกมาลงที่ไทย คนไทยจะได้ดูมากขึ้น และงานของคนไทยมีคนเห็นมากขึ้น น่าจะเปิดตลาดสารคดีให้โตขึ้นได้” สเตฟานกล่าว
และแม้ตอนนี้วงการภาพยนตร์และสังคมกำลังซึมเซากับสถานการณ์โรคระบาด แต่สเตฟานเชื่อว่าการใช้ช่องทางออนไลน์จะเป็นการปลุกกำลังใจคนทำงานได้บ้าง
“ในปีนี้เจอโควิด-19 การเดินทางทำไม่ได้ แหล่งทุนก็มีน้อย คนก็หดหู่ แต่การลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เป็นเรื่องบวกอย่างนี้บ้างก็ดีนะ ปีนี้อาจจะได้แค่ส่งงานออนไลน์ แต่ปีต่อๆ ไป อาจจะทำเป็นเทศกาลที่มีอีเวนต์จริงๆ มีคนทำหนังจากนานาชาติมาแลกเปลี่ยนกัน”
สเตฟาน ลองแบร์ ยังให้ความเห็นต่อศักยภาพของงานสร้างภาพยนตร์สารคดีในไทยว่า ปัจจุบันคนทำสารคดีในไทยอาจจะยังขาดทุนสนับสนุน ในขณะที่ทุนสร้างในยุโรปสำหรับภาพยนตร์สารคดี ทั่วไปจะอยู่ราว 6-10 ล้านบาท สำหรับฉายทางทีวีและแพลตฟอร์มอื่นๆ ส่วนงานสร้างที่มุ่งฉายในโรงภาพยนตร์ด้วยนั่น อาจจะสูงถึง 20 ล้านบาทเลยทีเดียว
ขณะที่ความต้องการเนื้อหาสำหรับฉายออนไลน์ (ออนไลน์คอนเทนท์ สำหรับออนไลน์แพลตฟอร์ม) ที่กลายมาเป็นวิถีปกติใหม่ในปี 2563 นี้ยังหมายถึงโอกาสของคนสร้างงานหน้าใหม่ และงานภาพยนตร์สารคดีจากประเทศไทยด้วย
รายชื่อภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลทั้ง 15 สาขา ได้แก่
1. รางวัลสารคดียาวยอดเยี่ยม (Best Feature Documentary) เรื่อง Be Natural: The untold Story of Alice Guy-Blache โดย Pamela B. Green จาก สหรัฐอเมริกา
2. รางวัลสารคดียอดเยี่ยมแห่งปี (Best Documentary of The Year) เรื่อง The Invisibles โดย Henri Poulain จากฝรั่งเศส
3. รางวัลสารคดีไทยยอดเยี่ยม (Best Thai Documentary) เรื่อง Floating village asylum (พลเมืองลอยแพ) โดย ปรีชา ศรีสุวรรณ จากประเทศไทย
4. ราววัลสารคดีชุดยอดเยี่ยม (Best Documentary Series) เรื่อง Displaced – Droughts and Floods – The Climate Exodus โดย Hanna Suhr จากเยอรมนี
5. รางวัลสารคดีสั้นยอดเยี่ยม (Best Short Documentary) เรื่อง Hamda โดย Ilona Szekeres จากฮังการี
6. รางวัลสารคดี VR ยอดเยี่ยม (Best VR Documentary) เรื่อง THE GAP โดย Andres Waisberg จากอาร์เจนตินา
7. รางวัลผู้กำกับหน้าใหม่ (Best First Time Director) เรื่อง Enclosure โดย Julia Guggisberg Hannud และ Catharina Scarpellini จากบราซิล
8. รางวัลผู้กำกับหญิงยอดเยี่ยม (Best Woman Director) เรื่อง The Geshema is Born โดย Malati Rao จากอินเดีย
9. รางวัลโปรดิวเซอร์หน้าใหม่ (Best First Time Producer) เรื่อง Daughters of Cynisca (Female sport speaks for equality) โดย Beatriz Carretero จากสเปน
10. รางวัลผู้วางลำดับภาพหน้าใหม่ (Best First Time Editor) เรื่อง The Aviator of Sky Polaris (El Aviador del Cielo Polar) โดย Jamie Jumaquio จากฟิลิปปินส์
11. รางวัลสารคดีประวัติบุคคลยอดเยี่ยม (Best Archive Based Documentary) เรื่อง Marcel Duchamp: Art of the Possible โดย Matthew Taylor จากสหรัฐอเมริกา
12. รางวัล สารคดี LGBT ยอดเยี่ยม (Best LGBT Documentary) เรื่อง You decide โดย Taiki Sugioka จากญี่ปุ่น
13. รางวัลสารคดีกีฬายอดเยี่ยม (Best Sport Documentary) เรื่อง Astrid 60 โดย Marc Galver จากสเปน
14. รางวัลสารคดีเพลงยอดเยี่ยม (Best Musical Documentary) เรื่อง Gracefully โดย Arash Es’haghi จาก อิหร่าน
15. รางวัลสารคดีดราม่ายอดเยี่ยม (Best Documentary Drama) เรื่องSentimental Education โดย Seung-suk Nam จากเกาหลีใต้
Fact File
- ผู้ชมสามารถเข้าชมเทศกาลออนไลน์ได้ที่ https://www.filmdoo.com/bkkdoc/page/1 ระหว่าง 17-27 ธันวาคม 2020 ในระบบเพย์เพอร์วิว (มีค่าชมต่อเรื่ิง)
- ระบบการฉาย ผู้ชมสามารถลงทะเบียนและจ่ายค่าเข้าชมภาพยนตร์เรื่องที่ต้องการ ในราคา 4 ดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งเรื่อง ชมตัวอย่างภาพยนตร์ได้ฟรีที่ https://bit.ly/38uI7m5
- อัพเดตข้อมูลและโปรแกรมฉายได้ที่ https://www.bkkdoc.com/
- สเตฟาน ลองแบร์ (Stephane Lambert) ผู้จัดและผู้ร่วมก่อตั้งเทศกาลภาพยนตร์สารคดีกรุงเทพฯ (BKK DOC) เคยจัดงาน Asian Side of the Doc Bangkok 2016 งานเปิดตลาดสำหรับภาพยนตร์สารคดีในแถบเอเชียโดยมีศูนย์กลางที่ไทย สเตฟาน เคยมีผลงานอำนวยการสร้าง Instant Ballad ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับกลุ่มของนักมวยสตรีทไฟเตอร์ในเมืองไทยที่กลายเป็นวัฒนธรรมย่อยกลุ่มหนึ่ง
- เทศกาลครั้งแรกได้รับความสนใจจากคนทำหนังทั่วโลกมีภาพยนตร์ 300 เรื่อง รวมถึงงานที่มีดาราดังจากฮอลลีวูด อย่างโจดี้ ฟอสเตอร์ ร่วมโปรดิวซ์ ส่งมาร่วมประกวด (เรื่อง Be Natural ซึ่งชนะรางวัลสาขา Best Feature Documentary)