8 Short List เรื่องสั้นไทย ชิงชัย SEA Write เข้มข้น
Lite

8 Short List เรื่องสั้นไทย ชิงชัย SEA Write เข้มข้น

Focus
  • สำหรับ ซีไรต์ ปี 2563 นี้ จัดประกวดในหมวดเรื่องสั้น ซึ่งมีนักเขียนส่งเรื่องสั้นเข้าประกวดทั้งหมด 40 เล่ม ถือว่าน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมาที่ปกติจะมีประมาณ 60-70 เล่ม
  • ในปีนี้นอกจากจะมีผลงานจากอดีต ซีไรต์ และนักเขียนที่เคยเข้ารอบ Short List และ Long List ของซีไรต์ปีที่ผ่าน ๆ มาแล้ว ยังมีผลงานนักเขียนรุ่นใหม่ที่เตรียมตัวกันมาอย่างดี หลายคนเคยคว้ารางวัลจากสนามอื่นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น รางวัลพานแว่นฟ้า รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด รางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ รางวัลช่อการะเกด และรางวัล SCG Young Thai Artist เป็นต้น

เมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ มีการประกาศผล SEA Write รอบ Short List ของการคัดเลือกวรรณกรรมรวมเรื่องสั้นดีเด่นของประเทศไทยประจำปี พ.ศ. 2563 โดยมี 8 เล่มด้วยกันที่เข้ารอบรองสุดท้ายนี้ ทั้งจากนักเขียนที่เคยได้รับรางวัลนี้มาแล้ว 3 คน ได้แก่ แดนอรัญ​ แสงทอง (แพรกหนามแดง) วิภาส​ ศรีทอง​ (รยางค์และเงื้อมเงา) และ ​จเด็จ​ กำจรเดช (คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ)​ มีที่เคยเข้ารอบมาแล้วอีก 3 คน ​ได้แก่ บัญชา​ อ่อนดี (ไร้สัญชาติและตัวละครอื่น ๆ)  ภาณุ​ ไตรเวช (ลิงหินและเรื่องสั้นอื่น ๆ)​ และ ​วัฒน์​ ยวงแก้ว (ในโลกเล่า) และมีที่เพิ่งเข้ารอบครั้งแรกอีก 2 คน ได้แก่นักเขียนมือเก๋าที่เพิ่งรวมเล่มอย่าง กำพล​ นิรวรรณ​ (อาถรรพ์ภาพวาดเสื้อดำ)​ และ​ แพรพลอย​ วนัช​ ผู้หญิงหนึ่งเดียวที่ฝ่าด่านมาได้ และเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ที่คว้าชัยมาแล้วหลายเวที

ส่วนนักเขียนอีก 5 คนซึ่งถือเป็นส่วนน้อยที่ตกรอบนี้ แต่ได้เข้ารอบ Long List ก่อนหน้ามาแล้ว ได้แก่ นักเขียนชายที่คร่ำหวอดในแวดวงน้ำหมึกมานานและฉิวเฉียด SEA Write มาหลายครั้ง อย่าง ฟ้า พูลวรลักษณ์ (กวีพูด: รวมสิบเรื่องสั้นของฟ้า) และอนุสรณ์ ติปยานนท์ (ตะวันออกศอกกลับ) ส่วนกลุ่มนักเขียนหญิงอีก 3 คน ได้แก่ ตินกานต์ (ดอกรัก) ปันนารีย์ (ภาพเหมือนของคืนฤดูร้อน) และ กฤติศิลป์ ศักดิ์ศิริ (เรื่องราวในหนึ่งวันกับเหตุการณ์ไม่ปกติอื่น ๆ) ซึ่งถือเป็นกลุ่มนักเขียนหญิงร่วมสมัยที่มาแรงในระยะหลัง 

แม้ว่าจะมีข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับจำนวนเล่มที่ส่งเข้าประกวดว่ามีเพียง 40 เล่ม น้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งปกติจะมีประมาณ 60-70 เล่ม แต่ทางคณะกรรมการคัดสรร (ซึ่งเป็นคนละชุดกับคณะกรรมการรอบสุดท้าย) จำนวนทั้งหมด 7 ท่าน นำโดย ผศ.สกุล บุณยทัต ก็แจกแจงว่ามีความเข้มข้นทางด้านคุณภาพเป็นอย่างมากดังตัวอย่างคำชี้แจงประกอบการประกาศผลที่ว่า

“(ผลงานเหล่านี้มี) คุณภาพที่สามารถอวดฝีมือของนักเขียนไทยสู่ความเป็นสากลได้อย่างถึงที่สุด…ผลงานแห่งคุณค่าของนักเขียนสตรีหลายท่านถือเป็นพัฒนาการที่น่าจับตามองและชวนยกย่อง ผลงานของนักเขียนผู้เคยได้รับรางวัล ซีไรต์ ที่หวนกลับมาอีกครั้งล้วนมีมิติที่ชวนติดตามและน่าสนใจ…รวมทั้งเลือดใหม่ในวงการที่สร้างกระบวนการเขียนขึ้นมาสู่ภาพฉายทางวรรณกรรมอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ”

ในปีนี้ นอกจากจะมีผลงานจากอดีต SEA Write และที่เคยเข้ารอบ Short List และ Long List ของซีไรต์แล้ว ยังมีจากนักเขียนรุ่นใหม่ที่เตรียมตัวกันมาอย่างดี หลายคนเคยคว้ารางวัลจากสนามอื่นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น รางวัลพานแว่นฟ้า รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด รางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ รางวัลช่อการะเกด และรางวัล SCG Young Thai Artist เป็นต้น 

มีอีกข้อสังเกตสนุก ๆ ว่ามีหลายเล่มในปีนี้ จากที่ส่งเข้าประกวดทั้ง 40 เล่ม ที่ตั้งชื่อหนังสือค่อนข้างยาว และมักลงท้ายชื่อหนังสือด้วยคำว่า “อื่น ๆ” โดยจับเอาเรื่องสั้นเรื่องที่คิดว่าเด่นที่สุดเป็นชื่อนำ เช่น “เด็กชายที่ปลอมตัวเป็นหนังสือดอกไม้และอื่น ๆ” ของ ปะการัง “ตรอกคนบ้าและเรื่องสั้นอื่น ๆ” ของ ธาร ยุทธชัยบดินทร์ “ในปีที่ยี่สิบเจ็ดและเรื่องสั้นอื่น ๆ” ของ ชาคริต คำพิลานนท์ และ “โรคระบาดและเรื่องสั้นอื่น ๆ” ของ ภพ เบญญาภา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การจัดประกวดรอบรวมเรื่องสั้น (ที่สลับกับรอบกวีนิพนธ์และนวนิยายกันคนละปี) ในปีนี้ยังเป็นไปท่ามกลางกระแสวิจารณ์ว่า วรรณกรรมเรื่องสั้นยุคใหม่ของไทยจำนวนหนึ่งมักมุ่งเน้นเรื่องความพิสดารของกลวิธีการแต่งตามแบบอย่างสากลจนอ่านเข้าใจยาก มากกว่าที่จะเน้นความคมคายและลุ่มลึกในการนำเสนอประเด็น และสะท้อนมุมมองชีวิตที่ตกผลึกมาสื่อสารกับคนทั่วไปได้

ปีนี้นับเป็นครั้งที่ 43 ที่รางวัลทางวรรณกรรมระดับภูมิภาคอาเซียน และที่ถือกันว่าเป็นรางวัลสูงสุดรางวัลหนึ่ง ได้จัดขึ้น สำหรับสายประกวดของไทยปีนี้ ได้ประกาศรอบ Long List ไปแล้วเมื่อปลายกรกฎาคมที่ผ่านมา และกำหนดว่าจะมีการประกาศผลรอบสุดท้ายในเร็ว ๆ นี้ เพื่อเป็นการยืนยันเจตนารมณ์มุ่งมั่นในการจัดที่เคยประสบข่าวคราวว่าอาจจะยุติลง

แต่ทั้งนี้ คำถามที่ทุกคนดูจะเฝ้าลุ้นคำตอบอันหนึ่งก็คือว่าจะเกิดปรากฏการณ์ดับเบิลซีไรต์อีกหรือไม่ หลังจากเกิดขึ้นซ้ำมาแล้วหลายครั้ง

ข้อมูลเบื้องต้นและคำสรุปเหตุผลที่หนังสือแต่ละเล่มได้เข้ารอบซึ่งเรียบเรียงจากถ้อยแถลงของคณะกรรมการชุดคัดกรอง มีดังนี้

24 ชั่วโมง : แพรพลอย วนัช (สำนักพิมพ์นาคร)

SEA Write

“24 ชั่วโมง นำเสนอโมงยามแห่งชีวิตอันสามัญในพื้นที่ประจำวันที่เราคุ้นเคย เช่น ห้องครัว ห้องนอน หรือบ้าน ทว่าในขณะที่ผู้เขียนค่อย ๆ พาผู้อ่านเดินทางไปสู่ความสัมพันธ์ของตัวละครที่เหมือนจะธรรมดา เรื่องราวอันคาดไม่ถึงก็ค่อย ๆ ปรากฏ นาฬิกาชีวิตของตัวละครในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องเดินไม่เท่ากัน บางเรื่องเร็ว บางเรื่องช้า บางเรื่องเข็มชีวิตกลับเหมือนจะหมุนทวนไปในอดีตอย่างไม่สามารถปล่อยวางได้”

ว่ากันว่าผลงานของอดีตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่หันมาเอาดีทางงานขีดเขียนผู้นี้ ไม่ใช่เพียงแต่เป็นหญิงแกร่งคนเดียวที่ฝ่าด่านอรหันต์นักเขียนชายเหลือเข้ารอบสุดท้ายมาได้ แต่เป็นชิ้นงานที่มีโอกาสสูงที่จะคว้าชัยไปทีเดียว ด้วยดีกรีที่เจ้าตัวเคยพิชิตมาแล้วหลายรางวัล ทั้งจากตัวรวมเล่มเอง ที่ได้รางวัลหนังสือดีเด่นจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปี พ.ศ. 2563 และได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทเรื่องสั้น เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 17 ที่ผ่านมาสด ๆ ร้อน ๆ รวมถึงเรื่องสั้นชื่อ “พิซซ่า” ที่เพิ่งได้รางวัล รองชนะเลิศ รางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ มาเช่นกัน 

ในงานรวมเล่มล่าสุดของ แพรพลอย (ชื่อจริงว่า วรรณวนัช เตชะศิลป์เจริญ) เล่มนี้ จับประเด็นความรุนแรงในบ้าน การกดขี่เพศที่ด้อยกว่า และความอยุติธรรมในสังคม โดยแต่ละเรื่องมีโครงเรื่องที่แข็งแรงและจบอย่างชัดเจน บางชิ้นแทรกการหักมุมได้อย่างคิดไม่ถึงจุดที่โดดเด่นของ 24 ชั่วโมงคือวิธีการแต่งที่นำเสนอตัวละครตัวหนึ่งผ่านมุมมองของตัวละครอีกตัวได้อย่างมีมิติและชั้นเชิง

คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ : จเด็จ กำจรเดช (ผจญภัยสำนักพิมพ์)

SEA Write

“ถือเป็นปรากฏการณ์ด้านลึกที่กลั่นออกมาจากความรู้สึกภายใน สู่ปฏิกิริยาแห่งการรับรู้ภายนอกที่เปิดกว้างสู่จักรวาลของการตีความ…ด้วยข้อสังเกตแห่งความจริงแท้และความจริงลวงนานัปการ…แก่นสารแห่งสาระเนื้อหาของเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง…ล้วนต่างสื่อแสดงถึงสถานะและบทบาทในภาพวาดทางมโนทัศน์ที่เร้นลึก”

หลังจากผลงานรวมเรื่องสั้น “แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ” รับรางวัล SEA Write ประจำปี พ.ศ. 2554 และผลงาน “มะละกาไม่มีทะเล” เข้ารอบในปี พ.ศ. 2557 ศิลปินผู้มากทักษะทั้งดนตรี ทัศนศิลป์ และการประพันธ์ชาวนครศรีธรรมราชผู้นี้ ก็ผลิตผลงานอย่างไม่หยุดหย่อนแต่มักเป็นแนวบทกวีและนวนิยาย “คืนปีเสือฯ” ถือว่าเป็นการกลับมาหลังห่างหายจากการรวมเรื่องสั้นกว่าหกปี ด้วยเรื่องสั้นขนาดยาวที่รวมกันแล้วกว่า 500 หน้า (ถึงกับมีฉบับปกแข็งออกมาจำหน่ายควบคู่) โดยยังคงถ่ายทอดวัฒนธรรมและเรื่องราวของฉากจังหวัดในชายแดนภาคใต้ 

แพรกหนามแดง : แดนอรัญ แสงทอง (สำนักพิมพ์สามัญชน)

SEAWrite

“โดดเด่นด้านการนำเสนอวิถีท้องถิ่น ลีลาการเล่าเรื่องเผยให้เห็นความมีชีวิตชีวาของฉากและสถานที่ ผู้เขียนสามารถรักษาท่วงทำนองของการเล่าเรื่องที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน…ผู้เขียนใช้ลีลาภาษาที่เรียบง่ายชวนครุ่นคำนึงถึงอดีตของคนลุ่มน้ำที่มีความแนบแน่นกับธรรมชาติ บางเรื่องราวก็โลดโผน ครื้นเครง ซึ่งดำเนินเรื่องผ่านตัวละครต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว” 

หากจะกล่าวว่านักเขียนไทยร่วมสมัยยุคปัจจุบันคนไหนที่พอจะมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ก็คงไม่พ้น แดนอรัญ ที่นวนิยายตกรอบ ซีไรต์ เรื่อง “เงาสีขาว” ของเขาที่ออกมาในปี พ.ศ. 2536 ได้รับการแปลหลายภาษา เขาเป็นที่รู้จักพอสมควรในยุโรป ถึงระดับได้รับเหรียญอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวิน จากกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม หลังจากคว้ารางวัลซีไรต์ในปี พ.ศ.2557 จากผลงานรวมเรื่องสั้นชุด อสรพิษและเรื่องอื่น ๆ เสน่ห์ สังข์สุข (ชื่อจริงของแดนอรัญ) ชายชาวเพชรบุรีที่เกิดเมื่อปีกึ่งพุทธกาลผู้นี้ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง หลังจากพอเป็นที่รู้จักในฐานะนักแปลงานวรรณกรรมสากลชิ้นสำคัญต่าง ๆ จนได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติในปี พ.ศ. 2561 

“แพรกหนามแดง” ตีพิมพ์รวมเล่มออกมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยเป็นที่รู้จักอยู่ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มที่ติดตามงานของแดนอรัญ เรื่องสั้นชุดนี้ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมในทุ่งนาและชายป่าเขา โดยอาศัยตัวละครเด็กชายชนบทไทยภาคกลางในยุคกว่าห้าสิบปีก่อนเป็นเสาหลักในการถ่ายทอดเรื่องราว และยังเสมือนเป็นบันทึกสังคมชนบทไทยที่อ่านได้อย่างเพลิดเพลินด้วยสำนวนภาษาที่ขัดเกลาอย่างดี ชุดตัวละครเดียวกันถูกใช้ซ้ำไปมาให้มีความเชื่อมโยง สร้างความต่อเนื่องกลาย ๆ ไปตลอดทั้งเล่ม ส่วนตัวชื่อเรื่องก็เป็นสถานที่ที่ผู้เขียนเคยสอดแทรกมาแล้วในงานชิ้นก่อน ๆ 

รยางค์และเงื้อมเงา : วิภาส ศรีทอง (สำนักพิมพ์สมมติ)

“ถูกจัดวางไว้อย่างเป็นลำดับน่าติดตาม เมื่อนำมารวมกันแล้วให้ภาพสมบูรณ์ ผู้เขียนใช้ภาษาที่เรียบง่าย แต่แฝงสัญลักษณ์อย่างแยบยล แต่ละเรื่องมีจุดร่วมกันคือ การเปิดเผยให้เห็นกลไกที่ซุกซ่อนอยู่ภายในตัวตนของมนุษย์ แปรเปลี่ยน เลื่อนไหล มีความดำมืด และน่าสะพรึงกลัว”

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นักเขียนชาวพัทลุงผู้นี้วนเวียนสายนวนิยายของสนามซีไรต์มาโดยตลอด จากที่คว้าชัยในปี พ.ศ. 2555 กับผลงานขึ้นชื่ออย่าง “คนแคระ”เขาก็พา “หมาหัวคน” (2558) “หลงลบลืมสูญ” (2558) และ “อนุสาวรีย์” (2561) ผลัดกันเข้ารอบ Short List บ้าง Long List บ้าง แต่ “รยางค์และเงื้อมเงา”เป็นครั้งแรกที่เขานำผลงานรวมเรื่องสั้นเข้ามาท้าชิงได้ลึกถึงในรอบ Short List

วิภาสยังคงรักษาลายเซ็นของสำนวนการประพันธ์ที่ย่อยไม่ง่าย ความลุ่มลึกและชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง บรรยากาศของเรื่องราวที่กำกวมชวนตีความ การสะท้อนความไร้สาระของสรรพสิ่ง ตัวละครหนุ่มสาวที่เต็มไปด้วยแรงปรารถนาของจิตใจ ไปพร้อม ๆ กับยังคงลีลาภาษาที่ประณีตงดงาม

ไร้สัญชาติและตัวละครอื่น ๆ : บัญชา อ่อนดี (สำนักพิมพ์บ้านแม่น้ำ)

SEA Write

“ด้วยสุ้มเสียงที่ดูเป็นกันเอง แต่กลับซ่อนรายละเอียดของชีวิตเอาไว้อย่างแยบยล โดยเฉพาะปัญหาไร้สัญชาติของคนชายขอบ คนที่เราพบเห็นได้ตามรอยตะเข็บของประเทศ ที่บางครั้งเราทำได้แค่เหลือบมองแล้วเดินผ่านไป แต่บัญชา อ่อนดี มีสายตาแบบที่นักข่าวมี เขารายงานออกมาด้วยลีลาและสำนวนชวนอ่าน”

บัญชา​ อ่อนดี​ เป็นกวีอีกคนที่หันมาเขียนเรื่องสั้นจนมีแนวทางของตนเอง อดีตนักหนังสือพิมพ์ผู้นี้ยังเคยมีงานหนังสือเล่มออกมาหลายเล่ม และเคยมีนวนิยาย “เสือตีตรวน”เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์เมื่อปี พ.ศ. 2546 มาแล้ว 

สำนวนภาษาของเขามีกลิ่นอายของนักเขียนวัยเดียวกัน แต่ก็ไม่ขาดซึ่งขนบการประพันธ์ร่วมสมัยที่ชอบท้าทายกับการเขียนเชิงทดลอง ในผลงานเล่มนี้ เขาสำรวจฉากงานศพของตัวเอง ชีวิตของชาวบ้านธรรมดา ไปจนถึงนักเลง และตัวละครในสังคมจากบริบทต่าง ๆ ผลงาน “ไร้สัญชาติฯ” ดีเด่นจนคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากเวที เซเว่นบุ๊คอวอร์ดมาแล้ว 

ในโลกเล่า : วัฒน์ ยวงแก้ว (สำนักพิมพ์ต้นโมกข์)

“นี่คือรวมเรื่องสั้นที่เต็มไปด้วยคำถาม ทั้งต่อชีวิต ระบบ ความเชื่อ ศาสนา จิตวิญญาณ ตัวตนที่แท้จริง วัฒน์ ยวงแก้ว ซ่อนเงื่อนไว้ในปมชีวิตให้ผู้อ่านแก้และหาคำตอบด้วยตัวเอง เขาค่อย ๆ กะเทาะเปลือกหนา ๆ ของศาสนา ผ่านสายตาของผู้เฝ้ามอง กระหน่ำลงไปในจิตสำนึกของคนที่ทอดทิ้งคนที่สมควรดูแล หรือแม้แต่แง่มุมที่เกี่ยวกับเสรีภาพ ที่ในที่สุดก็ไม่อาจทานทน”

หนึ่งในแนวหน้าของนักเขียนร่วมสมัยอย่างวัฒน์ เคยคว้ารางวัลมาแล้วมากมาย ทั้ง รางวัลพานแว่นฟ้า, รางวัลสุภาว์ เทวกุลฯ, รางวัลช่อการะเกดยอดเยี่ยม, รางวัลเปลื้อง วรรณศรี, รางวัล Indy Shot Story Award ฯลฯ โดยมี “บันไดกระจก” รวมเรื่องสั้นที่เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์เมื่อปี พ.ศ. 2554 มาแล้ว

รวมเรื่องสั้นชุด “ในโลกเล่า” เล่มนี้รวบรวมเรื่องสั้นที่ได้รางวัลเหล่านั้นผสมกับเรื่องที่แต่งใหม่ โดยมีเนื้อหาว่าด้วยสภาวะที่ทำอะไรไม่ถูกกับชะตากรรมที่ประสบของผู้คนในชายแดนใต้ โดยนำเสนอไปพร้อม ๆ กับการเผยแรงปรารถนาของตัวละคร 

สุวัฒน์ ยวงแก้ว (ชื่อจริงของ วัฒน์ ยวงแก้ว) เป็น ครูสอน กศน. ที่ดั้งเดิมเป็นคนสุราษฎร์ธานี นอกจากชอบอ่านงานแนวปรัชญา เขายังเขียนบทกวีเป็นบางครั้ง

ลิงหินและเรื่องสั้นอื่น ๆ : ภาณุ ตรัยเวช (สำนักพิมพ์มติชน)

“เรื่องสั้นทั้ง 11 เรื่อง เป็นตัวแทนของเรื่องเล่าจากมุมมองของคนที่หลงรักวรรณกรรม เพื่อให้คนที่รักวรรณกรรมได้อ่านแล้วสนุกสนาน ลองตีความ และคิดตามไปด้วยกัน ภาณุใช้กลวิธีที่เขาบอกว่าเป็นการหยิบยืม ‘ลมหายใจ’ ของนักเขียนชื่อดังหลายคน ทั้งไทยและเทศ เอามาใช้ในเรื่องสั้นของตัวเอง”

ดอกเตอร์แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้นี้ แม้จะไม่ใช่นักเขียนที่อยู่ในระยะประชิดของวงวรรณกรรมไทยร่วมสมัย แต่ก็ไม่ใช่หน้าใหม่ มีผลงานเขียนมาให้เห็นเป็นระยะ และเคยเข้ารอบซีไรต์มาแล้ว 2 ครั้งจากนวนิยายเรื่อง “เด็กกำพร้าแห่งสรวงสวรรค์” เมื่อปี พ.ศ. 2549 และจากผลงานรวมเรื่องสั้น “วรรณกรรมตกสระ” เมื่อปี พ.ศ. 2551

ในผลงาน “ลิงหินฯ” ภาณุยังคงเอกลักษณ์ในการหยิบยืมกลวิธีการประพันธ์หลายแนวและเพิ่มเติมเข้ามาอย่างเด่นชัดในเล่มนี้คือได้นำตัวบุคคลที่มีจริงและตัวละครในงานวรรณกรรมต่าง ๆ ทั้งของ เหม เวชกร,น.ม.ส.,อกาธา คริสตี้, อิตาโล คัลวีโน,วิลเลียม เช็กสเปียร์ และอื่น ๆ มาเป็นตัวละครในเรื่องสั้นสิบเรื่องของเขา และแทรกด้วยชิ้นที่ชื่อว่า “เรื่องที่ 11” ซึ่งเป็นเสมือนการแต่ง นิทานเวตาล ตอนที่ 11 ขึ้นมาใหม่ เติมจากฉบับเดิมที่ น.ม.ส. ประพันธ์ไว้เพียงสิบตอน

การอ่านงานของภาณุที่เต็มไปด้วยการเสียดสีและล้อเลียนให้สนุกอาจต้องพึ่งการเข้าใจในบริบทที่อ้างอิงอยู่บ้างถึงจะตามเขาทัน โดยชิ้นที่พอจะใกล้กับบริบทแวดวงวรรณกรรมไทยอยู่บ้าง คือเรื่องสั้นที่ชื่อ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ที่เขานำกวีอาวุโสของไทยมาเป็นฐานในการให้คนดูตีความถึงนัยที่สื่อ 

อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำและเรื่องราวอื่น ๆ : กำพล นิรวรรณ (ผจญภัย)

“รวมเรื่องสั้นอาถรรพ์ภาพวาดเสือดำและเรื่องราวอื่น ๆ ของกำพล นิรวรรณ มิใช่คำบอกเล่าประวัติศาสตร์ของ ซ้าย พ่ายศึก หรือ คนที่ล้มเหลวในขบวนปฏิวัติประชาชน แม้ว่าฉากและชีวิตของตัวละครที่ผู้เขียนนำเสนอจะกลั่นมาจากชีวิตจริงของผู้เขียน” 

ชาวนครศรีธรรมราช อดีตคนเดือนตุลาที่ผลิตงานวรรณกรรมมาแสนนาน ตั้งแต่ยุคเป็นนิตยสารในตำนานอย่าง ปุถุชน รวมถึงมีผลงานแปลไปแล้วหลายเล่ม หลังจากใช้ชีวิตในต่างประเทศมาพักใหญ่ ทั้งในฐานะอดีตผู้ประกาศข่าวของ BBC และอื่น ๆ ก็กลับมาขยันจับปากกาจรดงานอย่างสม่ำเสมอจนคว้ารางวัลยอดเยี่ยม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เมื่อปีที่แล้ว จากเรื่องสั้น “คนธรรพ์แห่งภูบรรทัด” จนนำมาสู่ผลงานรวมเรื่องสั้นเป็นของตนเองเล่มแรก 

“อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำฯ” โดดเด่นด้วยแนวงานกึ่งสัจนิยมผสมเหนือจริง นำเสนอมุมมองต่อโลกอย่างคนที่เคี่ยวกรำกับชีวิตมาแล้ว โดยเสนอให้เห็นว่าอดีตสามารถนำมาทบทวนเพื่อให้ความคลี่คลายให้กับคนยุคปัจจุบันได้ ถ้าตระหนักถึงมันด้วยเหตุและผล 

นักเขียนประสบการณ์โชกโชนผู้นี้ได้แบ่งหนังสือเล่มนี้ออกเป็น 3 ภาค ด้วยปริมาณเรื่องในแต่ละภาคที่ต่างกันไป ได้แก่ “คนธรรพ์แห่งภูบรรทัด”ที่ว่าด้วยนักต่อสู้ในป่า“อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ”ที่นำเสนอความลึกลับของป่าลึก และ “ความลับของหุบเขาเซียน็อก”ที่ใช้บริบทเรื่องราวของต่างประเทศ จึงโดดเด่นในแง่ของการเป็นบรรณาธิการเรียบเรียงเนื้อหา

ปัจจุบัน กำพลใช้ชีวิตอยู่ที่นครนิวยอร์กและไม่ลืมที่จะใช้ทักษะทางน้ำเสียงและการเขียนที่เขาถนัดทำคลิปโดยมี YouTube channel เป็นของตนเอง ในชื่อช่อง Kampol Nirawan


Author

ภัทร ด่านอุตรา
อดีตผู้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และหลังกระดานดำ (ของจริง) ที่ผันตัวมาอยู่ในแวดวงการจัดการศิลปวัฒนธรรมแบบผลุบๆ โผล่ๆ ชอบบะจ่างกวางตุ้งบางรัก และ The Poetics ของ Aristotle เป็นชีวิตจิดใจ
อรพินท์ คำสอน
นักวิจัยสาขาวรรณกรรมประจำโครงการวิจัยการวิจารณ์ศิลปะ นอกจากงานวิชาการและบรรณาธิการที่เธอถนัด ว่าที่ดุษฎีบัณฑิตทางด้านวรรณกรรมร่วมสมัยผู้นี้ยังผลิตงานวิจารณ์เองด้วย รวมถึงแอบเป็นที่ปรึกษาให้กับนักเขียนหน้าใหม่อยู่เนืองๆ