สัมภาษณ์พิเศษ 5 แฟนด้อม ทำไมการเมืองถึงเป็นเรื่องของทุกด้อม และทุกหย่อมย่าน
Lite

สัมภาษณ์พิเศษ 5 แฟนด้อม ทำไมการเมืองถึงเป็นเรื่องของทุกด้อม และทุกหย่อมย่าน

Focus
  • เว็บไซต์ NYLON Thailand ได้รวบรวมลิสต์กลุ่มแฟนคลับต่างๆ ที่ร่วมบริจาคด้านการเมืองไว้ราวๆ 23 ด้อม บริจาคกันตั้งแต่ 10,418.84 บาท ไปจนถึงสูงสุดคือ 779,762.83 บาท
  • ในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2020 ที่ผ่านมา มีการเปิดระดมทุนเป็นการเร่งด่วนจากทุกด้อมแฟนคลับศิลปิน เป็นเงินสูงถึงกว่า 3 ล้านบาท (The Matter, 20 ตุลาคม 2020)

“การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” คำนี้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะนอกจากการออกมาร่วมชุมนุมของเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และบุคคลในหลากหลายกลุ่มอาชีพและเพศสภาพแล้ว อีกปรากฏการณ์ที่หลายคนก็ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นนั่นก็คือ พลังแฟนด้อม หรือ แฟนคลับศิลปินทั้ง K-Pop และจีน ที่ต่างออกมาบริจาคเงินสมทบการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย โดยเฉพาะในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2020 ที่ผ่านมา มีการเปิดระดมทุนเป็นการเร่งด่วนจากทุกด้อมเป็นเงินสูงถึงกว่า 3 ล้านบาท (The Matter, 20 ตุลาคม 2020) เฉพาะที่เว็บไซต์ NYLON Thailand ได้รวบรวมลิสต์ไว้ก็ราวๆ 23 ด้อม บริจาคกันตั้งแต่ 10,418.84 บาท ไปจนถึงสูงสุดคือ 779,762.83 บาท โดยเงินเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปเป็นค่าอุปกรณ์ต่างๆ ค่าช่วยเหลือผู้ร่วมชุมนุม โดยเฉพาะช่วยเหลือในกระบวนการทางกฎหมาย

ทำไมแฟนคลับศิลปิน นักร้อง ดารา ซึ่งมีทั้งกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และวัยทำงาน ต้องออกมาประกาศจุดยืนทางการเมืองของตนเอง และเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่พวกเขาต้องลุกมาพูดคุยกันเรื่องการเมือง การเมืองไม่ใช่แค่เรื่องของนักการเมืองอีกต่อไป Sarakadee Lite มีโอกาสได้พูดคุยกับ 5 กลุ่มแฟนคลับทั้งเกาหลีและจีน ถึงเหตุผลที่พวกเขาได้เปลี่ยนแพชชั่นเกี่ยวกับศิลปิน ดารา นักร้อง มาสู่แพชชั่นใหม่นั่นคือการศึกษาเรื่องการเมืองอย่างจริงจังและใช้พลังของแฟนคลับเรียกร้องประชาธิปไตย

“บ้านเบส BTS Thailand”

การเมือง คือเรื่องที่ต้องพูดเสียงดังได้แม้แต่ในบทเพลง

“เพลงของ BTS เอง ก็พูดเรื่องประเด็นทางสังคมมาตั้งแต่เดบิวต์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ การถูกกดขี่ การรักตัวเอง การใช้ชีวิตของวัยรุ่น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองทั้งสิ้น ดังนั้นทีมงานของเราทุกคนสนใจเรื่องการเมืองอยู่แล้ว เราก็ได้รับอิทธิพลมาจากผลงานของ BTS มาตลอด 7 ปี”

กลุ่มแฟนบ้าน BTS Thailand  เริ่มต้นเล่าถึงแพชชั่นด้านการเมืองที่สอดแทรกอยู่ในผลงานของศิลปินที่ชื่นชอบ แต่จุดเริ่มต้นของการโพสท์ประเด็นทางการเมืองในแอคเคาน์ทวิตเตอร์จริงๆ ไม่ได้เพิ่งเริ่ม แต่มีมาตลอดตั้งแต่ Black Lives Matter เรื่อยมาจนถึงกรณีอุ้มหายวันเฉลิม

“เราคุยกับบ้าน Candyclover อีกบ้านเบสหนึ่งของ BTS ว่าเราออกมาโพสต์กันเถอะ นี่เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน พวกเราก็เลยออกมาโพสต์ประเด็นนี้กัน จากนั้น BTS ก็โพสต์ประเด็นนี้เช่นกัน และก็มีกรณี #Saveวันเฉลิม ต่อทันที เรามองว่ามันเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเช่นกัน แล้วการที่เราโพสต์ BLM (Black Lives Matter) ได้ เราก็ต้องโพสต์เรื่องคุณวันเฉลิมได้ เพราะเขาเป็นเพื่อนร่วมชาติของเรา ไม่ควรมีใครถูกอุ้มหายไปแบบนี้ เราก็เลยโพสต์ประเด็นคุณวันเฉลิมต่อ

“จากนั้นเราก็เริ่มกังวลใจว่า อาร์มี่ (A.R.M.Y ชื่อแฟนคลับของ BTS) จะโอเคไหมที่เราโพสต์ประเด็นทางสังคมแบบนี้ลงแอคเคาท์ ซึ่งในมุมของพวกเรา เราอยากใช้แอคเคาท์เราเป็นกระบอกเสียงเรื่องประเด็นทางสังคม เพราะเรามีผู้ติดตามจำนวนมาก เราเลยตัดสินเรื่องนี้ด้วยหลักประชาธิปไตย คือการเปิดโหวตให้อาร์มี่มาแสดงความคิดเห็น ว่าเห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วยกับการที่เราจะโพสต์ประเด็นทางสังคม ซึ่งผลสรุปออกมาเห็นด้วยประมาณ 90% ซึ่งที่อาร์มี่เห็นด้วยเยอะขนาดนี้ ก็เพราะว่าทุกคนได้รับอิทธิพลต่างๆ มาจาก BTS เช่นเดียวกันกับพวกเรา”

ไม่เฉพาะประเด็นทางการเมืองเท่านั้น เหล่าอาร์มี่ยังได้เปลี่ยนความรักในศิลปินเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมมาโดยตลอดและต่อเนื่องกันมาประมาณ 3 ปี เช่น บ้าน BTS Thailand ทำโปรเจกต์ร่วมกับบ้าน Candyclover ฉลองครบรอบเดบิวต์ให้ BTS หรืออย่างตอนครบรอบ 5 ปี BTS ก็มีโปรเจกต์บริจาคโลหิตนับยอดรวมกันได้กว่า 2 แสนซีซี ซึ่งโปรเจกต์นี้ได้รับความสนใจจากสำนักข่าวเกาหลีจำนวนมาก มีสกู๊ปข่าวทาง TV และออนไลน์กว่า 40 สกู๊ปข่าว ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้อาร์มี่ประเทศอื่นๆ ในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอีกด้วย

“จุดนี้แหละที่ทำให้เราได้เห็นพลังของแฟนด้อมว่ามันมีประโยชน์อย่างไร ปีต่อมาเราก็ทำโปรเจกต์บริจาคโลหิตและระดมทุนบริจาคไปตามองค์กรและมูลนิธิต่างๆ ทั้งการศึกษา โรงพยาบาล สัตว์ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ส่วนในปีนี้เราเน้นไปที่ด้านสิ่งแวดล้อม คือการชวนทุกคนปลูกต้นไม้ในพื้นที่ของตัวเอง และรวบขยะส่งไปแปรรูปเป็นพลังงานเชื้อเพลิง ส่วนในปีต่อๆ ไปก็คงจะมีโปรเจกต์อื่นๆ อีกแต่จะออกมาในรูปแบบไหนคงต้องคอยติดตามกันค่ะ”

อีกประเด็นน่าสนใจที่บ้าน BTS Thailand ฝากไว้ทิ้งท้ายคือสิ่งหนึ่งที่เราจะรู้ได้ว่าสังคมนั้นๆ ปกติหรือไม่ปกติ คือเสรีภาพในการพูดของเหล่าดารา

“ในประเด็นเรื่องการ call out เราอยากตั้งคำถามกลับไปที่ต้นเหตุมาก ถ้าลองคิดกันแบบยึดหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย การที่ดาราศิลปินจะออกมาโพสท์เรื่องการเมืองมันควรจะเป็นสิ่งที่ทำได้ตามปกติไม่ใช่หรือ ถ้าการที่ดาราศิลปินต้องกลัวที่จะพูดออกมา กลัวว่าจะกระทบกับงาน นั่นเท่ากับว่าสังคมเราไม่ปกติ ทั้งๆ ที่ประเทศอื่นที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เหล่าคนดังเขามีสิทธิที่จะพูดเรื่องการเมืองอย่างไรก็ได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะกระทบกับงาน แต่ประเทศเราทำไมทำไม่ได้ และถ้าดาราศิลปิน รู้ว่าสังคมตอนนี้มันไม่ปกติ การที่คุณกล้าออกมายืนอยู่ข้างความถูกต้อง มันก็เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมเป็นอย่างมาก”

SONE แฟนคลับ Girls’ Generation

เพราะเสียงของประชาชน คือ เสียงที่ผู้นำประเทศต้องฟังมากที่สุด

SONE แฟนคลับ Girls’ Generation เป็นด้อมที่มียอดบริจาคสูงถึง 779,762.83 บาท โดยใช้เวลาเปิดระดมเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

“เริ่มจากหนึ่งในแอดมินของบ้านได้แชร์ทวิตเตอร์ให้แอดมินอีกคนดูว่ามีแฟนด้อมอื่น ๆ เปิดโดเนตเพื่อเป็นการระดมทุนสำหรับการชุมนุม เลยได้มีการมาคุยกันว่าบ้านเราจะเปิดบ้างไหม แต่ก็มีบางส่วนคิดว่าถ้าใครอยากโดเนตให้โอนไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงไม่ต้องผ่านบ้านจะดีกว่า เพราะเรื่องเงินเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน แต่ก็ยังมีหลาย ๆ คนที่ได้สอบถามเข้ามาว่าแฟนด้อมเราจะเปิดโดเนตไหม ควรจะเปิดเหมือนกันนะ บ้านเราจึงได้ลองสอบถามความคิดเห็นโดยตั้งโพลเพื่อให้โหวตกัน

“ผลสรุปออกมาด้วยคะแนนที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงว่า “ควรเปิดโดนเนต” แต่ทางเราก็ยังมีความกังวลว่าเจ้าของบัญชีจะเกิดความไม่ปลอดภัย จะโดนคุกคามหรือเปล่า แต่อีกทางเราก็อยากจะแสดงพลังให้คนอื่น ๆ ได้เห็นว่าแฟนคลับนักร้องเกาหลีไม่ได้สนใจเพียงแค่สิ่งที่ตัวเองชื่นชอบอย่างศิลปินเกาหลี แต่ยังสนใจการเมืองที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของเราอีกด้วย ซึ่งเราก็ได้เปิดและปิดในระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ก็ได้รับยอดเงินและกระแสตอบรับมาอย่างท้วมท้น”

และเมื่อถามต่อว่าการเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตของแฟนด้อมอย่างไร เราก็ได้คำตอบที่ชัดเจนว่า ทุกอย่างที่รายล้อมรอบตัวล้วนเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสิ้น พร้อมย้ำว่า การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน

“ทุกอย่างที่รายล้อมรอบตัวล้วนเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นฟุตบาทที่ผุพัง ถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ การยืนรอรถโดยสารประจำทางถึงหนึ่งชั่วโมงแต่รถก็ยังไม่มา แถมรถยังมีสภาพสนิมเกรอะกรังแสดงให้เห็นถึงการผ่านระยะเวลาการใช้งานมาอย่างโชกโชนเหมือนพร้อมจะพังได้ทุกเมื่อ ขนส่งสาธารณะที่ไม่ครอบคลุมถึงพื้นที่ในต่างจังหวัด แต่กระจุกตัวอยู่เพียงแค่เมืองใหญ่ ๆ ปัญหาน้ำท่วมขังทุกครั้งที่ฝนตก สร้างความลำบากในการเดินทาง ราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นทุกวัน สิ่งต่าง ๆ ที่ได้ยกตัวอย่างมานั้นล้วนเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสิ้น ถ้าการเมืองดีปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขและหมดไป ดังนั้นการที่เราหันมาสนใจการเมืองก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสามารถตอบคำถามกับเราได้ว่าทำไมคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศนี้ถึงเป็นแบบนี้ เราเพียงแค่อยากจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ฉะนั้นแล้วเราจะไม่สนใจการเมืองได้อย่างไร”

อีกสิ่งที่ย้ำชัดให้ SONE ตระหนักว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคนก็มาจากหนึ่งในสมาชิกของแฟนด้อมที่เป็นน้องมัธยมซึ่งมีความสนใจในประเด็นการเมืองหลากหลายมิติ

“มีน้องที่อยู่ประมาณชั้นมัธยมต้น เรียกได้ว่าเด็กมากสำหรับแฟนด้อมนี้ที่แฟนคลับส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวัยทำงาน ตั้งแต่ที่ได้ติดตามมา น้องได้มีการพูดถึงประเด็นทางการเมืองในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ตั้งแต่ยุค คสช.การเลือกตั้ง การอุ้มหายของคุณวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ จนถึงการชุมนุมในช่วงเวลานี้ น้องได้มีการใช้กระบอกเสียงของตัวเอง จากการที่มีผู้ติดตามในทวิตเตอร์มากพอสมควรในการแชร์ข่าวต่างๆ ติดแฮชแท็ก รวมถึงการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นทางการเมืองที่เกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการพูดถึงชีวิตประจำวัน ที่เราทุกคนเคยพบเจอกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา การคมนาคม สวัสดิการของรัฐ โดยจุดนี้ทำให้เรารู้สึกว่า การเมืองอยู่รอบตัวเรา ทุก ๆ อย่างในประเทศเกี่ยวกับการเมือง ไม่สำคัญว่าเราจะอายุเท่าไร เพราะอย่างไรเราทุกคนก็คือประชาชนของประเทศนี้ เรามีสิทธิ์ในการพูดถึงและแบ่งปันความคิดตัวเองต่อประเด็นทางการเมืองในทุก ๆ เรื่อง เพราะเสียงของประชาชน คือ เสียงที่ผู้นำประเทศต้องฟังมากที่สุด ไม่ว่าเขาจะคือใคร อยู่ในสถานะใดก็ตาม”

และสุดท้ายเมื่อเราถามว่าเหนื่อยไหม งานก็ต้องทำ ศิลปินก็ต้องซัพพอร์ต การเมืองก็ต้องใส่ใจ คำตอบคือ…เหนื่อย

“เหนื่อยค่ะ แต่จะให้สนใจแต่เรื่องของตนเอง สนใจแต่ความสุขของตนเอง ไม่สนใจสถานการณ์บ้านเมืองก็คงจะไม่ได้ เรายอมเหนื่อยในวันนี้เพื่อสิ่งที่ดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  เพราะการเรียน การทำงาน หรือแม้แต่การสนับสนุนศิลปินล้วนเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสิ้น ถ้าการเมืองดี เราจะได้เรียนในสิ่งที่ฝัน เรียนจบก็จะมีอาชีพรองรับ ไม่ใช่กังวลตั้งแต่ก่อนจะเข้าเรียนว่าถ้าเลือกเรียนตรงนี้ จบไปจะทำอะไร ถ้าการเมืองดี เงินเดือนจะสัมพันธ์กับค่าครองชีพ ถ้าการเมืองดี แฟนคลับก็จะมีกำลังทรัพย์ในการสนับสนุนศิลปินมากยิ่งขึ้น การคมนาคมสะดวกสบาย มีรถไฟฟ้าไปถึงสถานที่จัดงาน ไม่ต้องนั่งรถหลายต่อ ไม่ต้องเผื่อเวลาเดินทางหลายชั่วโมง เพราะกลัวรถติดไปไม่ทัน ไม่ต้องกังวลว่าหลังจบงานจะมีรถกลับบ้านไหม จะต้องรอรถนานเพียงไร จะถึงบ้านดึกแค่ไหน

“มันอาจจะยากที่ต้องทำอะไรหลายอย่างไปพร้อมกัน แต่พลังแฟนคลับเป็นพลังที่ดูถูกไม่ได้เลย และทั้งหมดทั้งมวลที่ได้เรียกร้องไปนี้ไม่ใช่แค่เพื่อแฟนคลับศิลปินเกาหลีจะได้ประโยชน์ แต่ประชาชนทุกคนจะได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นแล้วมันเป็นความเหนื่อยที่คุ้มค่า หากเราจะสามารถขับเคลื่อนให้ประเทศพัฒนาไปในทางที่ดีได้”

แฟนคลับ TVXQ! & JYJ & YUCHUN ชาวไทย

ถ้าการเมืองดี เราจะเข้าถึงศิลปะการบันเทิงได้ทุกแขนง

หลายคนอาจจะยังสังสัยว่าการเมืองเกี่ยวข้องกับการซัพพอร์ตศิลปิน การไปดูคอนเสิร์ต การไปแฟนมีตติ้งอย่างไร แฟนคลับ TVXQ! & JYJ & YUCHUN ชาวไทย ได้ตอบคำถามนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า แม้การดูคอนเสิร์ตจะเป็นเรื่องที่เหมือนจะไม่มีสาระสำหรับบางคน แต่มันสามารถขยายภาพการเมืองของประเทศนั้นๆ ได้ชัดเจน

“การเมืองมีผลกระทบโดยตรง เช่น ในปีนี้คอนเสิร์ตต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด หรือในอดีตตอนที่มีการยึดสนามบินก็ต้องเลื่อนคอนเสิร์ตเช่นกัน นอกจากนี้ การโกงบัตร การอัพราคาบัตรก็เป็นผลมาจากกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ดีพอและล้าหลัง ทำให้เม็ดเงินที่สูญหายไปไม่สามารถตรวจสอบ หรือดำเนินคดีเพื่อชดเชยได้ ถ้ารวมๆ กันบอกเลยว่าเยอะกว่าบริจาครวมกันทุกด้อมอีก แต่ที่ประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีเองบัตรคอนเสิร์ตจะไม่แพงเลย ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อศิลปะบันเทิงได้ทั่วถึง ซึ่งในตอนนี้เหตุผลที่ทำให้ทุกคน ทุกด้อม มารวมกันได้ก็เพราะเชื่อว่า ถ้าการเมืองดี บัตรคอนเสิร์ตจะไม่ใช่การเสียเงินที่มากเกินไป และรู้สึกปลอดภัยที่อำนาจนิติรัฐไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก และพร้อมปกป้องประชาชน”

สำหรับการบริจาคสนับสนุนการชุมนุมทางการเมืองเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาถือเป็นการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นสุดๆ ในรอบ 11 ปีของ แฟนคลับ TVXQ! & JYJ & YUCHUN ชาวไทย

“เหตุผลหลักเพราะการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ทุกชนชั้นในสังคม ไม่ว่าจะใคร เพศอะไร ศาสนาใด หรือแม้แต่ชาติใดก็ตาม ไม่ว่าอายุเท่าไร หน้าที่การงานเป็นแบบไหน ทุกคนคือคือมนุษย์เท่าเทียมกันที่ต้องเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน การกลับมารวมตัวเหล่าแฟนๆ ในรอบ 11 ปี เพื่อประชาธิปไตยเป็นอะไรที่น่าแปลกใจมาก แม้กระทั่งเหล่าแฟนคลับอย่างพวกเราเอง กลุ่มแฟนคลับแบ่งออกเป็น 3 ด้อมหลักๆ แฟนคลับแต่ละกลุ่มก็จะมีการพบปะกันเป็นปกติอยู่แล้ว และจะมีการรวมกันของแฟนคลับทั้ง 3ด้อมในช่วงคอนเสิร์ต หรือ งานแฟนมีตติ้งต่างๆ และนี่เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ที่เราทั้งสามด้อม คือ แคสสิโอเปีย, JYJ fans และ Blue Cielo (แฟนคลับยูชอน)  มาร่วมมือกันและทำเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าเราจะมีประเด็นในด้อมที่ใหญ่กว่าแค่ไหน แต่เพื่อประชาชนทุกคนเราต้องหันมาร่วมมือกันก่อนถึงจะดีที่สุด”

นอกจากการบริจาคสมทบการชุมนุมแล้ว ที่ผ่านมากลุ่มแฟนคลับ TVXQ! & JYJ & YUCHUN ชาวไทย ได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมมาโดยตลอด เช่น วันครบรอบวันเกิด หรือ การฉลองคัมแบคมีคอนเสิร์ต ทั้งนี้ตัวศิลปินเองเมื่อมีภัยพิบัติอะไรก็จะบริจาคเงินส่วนตัวด้วยเสมอ  

“อย่าง JYJ ก็เคยบริจาคให้ไทยตอนน้ำท่วมนะคะ  ซึ่งการเห็นตัวอย่างจากศิลปินที่เราชื่นชอบ เรา ยิ่งมีกำลังใจ และพลังบวกที่จะส่งต่อให้สังคมเช่นกัน”

SUJU Thailand Fanclub

If not me, then who? If not now then when?

เมื่อก่อนเคยคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ตั้งแต่เด็กเราจะเห็นรุ่นพ่อ ที่สนใจข่าวการเมือง เราอยู่ในยุคนายกหลายคน ทันยุคเสื้อเหลือง เสื้อแดง แต่ทุกอย่างดูไกลตัวไปหมด อาจจะเพราะเด็กด้วยเลยไม่สนใจ แต่พอโตขึ้นได้รับรู้ข่าวสารมากขึ้น มีคนพูดเรื่องการเมืองให้เห็นภาพง่ายขึ้นว่าจริงๆ แล้วการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก เดินออกไปบนฟุตบาทพังๆ ก็เกี่ยวข้องกับการเมืองแล้ว เราเลยปรับมุมมองความคิด จากที่คิดว่าการเมืองเป็นเรื่องของคนแก่ หรือเรื่องไกลตัว…ไม่จริงเลย การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน #ถ้าการเมืองดี รัฐสวัสดิการจะดี เหมือนเวลาเราไปเที่ยวประเทศต่างๆ แล้วอิจฉาในรัฐสวัสดิการของเขา แล้วก็คิดว่าทำไมเราไม่มีแบบนั้นบ้าง ทั้งที่เราก็ทำงานเสียภาษี จ่าย vat ในสินค้าอยู่ทุกๆ วัน ทำไมการจัดสรรงบประมาณมันไม่สามารถทำให้รัฐสวัสดิการดีขึ้นได้แบบนั้นบ้าง

นี่คือเสียงสะท้อนเรื่องการเมืองของSUJU Thailand Fanclub ซึ่งได้ย้ำว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวแม้แต่น้องวัยมัธยมในด้อมก็ยังหยิบยกเรื่องการศึกษาในประเทศไทยมาพูดกันในกลุ่ม

“เด็กที่สุดที่เราเห็นน่าจะเป็นน้องวัยมัธยม เขาพูดเรื่องการศึกษาในประเทศไทย ความเหลื่อมล้ำ กับหลักสูตรที่ล้าหลังในบางเรื่อง ความไม่เท่าเทียม ความไม่สมเหตุสมผลของระบบการศึกษา ทำให้นักเรียนไทยต้องไปเรียนพิเศษ เพื่อให้ทำข้อสอบเข้ามหาลัยได้คะแนนสูงๆ เขามีความเชื่อว่าถ้าการศึกษาดี เราอาจจะไม่ต้องส่งลูกหลานไปเรียนพิเศษวันละหลายๆ ชั่วโมงแบบนี้ก็ได้ ทำให้เด็กมีโอกาสค้นหาตัวเองว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร แต่ในปัจจุบันกลายเป็นว่าหลังเลิกเรียนต้องไปเรียนพิเศษ เสียโอกาสในการใช้ชีวิตมัธยมไป”

นอกจากจะเป็นตัวกลางเปิดโดเนทรวบรวมเพื่อช่วยเหลือศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในนามเอลฟ์ (E.L.F ) ไทยแล้ว ที่ผ่านมากลุ่มแฟนคลับ Super Junior ยังเคยรวบรวมเงินช่วยซื้อเสื้อเกราะเพื่อทหารชายแดนใต้ บริจาคเงินช่วยเหลือสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย และมีรวบรวมเงินไปทำบุญตามสถานสงเคราะห์อีกด้วย

“ในช่วงก่อนหน้านี้มีการนัดพบปะกันทั่วไป แต่ไม่ได้คุยเรื่องการเมืองกัน แต่การนัดพบกันหลังจากนี้คิดว่าอาจมีการคุยเรื่องการเมืองกันมากขึ้น เพราะมีความสนใจเรื่องการเมืองและอนาคตประเทศกันมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ถามว่าเหนื่อยไหม เรียนก็ต้องเรียน งานก็ต้องทำ ศิลปินก็ต้องซัพพอร์ต และการเมืองก็ต้องสนใจ ตอบได้เลยว่าเหนื่อย เหนื่อยมาก ปกติชีวิตก็ยากอยู่แล้วที่ต้องบาลานซ์งานกับติ่ง ตอนนี้ต้องเพิ่มการเมืองเข้ามาอีก แต่ถามว่าจะหยุด จะเลิกสนใจไหมก็คงไม่ได้ เพราะเราตระหนักรับรู้แล้วว่ามันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก ถ้าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็จะส่งผลต่ออนาคตของเรา ส่งผลต่อความเจริญของประเทศเรา If not me, then who? If not now, then when? ”

แฟนคลับหวังอี้ป๋อ และ เซียวจ้าน

ทวิตเตอร์ Privilege ในการเข้าถึงแหล่งข้อมูล

ปิดท้ายด้วยแฟนคลับจากบ้านจีนหวังอี้ป๋อ และ เซียวจ้าน ซึ่งแม้จะถูกตั้งคำถามเรื่องนโยบาย One China แต่พวกเขาก็ยังคงยืนยันที่จะออกมาพูดเรื่องการเมือง และขอมีส่วนเรื่องกับเรื่องการเมืองไทยเช่นกัน

“วันที่เปิดโดเนทวันแรกๆ คือเรา น้องสองคน และเพื่อนอีกหนึ่งคนก็คุยกันว่าทำอย่างไรถึงจะออกมาดีที่สุด รัดกุม และก็ปลอดภัยกับตัวเองที่สุด เราก็สอบถามแฟนคลับทั้งหมดหน้าทวิตเตอร์ว่าใครอยากจะร่วม เราเป็นสื่อกลางได้นะ และผลออกมาว่าหลายคนอยากจะร่วม เราก็เลยโอเค เราขอทำข้อมูล ทำทุกอย่างให้มันโปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่ก็อาจจะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้ง DM มาว่า ทวิตหน้าไทม์ไลน์ บอกว่า มีถึงขั้นบอกว่าด้อมจีน One China มาทำอย่างนี้หรอ หรือทำไมต้องใช้ชื่อแฟนคลับหวังอี้ป๋อกับเซียวจ้านด้วย ทำไมต้องเอาน้องไปเกี่ยวข้องกับการเมือง น้องอยู่คนละประเทศ เขาไม่ได้สัมผัสแบบเรา เขาไม่รู้หรอก เราบอกว่าเราไม่ได้ทำในนามอี้ป๋อกับเซียวจ้าน เราทำในฐานะแฟนคลับชาวไทย และประชาชนคนไทย มันไม่ได้มีผลกระทบตรงนี้เลย”

อีกประเด็นที่น่าสนใจว่าทำไมแฟนคลับบ้านจีนถึงต้องออกมาพูดคุยเรื่องการเมือง ตัวแทนแฟนคลับหวังอี้ป๋อ และ เซียวจ้านบอกกับเราว่า ในเมื่อพวกเขาได้อภิสิทธิ์ที่จะเข้าถึงข้อมูล พวกเขาจึงขอใช้อภิสิทธิ์นี้ในการถ่ายทอดข้อมูลที่พวกเขาศึกษามา

“ที่เขาพูดว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน เราอยู่ในประเทศที่มันต้องพัฒนาหลายอย่าง แต่หลายอย่างกลับไม่พัฒนา เพราะเรามีการเมืองมากดทับไว้ เราในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่เป็นชนชั้นกลางไปถึงชนชั้นล่างเราจะเห็นความเหลื่อมล้ำตรงนี้ได้ชัดเจนมาก และยิ่งเป็นแฟนคลับจีน เกาหลี เราเล่นทวิตเตอร์ นั่นแปลว่าเรามีพรีวิลเลจ (privilege) อย่างหนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่ต่างประเทศเขามี พรีวิลเลจนี้ไม่ใช่สิ่งที่คนไทยทั้งประเทศจะมีได้ มันคือความพรีวิลเลจที่คนไทยหลายคนไม่สามารถเข้าถึงได้ เขาไม่มีเวลามานั่งไถทวิตเตอร์เพราะเขาต้องทำงานอย่างหนัก อินเตอร์เน็ตไม่ได้ครอบคลุมในทุกพื้นที่

“เราเล่นทวิตเตอร์ได้แปลว่าเรามีพรีวิลเลจอย่างหนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่ต่างประเทศเขามี และตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงไม่มี ทั้งๆ ที่หลายๆ อย่างเป็นสิ่งที่ควรจะมีได้เหมือนกัน เราก็เลยเริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว เราก็เลยศึกษามากขึ้น ได้เห็นกว้างขึ้น และเริ่มเห็นว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว มันไม่ใช่เพื่อตัวเราอย่างเดียว ไม่ใช่เพื่อคนอื่น แต่ให้สิ่งที่เราทำวันนี้ยกพื้นฐานคุณภาพชีวิตของทุกคนในประเทศ ให้มันดีขึ้น ไม่ใช่เฉพาะติ่งเกาหลี ติ่งจีน แต่มันเพื่อทุกคน มันไม่ได้ทำเพื่อได้วันนี้ แต่ทำเพื่อให้ได้ตลอดไปในอนาคต”

ตัวแทนจากแฟนคลับหวังอี้ป๋อ และ เซียวจ้าน บอกกับเราว่าในช่วงที่ผ่านมาการเมืองเป็นอีกเรื่องที่กลุ่มแฟนคลับหยิบมาคุยกันในแทบทุกการนัดมีตติ้ง

“เราอาจจะไม่ได้คุยกันแบบวิชาการมาก ก็จะคุยกันเรื่องสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นอยู่ พูดเรื่องที่เราพบเจอจริงๆ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า การเมืองมันหนีไม่พ้นเรื่องในชีวิตประจำวัน เราแค่อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น แม้ตอนนี้มันจะเหนื่อย แต่ผลลัพธ์มันต้องดีแน่นอน ไม่ได้มองแบบโลกสวยนะ แต่ถ้าการเมืองโอเค มันอาจจะไม่ได้ยกระดับเราภายในปี สองปี แต่มันอาจจะต้องรอเป็น 10 ปี 20 ปี แต่มันคุ้ม เราก็ไม่เหนื่อยหรอกแค่นี้ เราตามศิลปินมาตั้งกี่ปีเรายังทำได้เลย เราเลยใช้แพชชั่นตรงนี้ตามศิลปินด้วย เรียกร้องการเมืองด้วยไม่ใช่เรื่องยาก”

** หมายเหตุ : ภาพประกอบเป็นเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ไม่เกี่ยวกับภาพแฟนคลับแต่ละศิลปินแต่อย่างใด


Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ
ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม