อูยองอู : ซีรีส์ที่จะเปลี่ยนภาพจำความพิการ เมื่อวาฬทุกตัวแตกต่างกัน
- อูยองอู ทนายอัจฉริยะ หรือ Extraordinary Attorney Woo ซีรีส์เกาหลีน้ำดีนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับทนายอัจฉริยะที่สังคมมองว่าแตกต่างด้วยอาการ ออทิสติกสเปกตรัม
- ออทิสติกสเปกตรัม (Autistic Spectrum Disorder) เป็นความผิดปกติทางระบบประสาทพัฒนาการ ทำให้เกิดความบกพร่องในพัฒนาการด้านการพูดสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ทำให้เธอขาดทักษะในการเข้าสังคม
อูยองอู ทนายอัจฉริยะ หรือ Extraordinary Attorney Woo ซีรีส์เกาหลีน้ำดีอีกหนึ่งเรื่องของปี 2565 ที่นอกจากจะนำเสนอเรื่องการพิจารณาคดีที่น่าสนใจตามสไตล์ซีรีส์ทนายฝั่งเกาหลีที่ทำให้เรื่องกฎหมายสนุกขึ้นมาได้แล้ว อีกความน่าสนใจของ อูยองอู คือการบอกเล่าเรื่องราวของบุคคลผู้มีอาการ ออทิสติกสเปกตรัม ออกมาในมุมที่สื่อไทยมักไม่ค่อยนำเสนอและครั้งนี้ก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยมจนเรตติ้งค่อยๆ ทยานขึ้น ทั้งยังสอดแทรกประเด็นเรื่องภาพจำที่คนในสังคมมีต่อคนพิการโดยถ่ายทอดปัญหาเหล่านั้นออกมาผ่านความรู้สึกของตัวละคร อูยองอู ทำให้ผู้ชมได้ย้อนกลับมาตกผลึกความคิดในประเด็นดังกล่าวอีกด้วย
อูยองอู ทนายอัจฉริยะเป็นเรื่องราวของ อูยองอู ที่ไม่ว่าจะอ่านตามตรงหรืออ่านกลับด้านก็ยังเป็น อูยองอู (รับบทโดย พัคอึนบิน) ทนายความสาวที่มีอาการ ออทิสติกสเปกตรัม (Autistic Spectrum Disorder) ซึ่งเป็นความผิดปกติทางระบบประสาทพัฒนาการ ทำให้เกิดความบกพร่องในพัฒนาการด้านการพูดสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ทำให้เธอขาดทักษะในการเข้าสังคม อีกทั้งยังมีพฤติกรรมและความสนใจที่เป็นแบบจำกัดหรือเป็นแบบแผนซ้ำ ๆ เช่น รับประทานแต่คิมบับทุกวันและชอบพูดเรื่อง “วาฬ” ทุกครั้งที่มีโอกาส แต่ด้วยความฉลาดประกอบกับความรักในกฎหมายทำให้เธอสามารถเข้ามาเป็นทนายความในสำนักงานกฎหมายแถมยังสอบเนติบัณฑิตได้เกิน 1,500 คะแนน
“เธอแตกต่างจากผม”
ในตอนแรก อูยองอูได้รับมอบหมายให้อยู่ในทีมของ ทนายจองมยองซอก (รับบทโดย คังกียอง) แต่เขาไม่เต็มใจยอมรับเธอ เพราะสิ่งแรกที่เขามองเห็นก็คือ “เธอแตกต่าง”
ความแตกต่างที่ว่านี้ คือการตัดสินผู้อื่นซึ่งก็คงไม่ต่างอะไรกับการพิพากษาเพื่อนมนุษย์ที่ไม่เหมือนตัวเราด้วยนิยามพวกเขาว่า “แตกต่าง” และหาทางกีดกันออกไปเพียงเพราะพวกเขาไม่เหมือนคนกลุ่มใหญ่ของสังคม ซึ่งในปัจจุบัน ยังคงมีการกีดกันผู้พิการโดยวิธีการเลือกปฏิบัติด้วยอคติและแบ่งแยกผู้พิการออกจากกลุ่มคนที่ไม่พิการบนพื้นฐานความเชื่อว่าคนที่ไม่พิการมีความสามารถเหนือกว่าคนพิการและคนพิการต้องการที่จะแก้ไขความพิการของตนเอง ซึ่งเป็นแนวคิดในลักษณะเดียวกับการเหยียดเชื้อชาติและการกีดกันทางเพศ (Eisenmenger, 2019)
ในประเทศไทยมีพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยมาตรา 33 วางหลักให้นายจ้างหรือหน่วยงานของรัฐต้องรับคนพิการเข้าทำงาน หากไม่รับก็ต้องชำระเป็นเงินเข้ากองทุน หรือให้สถานที่ทำงาน ฝึกอบรมคนพิการ หรือให้การจ้างงานในลักษณะเหมาจ้างหรือเหมาบริการ ประกอบกับกฎกระทรวงที่ระบุอัตราส่วนให้มีลูกจ้างที่พิการ 1 คนต่อลูกจ้างไม่พิการ 100 คน แต่ในความเป็นจริงยังคงมีคนพิการอยู่จำนวนมากที่ยังถูกปฏิเสธการจ้างงานเพราะความพิการ และที่น่าเจ็บปวดกว่าการถูกฏิเสธอย่างตรงไปตรงมาคือการที่ผู้พิการบางคนถูกจ้างงาน แต่ไม่ใช่เหตุผลเรื่องความสามารถ แต่เป็นการจ้างงานเพียงเพื่อการลดหย่อนภาษีตามกฎหมายของบริษัทเท่านั้น (พิมพาภรณ์ เครือชะเอม, 2021)
ณรงค์ศิลป์ ล้านศรี ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในเว็บไซต์ This Able Me ในประเด็นความพิการกับการทำงานว่า “ความพิการเป็นอุปสรรคแน่นอน เปรียบเสมือนเงื่อนไขหนึ่งที่ต้องจัดการแก้ไข ถ้าบริษัทนั้นๆ เข้าใจและเห็นความสามารถของคนพิการและรู้ว่าคนพิการมีเงื่อนไขอะไรบ้าง และต้องจัดการกับเงื่อนไขเหล่านั้นอย่างไรก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าบริษัทแค่เห็นว่าเป็นคนพิการก็ปิดกั้นโดยไม่สนใจว่าเขาเก่งแค่ไหน แบบนี้ก็ไปต่อไม่ได้ บริษัทต้องดูว่า คนพิการคนหนึ่งมีทักษะที่จะมาซัปพอร์ตองค์กรไหมและหาทางปรับตัวต่อเงื่อนไขนั้นๆ”
เมื่อพิจารณาถึงประเด็นความพิการว่าเป็นอุปสรรคในการทำงานหรือไม่ ในซีรีส์เรื่องอูยองอูก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าความพิการของเธอไม่ได้กระทบต่อความสามารถในการว่าความ อาจมีการพูดที่ตะกุกตะกักบ้าง แต่ซีรีส์เรื่องนี้ก็ได้ถ่ายทอดให้เราเห็นถึงความพยายามที่จะสื่อสารกับคนรอบข้างจนเธอสามารถขึ้นว่าความและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของลูกความในคดีแรกได้
ไม่ใช่เพียงแค่ลูกความเท่านั้นที่ชื่นชมอูยองอู แต่การว่าความดังกล่าวยังทำให้จองมยองซอก หัวหน้าทีมและเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ของเธอคลายข้อกังขา และเข้าใจว่าแม้อูยองอูจะมีอาการออทิสติกสเปกตรัม สิ่งนั้นก็ไม่ได้ลดทอนคุณค่าของเธอในฐานะทนายความและในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเลยดังที่เธอได้กล่าวต่อศาลที่เธอเคารพและศรัทธาว่า
“ฉันมีอาการออทิสติกสเปกตรัม ในสายตาของทุกท่าน ฉันอาจจะพูดตะกุกตะกักและแสดงท่าทีไม่เป็นธรรมชาติ แต่ฉันรักกฎหมาย และความเคารพต่อจำเลยที่ฉันมีไม่ต่างไปจากทนายความคนอื่น”
“เวลาที่ฉันเดินกับอีจุนโฮคนก็จะคิดว่าเขากำลังทำงานอาสาเพื่อคนพิการอยู่ค่ะ”
ในตอนหนึ่งของซีรีส์ ขณะที่อูยองอูกำลังเดินไปที่บ้านของลูกความกับ อีจุนโฮ (รับบทโดย คังแทโอ) ทั้งคู่บังเอิญพบกับรุ่นน้องของจุนโฮ เธอเข้ามาทักจุนโฮว่ากำลังทำงานอาสาสมัครให้คนพิการอยู่หรือ แรกทีเดียวอูยองอูคิดว่าจุนโฮจะรีบปฏิเสธว่าไม่ใช่อีกทั้งยองอูเองก็ได้ยินบทสนทนาทั้งหมด แต่รุ่นน้องคนนั้นก็ยังเดินมาหายองอูแล้วบอกให้เธอ “สู้ ๆ นะ” ก่อนจากไป
อูยองอูได้เปรียบเทียบกับอาการออทิสติกสเปกตรัมที่ตนเป็นกับวาฬ แม้ว่าวาฬจะมีหลายชนิด แต่คนก็เรียกรวม ๆ ว่า “วาฬ” เช่นเดียวกับอาการของออทิสติกสเปกตรัมที่มีความหลากหลาย แต่คนก็ยังเรียกรวม ๆ ว่าออทิสติกสเปกตรัม และหลาย ๆ คนก็มักมีภาพจำเกี่ยวกับคนพิการในลักษณะเหมารวม
ในบางครั้ง หลาย ๆ คนยังไม่ทราบเลยด้วยซ้ำว่าคนพิการแต่ละคนมีข้อจำกัดอย่างไร แต่คนในสังคมบางส่วนก็มักมีภาพจำหรือกฎเกณฑ์บางอย่างในใจตัวเองที่ไว้ใช้มองคนพิการอยู่แล้ว เช่น การนิยามให้คนพิการคือ “คนอื่น” ในสังคม คนพิการที่ประสบความสำเร็จต้องใช้ความพยายามและความอดทนมากกว่าคนอื่น หรือความพิการเป็นเรื่องน่าเศร้าและเป็นวัตถุที่เอาไว้ใช้สร้างกุศล เป็นต้น (Block, ไม่ปรากฏวันเผยแพร่)
ภาพจำที่ว่าคนพิการน่าสงสาร ส่วนหนึ่งมาจากการที่สื่อมักนำเสนอภาพของผู้พิการด้วยเลนส์ของความน่าสงสาร ประกอบกับคนในสังคมโดยรวมก็มีแนวโน้มที่จะแสดงความสงสารต่อคนพิการเป็นกรณีพิเศษ แม้ว่าบางสิ่งที่พวกเขาทำคือสิ่งปกติที่ทุกคนทำก็ตาม ซึ่งสอดคล้องกับผลวิจัยเรื่อง “สื่อไทยกับการเคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง” ของ อ.ดร.อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ ที่พบว่า ภาพของผู้พิการที่สื่อมักนำเสนอคือเป็นภาพที่มองว่าผู้พิการคือภาระของสังคมและต้องการการช่วยเหลือ
Jasmina Khanna นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของผู้พิการกล่าวว่า “หากคุณเคยดูคนพิการในรายการเรียลลิตีทางโทรทัศน์ มันมักจะมีอารมณ์ของความเห็นอกเห็นใจและการเอาใจใส่ออกมาพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าผู้พิการคนนั้นจะไปเข้าร่วมรายการในฐานะเป็นผู้ตัดสินพิธีกร หรือผู้ชม… รายการเหล่านี้มักจะยกย่องเชิดชูความพิการและการดิ้นรนของพวกเขา…” ดังนั้น การนำเสนอภาพคนพิการอย่างถูกต้องเป็นวิธีเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงมุมมองและการปฏิบัติต่อคนพิการ เพราะคนมักไม่เข้าใจว่าความพิการเป็นอย่างไร (Pulrang, 2020)
โดยปกติคนพิการมักได้รับความสงสารจากคนรอบข้าง มีการจัดกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ บริจาคเงิน หรือสิ่งของมากมายแต่จะมีสักกี่คนที่จะเดินเข้ามาถามพวกเขาจริง ๆ ว่าพวกเขาต้องการอะไร
Elizabeth Wright อดีตนักกีฬาว่ายน้ำพาราลิมปิกและนักข่าวจากสำนักข่าว ABC ได้โพสต์ข้อความบนเว็บไซต์ Medium ว่า “เรื่องราวที่สังคมบอกตัวเองเกี่ยวกับความพิการ คุณต้องนำคนพิการมาที่โต๊ะ คุณต้องฟังเรื่องราวของพวกเขาจากพวกเขา และเชื่อในสิ่งที่พวกเขาพูด หลีกเลี่ยงการเลี้ยงดูคนพิการและปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนที่คุณทำกับคนอื่น ๆ (คนที่ไม่พิการคนอื่น ๆ)”
เธอยังแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า “การที่จะทำให้ความพิการเป็นเรื่องปกติของสังคมคือการนำเสนอภาพเหล่านั้นให้ปรากฏมากขึ้น และหากคุณต้องการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมและทัศนคติการกีดกันผู้พิการ สิ่งที่คุณสามารถทำได้คือ ไม่ควรทำให้ผู้พิการรู้สึกว่าพวกเขาแปลกแยก อย่าทึกทักเอาเองว่าคุณมีสิทธิเหนือร่างกายของคนพิการ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่จะไปหาคนแปลกหน้าและถามพวกเขาเกี่ยวกับร่างกาย อวัยวะเทียม วีลแชร์ เครื่องช่วยฟัง สุนัขนำทาง ฯลฯ เพราะในบางครั้ง บางคำถามก็อาจทำให้ผู้พิการรู้สึกโดนด้อยค่าลง …ฉันเกลียดการถูกสงสาร ฉันไม่ชอบให้ใครมาบอกว่าพวกเขารู้สึกเสียใจกับฉัน”
Fact File
Extraordinary Attorney Woo (อูยองอู ทนายอัจฉริยะ)
กำกับโดย ยูอินชิก
เขียนบทโดย มุนจีวอน
รับชมได้ทาง Netflix
อ้างอิง
https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1307
https://medium.com/swlh/everyday-ableism-what-is-it-and-how-to-stop-doing-it-13ba1e737288