
สำรวจประวัติศาสตร์ฝุ่นตลบใน Extended Release โดย ปรัชญา พิณทอง
- Extended Release นิทรรศการศิลปะจัดวางเชิงความคิดที่สร้างสรรค์โดยศิลปินศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ ปี 2564 ปรัชญา พิณทอง
- Extended Release เป็นงานแสดงศิลปะที่ศิลปินสนใจประเด็นของพื้นที่ เวลา และประวัติศาสตร์ ในพื้นที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) ในขณะกำลังบูรณะ
- นิทรรศการนี้เป็นการแสดงงานครั้งแรกของหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) หลังการปิดเพื่อบูรณะครั้งล่าสุด
Extended Release นิทรรศการศิลปะจัดวางเชิงความคิด สร้างสรรค์โดยศิลปินศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ ปี 2564 ปรัชญา พิณทอง ศิลปินผู้มีแนวทางการสร้างสรรค์อันโดดเด่นด้วยการสำรวจ และส่งสารความคิดผ่านการจัดแสดงงานศิลปะเชิงความคิด (Conceptual Art) ที่มีผลงานอันได้รับการยอมรับจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ครั้งนี้เขาได้ทำงานร่วมกับ กฤษฎา ดุษฎีวนิช ภัณฑ์ฑารักษ์ ซึ่งนิทรรศการเป็นการทำงานผ่านกระบวนการสำรวจที่พื้นที่ เวลา และประวัติศาสตร์ ของหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) ระหว่างการบูรณะ และนิทรรศการนี้ก็ถือว่าเป็นงานแรกประเดิมการกลับมาเปิดบริการของหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) อีกครั้งหลังงานบูรณะเสร็จสิ้น

Extended Release จัดแสดงในพื้นที่หอศิลป์ถึงสองชั้นโดยมีทั้งงานที่สร้างขึ้นใหม่และงานที่เคยสร้างสรรค์ไว้แล้วมาจัดวางใหม่โดยงานส่วนใหญ่ของชุดนี้เริ่มต้นจากการสังเกตของศิลปินในวันที่เข้ามาสังเกตการณ์การทำงานของช่าง ที่กำลังทำงานบูรณะหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ)

ปรัชญาได้สังเกตเห็นใยแมงมุมที่เกาะอยู่บริเวณใกล้บันได ประกอบกับฝุ่นจำนวนมากที่คละคลุ้งจากการที่ช่างกำลังขัดผิวของพื้นไม้ ทำให้บริเวณนี้มีฝุ่นฟุ้งกระจายไปเกาะตามพื้นที่ต่างๆ อย่างเห็นได้ชัด และจุดหนึ่งที่ฝุ่นยิ่งเกาะ ยิ่งเห็น นั้นก็คือ “ใยแมงมุม” ปรัชญาได้เล่าให้ฟังถึงข้อสังเกตของทั้งสองสิ่งนี้ว่า ใยแมงมุมมีลักษณะที่ทำให้คิดถึงประเด็นทางกาลเวลา เพราะเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการสร้างประกอบขึ้น ส่วนฝุ่นที่ฟุ้งจากการสขัดแผ่นไม้ก็แสดงให้เห็นถึงฝุ่นที่ตกอยู่บนวัตถุได้กระจายฟุ้งเป็นอิสระขึ้นในอากาศล่องลอยอย่างไร้ทิศทางและไปตกอยู่ในบริเวณต่าง ๆ ใหม่
ปรัชญาสนใจประเด็น การเปลี่ยนแปลง (Transform/Transfer) ของพื้นที่ เวลา และประวัติศาสตร์ เขาสนใจหอศิลป์ในแง่พื้นที่ที่กำลังถูกเปลี่ยนลักษณะการใช้งานจากหลายยุคหลายสมัย จนมาถึงวันนี้ที่กลายเป็นหอศิลป์ที่ใช้จัดแสดงงานศิลปะ ปรัชญาจึงใช้โครงสร้างและรายละเอียดของอาคารเป็นอีกหนึ่งงานศิลปะที่ทำงานร่วมกับวัตถุศิลป์ต่าง ๆ



เขาวางงานศิลปะโดยตั้งใจให้ผู้ชมยังคงเห็นโครงสร้างและรายละเอียดอาคาร จงใจไม่สร้างผนังกั้นและไม่ยึดเจาะใด ๆ กับกำแพง เขาเลือกที่จะวางเฟรมภาพผ้าแคนวาสพิงกับผนัง หรือซ้อนตั้งกับโครงไม้ ซึ่งแคนวาสนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการพ้นสเปรย์กาวและวางรับฝุ่นไว้ในวันที่ช่างบูรณะจนฝุ่นลอยมาจับเข้ากับแคนวาส ภาพแคนวาสจำนวน 31 ชิ้นที่จัดแสดงจึงทำงานในฐานะการบันทึกด้วยทัศนศิลป์ และถูกวางพิงให้ทำงานกับบริบทพื้นที่ที่ไม่ยึดเจาะ และก็พร้อมที่จะขนออกไปได้เลยโดยไม่ทิ้งรอยหากนิทรรศการจบลง Extended Release เป็นหนึ่งในการทดลองการสร้างสรรค์จากความคิดที่ว่า หากเราจะบันทึกทัศนศิลป์ของสถานการณ์ที่ช่างกำลังบูรณะอาคาร เราจะใช้วิธีไหนได้บ้าง พร้อมทั้งตั้งคำถามกับการมีอยู่ของช่วงเวลาซึ่งเชื่อมโยงกับวิธีการมองประวัติศาสตร์


แนวคิดด้านเวลาพื้นที่ประวัติศาสตร์ยังถูกขยายต่อด้วยงานชิ้นถัดไปจากชุดแคนวาสฝุ่นนี้ไปยัง ก้อนฝุ่นทรงกลมที่ภายในมีเมล็ดพันธุ์ (Seeds Bomb) เป็นการปั้นประกอบฝุ่นกับเมล็ดพันธุ์พืชที่ถูกจัดวางไว้ตามบริเวณต่าง ๆ ของนิทรรศการเช่นขอบหน้าต่างและบนพื้นริมผนังเพื่อแสดงถึงการทำงานกับผู้ชมในฐานะวัตถุที่สามารถฟุ้งกระจายอย่างฝุ่นถูกแปรสภาพมาเป็นก้อนเมล็ดอันเป็นการเปลี่ยนแปลงทางวัตถุและเมล็ดสมุนไพรที่แพร่พันธุ์ได้ก็แสดงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์หรือเรื่องต่าง ๆ สามารถกระจายออกไปได้ ผ่านการตั้งคำถามกับงานศิลปะที่ผู้ชมจะเก็บกลับไปโยนแพร่กระจายหรือจะเลือกปล่อยวางไว้ที่เดิมก็ได้ ในจุดนี้ยังสามารถแสดงถึงที่มาของฝุ่นที่มาจากการไสไม้และหากก้อนฝุ่นเมล็ดพันธุ์ลงสู่ดินก็เท่ากับการที่ไม้ได้ย้อนกลับไปสู่ที่เดิมอันเป็นต้นกำเนิดคือผืนดิน การกระจายของฝุ่นจึงเปรียบกับการปลูกขยายกระจายของความคิดทางประวัติศาสตร์


การ “ย้อนกลับ” ยังขยายมิติทางเวลาไปในชิ้นงานถัดไปนั่นคือภาพยนตร์จัดวางที่แสดงภาพของช่างแรงงานกำลังบูรณะอาคารที่ถ่ายจาก iPhone วางบนขาตั้งกล้องที่หาได้ทั่วไปวางตั้งถ่ายไว้ทำให้เมื่อช่างใช้เครื่องขัดพื้นหรือทำงานต่าง ๆ ขาตั้งกล้องก็เชื่อมโยงความสั่นสะเทือนจากพื้นสู่การสั่นของภาพที่บันทึกไว้ในบางช่วงของวิดีโอจึงสั่นสะเทือนอย่างเห็นได้ชัดและเชื่อมโยงกับการจัดฉายที่ถึงอุปกรณ์บันทึกจะเป็น iPhone แต่ปรัชญาได้ใช้การเปลี่ยนแปลงรูปจากไฟล์สู่ฟิล์มโดยการนำชิ้นงานภาพเคลื่อนไหวที่ถ่ายด้วย iPhone ไปแปรสู่การบันทึกในฟิล์มขนาด 35 มม. ด้วยการส่งไปแปลงที่ประเทศอังกฤษและส่งกลับมาฉายด้วยเครื่องฉายภาพยนตร์ 35 มม. ซึ่งถือเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงและย้อนกลับพร้อมข้อสังเกตถึงประเด็นทางเวลาที่ภาพยนตร์เองก็เป็นสื่อบันทึกเวลา หมายถึงการรักษาให้เวลานั้นคงอยู่ไว้จากการแปรสภาพด้วยการถ่ายทำ

ปรัชญายกตัวอย่างว่าใยแมงมุมในสถานที่ตอนบูรณะเขาได้บอกผู้รับเหมาว่าให้เก็บไว้แต่พอมาอีกวันมันได้หายไปแล้วแต่ใยแมงมุมนั้นจะยังคงอยู่ในภาพยนตร์จากการถูกถ่ายบันทึกรวมทั้งเวลาในภาพยนตร์ที่เขาได้ตั้งให้ฉายวนตลอดเวลาด้วยเครื่องฟิล์มเพื่อให้เห็นว่าแรงงานในภาพยนตร์ที่กำลังบูรณะอาคารและเครื่องฉายนั้นจะยังไม่ได้หยุดพักและยังคงสั่นสะเทือนพื้นที่จนกว่าเครื่องฉายจะมีปัญหาขัดข้องทั้งภาพแสงเสียงหรือฟิล์มที่ยิ่งฉายก็อาจมีร่องรอยบนวัสดุปฏิกิริยาต่างๆที่เกิดจากเครื่องฉายฟิล์มจึงเสมือนแรงสั่นสะเทือนที่ทำให้กาลเวลาทางประวัติศาสตร์คงอยู่ในพื้นที่จากการถูกแปรเปลี่ยนเป็นงานศิลปะ


อีกชิ้นงานที่จัดแสดงในบริเวณคืองานวาดเส้น (Drawing) ที่ปรัชญาใช้วิธีการหาผัสสะอื่นๆในการวาดฟันของตนเองโดยวาดในสถานที่ใกล้เคียงบ้านที่ปรีดีพนมยงค์เคยพักในประเทศฝรั่งเศส ปรัชญาใช้ลิ้นสัมผัสกับฟันเพื่อวาดภาพฟันของตนด้วยดินสอดำลงบนกระดาษพร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อทำอย่างนี้แล้วเราจะขยับปากพูดได้ยากระหว่างสังเกตเรื่องนี้เขาก็วาดฟันในหลายแบบหลายมุมเพื่อครุ่นคิดพร้อมไปกับการสร้างงานศิลปะชิ้นนี้ด้วยในนิทรรศการนี้ผลงานภาพวาดได้จัดแสดงบน แท่น (Podium) ทำให้เห็นความย้อนแย้งของการพูดรวมทั้งบรรยากาศของพื้นที่จัดแสดงได้ปิดหน้าต่างและจัดไฟสว่างลงมาจากเพดานอย่างแข็งแรงทำให้บรรยากาศของพื้นที่ดูเงียบเชียบต่างกับพื้นที่ฉายภาพยนตร์ที่สั่นสะเทือนและมีเสียงเครื่องฉายอยู่ตลอดเวลา



ผลงานอีกส่วนของนิทรรศการจะจัดอยู่ชั้นล่างโดยยังมีก้อนฝุ่นเมล็ดพันธุ์จัดวางริมห้องและส่วนงานชิ้นหลักคือแผ่นเหล็กขนาดเท่าบานประตูที่ถูกหลอมสร้างขึ้นจากเศษระเบิดจากสงครามในประเทศลาวช่วงสงครามอินโดจีนปรัชญาได้นำโลหะเศษระเบิดมาหล่อและขัดจนเงาตั้งวางไว้บริเวณริมห้องที่เปิดประตูหน้าต่างให้แสงจากภายนอกเข้ามาร่วมกับชิ้นงานรวมทั้งชิ้นงานสามารถถูกมองเห็นได้ทั้งจากในและนอกอาคารเพื่อสะท้อนถามถึงการจัดวางงานชิ้นนี้กับพื้นที่ภายใน-ภายนอกประกอบกับงานชิ้นนี้ยังเชื่อมโยงกับแนวคิดหลักนั่นคือการเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนจากเศษโลหะจากระเบิดสู่แผ่นเหล็กที่ขัดเรียบซึ่งจัดแสดงคู่กับการจัดวางหนังสือพระชิ้นถัดไปเป็นหนังสือพระที่แสดงภาพพระพุทธเสรฏฐมุนีเป็นพระพุทธรูปที่หล่อสร้างจากกลักฝิ่นในสมัยรัชกาลที่3ซึ่งพอจัดแสดงในพื้นที่เดียวกันแล้วทำให้เกิดบทสนทนาของการเปลี่ยนแปรสภาพของวัตถุและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ไหลวนกับวัสดุที่เปลี่ยนไป

งานชิ้นสุดท้ายเป็นโถงด้านหน้าหอศิลป์เป็นงานจิตรกรรมของ กฤษฎา ดุษฎีวนิช โดยได้เนื้อเรื่องมาจากปรัชญาแต่ถ่ายทอดสร้างชิ้นงานโดยกฤษฎาปรัชญาเล่าว่าจากเดิมเขาได้ถูกชักชวนมาสร้างงานโดยภัณฑารักษ์ทีนี้เขาเลยอยากย้อนกลับเสมือนชักชวนภัณฑารักษ์มาสร้างงานศิลปะ
จากการเดินชม ทำให้คิดได้ว่านิทรรศการนี้เป็นงานที่ผู้ชมสามารถร่วมสำรวจและตีความชิ้นงานต่าง ๆ ผ่านการสังเกตวัตถุจัดวางพื้นที่วัสดุเวลาของชิ้นงานต่างๆที่ครอบครองพื้นที่ทั้งหมดเพราะแม้แต่อาคารที่ไม่เพียงเป็นที่แสดงแต่นับเป็นชิ้นงานชิ้นหนึ่งเช่นกันและทั้งหมดทั้งมวลก็ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ชมที่กำลังมีบทสนทนากับศิลปะในฐานะสิ่งแวดล้อมรอบตัวและยังขยายให้เห็นถึงความละเอียดรวมทั้งนัยทางประวัติศาสตร์รอบตัวว่าพลวัตต่าง ๆ มีมิติที่น่าสนใจกระจายฟุ้งอยู่เสมอ

เมื่อฝุ่นตลบหลังจบงาน : บทสนทนาสั้น ๆ กับปรัชญาพิณทอง
เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ ปรัชญา พิณทอง ในช่วงสั้น ๆ ถึงมุมมองด้านประวัติศาสตร์และศิลปะที่ตกผลึกเป็นแนวความคิดที่น่าสนใจ
อยากรู้ว่าเวลาสร้างสรรค์ชิ้นงานมีการริเริ่มหรือจุดเริ่มในการออกแบบขั้นตอนการสร้างงานอย่างไร
เราพยายามทำตัวล่องลอยลอยไปตรงนู้นทีอ่านนี้ทีคุยกับคนนั้นทีแล้วบางครั้งเกิด จุดตัด (Intersect) ของบทสนทนาหรือเรื่องราวความเชื่อตั้งแต่สองหรือสามขึ้นไปแล้วเราสนใจการไม่ลงรอยกันของสิ่งต่าง ๆ พอเกิดจุดตัดก็คล้ายกับการย้ายโยกตนเองไปอีกแบบหนึ่งและบางครั้งก็เหมือนเป็นการหนีไปจากความเคยชินรวมถึงการหาความรู้พร้อมกับการเปิดรับและหาจุดคิดใคร่ครวญกับมันและกลับมาใหม่ซึ่งนี่คือวิธีการ แต่ Subject ก็เป็นอีกส่วนเช่นเราสนใจประเด็นปลาที่อินเดียเราก็เดินทางไปที่นั่นสำคัญที่เราเดินเข้าไปและทิ้งตนเองไปในหลุมของ Subject นั้นและพยายามหาทางออกจากมัน
มีมุมมองอย่างไรในการทำงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
เอาแค่ประวัติศาสตร์ของตัวเราเองมันทำอะไรกับเราบ้าง เหมือนมันประกอบเราให้เป็นเราทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นความคิดการประกอบจนเป็นใครคนใดคนหนึ่งจนกระทั่งเราคิดว่ามันเป็นอะไรสักอย่างเราก็จะเห็นว่าประวัติศาสตร์มันจะไม่หายไปไหนเมื่อเราเรียกมันขึ้นมาอย่าง “เฮ้ยเราไปกระบี่ว่ะเรามีความสุขอย่างโน้นอย่างนี้” และมันยากที่จะปฏิรูปประวัติศาสตร์เราจะเห็นว่ามันผ่านมา แต่เราคิดแบบการตั้งสมมติฐานและคิดแบบก้าวหน้าว่าจะเป็นอย่างไรได้บ้างอย่างแบบปฏิบัติของเราก็จะมองการย้ายจุดรวมถึงย้ายเวลาด้วยถ้าเราย้ายการมองก็อาจเห็นประวัติศาสตร์ได้หลายแบบหลายมุมมองมากขึ้น
สิ่งที่สำคัญของงานศิลปะ
สิ่งสำคัญคือมันต้อง Convince ทำให้รู้สึกอยากจะสนใจมันอยากจะลองคิดกับมันมีน้ำหนักที่จะมานั่งคิดได้แม้กระทั่งเรื่องที่มีสาระหรือผิวเผินบางเบาถ้าจะสรุปสำหรับเราก็คือการออกแบบยานพาหนะหนึ่งขึ้นมาและให้คนดูขับยานเองแต่เราเป็นคนออกแบบแม้จะไม่ได้ขับแต่ก็จะท่องเที่ยวไปกับยานลำนี้รวมถึงก่อนที่จะสร้างงานเราก็จะลองคิดเป็นคนนั่งเหมือนกันคือการย้ายจุดตัวเองมาเป็นคนดูด้วยเหมือนกันเหมือนเป็น Mind Game และเราก็ต้องมา Revisit การย้ายเปลี่ยนไปมาแต่เรา Enjoy กับสิ่งนี้ที่ทำอยู่

Fact File
- Extended Release จัดแสดงที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) (ART CENTRE, SILPAKORN UNIVERSITY) จัดแสดงถึงวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
